เดินทางมาถึงซีซันที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยสำหรับซีรีส์เกาหลีที่สตรีมบนเน็ตฟลิกซ์อย่าง Squid Game หรือ “เล่นลุ้นตาย” และหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน ก็พร้อมเดินหน้าสู่ซีซันที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบของเกมปลาหมึกในช่วงประมาณกลางปี 2025 นี้ ตามที่เน็ตฟลิกซ์เกาหลีทำมือลั่นเผยทีเซอร์และวันเวลาออนแอร์
อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือหนึ่งในผลงานซีรีส์ที่ดีที่สุดของเกาหลี กระทั่งเน็ตฟลิกซ์สำนักงานใหญ่ยังประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า Squid Game 3 คือ 1 ใน 3 ซีรีส์ที่คนดูรอคอยมากที่สุดในปี 2025 สำหรับ Squid Game โดยอีกสองเรื่องได้แก่ Stranger Things และ Wednesday ที่จะมีซีซันใหม่ออกมาในปีนี้เช่นกัน
เชื่อว่าคนที่ได้ดูทุกคนก็คงจะรู้ว่า หนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานของซีรีส์เรื่องนี้คือการนำเอาการละเล่นพื้นบ้านที่เป็นความสนุกของคนเกาหลี อย่างน้อยก็ในวัยเยาว์ มาคลุกเคล้าเขย่าใหม่ด้วยการใส่สถานการณ์แวดล้อมและบริบทสังคมร่วมสมัยเข้าไป ทำให้การละเล่นจากที่ควรจะเป็นความสนุกสนานเพลิดเพลินและผ่อนคลาย กลับกลายเป็นเกมลุ้นระทึกที่เดิมพันด้วยชีวิต
สำหรับเรื่องย่อคงไม่ต้องกล่าวอะไรให้มากความ ซีรีส์ยังคงเดินตามโครงเรื่องคล้าย ๆ เดิมที่ผู้คนต่างถูกเชื้อเชิญให้ก้าวเดินเข้าสู่เกมเสี่ยงชีวิต กระนั้นก็ตาม ความพิเศษก็คือ ถึงแม้โครงเรื่องจะคล้ายเดิม แต่ประเด็นของเรื่องนั้นใหญ่กว่าเดิม จากการเข้ามาสู่เกมอีกครั้งของตัวละครผู้ชนะในซีซันก่อนหน้าด้วยเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเล่นเกมชิงรางวัล ซึ่งต้องบอกว่า พี่ไม่ได้มาเล่น ๆ แต่มาแบบเดือดปุด ๆ ตั้งแต่อีพีที่หนึ่งกันเลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากดวล “รัสเซียน รูเล็ตต์” (Russian Roulette) ระหว่าง “ซองกีฮุน” (อีจองแจ) ผู้ชนะในซีซัน 1 กับ เดอะ เมสเซนเจอร์ (กงยู) นับเป็นฉากที่เพอร์เฟคต์อีกฉากหนึ่ง เรียกว่าสูสีพอกันกับฉากรัสเซียน รูเล็ตต์ ในตำนาน จากหนังเรื่อง The Deer Hunter ปี 1978 ที่โรเบิร์ต เดอ นีโร วัดดวงกับ คริสโตเฟอร์ วอลเคน
ทั้งคำพูดที่ยั่วยุอารมณ์ ทั้งสมเพชโกรธขึ้งและเคียดแค้น รวมไปจนถึงการแสดงของตัวละครผ่านสีหน้าแววตาที่สัมผัสได้ถึงมวลแห่งความตึงเครียด แต่ไม่มีวันถอยชนิดที่ว่าตายเป็นตาย และเหนืออื่นใดคือบทสนทนาแบบวิวาทะที่ดุเดือดระหว่างทั้งสองคน ซึ่งบางส่วนของวิวาทะได้สะท้อนถึงแนวคิดของสองขั้วตรงข้ามที่มอง “มนุษย์” กันไปคนละทาง
นอกจากนั้น การตั้งชื่ออีพี 1 ว่า “ขนมปัง หรือ ล็อตเตอรี่” (Bread or Lottery) ยังเป็นเสมือนการประกาศถึงเนื้อหาที่เราจะได้เห็นต่อไปเรื่อย ๆ ในอีพีข้างหน้า เพราะไม่ว่า “ขนมปัง” ที่วางอยู่ข้างหน้า จะช่วยทำให้อิ่มท้องในทันที แต่คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะหยิบล็อตเตอรี่เพราะหวังว่าจะได้รางวัลใหญ่ เช่นเดียวกับหลาย ๆ อีพีต่อไปที่ไม่ว่าจะได้รางวัลมาแล้วพอประมาณ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะไม่หยุด (แน่นอนว่า ถ้าหยุด แล้วซีรีส์จะเดินต่อไปอย่างไรล่ะ?)
