xs
xsm
sm
md
lg

ฟัน 100 ล้านทุกเรื่อง! “เกรียงไกร มณวิจิตร” ผู้บุกเบิกหนังไทยมุสลิมสู่ตลาดโลก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม้จะประสบความสำเร็จมาแบบงงๆ กับการทำภาพยนตร์เรื่องแรก “รักนะซุปซุป” หนังไทยมุสลิมเรื่องแรกของ “เกรียงไกร มณวิจิตร” ผู้กำกับและเจ้าของค่ายหนัง MONWICHIT (มณวิจิตร) แต่ความสำเร็จของหนังเรื่องถัดไปอย่าง “ของแขก” ก็การันตีศักยภาพของ เกรียงไกร บนเวทีหนังระดับโลกได้อย่างสิ้นสงสัย จากการพาหนังไทยมุสลิมไปฉายในหลายประเทศทั่วโลก และสร้างปรากฎการณ์ใหม่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ติดบ็อกซ์ออฟฟิศของหลายประเทศ ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ เรียกว่าหนังของเกรียงไกร ฟันรายได้ร้อยล้านทุกเรื่อง 

ผู้บ่าวนิกะห์ หนังไทยมุสลิมเรื่องใหม่ ลายเซ็นเกรียงไกร ที่ครั้งนี้ เกรียงไกร มีความตั้งใจอยากจะนำเสนอเรื่องราวหนังมุสลิมผสมไทยบ้าน softpower ไทยแบบไม่ต้องประดิษฐ์ ที่ฮาจนท้องแข็ง เจาะกลุ่มตลาดหนังไทย และต่อยอดไกลไปทั่วทุกมุมโลกให้กว้างยิ่งขึ้น

เกรียงไกร ได้เล่าถึงการแนวคิด วิธีการหยิบเรื่องเซนซิทีฟต่อใจคน คือเรื่องศาสนา วัฒนธรรม มาร้อยเรียงให้สวยงามกลายเป็นหนังที่มีคุณค่าต่อผู้คน สร้างประโยชน์ต่อสังคม สร้างความเข้าใจอันดีให้กับคนทั่วโลกได้นั้น เขาทำได้อย่างไร?

“ผมกำกับภาพยนตร์เรื่อง รักนะซุปซุป , ของแขก, ผู้บ่าวนิกะห์ จริงๆ ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ผ่านมาผมก็ทำเกี่ยวกับเบื้องหลัง โปรดักชั่น บริษัท เซอร์วิสกองถ่าย แต่ที่มาเลือกทำหนังวัฒนธรรมความเชื่อของศาสนาอิสลาม เราก็เริ่มต้นจากที่เราอยากจะทำหนัง หนังเป็นสิ่งที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่ผ่านการดูหนังมาเยอะมาก ผมไม่ได้เรียนด้านการทำหนังมาก่อน ผมเรียนสายวิทยาศาสตร์มา ด้วยความชอบผมก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง อ่านหนังสือ ประยุกต์เอาจากสิ่งที่เราสั่งสมมา ค่อยๆ ทำไปทีละขั้น ใช้เวลาเรียนรู้มาร่วม 10 ปี จนเพียงพอที่จะทำหนังได้ ก็เลยเริ่มทำหนังของตัวเองเรื่องแรกคือ รักนะ ซุปซุป

เราก็เลือกวิเคราะห์ก่อนว่าเราจะเลือกอะไร เรารู้อะไรดีสุดก่อน ก็เลยคิดว่าเราเล่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานเราก่อน คือวัฒนธรรมของคนอิสลามเพราะเรานับถือศาสนาอิสลาม ไม่ต้องไปหาข้อมูลมาก คือเรามีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว พอเราไปหาข้อมูลเพิ่มเติมมันก็ได้ลึกขึ้น ถ้าให้ไปทำเรื่องอย่างอื่นก็ได้นะ เราก็เริ่มจากศูนย์เอา“

อาศัยช่องวางตลาดสร้างจุดแข็ง ว้าวเลยพอลงมาเป็นผู้เล่นเองทำให้ได้รู้ว่าตลาดหนังมุสลิมใหญ่กว่าที่คิด
ผมเองก็ศึกษาตลาดของหนังมุสลิมด้วย ก็ดูว่ามันมีช่องว่างอยู่ บ้านเราไม่มีใครทำเลย มันก็อาจจะกลายเป็นจุดแข็งให้เราได้นะ เราก็มีองค์ความรู้อยู่แล้ว เลยคิดว่างั้นเรามาเจาะเฉพาะไปเลยดีกว่า เรื่องแรก รักนะซุปซุป ก็ถือว่าประสบความสำเร็จนะเพราะหนังไปไกลถึงเทศกาลโตเกียวฟิล์ม เป็นเทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ความรู้สึกในตอนนั้นไปถึงได้ยังไง งงมาก แล้วก็ยังไปต่อที่เวทีอื่นอีกแล้วก็ได้รางวัลกลับมาด้วย เราก็ว้าว!

