xs
xsm
sm
md
lg

iHostage สิ่งที่หนังดีๆ ควรจะมีและเป็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ถ้าคุณกำลังมองหาหนังสักเรื่องที่พอจะเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาเกี่ยวกับการทำหนังให้สนุกหรือหนังดี ๆ “ควร” และ “ไม่ควร” เป็นอย่างไร คิดว่า iHostage น่าจะเป็น Case Study ที่ดีได้อีกเรื่องหนึ่ง

หนังจากประเทศเนเธอร์แลนด์เรื่องนี้สร้างโดยเน็ตฟลิกซ์ และอิงเนื้อหาเรื่องราวมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เมื่อผู้ร้ายรายหนึ่งบุกเข้าไปในร้าน Apple Store สาขาที่ตั้งอยู่ในย่านจัตุรัสไลด์เซไพลน์ กลางกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ โดยจับตัวประกันไว้หนึ่งคนพร้อมทั้งเจรจาต่อรองกับตำรวจว่าต้องการสินทรัพย์ดิจิทัลมูลค่า 200 ล้านยูโร (ประมาณ 7,300 ล้านบาท) ถ้าไม่ได้ เขาขู่ว่าจะฆ่าตัวประกันและก่อเหตุระเบิด

ในตอนต้นเรื่อง iHostage ขึ้นข้อความว่า “ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง” และเมื่อได้ดูหนัง เราก็จะได้รับรู้สถานการณ์โดยละเอียดของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเอาเข้าจริง จากคลิปข่าวความยาวประมาณครึ่งนาทีก็สามารถอธิบายได้ครบถ้วน ดังนั้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ เราต้องการอะไรจากการดูหนัง หรือการได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง “ข้อมูลความจริงที่ครบถ้วน” หรือ “อรรถรสในการรับชม”?

คำว่า “ได้รับแรงบันดาลใจ” ของหนังเรื่องนี้ แทบจะมีความหมายไม่ต่างจากการ Copy & Paste ที่เอาเหตุการณ์จริงมาขยายความยาวให้เพิ่มขึ้นหน่อยด้วยการลงรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันของเจ้าหน้าที่แบบเต็มพิกัด แต่ให้ความสำคัญกับ “อรรถรสในการรับชม” อย่างบางเบาเข้าขั้นเบาหวิว


อย่างน้อยที่สุด ตลอดความยาวเกือบสองชั่วโมง เราแทบสัมผัสไม่ได้ถึงพลังดึงดูดที่ควรจะมีอยู่ในหนังแนวนี้ นั่นก็คือ ความตึงเครียดและกดดัน หนังไม่สามารถสร้างมวลความรู้สึกเหล่านี้บีบอัดใส่คนดูเลยแม้แต่น้อย และบางจังหวะเหมือนว่าจะทำได้ แต่ก็เพลาลงแบบดื้อ ๆ เหมือนไม่รู้จะไปยังไงต่อ เช่นตอนที่ตำรวจแอบลอบเข้าไปช่วยเหลือคนชั้นบน เหมือนจะทำให้มันเกิดอุปสรรคที่กดดันขึ้นมาได้ แต่ก็ปล่อยไปแบบสบาย ๆ

ปัญหาของหนังอย่างแท้จริง น่าจะอยู่ที่เรื่องของการผูกมัดตัวเองไว้กับเหตุการณ์จริงมากเกินไป ทั้งที่คำว่า “ได้รับแรงบันดาลใจ” น่าจะสามารถเปิดทางให้ทำอะไรได้มากกว่านี้ ไม่แน่ใจว่า ถ้าเปลี่ยนจาก “ได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริง” และเพิ่มเติมไปอีกว่า เอามาเป็นแรงบันดาลใจหรือจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์เท่านั้น ที่เหลือเป็นการดัดแปลงแต่งเสริมเพื่อเพิ่มพลังอรรถรสในการรับชม (ส่วนใครอยากรู้ “ความจริง” เป็นอย่างไรก็ไปดูจากข่าว) เหมือนการดัดแปลงจากนวนิยายหรือละครเวทีที่หลายต่อหลายครั้งก็ไม่ได้ตรงกับต้นฉบับเสียทีเดียว ซึ่งมันอยู่ที่มุมมองของผู้กำกับและคนเขียนบทด้วยว่าจะทำออกมาอย่างไรให้ดูน่าสนใจและโดนใจผู้ชม

ทั้งนี้ เมื่อหนังเลือกที่จะจำกัดตัวเองให้อยู่ในกรอบของความจริงจนไม่เหลือพื้นที่ในการจินตนาการหรือสร้างสรรค์อย่างเพียงพอ ทุกอย่างที่เห็นในหนังจึงดูจืดชืดไร้รสชาติไปซะหมด ยกตัวอย่างเช่น ตัวผู้ร้าย นอกจากไม่ร้ายกาจพอ เรายังแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเบื้องลึกเบื้องหลังอันแท้จริงที่ผลักดันให้เกิดการกระทำอุกอาจดังกล่าว คือเราเห็นเขาบ่นพึมพำอยู่หลายครั้งว่าโดนกระทำจากภาครัฐ แต่โดนกระทำอะไรอย่างไรไม่รู้แน่ แล้วหนังก็อาศัยความชอบธรรมจากเหตุการณ์จริงด้วยการขึ้นข้อความตอนท้ายประมาณว่า “ผู้ร้ายได้เสียชีวิตในเช้าวันต่อมา และแรงจูงใจในการก่อเหตุยังคงเป็นปริศนา”


