xs
xsm
sm
md
lg

“เสก โลโซ” แตกหัก “แกรมมี่” ปลดแอกสัญญาทาส!? อดีตเคยอวยยศเป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นับเป็นครั้งแรกที่ชาวเน็ตส่วนใหญ่ ต่างเทใจหนุน “กานต์ วิภากร ศุขพิมาย” หลังออกมาประกาศว่า “เสก โลโซ” เสกสรรค์ ศุขพิมาย สามีร็อกเกอร์ อนุญาตให้นักร้อง นักดนตรี นำเพลงของตนเองไปร้องได้เลยโดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ เพราะตอนนี้ลิขสิทธิ์เพลงเป็นของเสกและครอบครัว! ก่อนที่ต่อมา กานต์ จะบุกไปยังตึกแกรมมี่ เม้งแตกแหกกระเจิงทั้งบริษัทเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมปมลิขสิทธิ์เพลงของเสก

เบื้องลึกสาเหตุที่ทำกานต์ของขึ้นจนบุกไปวีนแตก เจ้าตัวได้เผยในเฟซบุ๊กของเสก ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 6.3 ล้านเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ค่ายแกรมมี่ ให้เสกเซ็นสัญญารับจ้างสร้างงาน ต่อมาให้โอนลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับค่าย มีอายุจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด และเมื่อเสก โลโซ เสียชีวิต ต่อไปอีก 50 ปีลิขสิทธิ์จะยังเป็นของค่ายแกรมมี่ ซึ่งเสกและทายาทโดยชอบธรรม จะไม่มีสิทธิ์ในการใช้เพลงเหล่านั้น!

ต่อมา เสกได้เข้าไปขอแก้ไขสัญญา แต่ก็แก้ไขได้แค่เพียงว่าเสกและทายาทโดยชอบธรรมมีสิทธิ์ใช้ชิ้นงานในการทำมาหากินเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ขาย ไม่มีสิทธิ์ให้ใคร ไม่ให้ดัดแปลง ไม่ให้รีมาสเตอร์ใหม่เพื่อเป็นผลงานตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ กานต์บอกสิ่งที่แกรมมี่ทำ คือ “โคตรพ่อโคตรแม่สัญญาทาส” ยิ่งกว่า “โดนปล้น” ลูกตัวเองจะไม่ได้รับมรดกอะไรจากพ่อ ใจไม้ไส้ระกำเกินไปไหม?

อะไรถึงทำให้เสกกับแกรมมี่ถึงจุดแตกหัก ทั้งที่อดีตเสกเคยอวยยศให้แกรมมี่เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศ และรักกันกับ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” แม้ในวันที่เสกโพสต์ด่ากราดด้วยถ้อยคำหยาบคาย ผู้บริหารค่ายยักษ์ยังเผยว่าไม่ถือสาเสก มองเป็นน้อง อีกทั้งเสกนับถือตัวเองมาก ถึงขั้นเคยกราบตีนมาแล้ว!

เพลงต้องเป็นของผม
ในอดีตเสกเคยขอแก้ไขสัญญา ระหว่างอยู่ค่ายมอร์มิวสิกกับ “ป้อม อัสนี โชติกุล” โดยเข้าไปคุยกับ “เล็ก บุษบา ดาวเรือง” เพื่อขอแก้สัญญากับแกรมมี่ เพราะทั้งร้องและแต่งเพลงเอง ฉะนั้น “เพลงต้องเป็นของผม” เล็ก บุษบา เข้าไปคุยกับ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” ให้ ได้ข้อตกลงว่า “เป็นเจ้าของร่วมกัน” ซึ่งเสกมองว่าการที่เป็นเจ้าของร่วมกันมีข้อดี เพราะตนเองไม่เชี่ยวชาญเรื่องการนำไปต่อยอด แต่แกรมมี่จะเอาไปจัดจำหน่าย เก็บลิขสิทธิ์ให้ เวลาตนไปร้องเพลงก็ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ โดยเสกอวยยศแกรมมี่ว่า “เป็นบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศนี้”

ปมปัญหาลิขสิทธิ์เพลงค่ายแกรมมี่ เคยเป็นกระแสแรงมาเนิ่นนาน ถึงขั้นวงหมอลำ นักร้อง นักดนตรี เคยประกาศแบน จะไม่ร้องเพลงแกรมมี่ เพราะเก็บลิขสิทธิ์โหดเกินไป ซึ่งเสก เคยพูดเอาไว้เมื่อ 11 ปีก่อนว่าอย่าไปเก็บค่าลิขสิทธิ์จากร้านเล็กๆ อย่างร้านลาบ ร้านคาราโอเกะเล็กๆ ที่เขามีรายได้เพียงวันละ 500 หรือ 1,000 บาท เพราะมันจะดูใจดำเกินไป เขาเป็นร้านเล็กๆ จะไปเก็บเขาทำไม