เราก็เลยโอเคมาถูกทางแล้ว มันน่าจะมาจากการที่เราพรีเซนต์ความแตกต่าง ในเรื่องของการทำหนังเราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุด แต่เราแตกต่างที่การเล่าเรื่อง สตอรี่ของเรา มูทแอนด์โทนของหนังที่มันเกิดเป็นภาพยนตร์ มันมีความไม่เหมือนใคร มันก็เลยไปของมันได้ คนไม่เคยเห็นว่ามีเรื่องแบบนี้ มีวัฒนธรรม มีอาหารแบบนี้ในประเทศไทยด้วยเหรอ ต่างชาติเขาชื่นชอบมากๆ เราเลยมองว่าหนังมันก็ไปด้วยความเฉพาะของมัน กลายเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เขาได้เห็น

ของบางอย่างอยู่ในเมืองไทยเรามองว่ามันเป็นเรื่องปกติ พอหยิบยกมาให้คนทั้งโลกดู กลายเป็นเรื่องที่ว้าว กลายเป็นเรื่องใหม่ขึ้นมา อย่างคนมุสลิมที่ต่างประเทศเอง ก็ไม่รู้ว่ามุสลิมประเทศไทยอยู่กันยังไง อย่างตอนเอาหนังไปอียิปต์ เขาก็ได้เห็นว่ามุสลิมไทยมีความเป็นอยู่ยังไง เขาก็อยากจะรู้ พอเขาดูหนังเขาก็ได้เห็นวัฒนธรรมมุสลิมคนไทย มันเหมือนเป็นการทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ รักนะ ซุปซุป เลยกลายเป็น softpower ที่แข็งแรงมากๆ จากเรื่องเล็กๆ ที่เราเองก็ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็น softpower

เพียงแค่เราอยากจะเล่าเรื่องนี้ ซึ่งมันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ ตามธรรมชาติโดยที่เราไม่ได้ไปยัดเยียด มันเป็นธรรมชาติของมันเพราะมันเป็นวิถีชีวิตของคนไทยมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จริงๆ มันยังมีอะไรให้เล่นอีกเยอะเลยครับ”

เอาองค์ความรู้ที่เรียนทางวิทยาศาสตร์มาผนวกรวมกับวัฒนธรรมมุสลิม กลายเป็นหนังลายเซ็น “เกรียงไกร มณวิจิตร”
“มันคือองค์ความรู้ที่เรามี เราเอาความรู้ ความชอบของเราทั้งหมดที่มีมาทำหนัง 1 เรื่อง บางอย่างคนทั่วไปไม่รู้ แต่ชาวมุสลิมจะรู้บ้าง แต่พอเราได้มาศึกษา เราก็ได้ความรู้ที่ลึกขึ้น และได้เรื่องอื่นมาเติมอีกด้วย อย่างพวกเรื่องความลี้ลับ คำว่าของแขก มันแรงนะ พอได้เข้าไปศึกษามันก็ทำให้เรารู้ว่าตรงนี้มีอะไรน่าเล่นอีกเยอะเลย

ในส่วนของความเชื่อ เราพยายามทำเรื่องที่มันเหนือจริงให้อยู่ในกรอบของความเป็นจริง และคนดูจะต้องเข้าใจ มันก็ค่อนข้างแปลกใหม่สำหรับเมืองไทย บางประเด็นเราก็ไปแตะเรื่องที่เซนซิทีฟมาก มันเสี่ยงต่อการโดนหลายฝ่ายโจมตีได้ ถ้าเราไม่ได้เล่าเรื่อง ทำหนังออกมาให้ดูแล้วเข้าใจเรื่องราวอย่างลึกซึ้ง

เช่น การที่เราเล่าเรื่องไม่เคลียร์ เราเคยเจอดรามาในเรื่องของแขกมาแล้ว ตอนก่อนจะฉายเราก็โดนต่อว่าเยอะ มันก็เป็นสิ่งที่เซนซิทีฟ ถ้าไปพรีเซนต์ในแบบที่ไม่เข้าใจจริงๆ มันจะผิดหลัก มันจะทำให้เกิดปัญหาตามมา เราต้องบาลานซ์ความบันเทิงกับความเข้าใจในหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งมันยากมากพอสมควร อย่างของแขก เราต้องปูพื้นฐาน ปรับความเข้าใจให้คนดูก่อนว่าอะไรคือของแขก อะไรคือศาสนาอิสลาม ถ้าไปยัดเยียดทีเดียวคนตกใจ ก็รอดูภาค 2 ของแขกในปีหน้าได้เลยครับเราจะพรีเซนกันเต็มๆแล้ว อยากให้ได้ดูกัน”

