หลังจากเข้าฉายโรงเมื่อหลายเดือนก่อน พร้อมกวาดรายได้ทั่วประเทศไปกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่ขี้เหร่แต่อย่างใด แต่ถ้ามองผ่านเรื่องรายได้ และดูที่คุณภาพผลงาน ต้องยอมรับว่า “คุณชายน์” มาพร้อมกับไอเดียที่แจ่มว้าว และเล่าออกมาได้สนุกครบรส ตลก เศร้า และซึ้ง ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ
ผลงานชิ้นนี้สร้างโดยคาร์แมนไลนด์สตูดิโอ ค่ายหนังน้องใหม่อายุขวบกว่า ๆ ซึ่งเกิดการร่วมทุนระหว่างเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ และ เอ็ม สตูดิโอ ที่เพียงเปิดตัวผลงานเรื่องแรกอย่าง “อนงค์” ก็เป็นหนังทำเงินร้อยล้านได้สำเร็จ (ตัวเลขโดยรวม 140 ล้านบาท) และแม้ว่าหนังเรื่องต่อมาคือ “ศึกค้างคาวกินกล้วย” รายได้อาจจะไม่พุ่งนัก แต่หนังเรื่อง “คุณชายน์” ก็อัพกำลังใจให้กลับคืนมาอีกครั้ง ขณะที่ล่าสุด “พระแท้ คนเก๊” (The Stone) ก็เก็บเงินคนดูหนังโรงไปอีกกว่า 70 ล้านบาท
เท่าที่สังเกตจากผลงาน 4-5 เรื่องที่คาร์แมนไลน์สตูดิโอทยอยปล่อยออกมา จุดร่วมประการหนึ่งซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจของค่ายหรือเหตุบังเอิญ แต่เรื่องราวที่หยิบมาเล่าโดยรวม มีความเชื่อมโยงผูกพันกับวิถีแบบไทย ๆ ถ้าไม่นับรวมดนตรีไทย(ที่ต้องเผชิญแรงกระแทกจากดนตรีสากล)ในเรื่อง “ศึกค้างคาวกินกล้วย” แล้ว หนังอย่าง “อนงค์” ก็ชวนให้นึกถึงบรรยากาศแบบหนังผีย้อนยุคที่คนดูหนังไทยคุ้นเคย ขณะที่โปสเตอร์ก็ถูกออกแบบมาให้ดูแล้วรู้สึกย้อนรำลึกความหลังถึงหนังสือการ์ตูนผีที่หลายสิบปีก่อนคือขุมทรัพย์แห่งความบันเทิงราคาประหยัดสำหรับคนไทย
ขณะที่ล่าสุด หนังอย่าง “พระแท้ คนเก๊” (The Stone) ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับวงการพระเครื่อง ก็แน่นอนว่าเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นของความเป็นไทย ๆ ที่ผูกพันอยู่กับเครื่องรางของขลังสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธามาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล
ทั้งหมดทั้งมวลก็ชวนให้รู้สึกนึกคิดว่า คาร์แมนไลน์สตูดิโอ กำลังโผเข้าคลุกวงในกับเรื่องราวความเป็นไทยในหลากหลายด้าน พร้อมทั้งหยิบจับมาเล่าใหม่ด้วยการใส่ไอเดียที่สร้างสรรค์เข้าไปให้ได้กลิ่นทั้งความเก่าและความใหม่ร่วมสมัยผสมกัน
และแน่นอนว่า หนังอย่าง “คุณชายน์” ที่มีให้ดูทางเน็ตฟลิกซ์ตอนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานยืนยัน “ข้อสังเกต” ข้างต้นได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างที่รู้กันว่า การดูละครทางโทรทัศน์นั้นฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาเนิ่นนานก่อนที่จะมีสื่ออื่น ๆ ให้เสพ โดยเฉพาะละครหลังข่าวภาคค่ำที่เริ่มออกอากาศประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง
