ถ้า “อันโตนิโอ ซาลิเอรี” ในหนัง Amadeus ปี 1984 รู้สึกปวดร้าวขมขื่นกับการเป็น “มือสอง” ของวงการนักประพันธ์เพลงและวาทยากรแห่งเยอรมนี โดยมี “โวล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ท” เป็นมือวางอันดับหนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนหนามทิ่มแทงใจซาลิเอรีจนเก็บซ่อนความรู้สึกริษยาไว้ไม่อยู่
“เฉินกุ้ยหลิน” หนุ่มนักเลงหัวไม้ในหนังไต้หวันเรื่องนี้ที่ก่อเหตุฆาตกรรมอย่างอุกอาจและกำลังอยู่ในช่วงหลบหนีการจับกุมของตำรวจ ก็คงจะคล้าย ๆ ทำนองเดียวกัน เพราะทันทีที่เขาเห็นป้ายประกาศของทางการ ซึ่งใบหน้าและชื่อของเขาปราฎอยู่ในลำดับที่ 3 ของคนร้ายที่ทางการต้องการตัวมากที่สุด เขาก็รู้สึกอย่างแรงกล้าว่า ความจริงมันผิด! มันไม่ควรเป็นเช่นนี้ เพราะคนที่ร้ายที่สุดแห่งเกาะไต้หวัน อันดับหนึ่งต้องเป็นเขาเท่านั้น!
และนั่นก็นำไปสู่การออกเดินทางครั้งสำคัญของหนุ่มนักเลงเพื่อจัดการสังหารคนร้าย 2 อันดับแรกซึ่งเปรียบเสมือนเสี้ยนหนามที่บั่นทอนความภาคภูมิใจของเขา ภารกิจนี้ของเขาจะสำเร็จลุล่วงหรือไม่อย่างไร เพราะสองคนนั้นย่อมไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และนอกจากนั้น เขาก็เหลือเวลาในชีวิตอีกไม่นานจากการป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
ต้องบอกว่า ไอเดียตั้งต้นของ The Pig, The Snake and The Pigeon ที่ออกฉายในปี 2023 เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว โดยเฉพาะ Passion ของตัวละครที่ฟังดูแล้วชวนให้รู้สึกประหลาดพิลึกและน่าขำสำหรับคนธรรมดาทั่วไป หรือแม้กระทั่งไม่เข้าใจว่าตนเองก็มีคดีใหญ่ติดตัว แล้วจะไปทำความชั่วเพิ่มขึ้นอีกทำไม แต่ทว่าในแวดวงพวกนักเลงแล้วนั้น เรื่องทำนองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะวายร้าย ฆ่าได้หยามไม่ได้ เรื่องความเหนือกว่า ไม่มีใครยอมใครอยู่แล้ว
และว่ากันตามจริง เรื่องแบบนี้ก็มีกลิ่นอายที่พบเห็นได้ประจำในบทประพันธ์นวนิยายยุทธจักร (หรือพูดง่าย ๆ คือนิยายและหนังจีนกำลังภายใน) การแข่งกันช่วงชิงเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นเจ้ายุทธจักร หรือแม้แต่การจัดลำดับชั้นความร้ายกาจของอาวุธและความเก่งกาจเฉียบขาดของวิทยายุทธ เปรียบเสมือนแก่นสารอันดับต้น ๆ ของชีวิตเลยก็ว่าได้
แต่การจะก้าวขึ้นสู่สถานะอันยิ่งใหญ่ ต้องแลกมาด้วยการฝ่าฟันอย่างสุดกำลัง ดังเช่นนักเลงหัวไม้ผู้ทะเยอทะยานอย่าง “เฉินกุ้ยหลิน” ที่ทางหนึ่งต้องหลบหลีกจากตำรวจที่พยายามไล่ล่าเขาอย่างไม่ยอมรามือ อุปสรรคอีกทางก็ยังไม่รู้ว่า “อันดับหนึ่ง” และ “อันดับสอง” ที่เขาต้องต่อกรด้วยนั้น เหี้ยมโหดฉกาจฉกรรจ์เพียงใด แต่เพื่อบรรลุฝันอันสูงสุดก่อนชีวิตจะวางวาย เขามีแต่ต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ เพราะเป้าหมายนี้มันเปรียบเสมือน “อนุสาวรีย์แห่งชีวิต” หรือ “เกียรติประวัติ” ที่เขาต้องการฝากไว้ให้ดังกระหึ่มไปทั่วทั้งเกาะไต้หวันไปตราบนานเท่านาน หนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องเอาภาพของเขาขึ้นปกพร้อมพาดหัวตัวเป้งว่านี่คือผู้ร้ายอันดับหนึ่งของไต้หวัน เช่นเดียวกับข่าวโทรทัศน์ทุกช่องต้องนำเสนอเรื่องราวของเขาให้ชาวไต้หวันได้รับรู้ถึงความเก่งฉกาจของเขา