จุดยืนการทำหนังคือยึดถือในคุณธรรม ต้องไม่ก่อความเสียหายต่อผู้คนและสังคม
“สำหรับผมเวลาจะทำอะไรเราต้องรู้ให้จริง ว่าเราต้องวางแผนว่าเราจะต้องรับมือยังไง จะพรีเซนต์มันยังไง ไม่ใช่จะเอาแต่ขายโดนไม่สนใจแก่นแท้ของเรื่องนั้นๆ ไม่สนใจถึงวัฒนธรรม ความขัดแย้งในสังคมที่มีต่อเรื่องนั้นๆ หรือกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคตกับสิ่งที่เราจะเล่าไป มันก็ไม่ได้ ยิ่งเรื่องของศาสนา มันเป็นเรื่องที่เปราะบางกับทุกสังคม ทุกคนเคารพ อยู่ในกรอบระเบียบของศาสนากันหมด ยิ่งชาวมุสลิม ทุกคนเหมือนดั่งนักบวชที่อยู่ในผ้าขาว คือเป็นผู้ที่เคร่งครัดในหลักการ เราจะไปทำอะไรก็ต้องระวัง ถึงจะเป็นวิถีชีวิตก็ถาม แล้วชาวอิสลามใช้ศาสนาเป็นการนำทางชีวิตในแต่ละวัน เขาไม่ได้ใช้ชีวิตกันอิสระ

เราเป็นคนทำหนัง เป็นคนถ่ายทอด เราก็ต้องคำนึงถึงเขา เหมือนถ้าเราไปทำให้วัฒนธรรมบางอย่างของเขาถูกมองในแง่ลบมันก็ไม่ถูกต้องแล้ว เช่น พวกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย การที่จะต้องไปละหมาด มันคือวิถีชีวิตของเขา แต่อยู่ๆ เราไปทำให้มันเกิดเป็นภาพลบ ทำให้เขาเป็นที่พูดถึงในทางไม่ดี ทำให้เขาใช้ชีวิตลำบาก เป็นสิ่งที่เราไม่ควรทำเลย เราต้องคำนึงถึงผลและรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ ผมไม่ได้เอาศาสนามาเป็นเครื่องมือทำมาหากินหรือได้มาซึ่งชื่อเสียง แต่ผมเอาศาสนามาเพื่อแสดงออกถึงวัฒนธรรม

สิ่งแรกของการทำหนัง คำถามแรกที่ผมจะถามกับตัวเอง คือ หนึ่งทำเรื่องนี้สังคมได้อะไร สองทำแล้วสังคมจะเสียหายอะไรไหม ถ้าตอบตรงนี้ได้เคลียร์ ผมถึงจะทำ หนังของเราเป็นสื่อที่จะชี้นำคนในสังคม สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐาน เรียกว่าคุณธรรมของคนทำหนัง มันต้องมีอยู่ในจิตใจ ถ้าเราจะทำหนังที่เราอยากทำโดยไม่แคร์อะไรผมว่าอย่าทำเลย มันเสียหายต่อผู้คนและสังคม สุดท้ายหนังจะทำเงินหรือไม่มันก็ขึ้นอยู่กับส่วนตรงนี้ด้วย ถ้ามันไม่ยุติธรรมต่อคน โลกเขาก็ไม่ให้เราหรอก ผมเชื่อว่าถ้าเราคิดดีทำดี เราต้องได้ในสิ่งที่ดี ถ้าทำไม่ดี มันไม่มีทางได้รับสิ่งที่ดีหรอก อย่าคิดว่าหนังจะทำเงินเลย หนังทำเงินต้องให้ประโยชน์ต่อสังคม ผมคำนึงถึงตรงนี้มาตลอดการทำหนังของผม มันคือจุดยืนของผม”

ปีหน้าตั้งใจพาหนังมุสลิมไทยเจาะกลุ่มหนังตลาดโลก
“อย่างที่บอกหนังมันพาตัวเองไปได้เรื่อยๆ แต่ของแขก 2 เราตั้งใจตั้งแต่ทำแล้วว่าเราอยากจะพาเขาไปให้ได้ทั่วโลก ที่ผ่านมาของแขกภาคแรกก็ได้ไปในหลายประเทศรอบโลก มีนายทุนซื้อหนังเราไปฉาย ยอดรายได้ก็ดูดีเลย ไม่คาดคิดว่าจะทำเงินเยอะขนาดนี้ มันไปของมันได้ โดยเฉพาะมาเลเซียนี่คือเซอร์ไพรส์มากๆ

