“เก้ง จิระ - วัน วรรณฤดี” ภูมิใจ “หลานม่า” ผ่านรอบคัดเลือก 1 ใน 15 เรื่องชิงออสการ์ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 31 ปี ลั่นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ฝรั่งดูแล้วอินร้องไห้เหมือนคนเอเชีย เชื่อทัชใจเพราะเป็นเรื่องครอบครัว เผยรายได้สูงสุดทั่วโลก 2 พันล้าน ฉายไปแล้ว 36 ประเทศ และกำลังฉายที่ยุโรปและอเมริกาใต้ ด้าน “พัฒน์” ผู้กำกับยอมรับเกินคาด ไม่เคยท้อระหว่างทาง เพราะชอบเอาชนะ ขณะที่ “ยายแต๋ว อุษา” รับไม่เคยคิดว่าตัวเองจะแสดงได้ ภูมิใจขึ้นแท่นนางเอก 2 พันล้าน ถ้าอยู่บ้านก็เป็นแค่คนแก่คนหนึ่งเท่านั้น
เป็นข่าวน่ายินดีของประเทศไทย หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” จากค่ายจีดีเอช ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ผ่านเข้ารอบคัดเลือกพิจารณาเบื้องต้น (Shortlist) 15 เรื่องสุดท้าย จากทั้งหมด 85 เรื่องที่ส่งในปีนี้ และรอลุ้นผ่านเข้ารอบเป็นผู้เข้าชิง 5 เรื่องสุดท้ายบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 97 ในสาขา ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ACADEMY AWARDS / BEST INTERNATIONAL FEATURE FILM SHORTLIST) วันที่ 17 ม.ค. 68
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (18 ธ.ค.67) พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ , คุณยายแต๋ว อุษา เสมคำ พร้อมด้วย 2 โปรดิวเซอร์ เก้ง จิระ มะลิกุล และ วัน วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ได้เปิดใจ ถึงความสำเร็จของภาพยนตร์หลานม่า ณ บ้าน GDH ยอมรับว่ามาไกลจากที่คาดเอาไว้มาก เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมหนังไทย
วัน : “ภูมิใจมากค่ะ ดีใจมาก ผลประกาศเมื่อเช้ามืดวันนี้ ตอนตีสอง น้องๆ ทุกคนตื่นมารอกันตั้งแต่ตีสอง เห็นข่าวแล้วก็แบบ โห ส่งข่าวกัน ดีใจ ภูมิใจมาก เพราะการเข้ารอบ 15 เรื่องสุดท้ายของออสการ์ ของหนังไทย นี่คือเรื่องแรก ในประวัติศาสตร์เลยนะคะ เราไม่เคยเข้ารอบสองเลย จากปีนี้ 85 เรื่อง รอบสองคัดเหลือ 15 แล้วก็ได้ไปลุ้นว่าจะเป็น 5 เรื่องสุดท้ายหรือเปล่า ซึ่งหนังไทยไม่เคยมาถึงจุดนี้ ก็เลยเป็นความดีใจภูมิใจร่วมกันมากของทุกๆ คนค่ะ”
เส้นทางกว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้
วัน : “วันว่าปกติหนังที่จะได้รางวัล หรือออสการ์จะสนใจ จะมีเส้นทางเช่น เคยได้รางวัลในเทศกาล แต่สำหรับหลานม่าสิ่งที่ผลักดันให้มาถึงจุดนี้คือคนดูจริงๆการที่คนดูในประเทศไทย ดูหลานม่ากันจนฮิต จนเป็นกระแส แล้วไปฮิตในเซาท์ อีส เอเชีย ไปฮิตในทุกๆ ที่ที่ไป ก็เลยเกิดเป็นความสนใจ หนังเรื่องอื่นอาจเดินสายรางวัล แต่เราเดินสายคนดู แต่ก็ไปถึงเวทีรางวัลเหมือนกันค่ะ”
หลานม่าได้รางวัลจากหลายๆ ประเทศ มีส่วนมั้ยผลักดันให้ขึ้นสู่เวทีออสการ์?
