xs
xsm
sm
md
lg

กฎแห่งชัยชนะ 3 ข้อของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ : The Apprentice หนังที่ทำให้ทรัมป์หัวร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ไม่แน่ใจว่า หลังจาก “เซบาสเตียน สแตน” ผู้สวมบทเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ วัยหนุ่ม มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม 2025 จะมีส่วนทำให้ไฟโทสะที่เคยสุมไหม้ใจทรัมป์มอดดับหรือเจือจางลงไปได้บ้างหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน นี่คือหนังที่ทำให้ทรัมป์เดือดดาลถึงขั้นออกมาฟาดงวงฟาดงาโพสต์ข้อความยาวเหยียดผ่านสื่อออนไลน์อย่างโมโหโทโสสุดขีด ชนิดที่ผู้กำกับและคนเขียนบทอาจจะรู้สึกอยากตอบกลับด้วยถ้อยคำของโจ๊กเกอร์ใน Batman the Dark Knight ที่ว่า Why so serious?

The Apprentice เป็นหนังฮอลลีวูดที่กำกับโดยคนทำหนังลูกครึ่งอิหร่าน-เดนมาร์ก นามว่า “อาลี อับบาสซี” (Ali Abbasi) และมี “กาเบรียล เชอร์แมน” (Gabriel Sherman) เป็นผู้เขียนบท ผลงานชิ้นนี้เป็นหนังชีวประวัติที่เล่าถึงชีวิตวัยหนุ่มของโดนัลด์ ทรัมป์ ในยุค 70s ช่วงที่เขาเริ่มก่อร่างสร้างตัวในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และมีภรรยาคนแรกคือ “อีวานา เซลนิคโกวา” นางแบบสาวชาวเช็ก (ก่อนจะหย่าร้างหลังจากแต่งงานกันได้ประมาณ 5 ปี - เธอเสียชีวิตในวัย 73 เมื่อปี 2565)

ณ ตอนนั้น โดนัลด์ ทรัมป์ เรื่องรูปลักษณ์หน้าตาถือว่ามีเสน่ห์ไม่เบา ด้วยรูปร่างสูงโปร่ง ผมสีทอง และมีโครงหน้าหล่อเหลาเอาการ ดูคล้าย “โรเบิร์ต เรดฟอร์ด” พระเอกหนังชื่อดัง ในวัยยี่สิบปลาย ๆ ทรัมป์คือนักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงที่พร้อมจะทะลุทะลวงทุกด่านปราการเพื่อพิชิตความสำเร็จ แม้จะดูไม่ค่อยลงรอยกับพ่อเท่าไรนัก (จริง ๆ พ่อก็ดูเหมือนจะตั้งแง่เยอะอยู่แล้ว ไม่ว่ากับลูกชายคนโตพี่ชายของทรัมป์ซึ่งเป็นนักบิน) แต่ถึงกระนั้น ด้วยความทะเยอทะยานที่มีอยู่ในตัวทรัมป์อย่างล้นปรี่ อุปสรรคใด ๆ ก็ดูเหมือนจะไม่มีพลังที่จะหยุดยั้งพ่อหนุ่มคนนี้ได้


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้พบเจอทำความรู้จักกับ “รอย โคห์น” ทนายความและที่ปรึกษา ผู้เป็นเสมือนอาจารย์ที่ถ่ายทอดเคล็ดวิชาให้เขารู้จักลูกล่อลูกชนและเหลี่ยมเลห์กลยุทธ์ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในแวดวงธุรกิจและกฎหมาย เพื่อพิชิตชัยในสนุกสนาม ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของ “กฎแห่งชัยชนะ 3 ข้อ” ที่ฝักลึกอยู่ในดีเอ็นเอของทรัมป์มานับแต่นั้น และไม่มากไม่มาย มันก็น่าจะติดตัวเขามาจนปัจจุบัน เช่นเดียวกับอุปนิสัยที่พร้อมท้าชนไม่เกรงใครหน้าไหน

จากคนหนุ่มที่ดูหงอ ๆ ไม่มั่นใจในตัวเอง ตอนฉากเปิดที่เขาเดินเข้าไปหา “รอย โคห์น” ในครั้งแรก เขาค่อย ๆ กลับกลายเป็นชายหนุ่มที่มั่นอกมั่นใจแบบหาตัวจับเทียบได้ยาก และอาจกล่าวได้ว่า หลงตัวเองอยู่มากพอสมควร พิสูจน์ได้จากตอนที่เขาตามไปง้อว่าที่ศรีภรรยาอย่างอีวานา เขาพูดว่า “ผมหล่อ ผมรวย ถ้าคุณไม่แต่งกับผม คือคุณกำลังทำลายชีวิตตัวเอง” คือถ้าไม่แน่จริง คงไม่มีใครกล้าพูดถ้อยคำแบบนี้เป็นแน่ จริงไหม?

