xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสที่สุดแห่งสุนทรีย์ ฟัง รู้ ดู ชมดนตรี ดื่มด่ำประวัติศาสตร์ เคล้าลมหนาว ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จัดเต็มทุกวันเสาร์ ตลอดเดือนธันวาคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องในวาระฉลองครบ 100 ปี พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หนึ่งในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่าทางด้านธรรมชาติ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม ได้กลับมาเปิดให้เข้าเยี่ยมชมเป็นประจำทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา โดยเริ่มด้วยการจัดงานเทศน์มหาชาติ การจัดทำพระสมเด็จมฤคทายวันพิมพ์ปรกโพธิรุ่น 100 ปีเพื่อเป็นที่ระลึกและเพื่อเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคบูชานำรายได้อนุรักษ์บูรณะพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

​โดยในช่วงฤดูหนาว ได้มีการจัดงานรื่นเริงประจำปีในเดือนธันวาคม ซึ่งในปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จัดงาน “ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ” เพื่อสานต่อกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในช่วงฤดูหนาวอย่างยั่งยืน “โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสืบสานมรดก ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ งานฤดูหนาว ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับความงดงามทางประวัติศาสตร์ ในกระบวนการฟื้นฟูธรรมชาติและการสืบสานศิลปวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมฟังการอ่านบทพระราชนิพนธ์ ดนตรี ชิมอาหาร และร่วมแต่งกายตามรัชสมัยนิยม โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ ตลอดเดือนธันวาคมนี้

มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ว่าเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ว่าพระราชนิเวศน์มฤคทายวันกลับมาเปิดให้เข้าเยี่ยมชม และเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์เป็นส่วนสำคัญในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์และบูรณะมรดกสำคัญของชาติให้คงอยู่โดยร่วมเป็น ๑ ใน สมาชิกบูรโณปถัมภ์ ๑๐๙,๖๐๐ คน เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างอดีตถึงปัจจุบันและส่งต่อไปยังอนาคต พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นอย่างมีคุณค่า ช่วยส่งเสริมความรู้และการเข้าใจในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยให้กับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความหมายทั้งในด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสถานที่ และส่งเสริมให้การท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นไปอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อความพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

สำหรับกิจกรรมหลักของโครงการ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ : เสียงเพลงแห่ง มฤคทายวัน จะจัดขึ้นตลอดเดือนธันวาคม ในวันเสาร์ที่ 14, 21 และ 28 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น. เพื่อนำเสนอประสบการณ์สุนทรีย์ช่วงเวลาบ่ายแห่งฤดูหนาว ท่ามกลางบรรยากาศของพระราชนิเวศน์ ซึ่งนอกจากจะโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ยังโอบล้อมด้วยธรรมชาติอันร่มรื่นและหลากหลายที่กำลังฟื้นตัวกลับมา พร้อมกันนี้ยังจัดเต็มด้วยกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วม “ฟัง รู้ ดู ชม” เริ่มจาก ฟัง - เพลงคลาสสิคทั้งไทยและเทศ ทั้งเก่าและใหม่ท่ามกลางบรรยากาศฤดูหนาว รู้ - เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านบทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พร้อมชวนแต่งกายในชุดไทยตามสมัยนิยมรัชกาลที่ 6 ซึ่งโปรดให้สตรีนุ่งซิ่น และที่ตัดแบบเรียบง่ายทรงตรง เรียกกันอย่างลำลองว่าเสื้อผ้าเช็ดหน้า ครั้นต่อมาได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นการแต่งกายแบบ Gatsby มีการประดับตกแต่งให้ดูสนุกสนานยิ่งขึ้น ดู ชม – ศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านการอ่าน บทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ความงดงามของพระราชวัง ยามบ่าย ในแสงแดดอันสวยงามของฤดูหนาว อวลด้วยกลิ่นดอกไม้และเครื่องหอมในบรรยากาศริมทะเลที่ร่มรื่น