วัน : “ถามว่ามีไหม ก็มีค่ะ ทุกๆ เทศกาลที่หลานม่าไปร่วม มันจะได้ฟีดแบ็กที่ดีจากคนในเทศกาล ซึ่งก็เป็นคนในแวดวงภาพยนตร์ ซึ่งเหมือนอเมริกา เขาก็เกิดความสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้ คืออย่าลืมว่าเราเป็นภาพยนตร์จากประเทศที่อาจจะเล็ก เมื่อเทียบกับในอเมริกา การที่เขาจะสนใจเรา เราก็ต้องมีความสำเร็จในบางด้านที่ทำให้เขาหันมามอง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในประเทศตัวเอง ความสำเร็จในเทศกาลที่เราไปเข้ารวม หรือฟีดแบ็กจากคนดูในโซเชียลมีเดียทั้งหมดที่ทำให้เขาสนใจมากๆ ว่าทำไมคนไปดูหลานม่ากันทั้งเอเชีย แล้วร้องไห้กันขนาดนี้ ฝรั่งเขาก็อยากดู แล้วฟีดแบ็กที่ได้ก็คือว่าเขาก็ร้องเหมือนเรานี่แหละค่ะ (หัวเราะ)”
เก้ง : “มันดีใจมากครับ เมื่อคืนเป็นคืนที่ดีใจ ต่อจากไทยชนะสิงคโปร์ (หัวเราะ)”
วัน : “มีความบอลไทยในสายเลือดอยู่ด้วย (หัวเราะ)”
เก้ง : “ผมถือว่าผมทำหนังมา 20 ปี ผมพบว่ารางวัลเป็นสิ่งที่ผมควบคุมไม่ได้ สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุดคือทำหนังให้ดี ทำหนังที่เราชอบ ทำหนังที่คนชอบ หนังเรื่องนี้ทำออกไปแล้วผมพบว่าคนชอบมัน ทำให้เกิดบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อคนดู เขาชอบตัวเอง ชอบการมีชีวิตอยู่ ผมไปที่เวียดนาม เรามีฉายหนัง อาม่าก็ไป ปรากฏว่าในโรงที่ฉาย เขาก็ฉายรอบปกติของเขาอยู่ด้วย อาม่าไปยืนอยู่หน้าโรง ปรากฎว่ามีน้องคนนึงเขาดูหนังเสร็จเขาเดินออกมา เขาเห็นอาม่าแล้วเขาตกใจ
เขาอินกับหนังมาก เขาก็วิ่งมากอดอาม่า ผมทำหนัง 20 ปี นี่เป็นโมเมนต์ที่เราไม่เคยเห็น โอ้โห คนอินกับหนังถึงขนาดว่าเขารู้สึกดีกับหนัง กับตัวเนื้อเรื่อง จนคิดว่านี่เป็นสรณะนึงที่เขาจะเอาไปใช้ในชีวิตต่อไป ผมคิดว่าทีมงาน คนเขียนบท นักแสดงทุกคน ประสบความสำเร็จในเรื่องของมันแล้ว เมื่อเช้าเราได้ผ่านเข้ารอบออสการ์ ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับทุกคน สำหรับผู้กำกับ นักแสดง เป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำหนังเรื่องแรก อาม่าก็นักแสดงใหม่ เล่นเรื่องแรก ผมว่านี่คือสิ่งมหัศจรรย์ที่เราควบคุมไม่ได้ และไม่มีอะไรจะรู้สึกได้มากกว่าเราดีใจมาก ทั้งคนทำหนัง ทั้งคนไทยคนนึง เป็นคนดูหนัง ผมดูหนังไทยมาตั้งแต่เล็กๆ ก็ดีมากเลย ไม่รู้จะพูดอะไร รู้สึกว่าคนทำหนังทุกคนรู้สึกคล้ายๆ ผมว่ามีวันนึงที่เราก็ได้อย่างนี้ด้วยนี่หว่า”
ภูมิใจเมืองไทยส่งหนังไทยมาแล้ว 31 ปี ไม่เคยเข้ารอบสองแม้แต่ครั้งเดียว
วัน : “ประเทศไทยส่งหนังไทยเป็นตัวแทนได้แค่ปีละเรื่องนะคะ เราส่งมาแล้ว 31 ปี เราไม่เคยเข้ารอบสองแม้แต่ครั้งเดียว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เราเข้ารอบสอง ซึ่งเป็นสถิติเลย เทียบกับหนังเกาหลี เขาส่งมา 30 ปี เขาถึงมีครั้งแรกได้เข้ารอบ 15 เรื่อง เราส่ง 31 และมีครั้งแรกจนได้เหมือนกัน เป็นก้าวสำคัญของหนังไทยเลย และเป็นก้าวที่น่าภาคภูมิใจมากๆ
