สำหรับคนอ่านวรรณกรรม คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ” นักเขียนชาวโคลอมเบีย คือนักประพันธ์ที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมีมา เช่นเดียวกับผลงานของเขาเรื่อง One Hundred Years of Solitude ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะนวนิยายที่ยอดเยี่ยมมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมีมา
หลายปีก่อนหน้ามาร์เกซจะเสียชีวิต เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายสำนักว่าคงไม่มีวันขายลิขสิทธิ์ไปสร้างภาพยนตร์ อย่างเช่นในบทสัมภาษณ์พิเศษนิตยสารเพลย์บอย เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 หลังจากมาร์เกซได้รับรางวัลโนเบลไม่นานนัก ผู้สัมภาษณ์ถามเขาว่า One Hundred Years of Solitude จะมีการสร้างเป็นภาพยนตร์ตามที่ลือกันหรือเปล่า? มาร์เกซในวัย 56 ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำ...
“ไม่มีวัน ผู้อำนวยการสร้างหลายรายได้พยายามนำเสนอเงินค่าลิขสิทธิ์ก้อนใหญ่แก่ผม แต่ผมปฏิเสธไป ข้อเสนอสุดท้ายนั้นผมเชื่อว่าเป็นเงินถึงสองล้านเหรียญ ผมไม่ต้องการเห็นมันกลายเป็นหนัง เพราะว่าผมต้องการให้ผู้อ่านยังคงสามารถวาดภาพตัวละครได้ตามที่พวกเขาแต่ละคนรู้สึก มันไม่อาจเป็นไปได้ในภาพยนตร์ ในหนังภาพพจน์นั้นชัดเจนมากจนกระทั่งคนดูไม่อาจจะวาดภาพตัวละครอย่างที่เขาต้องการให้เป็นได้อีกเลย แต่จะเป็นตามแบบที่ภาพบนจอกำหนดต่อสายตาของเขา” (อ้างอิงจากฉบับแปลเป็นไทยโดย ปณิธาน - ร.จันเสน)
ขณะที่ โรดริโก การ์เซีย และ กอนซาโล การ์เซีย บาร์ชา บุตรชายทั้งสองของมาร์เกซ ก็ยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ไม่เคยขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมเรื่องนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เนื่องจากพ่อผู้ล่วงลับของพวกเขาเชื่อว่า ระยะเวลาที่จำกัดของภาพยนตร์จะทำให้ไม่สามารถหยิบเอาแก่นสารและเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องออกมานำเสนอได้ และเขายังเชื่อว่าเมืองมาก็อนโด ซึ่งเป็นเมืองสมมตินั้นจะไม่สามารถนำเสนอออกมาเป็นภาษาอื่นได้เลยนอกจากภาษาสเปน
อย่างไรก็ดี หลายปีต่อมา หลังจากนวนิยายเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1967 นับเป็นเวลานานกว่า 50 ปี ผลงานชิ้นเยี่ยมเรื่องนี้ก็ได้เดินทางสู่จอสี่เหลี่ยมเป็นที่เรียบร้อยในรูปแบบซีรีส์บนเน็ตฟลิกซ์ โดยมีบุตรชายทั้งสองของมาร์เกซดังกล่าว นั่งตำแหน่งเก้าอี้โปรดิวเซอร์ ทั้ง “โรดริโก” และ “กอนซาโล” ต่างโลดแล่นอยู่ในแวดวงภาพยนตร์มายาวนานหลายสิบปี และ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เวอร์ชั่นซีรีส์นี้ก็สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของบุตรชายทั้งสองของมาร์เกซได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่า การเป็นซีรีส์ที่มีความยาวมากกว่าภาพยนตร์ย่อมเป็นช่องทางที่จะช่วยให้สามารถเล่าเรื่องราวที่มีรายละเอียดซับซ้อนได้ดีกว่า
ในมุมมองของคนอ่านนวนิยายเรื่องนี้มาก่อน รู้สึกว่า One Hundred Years of Solitude หรือ “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ของเน็ตฟลิกซ์ ไม่ได้ทำให้นวนิยายต้นฉบับด่างพร้อยแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม กลับรู้สึกว่า ซีรีส์ให้ความเคารพต้นฉบับอย่างสูง และทำออกมาได้ดีมาก ซึ่งมองว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นจุดประกายให้คนที่ไม่เคยอ่านนวนิยายขวนขวายไปหาอ่าน และจะได้อรรถรสความยอดเยี่ยมมหัศจรรย์ไปอีกรูปแบบหนึ่งจากการรับชมซีรีส์