ทำไมนักร้องถึงร้องเพลงตัวเองไม่ได้
นักร้อง ร้องเพลงตัวเองไม่ได้ จริงๆ แล้วเป็นปัญหากันทั่วโลก ไม่ใช่แค่เมืองไทย กรณี “ตั๊กแตน ชลดา” ที่ออกมาบอกว่าตนเองร้องเพลงตัวเองได้ไม่เกิน 7 คำ ถ้าร้องเกินกว่านั้นจะโดนค่าลิขสิทธิ์ และไม่สามารถร้องเพลงตัวเองตามงานโชว์ได้เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ จน “เอ ศุภชัย ศรีวิจิตร” ต้องลงทุนควักเงินส่วนตัวซื้อลิขสิทธิ์เพลงเก่าทุกเพลงให้ตั๊กแตน จนสามารถนำไปร้องโชว์ได้ แต่เป็นเพียงการซื้อขายรายปี ไม่ได้ซื้อขาด หรือแม้แต่กรณี “ฟอร์ด สบชัย” นักร้องค่ายอาร์เอสฯ ถูกเรียกตัวไปเป็นพยาน เหตุนำเพลงที่สร้างชื่อให้ตัวเองครั้งเป็นศิลปินสังกัดอาร์เอสฯ ไปร้องในงานแต่ง จนอดีตต้นสังกัดยื่นเรื่องฟ้องร้องไปยังผู้ว่าจ้างในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ นักร้องหลายรายจึงลงทุนควักเงินก้อนโตซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาเป็นของตัวเองไปซะเลย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

“เวสป้าสเตอ” หรือ “อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา” นักแต่งเพลงชื่อดังที่ชนะคดีค่ายยักษ์อย่าง “อาร์เอส” หลังจากที่ถูกอาร์เอสฯ ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกเงิน 12 ล้านบาท เหตุนำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้องตามงานต่างๆ ได้ออกมาเผยว่าสัญญารับจ้างที่เสกเซ็น แกรมมี่ทำค่อนข้างรัดกุม แต่มีทางออก เพราะศาลให้ความเป็นธรรมเรื่องลิขสิทธิ์ โดยดูที่เจตนาเป็นหลัก หากเป็นเจตนารมณ์ที่ได้ลิขสิทธิ์ร่วมกัน ศาลจะให้แบ่งผลประโยชน์ตามมนุษยธรรม ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีหลายช่องทางให้เก็บค่าลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย หนึ่งปีเก็บค่าลิขสิทธิ์ได้มากถึง 6,000 ล้านไปแล้ว

หากใช้เพลงของแกรมมี่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เท่าไหร่?
เว็บไซต์ GMM MUSIC PUBLISHING INTERNATIONAL (MPI) หน่วยงานที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของ GMM Grammy และ บริษัท-ค่ายพันธมิตร เริ่มมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2546 ได้แบ่งการจัดเก็บค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลงฯ ตามธุรกิจเอาไว้ ดังนี้

Pub Bar เลานจ์ ผับ บาร์ โรงเบียร์และร้านอาหาร ประเภทที่มีเวทีแสดงสดและการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต = 120,000 บาท , Karaoke การใช้เพลงในสถานประกอบการคาราโอเกะ = 4,500 บาท , Audio การใช้เพลงในสถานประกอบการร้านอาหาร, ผับ,บาร์, โรงแรม และอื่นๆ = 750 บาท

Ringtone การใช้เพลงในตู้ (Kiosk) หรือร้านที่ให้บริการโหลดเพลงลงบนมือถือ = 12,000 บาท , TV broadcast & Cable TV การใช้เพลงเพื่อ On Air บน TV และการใช้เพลงใน กิจการโทรทัศน์ฯแบบตอบรับเป็นสมาชิก = 3,000 บาท , Publication การใช้เพลงในสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงหนังสือเพลง และ E-BOOK = 150 บาท

Radio & Instore การใช้เพลงเพื่อเผยแพร่ทางสื่อวิทยุ วิทยุในร้าน และสายการบิน = 7,200 บาท , Concert & Event การใช้เพลงในงาน event และ concert รูปแบบขายบัตร และไม่ขายบัตร = 30,000 บาท , Live Performance Show การใช้งานเพลงสำหรับทำการแสดงโชว์สดรูปแบบต่างๆ = 6,000 บาท