“หร่วน จิงเทียน” หรือ “อีธาน หรวน” ซูเปอร์สตาร์อีกดวงหนึ่งแห่งวงการบันเทิงไต้หวันซึ่งถ่ายทอดบทบาทของเฉินกุ้ยหลินออกมาอย่างไร้ที่ติและทำให้เราเชื่อว่าตัวละครตัวนี้จะต้องทำในสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิดหรือไม่คิดที่จะทำอย่างแน่นอน ตั้งแต่ตอนเปิดเรื่อง เขาแฝงตัวเข้าไปในงานศพของผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่ง ท่ามกลางแขกเหรื่อที่มาร่วมงานนับพันราย เขาย่องเข้าไปอย่างใจเย็น ก่อนจะหยิบปืนพกขึ้นมาลั่นกระสุนใส่เป้าหมายอย่างไม่สะทกสะท้านหวั่นเกรงใด ๆ
เหตุการณ์นั้นนับว่าเป็นการประกาศความเป็นตัวร้ายให้กับ “เฉินกุ้ยหลิน” อย่างสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะรู้ว่าตัวละครที่กำลังเห็นอยู่เบื้องหน้าคือเฉินกุ้ยหลิน เราก็คงเหมือนเด็กหนุ่มคนนั้นที่ก็ไม่รู้เช่นกันว่าคนที่กำลังกินอาหารกล่องอย่างเอร็ดอร่อยข้าง ๆ เขานั้นคือเฉินกุ้ยหลิน แถมตั้งใจฟังเขาเมาท์มอยถึงเฉินกุ้ยหลินด้วยรอยยิ้มและไม่เปิดเผยว่าตัวเองนั้นคือ “เฉินกุ้ยหลิน เด็กใหม่ไฟแรงแห่งแวดวงแก๊งสเตอร์” คือถ้าเปิดเผยขึ้นมา เด็กหนุ่มคนนั้นคงมีอึ้งแน่นอน แต่เขาเลือกที่จะเปิดเผยตัวเองด้วยกระสุนที่สาดใส่เจ้าพ่อในงานศพ
อย่างไรก็ดี ฉากสนทนาระหว่างเฉินกุ้ยหลินกับเด็กหนุ่มนี้ได้ทำงานกับคนดูไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในการส่งผ่านเสน่ห์บางอย่างของตัวละคร เหมือนกับฉากตอนต้นเรื่องของ Pulp Fiction ที่ “ซามูเอล แจ็คสัน” กับ “จอห์น ทราโวลต้า” คุยกันในรถเกี่ยวกับชีสเบอร์เกอร์ แม้เราจะรู้ในเวลาต่อมาว่าสองคนนี้จะไปฆ่าคน แต่ฉากนี้ก็ช่วยสร้างรอยยิ้มให้กับเราและรู้สึกว่าสองคนนี้มันมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร และยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่า ถึงเขาทั้งสองจะดูร้าย แต่เมื่อเทียบกับความโหดของหัวหน้าใหญ่ที่จะถูกเล่าในฉากต่อมาแล้ว เขาทั้งสองก็เหมือนจะกลายเป็นแค่ “เด็กอนุบาล” หรือ “มนุษย์ที่น่ารัก” ไปเลย
ในทำนองเดียวกัน ถึงแม้ในเวลาต่อมา เฉินกุ้ยหลินจะไปฆ่าคนอย่างบ้าระห่ำ แต่ฉากที่เฉินกุ้ยหลินนั่งคุยกับเด็กหนุ่มนั้นก็เรียกว่า “ได้ใจคนดู” ไปเรียบร้อยแล้ว และยิ่งเราดูหนังไปเรื่อย ๆ แล้วได้พบเห็นคนที่อำมหิตกว่าเขา ความรู้สึกที่เรามีต่อตัวละครตัวนี้ก็จะยิ่งเปลี่ยนไป
“มันอาจจะบ้า แต่ฉันว่ามันโคตรเท่” เด็กหนุ่มคนนั้นให้คำนิยามเมื่อเอ่ยถึงวีกรรมที่เฉินกุ้ยหลินเคยก่อไว้ และมันเปรียบเสมือนการประกาศแก่นเรื่องที่คนดูจะได้ร่วมกันพิสูจน์ต่อไปว่า นักเลงหน้าโหดแต่สวมใส่นาฬิกาสีชมพูรูปหัวหมู เหมาะสมกับถ้อยคำนี้จริงหรือเปล่า?
