xs
xsm
sm
md
lg

มัจจุราชสไนเปอร์ The Day of the Jackal : ซีรีส์นักฆ่าที่ยอดเยี่ยม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



จากนวนิยายปี 1971 ซึ่งเขียนโดย “เฟรเดอริก ฟอร์ไซธ์” ก่อนจะถูกนำไปถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ครั้งแรกในปี 1973 โดยผู้กำกับ “เฟรด ซินเนมันน์” และถูกนำไปดัดแปลงอีกครั้งในปี 1997 โดยผู้กำกับ “ไมเคิล คีตัน โจนส์” ซึ่งมีดาราดังอย่าง “บรูซ วิลลิส” และ “ริชาร์ด เกียร์” รับบทนำ กระทั่งปัจจุบัน ปี 2024 เรื่องราวของสไนเปอร์ผู้ปฏิบัติการเพียงลำพัง เดินทางสู่เวอร์ชันซีรีส์ที่พูดได้ว่า เป็นซีรีส์เกี่ยวกับมือสังหารระยะไกลที่สนุกและยอดเยี่ยมที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง

เฟรเดอริก ฟอรไซธ์ คือนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ เคยเป็นทหารสังกัดกองทัพอากาศในฐานะนักบินที่อายุน้อยที่สุดเพียง 19 ปีเท่านั้น ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักข่าวและนักเขียนนวนิยายซึ่งสามารถสร้างชื่อได้อย่างโด่งดังตั้งแต่ผลงานเล่มแรก คือ The Day of the Jackal และหลังจากนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า ฟอร์ไซธ์กลายเป็นนักเขียนนวนิยายระดับโลกที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ผลงานไปสร้างเป็นภาพยนตร์มากที่สุดคนหนึ่ง

วิธีสร้างงานเขียนของฟอร์ไซธ์ให้ความสำคัญกับการใส่ใจในรายละเอียดโดยใช้วิธีการค้นคว้าอย่างมากที่สุด ทั้งจากเอกสารที่มีอยู่และการลงพื้นที่เพื่อให้ได้ข้อมูลเยอะที่สุด ซึ่งเป็นเทคนิคคล้าย ๆ กับการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative News) ดังนั้น งานเขียนของเขาจึงสามารถให้รายละเอียดอย่างเห็นภาพและสมจริง การบรรยายฉากต่าง ๆ มีความละเมียดพิถีพิถัน เป็นงานคราฟต์งานฝีมือ เหมือนศิลปินผู้แต่งแต้มสีสันและเรื่องราวลงบนชิ้นงานอย่างประณีตบรรจง และเช่นเดียวกับยอดฝีมือด้านการประกอบปืนประดิษฐ์ที่ใส่ใจในรายละเอียดยิบทุกขั้นตอนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและแม่นยำที่สุดสำหรับการใช้งาน

ทั้งนี้ สำหรับ The Day of the Jackal แม้จะมีตัวละครหลักเป็นนักฆ่า แต่ทว่าไม่ได้มุ่งเน้นสไตล์ไล่ล่าสุดระห่ำแบบหนังแอ็กชั่น แต่จะฉายให้เห็นกระบวนการขั้นตอนของปฏิบัติการอย่างค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางอุปสรรคและความท้าทายระหว่างทางที่ต้องจัดการให้เรียบเนียน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนักฆ่าหรือฝ่ายป้องกัน ความตึงเครียดและความระแวงกังวล เป็นบรรยากาศที่ห่มคลุมจนชวนให้รู้สึกอึมครึมอยู่ตลอดทั้งเรื่อง


ตัวเรื่องราวนั้นออกสตาร์ทที่เหตุการณ์ลอบสังหาร “ชาร์ล เดอ โกล” อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสในวันที่ 22 สิงหาคม 1962 ซึ่งจบลงด้วยความล้มเหลว ฟอร์ไซธ์นำเหตุการณ์นี้มาเป็นตัวเริ่มเรื่อง แต่หลังจากจุดนี้เป็นต้นไปคือการแต่งเรื่องขึ้นใหม่ทั้งหมด แม้เป้าหมายในการฆ่าจะยังคงเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องในความเป็นจริง