กล่าวได้ว่า ละครเรื่องไหนดัง ๆ แม่บ้านลูกเล็กเด็กแดง หลังจากกินข้าวกินปลาเสร็จ เป็นต้องใจจดใจจ่อรอคอยที่หน้าจอ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ ละครโทรทัศน์จะออกอากาศอาทิตย์ละประมาณ 2 วัน เรียกว่าดูกันไปยาว ๆ หลายเดือนหรือเป็นปี ขณะที่โทรทัศน์แต่ละช่อง ก็พยายามสรรหาบทประพันธ์ทำละครแข่งขันกันอย่างคึกคัก ในช่วงเวลากว่า 30-40 ปีก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมละครทีวีจึงเติบโตรุ่งเรืองเฟื่องฟู ก่อนจะเริ่มเข้าสู่โหมดซบเซาอย่างในปัจจุบันจากหลายเหตุหลายปัจจัย
แน่นอนว่า ด้วยการบุกตีเข้ามาของละครจากต่างประเทศที่มีให้เสพ ก็มีส่วนทำให้คนหันหน้าหนีไปจากการดูละครไทยเช่นกัน และในจำนวนเหล่านั้น คงรู้สึกแบบเดียวกับที่ “ชู้ต” ชายหนุ่มในหนังเรื่อง “คุณชายน์” ที่รู้สึกว่า ละครไทยวนเวียนซ้ำซากอยู่กับเรื่องเดิม ๆ พล็อตเดิม ๆ เยอะเกินไปจนแทบจะเดาได้หมดว่าเนื้อเรื่องจะเป็นแบบไหนอย่างไร
ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษของ “คุณชายน์” คือ Cliché ที่แปลว่าซ้ำซาก ก็บ่งบอกถึงมุมมองความคิดของตัวละครอย่าง “ชู้ต” (อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี) ที่มีต่อละครไทยได้อย่างตรงไปตรงมา “ชู้ต” เป็นคนหนุ่มที่มีความคิดแบบหัวก้าวหน้า เขาและเพื่อนรุ่นพี่ที่เขาเรียกด้วยความนับถือว่า “อาจารย์โจ๊ก” (บริบูรณ์ จันทร์เรือง) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าละครไทยไม่ได้ให้อะไรกับสังคม ไม่ช่วยให้สังคมดีขึ้น มีแต่เรื่องน้ำเน่ามอมเมาประชาชนให้จมจ่อมอยู่กับเรื่องเพ้อฝันไร้สาระซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในโลกความเป็นจริง
ด้วยแนวคิดเช่นนี้ ทำให้เขาปฏิเสธละครไทยและมุ่งทำคลิปวิดีโอในแบบที่เขาเชื่อและจะช่วยสังคมได้จริง ๆ แต่ผลงานที่เขาทำ เมื่อเทียบกับละครน้ำเน่าแล้ว ยอดวิวหรือยอดคนดูเทียบกันไม่เห็นฝุ่น และด้วยความเคียดแค้นเดือดดาล บวกกับเมาเบียร์ ทำให้เขาสติหลุด เอาไข่ไก่ไปปาใส่ป้ายบริษัทของ “เฮียวิทิต” (สัญญา คุณากร) ที่ผลิตละคร โดยมี “จารย์โจ๊ก” เป็นคนถ่ายคลิปไลฟ์สดขณะที่เขาปาไข่ไก่และโวยวายด่าทอเจ้าของบริษัทผู้ผลิตละคร
แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาโด่งดังในชั่วเวลาข้ามคืนจนถึงขั้นรายการ “โหนกระแส” ขอโฟนอิน แต่สุดท้ายก็ไม่รอดจากการถูกเฮียวิทิตฟ้องร้องดำเนินคดี เรียกค่าปรับ 5 ล้านบาท แต่คนหนุ่มมอซออย่างชู้ตจะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายให้ ด้วยเหตุนี้เขาจึงยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ด้วยการเสนอตัวทำละครให้เฮียวิทิตเพื่อเป็นการชดใช้ค่าปรับ และปฏิบัติการนี้เขาแอบทำแบบลับ ๆ โดยไม่ให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์อย่างจารย์โจ๊กรับรู้ด้วย