The Pig, The Snake and The Pigeon มาพร้อมกับบทหนังที่ชาญฉลาด มีจุดหักเหที่เป็นความเซอร์ไพรส์ให้เรารู้สึก “ว้าว” ตลอดทั้งเรื่อง หนังมีความหนักแน่นด้วยแก่นเรื่องอันว่าด้วยแรงปรารถนาอันแรงกล้าของตัวละคร และเสริมแซมด้วยความซับซ้อนยอกย้อนที่พลิกความคาดหมาย บนเส้นทางแห่งการมุ่งสังหาร ไม่ได้มีเพียงเลือดและความตาย แต่ยังมีเรื่องรองที่ละเมียดละมุนอบอุ่นหัวใจแม้ไม่อาจใช้คำว่ารัก นอกจากนั้นยังมีด้านที่สะท้อนและเสียดสีสังคมแบบคมกริบไม่แพ้มีดโกน
โดยแก่นสารเชิงลึกของหนังนั้น ดูเหมือนจะมุ่งเล่นกับความคิดของคนดู โดยให้คนดูเหมือนนั่งอยู่บนแท่นผู้พิพากษาที่จะทำหน้าที่ตัดสินเกี่ยวกับตัวละครและพฤติการณ์ของพวกเขาว่าดีหรือเลวอย่างไร ขณะที่หนังก็มีการจัดวางอย่างซับซ้อนเกี่ยวกับความดีความเลว คนดีคนชั่ว ซึ่งมองกันไม่ได้แค่เพียงเปลือกนอกและต้องดูกันยาว ๆ แบบละเอียดทุกเม็ด บางคนทำดีเพราะมีข้อแลกเปลี่ยน และบางคนอาจดูดี แต่ดีแบบลวงโลกและจอมปลอม ซ่อนความชั่วร้ายไว้ภายใต้รูปลักษณ์ของคนดีนั้นอย่างแนบเนียน ขณะที่บางคนดูร้าย แต่ก็ไม่คิดปฏิเสธตัวตนของตนเอง ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองได้ก่อขึ้น และพร้อมน้อมรับผลแห่งการกระทำนั้นโดยไม่อุทธรณ์ร้องขอใด ๆ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ชื่อเรื่อง เราจะสัมผัสได้ถึงความ “ช่างคิด” ของผลงานชิ้นนี้ที่ใช้ชื่อเรื่องเป็นดั่ง “สรรพนาม” ของตัวละครหลัก หรือ “สัญลักษณ์” แทนตัวตนของเฉินกุ้ยหลินที่ค่อย ๆ เผยออกมา ตั้งแต่คำว่า The Pig (หมู) ซึ่งคงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจากนาฬิการูปหัวหมูสีชมพูที่เขาใส่ อันเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่อาม่ามอบให้เขา กล่าวได้ว่ามันมีคุณค่าทางใจที่หาสิ่งใดเปรียบเทียบได้ยาก และเขาก็ใส่มันไว้ตลอดเวลาที่ออกตามล่าหาตัวร้ายสองคน ขณะที่ The Snake ก็คือสภาวะของตัวเขาเองที่มีพิษสงร้ายกาจดุจดั่งอสรพิษที่พร้อมจะจู่โจมฉกกัดเป้าหมาย และคำสุดท้ายอย่าง The Pigeon หรือ “นกพิราบ” โดยปกติมักจะถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพหรือความสงบสุขรวมทั้งการโบยบินอย่างอิสระเสรี ซึ่งเมื่อเรื่องราวเดินทางถึงจุดจบ เราจะพบความหมายอันถ่องแท้และงดงามของคำ The Pigeon นี้
The Pig, The Snake and The Pigeon แม้จะเป็นหนังไต้หวัน แต่กำกับและเขียนบทโดยผู้กำกับชาวฮ่องกงนามว่า “หว่อง ชิงโป” (Wong Ching-Po) ซึ่งมีความรักและหลงใหลในหนังแนวอาชญากรรมระทึกขวัญ เขาปักหลักทำหนังแนวนี้มาต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมกับหนังเรื่องนี้ทั้งในแง่ของรายได้และคำชื่นชม แม้ภาพรวมจะเป็นหนังอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง แต่เมื่อมองในเชิงบทสรุปแล้ว นี่คือหนังที่มีประเด็นเนื้อหาที่เฉียบคมและกระตุ้นความคิดได้อย่างดียิ่ง
ฟังว่า หนังทำเงินในจีนไปมากกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมทั้งเกิดกระแสความนิยมในตัวสินค้าที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ทั้งขนมเบนโตะที่เฉินกุ้ยหลินกิน และนาฬิกาข้อมือรูปหัวหมูสีชมพูที่คนแห่ซื้อตาม กลายเป็นสินค้าขายดีติดอันดับ Top 3 ในแพลตฟอร์ม Taobao จนขาดตลาด นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของพลังซอฟต์เพาเวอร์อย่างแท้จริง
แต่เหนืออื่นใดเลยก็คือ มันเป็นหนังอีกเรื่องที่ควรค่ากับคำว่า “สนุก” อย่างสมบูรณ์