สิ่งที่ทัชใจคนยุโรป อเมริกา คิดส่วนตัวว่าจะทัชใจได้ เพราะรู้สึกว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องสากล ชาวต่างชาติก็อินเรื่องครอบครัวเหมือนกัน เพียงแต่ไม่แบบเราทีเดียวนัก แต่เขาก็อินกับครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้ พัฒน์กับอาม่าจะตอบได้ดีมาก เพราะเขาได้ไปเห็นมาเยอะเลย ว่าคนต่างชาติในอเมริกาดูแล้วเป็นยังไง”
ยายแต๋ว : “เขาก็ร้องไห้เหมือนเรานี่แหละ แต่มีล่ามแปลให้เรา (หัวเราะ) เขาบอกว่าอยากเอาอาม่าไปอยู่กับเขาด้วย เขาดีใจที่หนังของเราทำให้เขาเกิดความรู้สึกตรงนี้เข้ามาในหัวใจเขา หนังเรื่องนี้เข้าไปอยู่ในหัวใจของคน ใครดูก็พูดแบบนี้ทุกคน ขนาดผู้ชายอายุเยอะๆ เจอหน้าก็ทักว่าอาม่าทำผมร้องไห้นะ สองรอบแล้วนะ ก็ดีใจ เราสามารถเข้าไปอยู่ในใจเขาได้ทุกคน ไม่ว่าเด็กตัวเล็กๆ ถามว่าอาม่าหรือเปล่า แล้ววิ่งไปบอกพ่อแม่เขาขอถ่ายรูป ทุกประเทศเลยที่ไป”
พัฒน์ : “ถ้าฝั่งตะวันตกที่ไปมา มันก็เกินความคาดหมายเราไปเยอะ ตอนแรกเรารู้สึกว่าคนเอเชียด้วยกันดูแล้วคงรู้สึกคล้ายๆ กัน แต่ปรากฏว่าฝั่งยุโรป โดยเฉพาะคนทำหนังหลายๆ คนที่เขาได้ดูเขาก็ชอบมาก และพยายามมาบอกเราว่าเขาชอบในส่วนนั้นส่วนนี้ของหนังนะ เราคนทำหนังก็รู้สึกดีใจ การทำหนังที่พวกเราทำในทุกขั้นตอน เริ่มต้นตั้งแต่ไอเดียพี่เป็ด คอมเมนต์บท เขียนบทกับพี่เป็ด จนยายมาเล่น จนทีมงานถ่ายทั้งหมด มันมีคนเห็นในทุกจุดหมดเลย มันเก็บจนครบ เขาพูดแทบจะทุกซีนที่เราทำออกไป มันแปลว่ามันคงทำงานข้ามเรื่องตะวันออก ตะวันตกไปแล้ว ก็ดีใจ”
ยายแต๋ว : “ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะสำเร็จขนาดนี้ หนึ่งไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะแสดงได้ สองไม่เคยคิดว่าจะมาได้ถึงขนาดนี้ นี่แหละค่ะ คือความดีใจมากที่สุดเลยในชีวิต เราเพิ่งเคยเล่น (หัวเราะ)”
วัน : “ทุกคนทึ่งมาก หลังจากดูแล้วและรู้สึกว่าอาม่าไม่เคยเล่นอะไรมาก่อนเลย ทุกคนที่ได้ดู ยิ่งคนวงการหนัง เขาคิดว่าอาม่าเป็นนักแสดงมืออาชีพของประเทศไทย พอเราบอกว่าไม่เลย นี่คือเล่นครั้งแรก เขาจะตื่นเต้น ยิ่งจากที่ชอบอยู่แล้วก็จะตื่นเต้นหนักกว่าเดิม ก็เลยอยากเข้าไปพูดกับอาม่า ใช้วิธีกอดจับ ได้สัมผัสตัว เห็นแล้วเขารักเลย”
ยายแต๋ว : “ที่อเมริกานี่กอดกันทุกคน เข้าคิวกันมาเลย”
เผยซีนง่ายแต่ยาก ล่อไป 20 เทค ถึงขั้นครวญเป็นเพลง ทำไมถึงทำกับฉันได้
ยายแต๋ว : “ซีนยากก็ซีนไปขอเงินพี่ชาย แต่ซีนที่เหนื่อยหนักคือซีนเดิน ซีนง่ายที่สุดแต่ยากที่สุด บางทีเดินหลายรอบเลย (หัวเราะ) ผกก.บอกว่าซีนไหนยาก แป๊บเดียวผ่าน แต่ซีนไหนที่ง่ายที่สุดเกือบ 20 เทคเพราะแดดก็ร้อนหนึ่ง เสียงรถไฟบ้างอะไรบ้าง เดินไปก็ไม่ถูกจังหวะ คัตอยู่ตลอดเวลา ก็มีกดดันนะ เคยร้องเพลงว่าทำไมถึงทำกับฉันได้ (หัวเราะ) ร้องกับผู้กำกับ (หัวเราะ) บางทีเขาบอกซีนนี้ดีแล้ว แต่สักพักเดี๋ยวเอาใหม่ ก็เลยร้องทำไมถึงทำกับฉันได้ (หัวเราะ)”
พัฒน์เปิดใจโชคดี ผกก.ไทยคนแรกผ่านเข้ารอบสองชิงออสการ์
