เดินทางเกือบจะถึงบทสรุปแล้ว สำหรับซีรีส์ “การุณยฆาต”ที่ออนแอร์ทางช่องวัน31 นำแสดงโดย “ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร” และ “เจเจ กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม” แม้ต้นฉบับที่มาจากนิยายของ “หมอแซม พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร”เจ้าของนามปากกา Sammon ที่ฝากผลงานเอาไว้ทั้ง พฤติการณ์ที่ตาย, ทริอาช, Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก และผลงานล่าสุด 4MINUTES ซึ่งสังเกตได้จากแกนเรื่องนั้น นอกจากจะมีความเป็นวายจ๋าแล้ว ยังนำเสนอเกี่ยวกับการแพทย์
แต่สำหรับ “การุณยฆาต” ในเวอร์ชั่นช่องวันทำนั้น ทางทีมผู้จัดยืนยันว่าจะไม่เน้นความเป็นวาย แต่จะนำเสนอในแง่มุมของการแพทย์เป็นหลัก โดย “ลักษณ์ ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์”ครีเอเตอร์&สคริปต์ไรท์เตอร์ ซีรีส์ การุณยฆาต มือฉมังประจำค่าย เล่าถึงที่ไปที่มาของการหยิบเรื่องนี้มาทำ พร้อมตีแผ่ว่า แม้กฎหมายไทย จะยังไม่อนุมัติให้ “การุณยฆาต” ถูกกฎหมาย แต่ผู้ป่วยก็สามารถจากโลกนี้ไปได้ ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง และแพทย์ก็ไม่ได้ผิดจรรยาบรรณของตัวเองด้วยเช่นกัน
“นิยายของหมอแซม เขาจะเป็นนิยายวาย จะมีเลิฟซีนเยอะ ซึ่งเราไม่ได้เลือกที่จะเล่าในมุมของวาย เราจะหมายถึงว่าเป็นผู้ชายสองคนที่รักกัน แต่เราจะทำสไตล์มุมดาร์กดรามา ซึ่งตัวละครเป็นชายรักชาย แต่เราไม่ได้เซอร์วิสทุกตอน ไม่มี NC อันนี้เป็นความตั้งใจตั้งแต่แรกที่เราเริ่มทำซีรีส์เรื่องนี้ การที่เราไม่ได้ทำแบบนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับเซ็นเซอร์ ไม่ได้เกี่ยวกับเวลาออกอากาศ หรือนักแสดง แต่เพราะสิ่งที่เราเล่านั้น มันหนัก มันซีเรียส ซึ่งการมี NC มันจะแย่งความสนใจของเรื่อง เพราะสิ่งที่เราจะพูดคือความดาร์กดรามา และการการุณยฆาต ซึ่งแฟนนิยาย บางส่วนอาจจะผิดหวัง แต่เราคิดว่า เรามีความสนุกอย่างอื่นให้ แต่แค่มันไม่มี NC เท่านั้นเอง
โดยวิธีคิดของเราไม่ได้คิดแบบซีรีส์ที่เสิร์ฟ ยกตัวอย่างละครหญิงชาย ถ้าพระเอก นางเอก เขาจะรักกัน เขาก็รักกันไปเลย ซึ่งเรื่องนี้ก็เหมือนละครปกติทั่วไป ไม่ได้คิดว่าหญิงรักหญิงหรือว่าชายรักชาย เพียงแต่ว่ามันเป็นคนสองคนที่รักกัน ซึ่งในฉากความรัก เราก็นำเสนอเหมือนละครปกติ ซึ่งคนดูก็จะคิดว่าคนสองคนนี้เขารักกัน เพราะเราไม่ได้คิดว่า ชายรักชาย จะต่างกับชายรักหญิง มันก็คือคนสองคนมาเจอกัน มีความรู้สึกดีๆ ต่อกัน และรักกัน แล้วถ้าเราไปคุยกับเจ้าของบทประพันธ์ เขายินดีมาก เพราะสิ่งที่เขาอยากสนับสนุนคือเรื่องการุณฆาต แต่คุณหมอเข้าใจในกติกาด้วย ว่าเขาทำนิยายวาย และคุณหมอเองก็เป็นสาววาย นางเอ็นจอยกับการเขียนแบบนั้น”
บอกคนเข้าใจผิดเยอะ การุณยฆาตต้องเกิดจากโรค ไม่ใช่เบื่อชีวิต หรือขี้เกียจแล้วอยากฉีดยาให้ตาย
