รู้สึกเหมือนกันไหมว่า เวลาเห็นหนังใหม่ที่สร้างโดยเน็ตฟลิกซ์ จะต้องมีการเผื่อใจไว้ก่อนเสมอ เพราะหาหนังที่ดูแล้วพูดว่าสนุกแบบเต็มปากได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะหนังที่โปรโมตว่าเป็นแนวแอ็คชั่น มีหลายเรื่องที่ไม่สามารถทนดูจนจบได้ เพราะมันจับความสนใจเราไว้ไม่อยู่เลย แต่นั่นไม่ใช่กับหนังเรื่อง Last Bullet นี้อย่างแน่นอน
ผลงานออริจินัลเน็ตฟลิกซ์จากประเทศฝรั่งเศสเรื่องนี้กำกับโดย “กีโยม ปีแยร์แร” (Guillaume Pierret) มีทั้งหมด 3 ภาค โดยมีชื่อในภาษาฝรั่งเศสคือ Balle Perdue แต่ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Lost Bullet” 2 ภาค (ปี 2020 และ 2022 ตามลำดับ) แต่พอมาถึงภาค 3 ใช้ชื่อว่า Last Bullet อันเป็นการบ่งบอกถึงการปิดฉากสุดท้ายการเดินทางของเรื่องราวในแฟรนไชส์นี้
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ดูภาค 3 จบ ก็น่าคิดว่า แฟรนไชส์แอ็คชันที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ น่าจะเป็นโปรเจคต์ที่ต่อยอดอะไรต่อไปได้ และน่าสนใจว่า ทีมงานของหนังเรื่องนี้จะมองทิศทางข้างหน้าต่อไปอย่างไร ซึ่งไม่แน่ว่า อาจจะมีการขยายจักรวาลแบบหนังแอ็คชันยอดฮิตหลายเรื่องก่อนหน้า อย่าง “จอห์น วิค” หรือ Fast & Furious ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน
กระนั้นก็ดี ณ จุดนี้ คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าหนังตระกูล Bullet ทั้ง 3 ภาคที่ทำออกมา มันคุ้มค่าอย่างยิ่งกับการรับชม โดยเฉพาะคอหนังแอ็คชัน และหากจะกล่าวว่า นี่คือหนึ่งในหนังแอ็คชันที่ดีที่สุดตลอดกาลเรื่องหนึ่ง ก็คงไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ถ้าคุณยังไม่เคยดู Lost Bullet สองภาคก่อนหน้า แนะนำว่า สมควรได้ดูก่อนที่จะคลิกเปิด Last Bullet เพราะมันมีทั้งตัวละครและเงื่อนปมหลายอย่างที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด โดยหนังสองภาคแรกก็มีให้ดูทางเน็ตฟลิกซ์ทั้งพากย์ไทยและซับไทย ยิ่งถ้ามีเวลาดูติดต่อกันเหมือนดูซีรีส์ จะยิ่งได้อรรถรส โดยแต่ละภาคมีความยาวราว ๆ ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ Last Bullet อาจจะยาวขึ้นอีกครึ่งชั่วโมง เนื่องจากมีรายละเอียดที่หนังต้องม้วนเก็บให้ครบและปิดจบให้สวยงาม
แม้ภาพที่เห็นจากตัวอย่าง อาจจะดูเป็นหนังรถซิ่งที่เล่นกับความเร็ว ซึ่งหนังก็ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในจุดขายนี้ อย่างไรก็ดี ในเชิงเนื้อหา คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า Lost Bullet นั้นมีความทะเยอทะยานสูงมากในการพาเราเข้าไปสัมผัสกับเรื่องราวเน่าเหม็นในวงการตำรวจที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์และคอร์รัปชัน ซึ่งฉาวโฉ่ไปด้วยการทรยศหักหลังอย่างน่าอัปยศ
โดยหนังมีศูนย์กลางตัวละครอยู่ที่ “ลีโน” หนุ่มที่หากินในทางมิชอบซึ่งถูกตำรวจรวบตัวได้ตั้งแต่เปิดเรื่องในภาคแรก แต่ด้วยความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคยานยนต์อย่างร้ายกาจ ตำรวจจึงดึงตัวเขาเข้าไปทำงานฝ่ายเทคนิคยานยนต์เพื่อแต่งรถตำรวจให้แกร่งและแรงขึ้นเพื่อที่จะนำไปใช้ในภารกิจไล่ล่าแก๊งค้ายาเสพติดที่มีชื่อว่าโกฟาสต์ (Go Fast) และด้วยความสามารถอันเปี่ยมล้น การได้รับมอบหมายงานนี้ไม่สร้างความผิดหวังแต่อย่างใด เพราะด้วยเครื่องยนต์กลไกที่ลีโนประกอบขึ้น ทำให้ตำรวจสามารถไล่ล่าแก๊งค้ายาได้มากขึ้นอย่างทันตาเห็น