พัฒน์ : “ก็คิดว่าโชคดีด้วย ได้อยู่กับโปรดิวเซอร์ที่เขาทำมา 20 ปีแล้ว ได้เรียนรู้เยอะมาก ทุกๆ ขั้นตอน เหมือนผมต่อยอดพื้นฐานความรู้เรื่องการทำหนัง มีประสบการณ์สะสมจากการทำหนังเยอะมาก แต่ในฐานะผมเองที่เป็นครั้งแรก ผมรู้สึกว่ามันไม่มีทางคาดหวังได้ ผมไม่ได้คาดหวังตั้งแต่สเต็ปแรกที่ปล่อยออกไป แล้วคนดูชอบมัน ผมไม่ได้คาดหวังเลย ก็ทำทุกขั้นตอน บทมาเรื่อย จนถึงการถ่ายทำ ทำให้ดีที่สุด คิดว่าได้ทีมงานที่เก่งด้วย ได้นักแสดงที่เก่งด้วย เราไม่ได้เข้าข้างตัวเอง เราวิจารณ์หนังตัวเองตลอดเวลา ผิดตรงไหนก็แก้ไขมัน ผลลัพธ์ทั้งหมดจากการแก้ไข ออกมาเป็นผลลัพธ์ที่คนชอบมัน เราก็ดีใจ”
ระหว่างทางไม่เคยท้อ เพราะชอบเอาชนะ
พัฒน์ : “ไม่ค่อยท้อ ผมชอบเอาชนะไง เหมือนเป็นการเอาชนะไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเอาอีกๆ ไปเรื่อยๆ มากกว่า พอเข้ารอบ 15 เรื่อง จริงๆ มันหายเหนื่อยตั้งแต่วันที่คนบอกว่าอยากดูเรื่องนี้มาก หลังจากนั้นคือกำไรหมดเลย”
สุดๆ แล้วได้เข้ารอบกับคู่แข่งที่เจ๋งมาก
พัฒน์ : “ผู้เข้าแข่งขัน 15 เรื่อง ทุกเรื่องเขาเป็นผกก.ที่เจ๋งมาก ผมยังไม่ได้ดูหนังเลยนะ แต่ตอนเขียนบทหลานม่า พี่เก้งแนะนำให้ดูหนังเซ็นทรัล สเตชั่นของผู้กำกับที่เป็นตัวแทนบราซิล ทำหนังชีวิต เข้าสาขาเดียวกับเรา เป็นหนังระดับโอ้โห บนหิ้งของบนหิ้งอีกที ผมแค่ได้มาอยู่ใน 15 เรื่องเดียวกัน มันก็สุดๆ แล้วครับ”
เก้งหวังว่าพัฒน์จะยังอยากทำหนังต่อไป เพราะมีธุรกิจของครอบครัวที่สร้างรายได้มากกว่าทำหนังอยู่แล้ว
เก้ง : “ต่างเยอะมากนะครับ พัฒน์เขาเป็นคนมีเมจิก เวลาเรามองหาคนรุ่นใหม่ ผู้กำกับรุ่นใหม่ คนทำงานรุ่นใหม่ ฝีมือไม่ทิ้งกันมาก แต่สิ่งที่บางคนมี และบางคนไม่มี คือเมจิก หมายถึงอะไรก็ไม่รู้แหละที่ทำให้เราต้องดูงานเขาต่อไป ดูวินาทีนี้แล้วดูวินาทีต่อไป ดูจนจบไปเลย มีเมจิกบางอย่างในการกำกับ ในการมองภาพ อยู่ในทุกอย่าง ผมคิดเอาเองนะ เหมือนเป็นสิ่งที่สะสมมาในชีวิต ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน
พัฒน์เป็นคนมเมจิกตรงนี้ ดูงานเขาแล้วมีเสน่ห์ ทำอะไรก็ดูน่าสนใจ ดูเข้าใจง่าย ในบทที่พูดถึงเรื่องคนและอารมณ์เยอะๆ เขาเข้าถึงเรา ผมว่าเป็นอนาคตของประเทศนี้เลย ถ้าเขาอยากทำอยู่นะ (หัวเราะ) พัฒน์เขามีกิจการงานเขาที่บ้าน ถ้าพูดถึงเรื่องเงินมันเยอะกว่าการทำหนังไทยเยอะ ไม่ปวดหัวเท่าการทำหนังไทย (หัวเระ)ก็หวังว่าการที่ได้เข้ารอบเมื่อคืนนี้จะทำให้เปลี่ยนใจเขาได้ ไปบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าปล่อยพัฒน์มาทำหนังไทย ก็จะเป็นคุณูปการต่อหนังไทย
ผมไม่คิดว่าเป็นแค่หนังทำเงินนะ เวลาดูหนังพัฒน์รู้สึกว่าจะเป็นงานที่ครองใจคน เราไปยืนดูขณะที่ตัดต่อ มีเสียงเป็น 10 20 30 รอบ เรายิ่งเห็นว่าเขาเป็นคนพิถีพิถันกับเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต กับความสัมพันธ์เรื่องคนอื่น มันพาให้หนังดูพิเศษและแตกต่าง ผมเลยรู้สึกว่าเซ็นทรัล สเตชั่นก็ไม่ได้เลวไปนัก (หัวเราะ) เป็นหนังที่ดี ผมไม่ได้ดูทุกเรื่องนะ ผมดูตัวอย่างบางเรื่อง สำหรับผม ถ้าเป็นนักเรียนหนังจะคุ้นเคยกับหนังสาขารางวัลต่างประเทศดี เป็นหนังที่มีซับไตเติ้ลอังกฤษ แล้วทำให้เราเข้าใจได้ ผมเป็นวัยรุ่นดูหนังฝรั่งซะอีกที่ไม่เข้าใจในบางเรื่องที่ไม่มีซับไตเติ้ล แต่เราดูหนังอุรุกวัย ตุรกี เดนมาร์ก มีซับไตเติ้ลก็ทำให้เราสนใจและรู้ว่าโห ประเทศต่างๆ ในโลก มีความคิด วัฒนธรรม มีชีวิตครอบครัวมากกว่าที่เราดูหนังอเมริกาเยอะ เป็นหนังสนุกและน่าสนใจเลย บางเรื่องไม่น่าเชื่อ เนื้อเรื่องไม่เหมือนหนังอเมริกาเลย มันเข้าถึงเราได้เยอะ ฉะนั้นในสาขาต่างประเทศ ผมว่าทุกประเทศมีสิทธิ์เท่าๆ กัน ทุกประเทศมีสิทธิ์หมดครับ”
วัน : “การให้รางวัลภาพยนตร์ อาจไม่ได้ตัดสินกันชัดเจนเหมือนการแข่งขันกีฬา การแข่งขันกีฬาเราจะเห็นผู้เข้าแข่งจาก 15 ประเทศ เราเห็นสถิติของทุกคน เราก็จะรู้ว่าเรามีลุ้นอยู่ประมาณไหน แต่ทั้ง 15 เรื่องเป็นหนังคนละเรื่องกัน มาจากสภาพสังคมประเทศ วัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่ทุกเรื่องเป็นผู้ชนะมาแล้วหนึ่งรอบ จาก 85 เหลือ 15 แสดงว่าทุกเรื่องได้รับเกียรติและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่ง ซึ่งเราภูมิใจมากที่เราได้เป็นหนึ่งใน 15 นี้ ก็ภูมิใจมากๆ แล้ว ถ้าเราจะได้รับความสนใจ ซึ่งมันไม่เชิงการแข่งขัน ได้รับความสนใจหรือความที่เขาดูหนังเราแล้วรู้สึกทัช หรืออิน ใน ณ โมเมนต์นี้ ปีนี้ พ.ศ.นี้พอดี ถ้าเราจะได้เข้าไปเป็น 5 เรื่องมันก็เป็นเกียรติของประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อีก 10 เรื่องที่จะไม่ได้เข้า เขาแพ้เรา เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการแข่งขันแบบนั้น เพราะเรื่องศิลปะตัดสินกันยาก แต่รู้สึกได้รับเกียรติที่เราได้ไปอยู่บนเวทีที่เราได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานมาก เป็นหนังของโลกนี้ เพราะรางวัลนี้มันพิเศษมาก รางวัลอื่นๆ ของออสการ์ให้กับหนังที่ฉายในอเมริกา แต่รางวัลนี้ทุกคนเป็นตัวแทนประเทศ อาจไม่ได้ฉายในอเมริกาก็ได้ หลากหลายจากทุกที่ ทุกมุมโลก ก็เป็นเหมือนกับสัญญาณนึงที่บอกว่าเราอยู่ตรงไหนในโลกนี้
มันเป็นความรู้สึกไม่ใช่แค่ยอมรับหนังเรื่องนี้ แต่ยอมรับประเทศเราด้วย ยอมรับสังคมเรา ในการผลักดันหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในประเทศตัวเองและได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศตัวเอง พอมีคนอื่นยอมรับ แสดงว่าเขายอมรับในกระบวนการอื่นๆ ในประเทศเราด้วย วันว่ามันเป็นก้าวเดียวกันของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของคนใดคนหนึ่งหรือบริษัทใดบริษัทหนึ่งค่ะ”
หนังทั้ง 15 เรื่องคนละแนวกัน ลันจะเป็นการเปิดโอกาสให้หนังที่จะเดินตามเราในปีต่อไป