โดยเรื่องที่เขาแต่งขึ้นนั้น เล่าถึงทหารฝ่ายขวากลุ่มหนึ่งซึ่งยังหลงเหลืออยู่ภายหลังถูกทางการไล่ล่าและปราบจนแทบเกลี้ยง แต่ด้วยไฟแค้นที่ยังไม่มอดดับ พวกเขาได้ทำการว่าจ้างนักฆ่าชาวอังกฤษคนหนึ่งซึ่งใช้รหัสลับว่า “แจ็คเกิ้ล” (Jakcal) ให้เป็นผู้ส่งมอบความตายให้กับประธานาธิบดีฝรั่งเศส แต่ภารกิจนี้ไม่ใช่จะสำเร็จได้โดยง่าย เพราะนอกเหนือจากการคุ้มกันอันแน่นหนา ยังมีตัวแปรอีกมากมายที่พร้อมจะทำให้ปฏิบัติการนี้ล้มเหลวได้

หากจะเปรียบเทียบเรื่องราว หลังจากมีการนำไปสร้างในรูปแบบภาพยนตร์และซีรีส์ ก็มีความแตกต่างกันไป สำหรับเวอร์ชันหนังปี 1973 นั้นดูจะมีความซื่อตรงกับต้นฉบับนวนิยายของ “เฟรเดอริก ฟอร์ไซธ์” อย่างมากที่สุด และทำออกมาได้งดงาม นับเป็นงานละเมียด พิถีพิถัน ไม่เร่งร้อนแต่ก็โคตรจะลุ้น ขณะที่เวอร์ชัน 1997 มีการแต่งเรื่องราวขึ้นใหม่ภายใต้เค้าโครงเดิม แต่หากถามถึงความละเมียดพิถีพิถันในการดำเนินเรื่อง ถือว่าห่างไกลพอดูจากเวอร์ชัน 1973

อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับเวอร์ชันซีรีส์ 2024 ถ้าจะให้นิยามก็คงต้องบอกว่า เหมือนเป็นงานบูชาครู ที่หยิบยกบางส่วนจากครูมาเป็นแรงบันดาลใจแล้วนำมาพัฒนาไอเดียและสร้างสรรค์เรื่องราวขึ้นใหม่จนเปล่งประกายในแบบฉบับของตัวเอง ด้วยการปรับองค์ประกอบให้เข้ากับยุคสมัย ไล่ตั้งแต่ตัวเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาที่โลกยุคใหม่ต้องเผชิญ การเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นหรือเลวร้ายลงก็ได้ ไปจนถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความทันสมัยไฮเทคสมกับยุคที่ก้าวล้ำด้านเทคโนโลยี

จากภารกิตที่ต้องสังหารประธานาธิบดีในนวนิยายต้นฉบับ “แจ็คเกิ้ล” มือปืนซุ่มยิงที่หาตัวเทียบได้ยาก ได้รับงานใหม่ให้ลอบฆ่ามหาเศรษฐีที่ประกาศว่ากำลังจะเปลี่ยนโลกของเงินตราด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “ริเวอร์” (River) แต่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งคิดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันตัวนี้ จึงจ้างวานแจ็คเกิ้ลให้ช่วยรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม


คำว่า Jackal ซึ่งตัวละครนักฆ่าใช้เป็นรหัสลับของตัวเองนั้น นอกจากจะมีความเกี่ยวโยงกับชื่อจริงของเขา ยังเป็นชื่อพันธุ์ของสุนัขที่ถูกใช้งานเพื่อการล่าโดยเฉพาะ และในความหมายเชิงลึก มันคือสัญลักษณ์ตัวตนของ “แจ็คเกิ้ล” มือสังหารที่เป็นดั่งนักล่าผู้หยิบยื่นความตายให้กับผู้คน อย่างไรก็ตาม จาก Tagline บนโปสเตอร์ที่ว่า The Hunter. Hunted. นั้นยอดเยี่ยมด้วยความย้อนแย้งในตัวเอง และอธิบายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในซีรีส์ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะจากนักฆ่าที่ควรจะมีสถานะเป็นนักล่า สุดท้ายดูเหมือนจะกลับกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง

ต้องยอมรับว่า เวอร์ชั่นซีรีส์นี้มีการเขียนบทมาอย่างแนบเนียน และกำหนดทิศทางควบคุมหางเสือตัวเรื่องให้มีความชัดเจน โดยขับเน้นให้น้ำหนักกับความเป็นดราม่าเป็นตัวตั้ง และผสมผสานแอ็กชั่นเข้าไปประกบ ทั้งพล็อตหลัก พล็อตรอง ร่วมกันทำงานสร้างความดราม่าแบบเข้มข้นจริงจัง แต่พอถึงจังหวะที่เป็นแอ็กชั่น ก็ทำได้ระทึกใจชวนให้ลุ้นไม่แพ้กัน