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ The Apprentice ใช้วิธีการเปิดเรื่องด้วยถ้อยคำแถลงทางโทรทัศน์ของ “ริชาร์ด นิกสัน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 37 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1973 ซึ่งมีเนื้อหาใจความโดยย่อว่า “ในช่วงชีวิตสาธารณะของผม ไม่เคยแสวงกำไรจากบริการสาธารณะ ไม่เคยขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ผมยินดีรับการตรวจสอบ เพราะคนได้รู้แล้วว่าใช่หรือไม่ใช่ ผมไม่ได้โกง”


แน่นอนว่า การที่หนังเลือกถ้อยคำแถลงนี้มาเป็นตัวเปิดเรื่อง คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือสักแต่จะหยิบยกมาเพราะเห็นว่าเวลามันแมตช์กับช่วงที่ทรัมป์กำลังสร้างฐานที่มั่นทางธุรกิจ แต่ต้องมีการหวังผลบางอย่างซึ่งสามารถมองได้หลายทาง

ในทางที่เป็นบวกก็อาจจะตีความได้ว่า ช่วงเวลานั้น สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับเรื่องท้าทายหลายอย่าง ไม่ว่าจะการพ่ายแพ้สงครามในเวียดนาม คอดีวอเตอร์เก็ตที่อื้อฉาวและน่าอัปยศ การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของกลุ่มสตรีและเกย์ หรือแม้กระทั่งการอุบัติขึ้นของโรคเอดส์ ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลต่อความรู้สึกของอเมริกันชน รวมทั้งโดนัลด์ ทรัมป์ ในแง่ที่ว่าอเมริกากำลังอยู่ในช่วงที่ตกต่ำ และความคิดอันพลุ่งพล่านคุโชนอยู่ในห้วงสำนึกของทรัมป์ก็คือ ทำยังไงก็ได้เพื่อให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง หรือ Make America Great Again และคำนี้ก็เป็นหนึ่งคำขวัญในการหาเสียงที่ฟูใจอเมริกันชนจำนวนมากจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขากลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา 2024

ทรัมป์โตมาท่ามกลางสังคมแบบนี้ในวัยหนุ่ม นั่นจึงไม่น่าแปลกใจ ถ้าหากในปัจจุบัน เราจะเห็นการดำเนินการหลายอย่างของทรัมป์ที่ดูเหมือนจะมีรูปรอยของอดีตช่วงวัยหนุ่มที่ถูกเล่าไว้ในหนัง เช่น นโยบายที่เกี่ยวกับการรับรองเพศสภาพเพียงสองเพศ (ในหนังเล่าไว้บาง ๆ คล้ายว่าเขาไม่โอเคกับเกย์สักเท่าไหร่ ขณะที่ตื่นกลัวคนเป็นโรคเอดส์ -- เพราะความไม่รู้ เหมือนกับอีกหลายคนในยุคนั้น) หรือแม้แต่นโยบายกำแพงภาษีที่ดูไปก็อาจจะคล้ายอารมณ์ตกค้างจากทรัมป์วัยหนุ่มที่เขาก็ดูจะมีเรื่องที่อยากกีดกันนายทุนต่างชาติออกไป (ญี่ปุ่น)