วัน : “ไม่ค่ะ หลากหลาย แตกต่าง นอกจากของเราที่เข้าครั้งแรก มีอีกเรื่องชื่อเรื่อง Flow จาก Latvia ก็เข้าครั้งแรกเหมือนกัน มีเข้าครั้งแรกสองประเทศค่ะ นอกนั้นมีประเทศขาประจำ เข้าบ่อยมาก เขามีมาตรฐานสูง มีความคุ้นเคย อย่างน้อยคนอเมริกันคนนึงที่เกิดมาไม่เคยดูหนังไทยแม้แต่ครั้งเดียว แล้วมีหนังไทยเรื่องนึงได้เข้า 15 เรื่องสุดท้ายของออสการ์ เขาก็อาจจะเปิดใจดูหนังไทยเรื่องนี้ หรือเขาดูหนังเรื่องนี้แล้วชอบ ปีหน้าเขาเห็นหนังไทยอีกเขาก็อาจจะดูอีก มันเป็นการเปิดใจ ซึ่งพอเวลาเราเจอโลกที่กว้างใหญ่แค่ประเทศไทย เราพบว่ามีคนจำนวนมากเลยที่ไม่เคยดูหนังไทยเลย แม้แต่เรื่องเดียว หรือเคยดู ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องลุงบุญมีระลึกชาติของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เพราะว่าหนังได้รางวัลที่เมืองคานส์ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ทำให้คนเปิดใจกับหนังไทยมากขึ้นอีกและเป็นโอกาสของหนังที่จะเดินตามเรามาในปีต่อๆ ไป ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราภูมิใจมากกว่าคนมาชมว่าเราเก่ง อะไรอย่างนั้นค่ะ
ถามว่าก้าวครั้งนี้ทำให้อุตสาหกรรมหนังไทยเปลี่ยนไปขนาดไหน มองว่าทุกคนจะเห็นความเป็นไปได้ ซึ่งมันสำคัญนะคะ เหมือน วัน พี่เก้ง เอง ทำหนังมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เราก็ไม่คิดว่าเราจะเดินมาถึงจุดนี้ เราคิดแค่ว่าอยากทำเป็นอาชีพให้ได้ อยากให้คนดูหนังไทยชอบ แต่พอเราทำๆ ไป ถึงจุดนึงเราก็รู้สึกว่าหนังที่เราทำ เริ่มมีมาตรฐานใกล้เคียงกับหนังที่เราเห็นบนเวทีรางวัลเหมือนกัน เราก็แอบคิดนะคะว่าวันนึงเราจะมีโอกาสนั้นไหมนะเราก็แค่ทำไปเรื่อยๆ จนวันนึงเรามาเจอน้องๆ เราก็พยายามส่งต่อแรงบันดาลใจเหล่านี้ให้เขา อย่างพัฒน์เขาลุกขึ้นมาพูดเลยว่า ผมอยากไปให้ถึงพี่ ซึ่งวันนี้วันก็รู้สึกว่าหลานม่า พัฒน์ อาม่าแต๋ว หรือคนทำหนังในเรื่องหลานม่าก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ หรือกระทั่งผู้กำกับในจีดีเอช ทุกคนตื่นเต้นกันมากนะคะ วันเชื่อว่ามันเหมือนไฟ เราอยากทำได้บ้าง วันนี้คนไทยคนหนึ่งทำได้ เราก็อาจเป็นไปได้ จากที่เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้เลย รู้สึกว่ามันเป็นไปได้จริงๆ นะ”
เชื่อคนดูและเรา ใจเดียวกัน
วัน : วันกับพี่เก้งเชื่อว่าใจเรากับใจคนดู คือใจเดียวกัน เราไม่ได้คิดว่าตามใจเราแล้วจะแปลว่าทิ้งคนดู หรือเราพาคนดูมาด้วยแล้วเราต้องทิ้งตัวตนเรา เราไม่ได้คิดแบบนั้น คิดว่าถ้าเราทำไ“ด้ดี คนดูก็ต้องชอบของดี ไม่มีใครไม่ชอบของดีหรอก ก็เหมือนกันวันเชื่อว่าถ้าเราทำโดยซื่อสัตย์ความรู้สึกเรา ความรู้ความสามารถเรา หนังทุกเรื่องที่เราทำ อาจไม่ใช่ทุกเรื่องของทุกๆ คน แต่ในทุกๆ เรื่องก็สามารถตามหาคนดูของตัวเองได้ ถ้าเรามีมาตรฐานที่ดี มันก็ตรงใจกับคนจำนวนนึง เราเริ่มต้นจากการทำหนังที่เราอยากทำ และเราอยากดู และเราก็ตั้งใจทำให้ดี และเราก็เชื่อว่ามีคนดูที่เขารู้สึกได้ ชอบเรื่องเดียวกับเรา
จริงๆ หนังที่จะเดินมาเวทีใหญ่แบบนี้ได้ ส่วนใหญ่เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จในประเทศตัวเองนะคะ มันเป็นการเดินทางที่ยาวไกลและต้องแข่งกับความสนใจของคนเยอะมาก กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ทุกเรื่องจำเป็นต้องชนะใจคนจำนวนมาก แล้วออสการ์เองก็เหมือนกับเขามีจำนวนสมาชิกเยอะ หนังเรื่องไหนๆ ที่เขาสนใจ ก็ต้องมีคนจำนวนมากที่สนใจ”