สิ่งที่นับว่ายอดเยี่ยมในตัวบทคือการสร้างโลกคู่ขนานของตัวละครที่ต่างสะท้อนกันไปมา ทั้งมือสังหารและฝ่ายที่ตามไล่ล่า ซึ่งต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหาเดียวกันในประเด็นความสัมพันธ์และครอบครัว หน้าที่การงานอันเป็นความลับกับการปกปิดไม่ให้ใครรู้แม้กระทั่งคนรัก คือจุดเปราะบางที่กลายเป็นชนวนแห่งความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ และเปรียบดั่งเชื้อไฟชั้นดีที่สามารถนำไปสู่ความแตกร้าวได้ง่าย ๆ มันเหมือนกับมีโลกสองใบที่พวกเขาต้องประคองไว้ให้ราบรื่นและอยู่กันได้ด้วยดีโดยไม่กระทบกระทั่งกันและกัน แต่มันจะเป็นไปได้แค่ไหนในความเป็นจริง นี่คือสิ่งที่ซีรีส์ถ่ายทอดออกมาได้สะเทือนอารมณ์

อีกหนึ่งความสนุกที่คนดูจะได้รับขณะติดตามเรื่องราว คือการได้เห็นโลกการทำงานของทั้งสองฝ่ายที่ต้องประทับตราคำว่า “ไม่มีใครไว้ใจได้” ตลอดเวลา ทั้งมือสังหารที่ทำงานอย่างลับ ๆ หรือแม้แต่หน่วยงานลับอย่างเอ็มไอซิกซ์ (MI 6) และต้องยอมแลกทุกอย่างเพื่อเป้าหมาย แม้ต้องทำในสิ่งที่ไม่ต้องการทำ ด้วยเหตุผลว่า ทุกอย่างต้องเป็นความลับ

แน่นอนว่า ด้วยการตั้งธงไว้แบบนี้ มันก็นำไปสู่คำถามที่หนักหน่วงตามมา ซึ่งในฝั่งของนักฆ่าที่ทำงานเพื่อเงินนั้นอาจพอเข้าใจได้เพราะต้องสลัดละทิ้งหัวใจทันทีที่เริ่มงาน แม้ต้องสังหารคนเพิ่มก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้จริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้น ภารกิจอาจจะล่มและตัวเองจะถูกเปิดเผยซึ่งหมายถึงทุกอย่างพังทลายไม่เหลือแม้กระทั่งชีวิต ขณะที่ฝ่ายเอ็มไอซิกซ์ในฐานะองค์กรคนดี ทำงานเพื่อช่วยเหลือคน ซีรีส์ได้วางบอมบ์ลูกใหญ่ด้วยการโยนคำถามเชิงจริยธรรมว่ามีความจำเป็นหรือชอบธรรมแค่ไหนกับการทำอันตรายต่อชีวิตผู้คนเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง สิ่งนี้กลายเป็นคุณค่าของซีรีส์ที่เพิ่มขีดความดราม่าให้เข้มข้นบีบคั้นมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ตัวละครทั้งสองฝั่งนี้ไล่บี้กันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ที่จริงยังมีขบวนการ “ตัวพ่อ” ที่ยืนจังก้าอยู่ในเงามืด และดูจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งใดทั้งนั้นนอกจากความต้องการอันดำมืดของตัวเอง และจะมีบทบาทอย่างยิ่งยวดในซีซันต่อไป


ว่ากันตามจริง เป้าหมายของ “แจ็คเกิ้ล” ที่อิงมาจากเค้าโครงตามต้นฉบับนวนิยายอาจจะสิ้นสุด ณ จุดใดจุดหนึ่งของซีซันนี้ไปแล้ว ลำดับต่อไปคือการโชว์ความครีเอทีฟของซีรีส์อย่างเต็มพิกัด และเชื่อได้ว่า จะแวววาวเข้มข้นขึ้นไปอีกหลายเลเวลอย่างแน่นอน

