ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันของเดือนมีนาคม 2568 มีหนังที่เกี่ยวกับบุคลากรทางศาสนาเข้าฉายในเน็ตฟลิกซ์ถึง 2 เรื่องติด ๆ คือ Revelations และ Little Siberia โดยทั้งสองเรื่องมีองค์ประกอบบางประการที่เป็นจุดร่วม เช่น อาชญากรรม ความศรัทธา แต่ทว่ามีรสชาติแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เรื่องแรกซีเรียสขึงขัง เรื่องหลังให้บรรยากาศตลกร้าย
Revelations เป็นงานจากฝั่งเกาหลีที่กำกับโดย “ยอนชางโฮ” ผู้โด่งดังมาจากหนังซอมบี้เรื่อง Train to Busan และ Peninsula รวมทั้งมีผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง “อัลฟองโซ กัวรอน” มาช่วยในด้านอำนวยการสร้าง ต้องบอกว่ามันเป็นหนังที่ดูสนุกเรื่องหนึ่ง แต่จะไม่ขยายความในบทความนี้เพราะคิดว่า หนัง Thriller ที่มาพร้อมกับแง่มุมเชิงจิตวิทยารสชาติแบบนี้มีให้ดูเรื่อย ๆ อยู่แล้ว (แต่มันก็คุ้มค่าคุ้มเวลาในการดูอย่างปฏิเสธไม่ได้)
ตรงกันข้ามกับ Little Siberia ที่มีทางเฉพาะตัวค่อนข้างสูงแบบที่ว่าดูแล้วสามารถจับแยกออกจากหนังเรื่องอื่นได้อย่างชัดเจนในความทรงจำ
ความน่าสนใจประการแรก Little Siberia คือเป็นหนังออริจินัลเน็ตฟลิกซ์เรื่องแรกจากประเทศฟินแลนด์ แม้ว่าสุดท้ายแล้วอาจจะไม่ได้โด่งดังถึงขั้นติดอันดับที่มียอดคนดูจำนวนมาก แต่ก็ไม่อาจลดทอนคุณค่าความบันเทิงที่หนังเรื่องนี้มีให้ได้ .. แต่ก็นั่นแหละ อาจจะถูกหรือไม่ถูกจริตรสนิยมความชอบของใครก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสามัญของการดูหนังอยู่แล้ว
หนังเรื่องนี้สร้างมาจากนวนิยายของ “อันต์ติ ตูโอไมเนน” นักเขียนชาวฟินด์แลนด์ผู้ได้รับฉายาว่า “ราชาตลกร้ายแห่งเฮลซิงกิ” (The King of Helsinki Noir Comedy) ซึ่งผลงานชิ้นนี้ก็สะท้อนสมญานามที่เขาได้รับอย่างสมบูรณ์ จากองค์ประกอบที่มีความตลกเป็นตัวนำ และมีความมืดหม่นแบบหนังฟิล์มนัว (Noir Film) ผสมผสานกันอยู่อย่างลงตัว
โดยผู้กำกับที่นำงานเขียนชิ้นนี้มาถ่ายทอดในรูปแบบภาพยนตร์ คือ “โดเม คารุโคสกี้” ผู้มีคติประจำใจในการทำหนังว่าอยากจะเป็นสื่อสร้างรอยยิ้มและความเบิกบานให้กับคนดูอย่างน้อยก็สักสัปดาห์หนึ่ง ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นอะไรที่ถูกที่ถูกทางอย่างมากกับการที่เขามีโอกาสได้นำนิยายของอันต์ติ ตูโอไมเนน มาทำหนัง เพราะนิยายเรื่องนี้มีองค์ประกอบของเรื่องราวที่จะสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับคนดูอยู่เพียบพร้อม
แต่อาจจะต้องหมายเหตุไว้สักเล็กน้อยว่า ลีลาความตลกในแบบ “อันต์ติ ตูโอไมเนน” และ “โดเม คารุโคสกี้” นั้น มันค่อนข้างเป็นอารมณ์ขันที่ “ขันขื่น” ไม่ใช่ “ตลกเส้นตื้น” แต่เป็น “ตลกเส้นลึก” ก็ว่าได้ และอาจต้อง “ขบ” หรือ “เก็ท” อยู่พอสมควร แต่ถ้า “เก็ท” ล่ะก็ เป็นเก็บไปคิดและยิ้มขำได้เป็นอาทิตย์ และคงไม่ผิดอีกเช่นกัน ถ้ามันจะทำเรานึกไปถึงสไตล์ “ตลกหน้าตาย” แบบที่เห็นในหนังของ “อากิ คอริสมากิ” (เช่น Fallen Leaves) หรือหนังของ “จิม จาร์มุช” (เช่น The Dead Don’t Die)
ตัวอย่างเช่น ตอนที่บาทหลวงเข้าไปในบาร์และถูกสาวเสิร์ฟโยนคำถามให้ตอบ
“สาวเสิร์ฟ : พระเยซูล่ะ เดินบนน้ำได้จริงมั้ย?