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จดังกล่าวยังสกัดกั้นได้แค่เพียงพวกปลายแถว เพราะ “หัวโจก” ซึ่งอยู่เบื้องหลังนั้นยังลอยนวล และหลังจากที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งถูกสังหารโดยมีความพยายามที่จะโยนให้เป็นความผิดของลีโน หนุ่มแต่งรถจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองโดยมีความปลอดภัยของชีวิตเป็นเดิมพัน
เมื่อดูหนังเรื่องนี้ครบทั้งสามภาค เราจะพบว่า เส้นเรื่องใหญ่ที่หนังเกาะเกี่ยวไว้อย่างหนักแน่นมั่นคงและเดินไปจนสุดทางในภาคจบ คือการกระชากหน้ากากปีศาจตัวจริงที่แฝงตัวอยู่ในเครื่องแบบตำรวจและใช้อำนาจหน้าที่ทำมาหากินในทางทุจริต แต่ในระหว่างทาง ทั้งภาคหนึ่งและภาคสอง ก็มีเส้นเรื่องรองที่เข้มข้นและจบได้ในตัวเอง เรียกได้ว่า ไม่แสดงการ “ดร็อป” ให้เห็นแม้แต่น้อย และยิ่งทำก็ยิ่งดูเหมือนว่าจะยิ่ง “เดือด” ไปกว่าเดิม
ขณะที่ฉากแอ็คชันการต่อสู้ ดู “ดิบ-โหด และสมจริง” (แต่ไม่ใช่แนวเลือดสาดที่ชวนให้รู้สึกสยดสยอง) ลุ้นระทึกทุกครั้งที่เกิดฉากแอ็คชันขึ้นในหนัง โดยแต่ละภาคก็มีฉากแอ็คชันที่น่าจดจำ ซึ่งหนึ่งในฉากของภาคสามที่น่าพูดถึงคือฉากต่อสู้บนรถเมล์ที่มีตัวละครสามฝ่ายเผชิญหน้ากัน ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมุ่งหมายเอาชีวิตของกันและกัน นับเป็นความสร้างสรรค์อย่างมากของทีมงานที่เขียนฉากนี้ขึ้นมา
นอกจากนั้น แอ็คชันระหว่างคนกับคนยังไม่พอ ยังมีแอ็คชันระหว่างรถกับรถ ด้วยต้นทุนที่ตัวเอกเป็นนักแต่งรถผู้เชี่ยวชาญ แถมออกแบบตกแต่งรถได้โคตรเจ๋ง เพราะมันไม่ได้เป็นแค่พาหนะ แต่เป็นเครื่องจักรสังหารดี ๆ นี่เอง เราจึงได้เห็นการปะทะกันระหว่างรถกับรถ อันเป็นการประลองความแข็งแกร่ง
ขณะที่จุดขายสำคัญที่หนังพรีเซนต์ไว้ในตัวอย่างคือฉากไล่ล่าด้วยรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ก็เป็นสิ่งที่ได้รับการเติมเต็มอย่างดียิ่งในหนังตัวเต็ม และจัดหนักจัดใหญ่ในทุกภาค โดยเฉพาะในภาคที่สาม ไม่ใช่แค่ไล่ล่ากันบนท้องถนนอย่างเดียว แต่ยังมีเครื่องบินเข้ามาเกี่ยวข้อง เรียกว่าทำใหญ่ทำถึง เป็นการปิดฉากอย่างสวยงามให้กับหนังไล่ล่ากันด้วยเครื่องยนต์
ถ้า Fast & Furious ได้ปักหมุดให้หนังรถซิ่งขึ้นหิ้งเป็นตำนาน ฉากซิ่งรถไล่ล่าสุดระห่ำใน Lost Bullet ทั้งสามภาค ก็ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน แม้หลายช็อตเราจะเห็นว่าถ่ายทำในสตูดิโอ แต่ช็อตที่ถ่ายด้านนอก ถ่ายกันในสถานที่จริง ไม่ว่าจะเป็นช็อตรถชนกันบนนถน หรือรถที่พุ่งทะลุร้านกาแฟ รวมถึงช็อตดริฟท์ในสวนสาธารณะ และเหนืออื่นใด แม้จะเป็นช็อตในสตูดิโอที่เสกสร้างขึ้นมา (เช่น ฉากที่ตัวละครอยู่ในรถที่แล่นด้วยความเร็ว) แต่เรากลับไม่รู้สึกขัดหูขัดตาเลยแม้แต่น้อย เพราะความเนียนกริบของซีจีและงานวิชวลเอฟเฟคต์
ถึงที่สุดแล้วก็คงต้องบอกว่า นี่คือหนังเน็ตฟลิกซ์ที่ดีมาก ๆ เรื่องหนึ่ง (ในจำนวนที่มีอยู่ไม่มากนัก) และเหนืออื่นใด Last Bullet ไม่ใช่แค่หนังแอ็คชันที่มันส์สะใจแบบทำถึง แต่ในส่วนของเนื้อหาก็เข้มข้นจริงจัง เป็นหนังแอ็คชันที่มีอารมณ์ความรู้สึก ทั้งลุ้นระทึกและหนักหน่วงด้วยอารมณ์ดราม่า
ดูจบทั้งสามภาคแล้วก็ชวนให้เกิดคำถามว่า เอาเข้าจริง อาชญากรอาจจะไว้ใจได้มากกว่าตำรวจเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากร กลับยึดหลักการความถูกต้องตามกฎหมายมากกว่าตำรวจที่เป็นผู้รักษากฎหมาย และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่พยายามแย่งชิงกันด้วยเหลี่ยมเล่ห์การต่อรองโดยไม่สนใจความถูกต้องหรือความเป็นความตายของใครทั้งนั้น แม้กระทั่งคนของตัวเองที่ภักดีแค่ไหนก็ตาม
