xs
xsm
sm
md
lg

The Glass Dome คนดีๆ กับคนดูดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ถ้าจะบอกว่า The Glass Dome คือตัวอย่างของผลงานที่หยิบเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ ก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนแต่ประการใด แต่สิ่งที่น่าชมก็คือการนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ได้น่าสนใจ หรือเป็นการเล่าเรื่องเดิมได้อย่างแตกต่าง

เพราะอันที่จริง คงต้องยอมรับว่า เรื่องของคนดี-คนเลว ถูกเล่ามาแล้วในหนังนับเรื่องไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลอกล่อคนดูให้คาดเดาและตีความเกี่ยวกับคนร้ายตัวจริงว่าคือใครกันแน่ แง่มุมนี้เป็นประเด็นที่เรียกร้องความอยากรู้อยากเห็นจากคนดูหนังได้เสมอ ๆ

ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าในสังคมของเรานั้นมีคนแบบหนึ่งแอบแฝงอยู่ไม่น้อย นั่นคือคนที่เราไม่สามารถชี้วัดตัดสินอย่างผิวเผินด้วยการมองแค่ที่ภาพลักษณ์ซึ่งเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องจับให้ได้คาหนังคาเขา ถึงจะกระชากหน้ากากของเขาและเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงหรือ “ปีศาจ” ที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกนั้นออกมาได้

เมื่อมองในมุมนี้ นับว่าซีรีส์จากประเทศสวีเดนเรื่อง The Glass Dome ได้ทำหน้าที่นั้นโดยสมบูรณ์...


เนื้อหาสำคัญของซีรีส์เกี่ยวข้องกับผู้ร้ายลักพาตัวเด็กผู้หญิง โดยมีตัวละครสำคัญคือ “เลจ์ลา” หญิงสาวที่มีอาชีพเป็นนักอาชญาวิทยา (Criminologist) ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ร้ายมาในวัยเด็ก เพราะเธอก็คือหนึ่งในเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ร้ายลักพาตัว ก่อนจะหลบหนีออกมาได้และได้รับการอุปถัมภ์โดยครอบครัวตำรวจ

ทั้งด้วยประสบการณ์ที่ผ่านพบด้วยตนเอง และทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้ร้ายลักพาตัวเด็ก ทำให้เธอมีมุมมองที่เฉียบคมและเข้าใจถึงจิตวิทยาที่ซ่อนอยู่ในก้นบึ้งของคนเหล่านั้น ดังที่เธอบรรยายให้กับผู้ร่วมงานได้ฟังในตอนต้นเรื่องว่า “สิ่งที่นักลักพาตัวมักมีเหมือนกัน คือมุมมองที่แย่มาก ๆ ต่อเรื่องของอำนาจและการควบคุม” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่สามารถหยิบไปต่อยอดอธิบายถึงปมทางจิตของผู้ร้ายในเรื่องได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหตุการณ์ร้ายในวัยเยาว์จะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว แต่เราคนดูจะสัมผัสได้ว่า เหตุการณ์นั้นยังเหมือนฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน “เลจ์ลา” อย่างไม่เลิกรา และเมื่อเธอเดินทางกลับบ้านเกิดอีกครั้งหลังจากได้รับข่าวการสูญเสียของแม่เลี้ยง ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การไขปริศนาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “อดีต” ของเธอเองด้วยเช่นกัน


The Glass Dome เป็นซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวนที่มาพร้อมกับคำถามสำคัญว่า Whodunit คือใครเป็นคนทำหรือผู้ก่อเหตุ (คนลักพาตัวเด็ก) ขณะที่ในส่วนของ Whyduint ที่มุ่งสืบหาว่าอะไรคือความคิดหรือเหตุผลเบื้องหลังของการกระทำนั้นของฆาตกร ซีรีส์อาจจะไม่ได้เน้นแต่ก็มีให้สืบเสาะอยู่พอสมควร ผ่านคำพูดคำจาและการแสดงออกของตัวละครที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากแง่มุมเชิงจิตวิทยาที่อาจจะสามารถต่อยอดอธิบายต่อไปได้ถึงปมปัญหาและมุมมองที่อาชญากรมีต่อสิ่งต่าง ๆ