อย่างไรก็ดี ถ้ามองจากมุมมองของทรัมป์ การที่หนังหยิบยกถ้อยคำของนิกสันมาจั่วหัว ก็อาจมองในเชิงลบได้ เพราะสิ่งที่นิกสันพูดมันเป็นเหมือนตัวเสนอแก่นเรื่องขึ้นมาว่า สิ่งที่นิกสันแถลงแก้ต่างให้ตัวเอง กับสิ่งที่ทรัมป์ทำในวัยหนุ่มนั้น มันแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร และสิ่งนี้จะได้รับการพิสูจน์ในลำดับต่อไปจากเรื่องทั้งหมดในหนัง ซึ่งเท่าที่ดูก็ไม่แปลกเท่าไหร่ถ้าทรัมป์จะเกิดอาการ “ลมออกหู” ด้วยความโกรธ เพราะภาพรวม ๆ ที่ออกมา ทำให้เขาดูเป็นพวกสายเทาหรือ “ดำ” เสียด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นย้ำในจุดที่นำพาให้ทรัมป์ไต่ขึ้นสู่ความสำเร็จในธุรกิจอย่างมโหฬาร ซึ่งนอกจาก “ทนายความ” ของเขาจะใช้วิชามารเข้าช่วยแล้ว กฎ 3 ข้อแห่งชัยชนะที่รอย โคห์น ส่งต่อให้กับเขา ก็ดู “มืดดำ” เสียเหลือเกิน

โดยกฎ 3 ข้อที่ว่านั้นสรุปอย่างรวบรัดแล้วก็คงประมาณว่า 1.จู่โจม หรือ บุก บุก และ บุก จะใช้เทคนิคอะไรก็ได้ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ทันได้ตั้งตัว “ถ้ามีใครเอามีดมาวิ่งไล่ คุณต้องยิงกลับด้วยบาซูก้า” 2.อย่ายอมรับอะไรทั้งนั้น จงปฏิเสธทุกอย่าง แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองทำผิด

“และข้อ 3 สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม คนจะพูดถึงนายยังไงก็ตาม ไม่ว่านายจะพ่ายแพ้แค่ไหน นายต้องบอกว่าชนะ อย่ายอมรับความพ่ายแพ้เด็ดขาด ห้ามยอมรับความพ่ายแพ้ โดนัลด์ ถ้าอยากชนะ ก็ต้องชนะแบบนี้”


ปรมาจารย์รอย โคห์น โยนบทเรียนให้แก่ทรัมป์ ขณะที่เขาเองก็นำมันไปใส่ใจและให้สัมภาษณ์กับนักข่าวถึงเคล็ดลับข้อนี้ “อย่ายอมรับว่าพ่ายแพ้เด็ดขาด ให้ป่าวประกาศว่าชนะเสมอ ทุกครั้ง” ซึ่งฟังดูแล้วก็เหมือนแนวคิดแบบ American Dream ที่ถูกนำเสนอมาแล้วในหนังหลายเรื่องในเวลาต่อมา เช่น American Beauty (1999) โดยเฉพาะฉากที่ภรรยาของเขาต้องปั้นหน้าแย้มยิ้มต่อหน้าสาธารณชนเพื่อแสดงถึงชีวิตที่มีความสุขและความสำเร็จ แม้ในใจจริง ๆ กำลังทุกข์ตรม

แต่ทั้งหมดทั้งมวล กฎ 3 ข้อดังกล่าว ก็เหมือนติดปีกให้กับทรัมป์ในฐานะเหยี่ยวนักล่าและนักฆ่าผู้ไร้ปราชัย

อย่างไรก็ดี ในขณะที่ไอเดียของแนวคิดนั้นดี แต่การปฏิบัติก็อย่างที่เห็น คือมันไม่ได้เป็น “สายขาว” ซะทีเดียว เพราะมีวิธีการสกปรกที่แม้ทรัมป์จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจในตอนแรก แต่เมื่อเป็นไปเพื่อผลลัพธ์ เขาก็นิ่งเฉยและหยิบฉวยมาใช้เสียด้วยซ้ำในเวลาต่อมา ซึ่งชื่อของหนังอย่างคำว่า The Apprentice นอกจากจะเป็นชื่อรายการโทรทัศน์ของโดนัลด์ ทรัมป์ (ที่ทรัมป์เองก็เกรี้ยวกราดว่า มีสิทธิ์อะไรมาใช้ชื่อนี้) ยังมีความหมายว่า เด็กฝึกงาน หรือผู้เรียนรู้ที่กำลังได้รับการฝึกเป็นพิเศษ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เด็กฝึกงาน” อย่างหนุ่มทรัมป์สามารถเรียนรู้เคล็ดลับวิชาอย่างเข้าใจทะลุปรุโปร่งและสามารถใช้มันอย่างช่ำชอง