โดยใจความสำคัญ “คุณชายน์” เล่นกับประเด็นการปะทะกันระหว่าง “อุดมการณ์” กับ “ความเป็นจริง” ได้อย่างจี้จุด ด้วยการพาตัวละครอย่าง “ชู้ต” ที่ยึดมั่นในความคิดตนเองอย่างหัวชนฝา ต้องมาเผชิญกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และจำต้องยอมทำสิ่งที่ตัวเองชิงชังนักหนา อย่างไรก็ดี การได้เข้าไปสู่โลกของการทำละครน้ำเน่า ก็ค่อย ๆ ทำให้เขาได้พบเจอกับ “สิ่งที่ไม่เคยคิดถึง” มาก่อนและส่งผลให้ “โลกด้านใน” ของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่คาดคิด
จุดที่น่าสนใจก็คือ การที่หนังมีตัวละครหลักฝ่ายหญิงอย่าง “น้ำ” (อาทิตยา ตรีบุดารักษ์) ซึ่งเป็นแฟนของชู้ต เธอคือหญิงสาวที่มีความรักและหลงใหลในละครไทยระดับตัวแม่คนหนึ่ง สายตาของเธอเวลาดูละครทีวีนั้น แสดงถึงความมีอารมณ์ร่วม (อิน) ไปกับเรื่องราวในละครอย่างถึงที่สุด แม้ “ชู้ต” จะแซะจะว่ายังไง ก็ไม่มีผลทำให้ความรู้สึกที่เธอมีต่อละครนั้นเสื่อมซาลง และจะว่าไป “น้ำ” คนนี้นี่เองที่เปรียบเสมือน “ลมใต้ปีก” และมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ “ชู้ต” ได้รู้สึกอย่างลึกซึ้งถึงความหมายและความงดงามของชีวิต รวมทั้งละครไทย คล้ายกับ “เงาจันทร์” ที่ส่องแสงสว่างไสว (Shine) อยู่ใต้ผืนน้ำในคลองน้ำเน่านั้น
หนังเรื่อง “คุณชายน์” ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง “ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” โดยบทประพันธ์ดั้งเดิมเป็นของ ละคร’ถาปัด เรื่อง “ปริศนา” ที่มีการปรับตัวละครจาก “นักเขียนไส้แห้ง” มาเป็น “คนทำละครไส้แห้ง” ที่ยืนยันในการกินอุดมการณ์มากกว่าการขายความเพ้อฝันมอมเมาชาวบ้าน ผลงานชิ้นนี้กำกับโดย “ชัชวาลย์ วิศวบำรุงชัย” ซึ่งจากชิ้นงานที่ออกมา ก็ต้องบอกว่า เขาคือคนที่ทำหนังได้สนุกและแฝงมุมมองกระตุ้นให้ฉุกคิดได้อย่างแยบคายอีกคนหนึ่ง
ท่ามกลางความรู้สึกเชิงดูแคลนละครไทย รวมทั้งการไหลบ่าเข้ามาของละครจากเมืองนอก “คุณชายน์” ทำให้เรามองละครตามบทบาทหน้าที่ที่มันเป็น ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็คือ “สุขนาฏกรรม” ที่โน้มนำให้คนดูรู้สึกสุขและเศร้าไปกับเรื่องราวของตัวละคร และจะมาพร้อมกับตอนจบแบบ “แฮปปี้ เอ็นดิ้ง” เสมอ ๆ เพราะการดูละคร ก็เหมือนการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้สวยหรู (Escape) ทำให้คนดูฟูใจไปกับภาพฝันในจินตนาการ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็เป็นโมเมนต์เล็ก ๆ ในชีวิตที่ทำให้เราได้ยิ้มและสุขใจแม้เพียงครู่คราวก็ตามที
และว่ากันอย่างถึงที่สุด ก็ไม่ใช่เพียงในละครเท่านั้น เพราะลองดูรอบ ๆ ตัวหรือในสังคม ชีวิตจริง(น้ำเน่า)ยิ่งกว่าละครก็มีให้เห็นอยู่มากมาย หรือใครว่าไม่จริง?
