วานนี้ (23 มกราคม 2568) เวลา 10.00 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประจำปี 2568 และมอบโล่รางวัลพนักงาน ป.ป.ท. และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 17 ปี สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้แนวคิด “พลังศรัทธา พลังล่าทุจริต”
โดยมีนายอำนาจ พวงชมภู ประธานกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ท. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. จากส่วนกลาง และ ปปท. เขต 1- 9 จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วมฯ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม A ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัสแวนด้า แกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการจะต้องมีความชัดเจนและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยการดำเนินคดีทุจริตในภาครัฐจะต้องมีการดำเนินงานในภาพรวมที่เป็นปัจจุบัน ไม่มีคดีตกค้าง และมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ท. จึงควรจะต้องมีการศึกษาหรือรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการในการดำเนินงานคดีทุจริตและประพฤติมิชอบร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ เพื่อให้ทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีความชัดยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่เป้าหมายหลัก คือ การดำเนินคดีทุจริตที่มีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และปราศจากการแทรกแซง
สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ของสำนักงาน ป.ป.ท. ในปี 2568 นั้น จะเน้นย้ำการทำงานที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการป้องกัน จะต้องยกระดับการสร้างความซื่อตรงในการปฏิบัติราชการให้กับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาสังคม 2) ด้านการป้องปราม จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสอดส่องพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนการสกัดกั้นการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นโครงการของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต “วงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป” และ 3) ด้านการปราบปราม จะต้องพัฒนากระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ภายใต้พื้นฐานของความถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส การทำงานที่มีการประสานสอดรับกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงความสำคัญในการก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ท. ที่ได้ดำเนินงานในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจ อำนาจหน้าที่ และผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ท. ให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะ 17 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ท. ได้มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างต่อเนื่องและได้พัฒนารูปแบบการสกัดกั้นการทุจริตเชิงรุกในทุกรูปแบบ โดยมีการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
1) ด้านการปราบปรามการทุจริต มีสถิติสำนวนคดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียน/กล่าวหา จำนวน 40,645 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ จำนวน 40,104 เรื่อง และชี้มูลความผิด จำนวน 5,973 เรื่อง อีกทั้ง ยังดำเนินการในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นับตั้งแต่ดำเนินการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียน/กล่าวหา จำนวน 5,021 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ จำนวน 4,878 เรื่อง และพบมูลการกระทำทุจริตในภาครัฐ จำนวน 3,115 เรื่อง
2) ด้านการป้องกันการทุจริต ได้ยกระดับความเข้มแข็งและส่งเสริมให้ภาคประชาชนเป็นกลไกเฝ้าระวังการทุจริต ผ่านเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังทุจริต ป้องกันการทุจริตเชิงรุกในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาการทุจริตก่อนเบิกจ่ายงบประมาณ ส่งเสริมธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และนักลงทุน โดยการให้ความรู้ความเข้าใจผ่านหลักสูตรบรรษัทภิบาลต่อต้านการทุจริต และดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ยับยั้งการทุจริตเชิงรุก โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 58/2 และ 58/3 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และ 3) ด้านการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ขับเคลื่อนการบริการภาครัฐ สำหรับนักลงทุนและชาวต่างชาติ การยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption perceptions Index : CPI)
โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะ 5 ปี ขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานในการสกัดกั้นความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการขนาดใหญ่ “วงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป” การนำร่องแนวทางการยกระดับการส่งเสริมภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน (Pilot Project) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้สามารถดำเนินงานและบังคับใช้ในการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ The United Nations GlobE Network เป็นหน่วยงานที่ 216 จาก 118 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐานด้านความซื่อตรง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้ง ยังเป็นกลไกในการสนับสนุนความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยด้านการต่อต้านการทุจริตในเวทีโลกอีกด้วย