“และการที่เราอยากนำเสนอว่าการรุณยฆาตคืออะไร เพราะปัจจุบันนี้ มันมีความเข้าใจเยอะมาก มันมีสองทาง ก็คือลบ ก็ลบไปเลย คือการฆ่าตัวตาย กับอันที่สอง การรอคอย ถ้าเราเบื่อชีวิต เป็นการหนีปัญหา เพราะอย่างที่เห็นใน x บางคนนั้น คิดว่าฉันไม่ต้องคิดถึงอนาคต ฉันหาเงิน ใช้ชีวิตให้ฉ่ำอุรา แล้วก็ฉีดยาให้ตาย ซึ่งในโลกนี้ ที่ไหนก็ทำให้ไม่ได้ มันคือความเข้าใจผิด
การุณยฆาตไม่ใช่ให้คุณไปฉีดยาตายได้ เพราะคุณเบื่อโลกนี้ อย่างในยุโรปก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ทั้งๆ ที่กฎหมายนั้นผ่านแล้ว แต่ในเอกสารนั้น คุณต้องเป็นโรคตามที่ระบุในเอกสาร คุณถึงจะใช้สิทธิ์นี้ได้ พร้อมกับมีใบรับรองโดยหมอ 2 คนขึ้นไป และต้องเป็นหมอเฉพาะทาง ซึ่งโรคนั้นต้องเป็นโรคที่รักษาไม่หายจริงๆ และคุณกำลังรอความตาย แต่การมีกฎหมายตัวนี้ขึ้นมา จะทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่ต้องทรมาน แทนที่จะต้องทรมานไปอีกปีนึง ก็ตายได้เลย ไม่ใช่เบื่อชีวิต หรือขี้เกียจอยู่หรือไม่ชอบตัวเองตอนแก่ ก็ปล่อยให้เขาฉีดยาให้ตาย ซึ่งเขาไม่ทำให้นะ มีคนเข้าใจผิดเยอะมาก ว่าถ้าไม่อยากอยู่ ก็ไปทำการรุณยฆาต
แต่ในทางบวก คนบางคนก็บอกว่าอยากให้กฎหมายผ่านจังเลย จะได้ไม่ต้องดูแลตัวเองตอนแก่ ฉันเบื่อปุ๊บ ฉันเดินไปฉีดยาเลย ซึ่งมันไม่ได้ ในประเทศที่ถูกกฎหมาย เขาก็ไม่ทำให้ หรือพ่อเป็นโรคที่ยังรักษาได้ เขาก็ไม่อนุญาตเช่นกัน กรณีที่ทำได้ ในประเทศที่กฎหมายนี้ผ่าน ตามที่อธิบายไปเมื่อกี้เลย แล้วเขา จากการุณยฆาตให้กับผู้ป่วย ใช้คำง่ายๆ คือ รอวันตาย
แล้วมันก็มีบางประเทศ ที่ออกกฏหมาย การุณยฆาตมาแล้ว และเขาก็เปลี่ยนใจกลับไปใช้กฎหมายเดิม ตัว ‘การุณยฆาต’ มันไม่ได้สวยหรู มันมีช่องโหว่เยอะ อาทิเช่นผู้ป่วย เขาป่วยมาก อายุเยอะ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะอยากตาย แต่ญาติพี่น้อง ไม่อยากดูแล ก็ไปจัดการการุณยฆาตเขา เพราะถ้ากฎหมายมันไม่เรียบร้อย มันก็จะเกิดช่องโหว่ เพื่อให้เกิดการฆาตกรรม บางคนเขาอาจจะลุกเดินไม่ได้ แต่เขายังอยากอยู่ เขาไม่อยากตาย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการการุณยฆาตที่หมอต้องคุย ซึ่งในเรื่องนี้ เราจะทำให้เห็น คือความต้องการของคนไข้ คุณต้องทำด้วยความมีสติ และความอยากไปด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่ถูกกดดันโดยญาติ แม่ลูกไม่ไหว แม่เป็นภาระจังเลย เอาแม่ไปฉีดยาดีกว่า
ซึ่งเข้าใจว่ามันเป็นประเด็นอ่อนไหว ไม่ได้อยากให้มีการถกเถียง แต่อยากให้ดูแล้วเข้าใจว่าเราจะสื่อถึงอะไร ให้เกิดการคิดอย่างจริงจัง เพราะถ้าถึงวันที่ต้องแก้กฎหมาย คุณเข้าใจมันแล้วจริงๆหรือเปล่า ถามตัวเอง ว่าคุณอยากให้เค้าแก้ กฎหมายจริงไหม เราจะตอบไม่ได้ เพราะเราไม่เข้าใจมันจริงๆ“
เมืองไทยเหมาะไหมกับการการุณยฆาต?