แน่นอนว่า เวลาที่เราดูหนังแนวสืบสวนสอบสวน “กระบวนท่า” ที่สำคัญประการหนึ่งซึ่งหนังแนวนี้ต้องมีและต้องทำให้ถึง คือการหลอกล่อคนดูให้คาดเดาไปต่าง ๆ นานา และ The Glass Dome ก็ทำงานส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี ด้วยการสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละครพร้อมทั้งป้อนข้อมูลรายละเอียดแวดล้อมเข้ามาให้เกิด “ความเป็นไปได้” ในหลายทาง ตลอดความยาว 6 ตอน ซีรีส์สร้างความเคลือบแคลง คลุมเครือ และไขว้เขว ให้เกิดกับคนดูต่อการจะพิสูจน์ว่าใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนั้น

นอกจากตัวละครหลักอย่าง “เลจ์ลา” ยังมีตัวละครที่ซีรีส์ป้อนให้กับคนดู ทั้งพ่อบุญธรรมของเธอคือ “วัลเตอร์” ซึ่งเป็นตำรวจมากว่า 40 ปีแต่ปัจจุบันเกษียณไปแล้ว รวมทั้ง “โธมัส” ผู้เป็นอาและเป็นตำรวจที่รับผิดชอบนำภารกิจการสืบสวนแต่กลับมีปมเรื่องชู้สาวเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่ “ซาอิด” นักธุรกิจผู้ทำเหมืองซึ่งจากข้อมูลระบุว่ากำลังถูกภรรยาขอหย่าร้างแต่เขาไม่ต้องการเซ็นเอกสารยอมรับ ก็ชวนให้รู้สึกว่ามีพิรุธไม่น้อยในเรื่องนี้


จากเหมืองของซาอิด ก่อให้เกิดประเด็นรองซึ่งนอกจากจะเป็นประเด็นทางสังคมแล้ว ยังทำงานเหมือนเป็น “ผู้ต้องสงสัย” อีกรายหนึ่ง เพราะเหมืองแห่งนี้มีชาวบ้านที่ต่อต้านมากมาย และส่วนใหญ่ก็ดูจะมีวิธีแสดงออกและพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จนกระทั่งไม่สามารถตัดออกไปได้ เพราะการต่อต้านเหมือง อาจเป็นชนวนเหตุให้สมาชิกผู้ต่อต้านคนใดคนหนึ่งก่อการที่เลวร้ายครั้งนี้ขึ้นมา

นอกจากนั้นยังมีตัวละครชายหนุ่มจากเมืองอื่นที่มาช่วยค้นหาเด็กหญิงที่หายไป ซึ่งชวนให้สงสัยว่าเพราะอะไร เขาจึงเจาะจงเลือกจุดที่จะพบกับ “เลจ์ลา” ได้อย่างถูกที่ถูกเวลาเสมอ อีกทั้งเรื่องราวที่เขาเล่าก็ดูน่าเศร้าสะเทือนใจเพราะเขาเองก็เคยสูญเสียน้องสาวไปเมื่อตอนเด็กจากการถูกลักพาตัวเช่นกัน

ดังนั้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบด้านตัวละคร คือมวลสารสำคัญที่ชักชวนให้เราแกะรอยและดูว่าใครที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่จะเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง

แม้จะต้องยอมรับว่า การดำเนินเรื่องของ The Glass Dome อาจจะดูไม่หวือหวาตื่นเต้นเท่าใดนัก คือค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า “น่าจะเป็นเช่นนั้นเช่นนี้” ไว้ตลอดรายทาง ก่อนไปถึงจุดฮุกที่เป็นเซอร์ไพรส์ในตอนท้ายเรื่อง และกระตุ้นให้เรามาทบทวนหวนคิดอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่งว่า คนที่ดูดีสุด ๆ นั้น อาจไม่ใช่คนเดียวกันกับคนดี









กำลังโหลดความคิดเห็น