หนังไทยเราทุกวันนี้เรียกว่าเพิ่งเริ่มที่จะเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศ บ้านเราทุกวันนี้คนทำหนังและทีมงานเก่งๆ กันเยอะแล้ว หนังฮอลลีวูดก็ใช้ทีมงานไทย ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความสามารถ แต่เราทำในกรอบของงบประมาณที่เราทำได้ ถ้ามีเงินมาให้ทำหนัง 1 เรื่องสัก 4,000-5,000 ล้านบาท มันไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยเลยที่จะทำหนังคุณภาพเทียบฮอลลีวูด อย่าเพิ่งสบประมาทคนไทยว่าทำหนังไม่ได้ จริงๆ เราทำได้ แต่ตลาดหนังไทยเรายังไม่ได้กว้างขนาดนั้น แต่ตอนนี้เรียกว่าหนังไทยเราจุดติดในตลาดโลกแล้ว”

“ผู้บ่าวนิกะห์” หนังมุสลิมผสมไทยบ้าน softpower ไทยแบบไม่ต้องประดิษฐ์
“ผู้บ่าวนิกะห์ เป็นหนังเบาสมองที่เอาความเป็นอีสานมารวมกับความเป็นมุสลิม เราก็เลือกจับจุดจากชีวิตจริงนั่นแหละ นี่ก็เป็นอีกวิถีชีวิตหนึ่งที่คนอาจจะไม่เคยสังเกตเห็น หนังเรื่องนี้จะได้เห็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต ได้เห็นผู้คน เราจะได้เห็นความเรียลของวิถีชีวิตความสนุกเหมือนกับที่เราเจอในชีวิตจริงๆ เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ประดิษฐ์มันเลย แต่เราขายความเรียลระหว่างวัฒนธรรมไทยบ้านกับไทยมลายูมาให้เขาได้เฉิดฉายกันเต็มที่

เรื่องนี้เราก็หวังว่าหนังจะพาเราไปในพื้นที่ที่กว้างกว่าเดิม เพราะนิกะห์ ก็คือพิธีการแต่งงานของชาวมุสลิมทั่วโลกอยู่แล้ว เป็นเรื่องสากลโดยเฉพาะเรื่องของการแต่งงาน เป็นสิ่งที่คนชอบดู เพราะแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ผู้คนจะได้ความเข้าใจถึงเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความหลากหลายของเชื้อชาติที่ต้องมารวมกันในพิธีแต่งงาน เขาอยู่กันแบบลงล็อกได้ยังไง

ประเทศไทยเรามีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายชาติพันธุ์ แล้วเขาอยู่ร่วมกันยังไง ตรงนี้ทำให้ประเทศไทยมีเสน่ห์ คนไทยเราไม่ได้มีหน้าเดียว คนไทยมีหลากหลายหน้ามากๆ แต่ทั้งหมดล้วนแล้วคือความเป็นคนไทย เป็น softpower เต็มๆ แบบไม่ต้องตั้งใจทำเลย มันเป็นของมันโดยธรรมชาติ แค่เราเลือกหัวข้อให้ถูกว่าเราจะเล่นเรื่องอะไร มันก็เป็น softpower ด้วยตัวมันแล้ว เราไม่ได้ทำมันขึ้นมาเพื่อเป็น softpower“

การมีหนังมุสลิมออกมาเปลี่ยนความเชื่อผู้คนที่มีต่อมุสลิมได้เหมือนกัน สัมคมเกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้คนเปิดใจกับชาวมุสลิมมากขึ้น
“ผมว่าก็ดีขึ้นนะครับ ผมว่าเห็นได้ชัดเลยแหละ คนเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น คนเริ่มเข้าใจซึ่งกันและกัน หนังมันมีคุณค่าของมันตรงนี้ คือเราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้เห็นมุมมอง เลยไม่ได้เข้าใจ พอมีหนังมุสลิมขึ้นมา คนได้เห็นวิถีชีวิตของกลุ่มชนชาติพันธุ์ในประเทศไทยเรามากขึ้น ถ้าจะบอกว่าหนังมุสลิมเป็น softpower ไหม ผมว่ามันก็เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบนะ และผมคิดว่ามันเป็น softpower ที่ไปเข้าถึงใจคนได้ทั่วโลก

อย่างที่ผ่านมาหนังมุสลิมจากอินโดนีเซียก็มาทำรายได้ถึง 20 ล้าน ผมว่าคนไทยรวมถึงคนทั่วโลกก็เริ่มเปิดใจกับหนังมุสลิมมากขึ้น แม้ตอนนี้หนังมุสลิมจะยังเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม หนังกระแสรองก็ตาม แต่ก็มีคนเสพทั่วโลก หนังมุสลิมเราเองก็ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ทุกคนมีจุดแข็งกันหมดแหละ เราก็แค่หามันให้เจอ หากเราไปทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ตัวตนมันก็อาจจะยังไม่เจอจุดแข็ง”



























กำลังโหลดความคิดเห็น