Online การใช้งานเพลง บนสื่อ Online ทุกชนิด เช่น การทำ online content ต่างๆ = 100,000 บาท , Advertise การใช้งานเพลงเพื่อประกอบโฆษณาทาง TV (Offline & Online Film) = 500,000 บาท , Movie, Series, OTT Platforms การใช้งานเพลงเพื่อประกอบ หนัง / ละคร / ซีรีส์ และบน OTT Platforms = 50,000 บาท
 
รู้จักกฎหมายลิขสิทธิ์
ความคิดสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าจึงกลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีกฎหมายลิขสิทธิ์ปกป้องความคิดสร้างสรรค์ ลิขสิทธิ์คือสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ สามารถขาย ให้เช่า ดัดแปลง หรืออะไรก็ตามที่จดลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ แต่ถ้าไม่ให้ใครจัดเก็บ ก็ไม่ได้เงิน คนส่วนใหญ่จึงนิยมให้บริษัทจัดเก็บแทน เพราะให้ไปไล่ดูเองคงไม่ไหว
 
“ก้อ ณฐพล ศรีจอมขวัญ” นักดนตรี โปรดิวเซอร์ ศิลปินเดี่ยว ประธานกรรมการ บริษัท ลิขสิทธิ์ดนตรี (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยอย่างน่าสนใจผ่านรายการ “ป๋าเต็ดทอล์ก” ระบุว่า ลิขสิทธิ์มี 2 แบบ คือ ลิขสิทธิ์ทางด้านดนตรีกรรม เกี่ยวกับการแต่งเพลง เนื้อร้อง ทำนอง และลิขสิทธิ์ในสิ่งบันทึกเสียง นั่นคือเพลงที่ทุกคนได้ยิน ถูกเรียบเรียง ถูกบันทึกเสียงมาเรียบร้อย อยู่ในซีดี สตรีมมิ่ง หรือยูทิวบ์ และมีสิทธิ์แยกย่อยออกมาอีก เช่น สิทธิ์ทำซ้ำ ก็อปปี้เป็นซีดี เอาไปขาย , สิทธิ์เผยแพร่เปิดเพลงในสวนสาธารณะ , สิทธิ์ดัดแปลง คือเอาเพลงไปเปลี่ยนเนื้อ ดัดแปลง เปลี่ยนทำนอง คัฟเวอร์ทั้งหลาย ถ้าร้องอยู่ที่บ้านเฉยๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีคนจ้างไปร้องแล้วเกิดรายได้ถือเป็นการละเมิด ซึ่งการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง ผู้จัดเก็บจะนำไปจัดสรรให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน ไม่ว่าจะเป็นครูเพลง, นักแต่งเพลง ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

กฎหมายเมืองไทย เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิต ทายาทก็จะได้รับรายได้ต่อไปอีก 50 ปี ตราบใดที่ยังมีคนนำเพลงไปร้องไปร้องในร้านอาหาร หรือฟังในสตรีมมิ่ง กรณีให้องค์กรจัดเก็บลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะร้านอาหาร หรือศิลปินเอาไปร้องตามคอนเสิร์ต ทุกไตรมาสจะส่งรายได้มาที่เจ้าของ เรียกว่านั่งอยู่เฉยๆ ที่บ้าน มีคนจัดการให้ ซึ่งการขออนุญาตแต่ละครั้ง ก็จะได้ลิขสิทธิ์ครอบคลุม เช่นมีเพลงในแคตตาล็อก 2 หมื่นเพลง จะเล่นเพลงอะไรก็ได้ ไม่ผิดลิขสิทธิ์
 
แนวทางแก้ปัญหา
เสก โลโซ เคยย้ำว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะห้ามศิลปินที่เป็นเจ้าของเพลงร้องเพลงตัวเอง ถ้ามีกฎหมายก็ต้องไปแก้ไขกฎหมายซะ นอกจากนี้ เวสป้าสเตอ และ ก้อ ณฐพล ได้เผยตรงกันว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างอเมริกา อังกฤษ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ กฎหมายมีเป็นร้อยปี และแทบไม่มีปัญหาลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายเขามีการรองรับชัดเจน อาจมีองค์กรเดียว หรือ 3 องค์กรในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ ขณะที่เมืองไทย มีมากกว่า 30 องค์กร ไม่รู้ว่าต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ใครกันแน่ เหล่าผู้ประกอบการเรียกร้องให้มีองค์กรเป็นสื่อกลาง ตั้งราคาจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพื่อความไม่สับสน และภาครัฐต้องมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือแก้ไขกฎหมาย ไม่ควรมีใครต้องเจ็บปวดกับเรื่องเหล่านี้

การออกมาท้าชนแกรมมี่ของ กานต์ วิภากร ในครั้งนี้ ก็เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้สามีและลูกๆ ส่วนจะปลดแอกสัญญาทาสได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

















กำลังโหลดความคิดเห็น