วันนี้พิสูจน์แล้วว่าหลานม่าไม่ได้มากับคำว่าฟลุค
ยายแต๋ว : “ไม่นะ มันคือฝีมือค่ะ (หัวเราะ) ยกให้ทุกคนเลยค่ะ”
ก้าวต่อไปของพัฒน์
พัฒน์ : “ก็อัปขึ้นได้ตามที่เราทำไปเรื่อยๆ เก็บความรู้ไปเรื่อยๆ อาจไม่ทำหลายเรื่อง เพราะรู้สึกว่าโจทย์มันไม่เหมือนกัน ตัวหัวใจของเรื่องจะฟ้องว่าผู้กำกับจะพาไปทางไหน ซึ่งสำหรับเรื่องใหม่ คงไม่ใช่เรื่องหลานกับอาม่า เดี๋ยวหนังจะฟ้องเองว่าจะพาไปทางไหน”
เปิดรายได้ทั่วโลก ยังฉายยุโรป-อเมริกาใต้อีก 20 ประเทศ
วัน : “หลานม่าตอนนี้ทำเงินทั่วโลก รายได้ที่มีคนดูจำนวนค่าตั๋วทั่วโลก 2 พันล้าน ซึ่งถือเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดรายได้ทั่วโลกเท่าที่เคยมีมา ตอนนี้หลานม่าถือสองสถิติ ทำรายได้สูงที่สุด และผ่านเข้ารอบ 15 เรื่องออสการ์ แต่เราไม่ได้แบ่งครึ่งเหมือนรายได้ในเมืองไทยนะคะ ฉะนั้นจริงๆ เราไม่ได้รายได้พันล้านค่ะ (หัวเราะ)
อย่างรายได้ในเมืองไทย เราแบ่งครึ่งกับโรงหนัง แบ่งครึ่งกับดิสซิบิวเตอร์ในต่างจังหวัด เมืองไทยมีสองแบบ กรุงเทพฯ แบ่งแบบนึง ต่างจังหวัดแบ่งแบบนึง แต่ในต่างประเทศ ลักษณะการได้รายได้ มีดิสซิบิวเตอร์ คือคนที่อยากซื้อหนังเราไปจัดจำหน่าย ก็มาซื้อหนังของเราไป แล้วไปจัดจำหน่าย เขามีค่าใช้จ่ายของเขา ถ้าเขามีกำไร ก็เป็นรายได้แบ่งเปอร์เซ็นต์ออกมา เป็นส่วนแบ่งที่ไม่ใช่ครึ่งๆ ค่ะ ไม่ใช่ว่า 2 พันล้าน แล้วเราได้พันล้านแบบนั้น เป็นการซื้อสิทธิ์ไปฉายในโรงภาพยนตร์ มีการตกลงกันไว้ว่าถ้ากำไรจะแบ่งรายได้เปอร์เซ็นต์กันเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันเลยค่ะ
ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังฉายอยู่ ตอนนี้ฉายไปแล้ว 36 ประเทศทั่วโลก ซึ่งก็เยอะมาก กำลังดำเนินฉายอยู่ และได้ฉายในประเทศที่หนังไทยไม่เคยไปฉาย คือเรื่องนี้เหมือนเป็นหัวหอกเดินทางไปที่ใหม่ๆ เยอะมาก อย่างคริสต์มาสนี้จะฉายในแถบยุโรปอีกเกือบ 10 ประเทศ และอเมริกาใต้อีกประมาณเกือบ 10 ประเทศ ซึ่งยอดเหล่านี้ยังไม่ได้นับรวมกับ 2 พันล้าน แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ จบการเดินทางทั้งหมดแล้ว จีดีเอชจะได้เท่าไหร่ ต้องถามพี่จีน่า (จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด) อยากให้หนังเดินทางต่อไปอีกสักปีสองปีเลย รายได้มันไม่ได้หมายถึงแค่เงิน แต่หมายถึงว่ามีคนดูเยอะ มีคนรู้จักอาม่า เฉลี่ยค่าตั๋วจาก 2 พันล้าน มีคนเป็นล้านๆ ที่รู้จักอาม่า”
ยายแต๋วภูมิใจขึ้นแท่นนางเอก 2 พันล้าน ถ้าอยู่บ้านก็เป็นแค่คนแก่คนหนึ่งเท่านั้น
ยายแต๋ว : “ดีใจค่ะ เพราะถ้าอยู่บ้านเฉยๆ เราเป็นคนแก่คนหนึ่ง แต่พอเรามาอยู่ตรงนี้ เราก็เป็นอาม่าของหลายๆ คน ฟีดแบ็กจากคนวัยเดียวกัน ทุกคนก็มาคุยกับเราว่า ลูกหลานเดี๋ยวนี้มาหา ดีขึ้น มีความสุขอยู่กับหลานๆ บางคนก็บอกว่าจะเปลี่ยนสีผมแล้วนะให้เป็นแบบอาม่า (หัวเราะ) หลายๆ คนก็มีความรักเราขึ้นมา ทำให้หลานให้ลูกเขากลับมาดูแลเขาด้วย อยากให้ทุกๆ คนที่ยังไม่เคยดู หรือคนที่เคยดูแล้ว มาดูอีก จะได้คิดถึงคนที่เราห่างไกลเขา ปู่ย่าตายาย บางทีอยู่ต่างจังหวัดไม่เคยเจอกัน บางคนบอกเดี๋ยวจะกลับไปหาเพราะดูหนัง มันเป็นอานิสงส์อันนึง ที่ทำให้คนกลับไปหาคนแก่ที่อยู่ที่บ้าน”