บาทหลวง : พ่อไม่ได้เห็นกับตา
สาวเสิร์ฟ : เกิดไม่ทันล่ะสิ
บาทหลวง : พอดีวันนั้นพ่อยุ่ง ๆ น่ะ”
มุกในหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่จะอารมณ์ประมาณนี้ คือถ้าเก็ทและคลิกแล้วจะขำไปอีกนาน หรืออย่างตอนที่ชาวบ้านคนหนึ่งเอาปืนมาให้บาทหลวงเพื่อทำภารกิจบางอย่างและให้ลูกกระสุนแค่ลูกเดียว บาทหลวงทำหน้าเหรอหราแต่ก็ยอมรับได้พร้อมพูดปลอบใจตัวเอง “หากเป็นพระประสงค์ มีลูกเดียวก็พอแล้ว” คือในจังหวะนั้น จะเห็นความแม่นยำในการจัดวางถ้อยคำที่โน้มนำให้เกิดความรู้สึกขำอย่างมีชั้นเชิง
เมื่ออุกกาบาตตก เรื่องตลกก็พลันบังเกิด..ในหมู่บ้านที่เต็มไปด้วย “คนบ้องตื้น” ซึ่งมีรูปแบบวิธีคิดและวิธีการกระทำที่ดูแล้วก็น่าขัน บางทีก็ทำท่าทีจริงจังจนดูตลก บางทีก็คิดอะไรที่ดูเพ้อเจ้อเหมือนคนละเมอไม่ยอมตื่น... Little Siberia พาเราไปติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ ดินแดนไกลปืนเที่ยงทางตอนเหนือของฟินแลนด์ ในฤดูหิมะตกปกคลุมหนาทึบ อยู่ ๆ ก็มีอุกกาบาตหล่นจากฟากฟ้าตกลงมาใส่รถคันหนึ่ง ซึ่งจากการให้ข้อมูลของนายกเทศมนตรีระบุว่า อุกกาบาตดังกล่าวเป็นของที่มีราคามากและอาจจะช่วยฟื้นฟูหมู่บ้านให้กลับมามั่งคั่งมั่นคงทางเศรษฐกิจอีกครั้ง บาทหลวงประจำหมู่บ้านอย่าง “โจล” ขันอาสาเป็นผู้ดูแลอุกกาบาตลูกนั้นที่เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ระหว่างรอเจ้าหน้าที่จากอังกฤษมานำไปประเมินมูลค่าอีกครั้ง
และด้วยความที่รู้ว่ามันเป็นของมีค่า อุกกาบาตจึงเป็นที่สนใจของเหล่ามิจฉาชีพที่จ้องจะเข้ามาขโมยและปล้นชิง ซึ่งบาทหลวงต้องคุ้มกันไว้ให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ภรรยาของบาทหลวงก็แจ้งให้ทราบว่าเธอได้ตั้งท้องแล้ว ทำให้บาทหลวงสตั๊นไปหลายวินาที เพราะอันที่จริง เขาไม่สามารถมีลูกได้จากการบาดเจ็บตอนไปรบที่อัฟกานิสถาน เพียงแต่เขาไม่เคยบอกความจริงข้อนี้กับภรรยา แล้วภรรยาของเขาตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
ทั้งความเคลือบแคลงสงสัยในตัวภรรยาว่าอาจจะคบชู้สู่ชายจนตั้งท้อง ทั้งพวกมิจฉาชีพที่คอยจ้องสอดส่องย่องเบาด้วยความโลภในราคาของอุกกาบาต ในบรรยากาศที่ดูคลุมเครือ และพร้อมจะคุกคาม เปรียบเสมือนหมู่มารที่ล่วงล้ำเข้ามายังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ภายในใจของศาสนิกผู้เคร่งครัดศรัทธาจนเขาอดคิดไม่ได้ว่า หรือนี่จะเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เพราะ “พระองค์ทรงทำกิจในวิถีทางอันน่าพิศวง” อยู่เสมออย่างที่เขาเชื่อ
Little Siberia จะว่าเป็นหนังที่จริงจังก็ไม่ใช่ จะตลกไปเลยก็ไม่เชิง มันอยู่กึ่ง ๆ ระหว่างความจริงจังกับความผ่อนคลาย หรือพูดให้ชัดก็คือ มันก็ตลกในความจริงจังนั้นเอง ขณะที่บาทหลวงซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางหรือเป็น “เดอะแบก” ของเรื่อง ก็เป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ เขาทั้งตลก มุ่งมั่น และเปี่ยมด้วยศรัทธาอย่างน่านับถือ รวม ๆ แล้วก็คือ ดูแล้วหรรษาในอารมณ์ และเป็นหนังอุกกาบาตที่มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ยิ่ง