โอเคล่ะ ถ้าหากว่าการเล่าเรื่องมันสามารถส่งผ่านความกดดันบีบคั้นจนยอมรับได้ คือดูไปลุ้นระทึกไปอย่างตึงเครียด แบบนี้ก็พอจะชดเชยได้ แต่เมื่อส่วนนี้ทำงานกับคนดูไม่ได้ ก็คงต้องมองที่เป้าประสงค์ของตัวร้ายว่ามันร้ายกาจพอไหม หรือมีอะไรที่คั่งแค้นแน่นอกฝังอยู่ในก้นบึ้งของจิตใจ แต่เมื่อหนังสรุปว่า “แรงจูงใจในการก่อเหตุยังคงเป็นปริศนา” มันก็เลยจบที่ความว่างเปล่า

ทั้งที่ตามจริง ตัวร้ายนี้คือระเบิดเวลาดี ๆ นี่เอง และประเด็นมันก็อยู่ที่ตัวผู้ร้ายซึ่งถือเป็นต้นตอก่อให้เกิดเรื่องราวทั้งหมด แต่เนื่องด้วยข้อมูลเกี่ยวกับมูลเหตุจูงใจไม่ปรากฎ และหนังไม่ต่อเติมเสริมแต่ง (ด้วยซื่อตรงต่อเหตุการณ์จริง!) คนดูก็เลยรู้สึกว่าไม่ได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ นอกจาก “โปร” การทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน แต่นั่นมันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงตามลำดับขั้นตอน ไม่ใช่ประเด็น เพราะประเด็นมันควรเป็นสิ่งที่ชวนให้คนดูรู้สึกอย่างรุนแรงกับมันและนำไปสู่การพูดคุยหรือครุ่นคิดต่อไปได้

นอกจากนั้น ในส่วนของเรื่องรองที่ว่าด้วยครอบครัวและคนรัก ก็ดูเป็นอะไรที่เหมือนเติมเข้ามาเพื่อให้มันเต็ม ๆ น่าเสียดายตัวละครที่เปิดมาเป็นคนแรกคือหนุ่มต่างถิ่นที่มาถูกจับเป็นตัวประกัน อันที่จริงเขามีปมชีวิตที่ขยี้ได้อีกพอสมควรโดยเฉพาะการที่ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวและสร้างครอบครัว ในมุมหนึ่ง เขาก็เหมือนกับที่คนจับเขาเป็นตัวประกัน เพราะต่างรู้สึกว่ามีแรงบีบคั้นจากรัฐคอยกดดันอยู่เช่นกัน เหมือนที่เขาพูดเรื่องภาษีอะไรต่าง ๆ แต่หนังก็เลือกที่จะไม่ขยี้ จริง ๆ อยากเห็นสองตัวละครสองตัวนี้คุยกันให้ดุเดือดไปเลยถึงความยากลำบากของชีวิตที่เป็นผลพวงของระบบหรือรัฐก็ตามแต่ ซึ่งมันสามารถทำได้เพื่อให้ประเด็นมันระเบิดออกมา


ขณะที่ตัวละครอย่างตำรวจชุดปฏิบัติการพิเศษซึ่งกำลังเดินทางไปไหนสักแห่งกับครอบครัวแต่ถูกเรียกตัวเข้ามาทำงานด่วน ก็เป็นอีกตัวละครที่ถูกชูขึ้นมาและวางลงอย่างแห้งแล้ง อันที่จริง ตัวละครแบบนี้ที่ต้องละทิ้งครอบครัวเพื่อหน้าที่การงานที่สุ่มเสี่ยงถึงชีวิต มีให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วในหนังนับไม่ถ้วน แต่ iHostage ก็ไม่ได้ทำอะไรกับตัวละครนี้มากไปกว่าให้เขาคุยกับเพื่อนร่วมงานแบบผ่าน ๆ ด้วยน้ำเสียงเซ็ง ๆ ถึงชีวิตครอบครัวและการงานสุ่มเสี่ยงซึ่งดูจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ สุดท้ายคนดูก็ไม่ได้รับรู้ถึงแรงกดดันที่แบกรับจากตัวละครนี้เลย

ว่ากันอย่างถึงที่สุด เรื่องของการซื่อตรงกับความจริง อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตอะไร แต่การที่หนังไม่ได้มอบ “ประสบการณ์” ใหม่ ๆ ให้กับคนดูเลยต่างหาก คือปัญหาที่เห็นได้ชัด ประสบการณ์ที่ว่านั้นอาจหมายถึงได้ทั้งในแง่ความสนุกซึ่งหนังมาในแนวทางของหนังระทึกขวัญ แต่คนดูไม่ได้รับสัมผัสความรู้สึกนั้นแต่อย่างใด แม้มิวสิกสกอร์จะร่วมทำหน้าที่บิลท์อย่างเต็มความสามารถแล้ว นอกจากนั้นในเชิงเนื้อหาก็กลวงเปล่าเบาหวิวจนจับต้องไม่ได้ว่าหนังต้องการจะบอกอะไรกับคนดู

ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดความจริงอาจตายได้ น่าจะพอใช้ได้กับหนังเรื่องนี้ เพราะพูดความจริงและขาดสิ้นจินตนาการ จนส่งผลให้หนัง “ตาย” อย่างสงบ ไม่พบทั้งความสนุกและเนื้อหา ทั้งที่ในความเป็นหนังนั้นเอื้ออำนวยให้พูดได้ เพียงแต่หมายเหตุไว้ก่อนว่า เนื้อหาเรื่องราวบางส่วนเป็นสิ่งที่แต่งขึ้นอย่างที่บอก เพราะ “หนัง” มันเปิดโอกาสให้โม้บ้างจริงบ้าง เพราะหนังไม่ใช่สารคดี คนไหนโม้ได้เก่ง หมายถึงแต่งเรื่องได้เก่ง คนนั้นมีโอกาสสูงที่จะชนะใจผู้ชม!











กำลังโหลดความคิดเห็น