พัฒน์ : “ฝากเอาใจช่วยด้วยนะครับ มันไม่ได้เป็นความกดดัน คนทำหนังไม่ได้ทำแข่งกัน คนทำหนังเหมือนเป็นคนทำงานศิลปะ ทำดีเว้ย กูไปทำของกูให้ดีบ้าง แต่เรารู้ว่าเราอยู่ในเรือลำนี้ด้วยกัน ไม่ว่าเรือจะแกว่งไป จะมีทั้งได้และไม่ได้ มันไม่มีทางบอกได้ กดดันไปก็อาจไม่ค่อยได้อะไร แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด และหาทีมให้ดีที่สุด หนังเรื่องใหม่ตอนนี้ยังไม่มีเลยครับ แต่ก็อยากมีครับ”
ฝากบอก “บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล” มาหาบ้าง ไม่ได้เจอหน้ากันเลย
ยายแต๋ว : “ให้กลับมาหาอาม่าบ้างค่ะ ยังไม่เจอหน้ากันเลย (หัวเราะ) เหมือนหลานไปเรียนต่างประเทศแล้วไม่ได้เจอกัน”
วัน : “วันว่าคนในอุตสาหกรรมหนังต่างประเทศรู้จักเรามากขึ้น แต่ก่อนเราไปที่ไหน เราต้องบอกว่าเราเป็นคนทำฉลาดเกมส์โกง เขาก็จะรู้จักเรา แต่วันนี้พอเราบอกว่าเราทำเรื่อง How to Make Millions Before Grandma Dies (ชื่อภาษาอังกฤษของหลานม่า) เขาก็อยากคุยกับเรานะคะ (หัวเราะ) เขาก็รู้สึกให้เกียรติเรา อยากคุยกับเรา สนใจเรา ณ วันนี้หนังกำลังเดินทาง ยังฉายอยู่เลย ทุกอย่างค่อยๆ เกิดขึ้น สำหรับเมืองไทยอาจรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้นานแล้ว ฉายไปตั้งแต่เดือนเม.ย. แต่บางประเทศเพิ่งเข้า เขาเพิ่งรู้จัก เพิ่งตื่นเต้น เพิ่งรู้จักคำว่าจีดีเอช ทุกอย่างก็ค่อยๆ กำลังเกิดขึ้น คิดว่าในอนาคตก็น่าจะเป็นไปได้ที่บริษัทหนังหรือคนทำหนังระดับโลกรู้จักเรามากขึ้น ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เพิ่มขึ้นให้ตัวเรา ทุกวันนี้หลานม่ายังฉายอยู่ อยากให้อีกสักปี จะได้ครบทุกที่เลย จะได้ครบทุกทวีปเลย”
เตรียมชุดรอแล้ว
ยายแต๋ว : “เตรียมชุดแล้วค่ะ คิดอยู่ในใจ เราเป็นคนไทยต้องหาอะไรที่เป็นไทยๆ คราวที่แล้วไปอเมริกา ก็ใส่ชุดชาวแม้วค่ะ เขาตื่นเต้นมากเลย บางคนมาลูบเลย ว่าซื้อจากไหน ทำยังไงก็บอกน้องให้บอกเขาว่าเป็นชุดชาวเขาของไทย เป็นฝีมือการปักโดยเฉพาะ เขาบอกว่าเขาเคยมาเชียงใหม่ เดี๋ยวจะไปหาซื้อบ้าง ลูบกันใหญ่ คนนั้นก็ชอบ คนนี้ก็ชอบ เผยแพร่วัฒนธรรมไทย”
วัน : “ระหว่างรอตัดสิน 5 เรื่องสุดท้าย ออสการ์จะมีกระบวนการของเขา ส่วนเราก็พยายามทำให้คนสนใจหนังเราอยู่ อยากดูหนังเราอยู่ในต่างประเทศ ยังอยู่ในกระแส ประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ ต่อไป นอกนั้นคือรอเดือนหน้าค่ะว่าเราจะได้เข้า 5 เรื่องหรือเปล่า
ดีใจที่คนพูดถึงกันเยอะค่ะ ตอนแรกคิดว่าคนก็คงสนใจมั้งถ้าเข้า 5 แต่ตอนนี้เข้า 15 บางทีอาจฟังเข้าใจยากนิดนึง แต่การที่สังคมสนใจ หรือสื่อทุกคนสนใจ ทั้งที่เรายังไม่ไปถึงปลายทาง แค่เราทำก้าวแรกได้ แล้วให้ความสำคัญแล้ว วันคิดว่าเป็นสิ่งมีค่าสำหรับเรา ก็อยากให้เชียร์เราต่อ แล้วลุ้นกับเราอีกเดือนนึง ถ้ามันเกิดขึ้นเราได้เข้า 5 เราก็ได้ลุ้นต่ออีกนะคะ ในวันประกาศผลจริงๆ ลุ้นกันเป็นรอบๆ ค่ะ”