“การการุณยฆาตมันน่าคิดเหมือนกัน เราไปสอบถามคุณหมอ คือการการุณยฆาตไม่เหมาะสำหรับคนรวย ถ้าไปถามหมอในโรงพยาบาลแพงๆ เขาก็จะตอบว่าการการุณยฆาตไม่เหมาะสมกับประเทศไทย เรามีทุกอย่างที่ คนไข้จะผ่านช่วงเวลาสุดท้ายไปได้ดี แต่ในวงเล็บเราต้องมีเงินไง แต่สำหรับคนจน แค่การที่คุณจะต้องลงมาเอายาแก้ปวด เดือนละสองครั้ง คุณแทบจะไม่ไหว มันต้องทนทรมาน ซึ่งคุณหมอที่เขียนเรื่องนี้ เขาต้องไปเยี่ยมบ้านคนไข้
การที่โรงพยาบาลเล็กๆ แล้วเจอเคสแบบนี้ เขาก็คิดว่า หรือจริงๆ มันต้องมีวะ คนจนที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เจ็บปวดทรมานมาก ไม่มีใครพามาเอายา หรือพามาหาหมอ แล้วต้องนอนปวดแบบนั้นหรอ เขาจะต้องอยู่ยังไงล่ะ การเข้าถึงและรัฐสวัสดิการสาธารณสุขของคนเรามันไม่เท่ากัน
นี่คือสิ่งที่อยากเล่ามาก เข้าใจว่าสาววายผิดหวัง แต่ถ้าเราไปเล่น ฉาก NC เยอะๆ ให้คนดูจิ้น แกนเรื่องมันจะเปลี่ยนไป น้ำหนักจะไปทางนั้นมากกว่าการนำเสนอเกี่ยวกับการุณยฆาต
ซึ่งในซีรีส์ มันก็จะมีหลายอย่างให้ได้พิจารณา หนึ่งในนั้นคือการทำ ‘ลีฟวิ่ง วิล’ มันออกมาตั้งหลาย 10 ปีแล้ว เราสามารถทำหนังสือแจ้งเจตจำนง ว่าเราป่วยหนัก ไม่ตอบสนอง เราเป็นผัก ไม่ต้องช่วยชีวิต คล้ายๆ พินัยกรรม ‘พินัยกรรมคนป่วย’ เพราะถ้าเราหมดสติไปแล้ว มีสติไม่ครบ เราจะทำไม่ได้ แล้วหมอจะไม่ช่วยชีวิตเรา ก็ไม่ได้ เพราะผิดจรรยาบรรณ มันก็จะกลายเป็นความอาญา เท่ากับปล่อยให้เราตาย
อันนี้คือถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ. รับรอง แต่ไม่มีใครรู้ ซึ่งทำได้เลยไม่ต้องมีทนาย แค่มีพยาน ซึ่งเราทำไว้เก็บไว้ที่เราหนึ่งชุด และก็ให้โรงพยาบาล ที่เรารักษาถ้าเรามีอาการอาการตามที่ระบุไว้ในเอกสาร หมอสามารถปล่อยเราไปได้เลย โดยไม่ต้องช่วย ซึ่งเราต้องทำด้วยตัวเอง ญาติไม่สามารถทำให้ได้ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ช่องโหว่ทางกฎหมาย มันมี พ.ร.บ. ออกมาแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีการโปรโมต ซึ่งสิ่งนี้ถูกกฎหมาย และใช้ทดแทนการการุณยฆาตได้ เพราะมันมาจากคนป่วยเอง ทุกคนสามารถเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้หมด มะเร็งไม่เข้าใครออกใคร และการที่คุณจะต้องเข้าไปอยู่ในเคสต่างๆ เหมือนในซีรีส์นั้น คุณจะดีลกับมันยังไง ในเมื่อกฎหมายการุณยฆาตมันยังไม่ออก คุณต้องคิดล่วงหน้า ว่าคุณจะทำยังไง”