เพลิดเพลินกับกิจกรรม “ฟัง รู้ ดู ชม” แล้ว ในช่วงเวลา 13.00-17.30 น. ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ยังมีการแสดงดนตรีให้ดื่มด่ำ นำเสนอประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าและแตกต่างไม่เหมือนที่ไหนให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัส สำหรับวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม 2567 พบกับการแสดงของวงดุริยางค์ราชนาวี ( 25 ชิ้น ) กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพ บรรเลงเพลงของทหารเรือและเพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 การแสดงเปิดโรง ด้วยลำตัดและเพลงฉ่อยวงรากไทย จากโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ เมืองเพชรบุรี วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567 พบกับการแสดงของสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา บทเพลงจากคีตนิพนธ์ร่วมสมัยในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 การแสดงเปิดโรง การขับเสภาและการอ่านทำนองเสนาะ บทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดย กวินภพ ทองนาค นิสิตปริญญามหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ บทเสภาสามัคคีเสวก, โคลงอารัมภกถาพระนลคำหลวง, มงคลสูตรคำฉันท์ และสยามานุสสติ ทั้งนี้ ไม่ต้องกังวลว่าจะเสียอรรถรสเพราะไม่เข้าใจความหมาย เนื่องจากแต่ละบทจะมีการสลับการอธิบายที่มาและความหมายโดย รศ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล จากภาควิชาภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม 2567 พบกับการแสดงของมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ บทเพลงจากบทพระราชนิพนธ์ในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 การแสดงเปิดโรงด้วยเพลงพวงมาลัยจากกลุ่มชาวบ้านตำบลนายาง อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี ธรรมเนียมการแสดงเปิดหน้าม่านโดยการแสดงของชาวเพชรบุรีนี้ มีมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงจัดการแสดงขึ้น ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

นอกจากนี้ใครที่ชอบงานคราฟต์ ยังสามารถเพลิดเพลินกับกลิ่นยาดม “สสิตตา” ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน โดยแม่ส้ม-อมร อมรรัตนเสรีกุล, ประดิษฐ์กลิ่นใหม่เพิ่มเติม 3 กลิ่นคือ มัทนะพาธา ศกุตลาและเวนิสวานิช ชมขั้นตอนการทำกระดาษจากใบสับปะรด นิทรรศการกระบวนการสร้างสีและสิ่งพิมพ์จากสีธรรมชาติ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณญาณวิทย์ กุญแจทอง ศิลปินแห่งชาติ, กิจกรรมพิมพ์ผ้าจากโขมพัสต์และลายพระราชนิเวศน์ ฯ ชิมต้นตำรับข้าวแกงเมืองเพชร และขนมจีนจากหน้าสถานีกาชาดเมืองเพชรบุรี, ขนมจีบ และ น้ำพริกมะมาด จากกาพย์เห่ชมเครื่องว่างะรัราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ชมแจกันพรรณไม้ที่จัดโดยใช้พรรณไม้ของสังคมพืชบนสันดอนทรายชายฝั่ง ที่ร้านน้ำชาส่วนพระราชฐานชั้นใน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เรียนปักผ้าลายดอกไม้จากพรรณไม้สังคมพืชบนสันดอนทรายชายฝั่ง โดยป้าตุ้ย - ศิริพร ไข่นาค ปิดท้ายด้วยกิจกรรมทำพวงมะโหตร ตอกธงกระดาษโดยกลุ่มลูกหว้าจากเมืองเพชรบุรี ในวันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม และในวันเสาร์ที่ 14 และ 21 ธันวาคม อาจารย์อริยะ ทรงประไพ สถาปนิกอนุรักษ์ นำชมงานสถาปัตยกรรมของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันโดยละเอียดตั้งแต่เวลา 10.00 น.

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแหงประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงความคาดหวังต่อการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้มาเยี่ยมชมพระราชนิเวศน์มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว ทำให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวันกลายเป็นจุดเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่สำคัญในระดับนานาชาติพร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ช่วยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าถึงความรู้ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า นำไปสู่การเสริมสร้างการอนุรักษ์และความรู้สึกถึงความสำคัญของสถานที่สร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระดับสากล ที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย













กำลังโหลดความคิดเห็น