คำถามก็คือ ทำไมหลาย ๆ ตัวละครจึงยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันถึงขนาดนั้น?
คำตอบที่เรียบง่ายที่สุด ก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าคำว่า “ภาระหนี้สิน” ที่แต่ละคนแบกรับอยู่ มันพร้อมผลักดันจะให้สู้จนหยดสุดท้าย แม้ว่าจะมีเสียงเตือนจากผู้มาก่อนอย่างไรก็ตามที ขณะที่ผู้สร้างเกมก็รู้ซึ้งถึงจิตใจมนุษย์เป็นอย่างดีและยินดีให้อิสระแก่พวกเขาในการ “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” ที่จะเล่นกับความเป็นความตายต่อไปเรื่อย ๆ พร้อมทั้งมีของล่อใจที่ยากจะปฏิเสธคือเงินรางวัลที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากพวกเขาชนะ มันจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาไปได้โดยสิ้นเชิง
ปัญหาหนี้สิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดักขับเคลื่อนตัวละครให้ก้าวไปสู่เกมข้างหน้า ซึ่งจะว่าไป ก็คงปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า Squid Game ได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสภาพปัญหาสังคมในด้านนี้ของเกาหลีใต้ในโลกความจริงออกมาอยู่กลาย ๆ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงที่สุดในเอเชีย และสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก จากการรายงานข่าวเมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ระบุว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 เกาหลีใต้เริ่มมีความวิตกเกี่ยวกับหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ที่รวมกันแล้วนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นั่นก็คือ 3,042 ล้านล้านวอน แยกเป็นหนี้ครัวเรือน 1,896 ล้านล้านวอน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นการกู้สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือที่อยู่อาศัย และหลายคนเป็นการกู้ซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรต่อไป โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซลซึ่งที่พักอาศัยมีราคาสูงและมีแต่จะสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ดี นอกจากหนี้ในระบบ ยังมีหนี้นอกระบบอีกไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ โดยหนี้นอกระบบก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ผู้คนต้องดิ้นรนกันสุดฤทธิ์เพราะเรื่องของดอกเบี้ยและการทวงหนี้ ดังนั้นแล้ว แม้ต้องเสี่ยงชีวิตก็ต้องเลือก เหมือนในซีรีส์เรื่องนี้
ท่ามกลางแววตาที่มุ่งมั่นเพื่อชิงรางวัลไปปลดหนี้และสร้างชีวิตใหม่ของสมาชิกผู้เข้าแข่งขัน ตัวละครหลากหลายสีสันก็นับเป็นเสน่ห์สำคัญที่ทำให้เราติดตามด้วยความรู้สึกต่าง ๆ กันไป บางคนดูยียวนกวนประสาท บางคนสนแต่เงินจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น บางคนแลดูน่าสงสารเห็นใจ ทั้งแม่ลูกที่บังเอิญมาเจอกันในเกมซึ่งกลายเป็นจุดสร้างความซึ้งสะเทือนใจ สาวสองที่ต้องการหาเงินไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในดินแดนใหม่ (ประเทศไทย) ซึ่งแอบสะท้อนการยังไม่เปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างเต็มที่ของสังคมเกาหลี และยังมีตัวละครขี้หงอที่ตกเป็นเบี้ยไล่คนอื่นอยู่ร่ำไป หรือแม้กระทั่งผู้เข้าร่วมแข่งขันบางคนที่ตีเนียนจนกลบมิดตัวตนอันแท้จริง
จะว่าไป Squid Game เปรียบเสมือน “ศูนย์รวมคนเปราะบาง” โดยแท้ พวกเขาต่างแพ้มาแล้วในสนามชีวิต และต้องการพิชิต “ขนแกะทองคำ” คือเงินรางวัลในสนามการแข่งขันเพื่อไปตั้งต้นใหม่ที่โลกนอกเกมอีกครั้ง
แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องผ่านด่านหลายด่านซึ่งเป็นที่มาของเรื่องราวดราม่า ทั้งกดดัน บีบคั้นหัวใจ เศร้า ซึ้ง สะเทือนอารมณ์ ขนานกันไปกับฉากเล่นเกมที่ชวนให้ลุ้น รวมถึงฉากแอ็กชั่นการต่อสู้ ก่อนจะพิสูจน์กันว่า ใครจะเป็นผู้พิชิตเงินรางวัลมหาศาลในกล่องนั้น และใครบ้างจะหล่นร่วงก่อนถึงปลายทาง
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเกมลุ้นรางวัล จากซีซัน 2 ไปสู่ซีซัน 3 สิ่งสำคัญยิ่งกว่าไม่ได้อยู่แค่ที่การเล่นเกมเพื่อลุ้นเอารางวัลเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่มันคือการลุกขึ้นมา “เล่นกับระบบ” อย่างท้าทาย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า การเล่นกับระบบจะจบแบบศพไม่สวย หรือจะลงเอยอย่างไร?