ขณะที่นักแสดงนำอย่าง “เอ็ดดี้ เรดเมย์น” ก็ต้องบอกว่านี่เป็นบทบาทที่ยอดเยี่ยมของเขา ดีงามไม่แพ้ “เอ็ดเวิร์ด ฟ็อกซ์” ในเวอร์ชัน 1973 และหลายฉากการแสดง ก็เชื่อได้ว่า เอ็ดดี้น่าจะได้ทำการศึกษามาจากเวอร์ชันของเอ็ดเวิร์ด ฟ็อกซ์ โดยเฉพาะฉากทดลองปืนที่เมื่อจับมาเทียบเคียงกันแล้ว ดูไกล ๆ อาจเผลอเข้าใจว่าเป็นนักแสดงคนเดียวกัน

ไม่ว่าจะอย่างไร ด้วยบทของซีรีส์ที่มีการแต่งเติมเขียนเพิ่มเรื่องราวให้กับตัวละคร ส่งผลให้เอ็ดดี้ เรดเมย์น เด่นชัดแตกต่างจากเอ็ดเวิร์ด ฟอกซ์ โดยเฉพาะในพาร์ทของครอบครัวที่ซีรีส์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และ “แจ็คเกิ้ล” ต้องแบกรับไม่น้อยกว่าภารกิจสังหาร นอกจากนั้นแล้ว จุดเด่นที่สำคัญของเวอร์ชันซีรีส์คือการแฟลชแบ็กเพื่อบ่งบอกถึงปูมหลังที่มาของมือปืนสไนเปอร์ได้อย่างน่าเร้าใจ และทำให้เรารับรู้อย่างถ่องแท้เพิ่มขึ้นไปอีกว่าเพราะอะไรเขาจึงมีความเก่งกาจ “เด็ดขาดและเด็ดเดี่ยว” ถึงเพียงนี้

ความสุขุมคัมภีรภาพ หนักแน่นดุจขุนเขาที่ดูเหมือนไม่มีสิ่งใดจะสามารถสั่นคลอนให้ไหวติงได้ ทับซ้อนรวมกันอยู่ในตัวตนที่มีความอ่อนโยนและอ่อนไหว รวมทั้งความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายและร้าวรานเหงาลึกราวกับดำรงอยู่ในโลกนี้เพียงลำพัง สิ่งเหล่านี้เปล่งประกายออกมาจากการแสดงของเอ็ดดี้ ที่สื่อสารกับความรู้สึกและความคิดจิตใจของคนดูได้อย่างดีเยี่ยม

ส่วนบทที่อาจถือได้ว่าเป็นฟากฝั่งตรงข้ามกับแจ็คเกิ้ลอย่าง “เบียงก้า” ซึ่งแสดงโดย “ลาชานา ลินช์” นอกจากจะเจิดจรัสในตัวเองแล้ว ยังส่งพลังให้บทของเอ็ดดี้โดดเด่นขึ้นไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะมองในมุมของคนที่ต้องเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน หรือในมุมของคนที่ตามล่าซึ่งขับเน้นให้เห็นถึงความเก่งฉกาจระดับมือพระกาฬของแจ็คเกิ้ล

องค์ประกอบอีกส่วนที่ถือว่าทำงานได้ดีงาม คือเรื่องของเพลงประกอบและมิวสิกสกอร์ เพลงประกอบมีความไพเราะและสื่อความหมายสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอย่างสอดคล้องกลมกลืนในแต่ละสถานการณ์ เช่น เมื่อถึงตอนที่เพลง Street Spirit (Fade Out) ของ Radiohead คลอดังขึ้นมา ดนตรีที่มีน้ำเสียงเศร้า ๆ และเคว้งคว้างล่องลอย ส่งเสียงเป็นสัญญาณราวกับว่าโลกเบื้องหน้ากำลังแตกสลายลงอย่างช้า ๆ ขณะที่เนื้อหาของเพลงก็ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกนั้นให้ชวนร้าวรานขึ้นไปอีก ทั้งหมดนี้คือความเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการเลือกเพลงประกอบและมิวสิกสกอร์ที่ส่งทอดอารมณ์สู่ผู้ชมอย่างดีที่สุด

กล่าวสรุปอย่างรวบรัด The Day of the Jackal นับเป็นซีรีส์ที่ดูสนุกครบรสทั้งความบันเทิงและเนื้อหา ทุกองค์ประกอบผนึกเข้าด้วยกันอย่างลงตัวและงดงาม มอบประสบการณ์ประทับใจในการรับชมให้กับคนดูอย่างดีที่สุดเรื่องหนึ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น