แต่กลยุทธ์เล่ห์เหลี่ยมแบบนี้ ที่เมื่อนับรวมกับรายละเอียดอื่น ๆ ที่ดูละเอียดอ่อน เช่น หนังทำให้คนดูรู้สึกว่า เขาข่มขืนเมียตัวเอง (อีวานา) , การแสดงความเดียดฉันท์เกย์ (ถึงกับมีบทให้ทรัมป์พูดว่า Cancer Gay หรือ “มะเร็งเกย์”) แถมหนังเรื่องนี้ออกฉายในช่วงใกล้เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ด้วยแล้ว ก็จึงไม่แปลกใจที่ชายดุดันอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ จะเกิดอารมณ์ยั้วะจัด เพราะรู้สึกว่ามันเป็นการบั่นทอนภาพลักษณ์ของเขา กระทั่งเขาเก็บอาการไว้ไม่อยู่และงัดกฎแห่งชัยชนะข้อแรกมาใช้คือ “จู่โจม” ด้วยการโพสต์ฟาดหนังแบบสาดเสียเทเสียในสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Truth Social ว่าเป็นหนังที่ “ปลอม” และ “ชั้นต่ำ” (A fake and classless movie) พร้อมทั้งชื่นชมคนเขียนบทว่าเป็นแค่ “คนกาก ๆ” ก่อนจะให้คำอวยพรว่าหนังเรื่องนี้จะมีแต่เจ๊งกับเจ๊งอย่างเดียว


ไม่ว่าจะอย่างไร ภายหลังได้ระบายอารมณ์และปลดปล่อยเต็มพิกัดแล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ก็หันไปมุ่ง MAGA 2024 หรือ หรือ Make America Great Again อีกครั้งก่อนจะได้รับความสำเร็จในการคืนสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 แต่ไม่แน่ใจว่าจะยังหลงเหลือความค้างคาใจกับหนังเรื่อง The Apprentice อยู่บ้างหรือไม่

ในขณะที่หนัง ถึงแม้จะไม่มีพลังพอที่จะเข้ารอบชิงรางวัลออสการ์ในสาขาหนังยอดเยี่ยมหรือบทยอดเยี่ยม แต่ 2 ดาราหลักของเรื่องก็ได้รับเลือกให้เข้าชิงในสายสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “เซบาสเตียน สแตน” ที่รับบทโดนัลด์ ทรัมป์ วัยหนุ่ม สมบทบาทกับการเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ขณะที่ “เจเรอมี สตรอง” ก็ได้ชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากการสวมบทรอย โคห์น ซึ่งส่งพลังอย่างมากให้ตัวละครทรัมป์โดดเด่นขึ้นมา และอาจกล่าวได้ว่า ถ้าไม่มี รอย โคห์น ก็อาจจะไม่มีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งในตอนนั้นและปัจจุบันนี้

ว่ากันอย่างถึงที่สุด ถ้ามองกันอย่างเป็นธรรมกับหนัง The Apprentice ไม่ใช่หนังที่มุ่งหมายจะมาดิสเครดิตหรือตัดคะแนนโดนัลด์ ทรัมป์ ในช่วงสำคัญของการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่อย่างใด อันที่จริง โปรเจคต์หนังเรื่องนี้เริ่มตั้งไข่ตั้งแต่ปี 2018 หลังจากทรัมป์ชนะศึกเลือกตั้งครั้งแรกและได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2016 โดยความตั้งใจของหนังต้องการจะเยินยอยกย่องในความทะเยอทะยานสู่ความสำเร็จของทรัมป์เสียด้วยซ้ำ

แต่การที่จะมานั่งยกยอปอปั้น “ท่านผู้นำ” แบบเพียว ๆ คงไม่ใช่วิสัยของคนทำหนังอย่าง “อาลี อับบาสซี” ที่เคยทำหนังคุณภาพและได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ทั้งเรื่อง Shelley (2016) , Border (2018) และ Holy Spider (2022) ขณะที่ “กาเบรียล เชอร์แมน” คนเขียนบท ก็ทำให้บทหนังออกมาไม่แบนราบ มีมิติทั้งตัวเรื่องและตัวละคร

สุดท้ายหนังก็นำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่มีด้านมืดด้านสว่าง ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง แต่มันอาจจะไม่ถูกอกถูกใจมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งคนนั้นเท่าไรนักจนเผลอเกรี้ยวกราดออกมา ก็อาจจะเท่านั้นเอง









กำลังโหลดความคิดเห็น