อีกส่วนที่รู้สึกและมองเห็นคือ ซีรีส์มีความสามารถในการเก็บเกี่ยวเอาเนื้อสารสำคัญ ๆ หรือหลักใหญ่ใจความจากต้นฉบับนวนิยายมาแบบไม่ขาดตกบกพร่องพร้อมทั้งหยั่งรู้ว่ารายละเอียดตรงไหนที่ไม่ควรละเลย ขณะเดียวกันก็ยังคงเอกลักษณ์ไว้ประการหนึ่งคือการมี Narrator หรือเสียงผู้บรรยายอยู่เป็นระยะ เช่นเดียวกับนวนิยายที่ผู้เขียนเป็นผู้เล่าเรื่องราว และจุดที่ต้องชมคือซีรีส์หยิบเอาเหตุการณ์ต่าง ๆ มาร้อยเรียงและเล่าเรื่องอย่างเป็นลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเรื่องราวแบบย่อยได้ไม่ยาก
นอกจากนั้น คือการเคารพความเป็น Magical Realism หรือ “สัจนิยมมหัศจรรย์” ที่เป็นเอกลักษณ์อันเอกอุของผลงานชิ้นนี้ที่กลายเป็นต้นแบบสำคัญของวรรณกรรมแนวนี้ที่แพร่หลายในเวลาต่อมา ซึ่งถ้าจะพูดแบบเข้าใจง่าย ๆ Magical Realism ก็คือการปนเปพัวพันหรืออยู่ร่วมกันระหว่างโลกความจริงกับสิ่งที่ดูเหนือธรรมชาติมหัศจรรย์พันลึก โดยที่ตัวละครไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือแตกตื่น ราวกับว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ถ้าเป็นคนทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ เห็นอะไรแบบนั้นคงสติแตกหรือจิตหลุดไปแล้วก็เป็นได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรากฎตัวของผีที่มาเดินวนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์ , หม้อกระทะที่ลอยขึ้นจากชั้นวางเตาแล้วตกลงบนพื้น , เก้าอี้ที่โยกเองได้ , เลือดที่ไหลเป็นเส้นทางยาวจากบ้านผู้ตายไปส่งข่าวการเสียชีวิตให้แม่ได้รับรู้ , เด็กหญิงกินดิน , พรมบินได้ หรือแม้แต่โรคนอนไม่หลับที่ระบาดไปทั้งเมือง ฯลฯ หลายฉากหลายซีนแห่งความเป็น Magical Realism ได้รับการถ่ายทอดบนจอภาพแบบไม่ผิดเพี้ยนจากภาพในจินตนาการตอนอ่านต้นฉบับนวนิยาย
ขณะเดียวกัน การถ่ายภาพแบบ Long Take ในหลายฉาก นอกจากจะดูลื่นไหลละมุนตาน่าอัศจรรย์ ยังทำงานคล้ายเป็นอุปมาแห่งความยาวนานของกาลเวลาดุจเดียวกับชื่อเรื่อง (One Hundred) ส่วนงานโปรดักชันที่ขึ้นชื่อว่าเน็ตฟลิกซ์อำนวยการสร้างหรือลงทุนแล้ว ไม่มีอะไรที่จะเรียกได้ว่าธรรมดา อีกทั้งนี่เป็นงานที่หยิบเอานวนิยายระดับโลกมาสร้างทำ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ประณีตพิถีพิถัน เพราะโอกาสแบบนี้หาได้ไม่ง่ายเป็นแน่ เอาง่าย ๆ แค่ว่า การเนรมิตบ้านเมืองในป่าอย่างมาก็อนโด จากสภาพหมู่บ้านจนกลายเป็นเมืองศิวิไลซ์ ก็รับรู้สัมผัสได้ถึงความทุ่มเทตั้งใจของเน็ตฟลิกซ์ที่จะทำให้งานออกมาดีที่สุด สิ่งนี้ได้รับการเติมเต็มอีกขั้นด้วยทักษะการแสดงของนักแสดงทุกคนซึ่งถ่ายทอดตัวละครในนวนิยายแบบที่พูดได้ว่าเหมือนหลุดออกมาจากต้นฉบับ
ซีรีส์เรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 พาร์ท โดยแต่ละพาร์ทมีความยาว 8 ตอนจบ สำหรับพาร์ทที่ 1 นี้ ซีรีส์ออกสตาร์ทตั้งแต่ “โฆเซ อาร์คาดิโอ บวนเดีย” และภรรยา “อูร์ซูลา อิกัวรัน” ตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิด พร้อมกับผู้คนอีกจำนวนหนึ่งด้วยความมุ่งหวังที่จะไปตั้งรกรากในผืนดินแห่งใหม่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ ก่อนการเดินทางไกล แม่ของอูร์ซูลาได้ฝากคำทำนายดุจดั่งประกาศิตไว้ประมาณว่า ไม่ว่าสามีภรรยาทั้งสองจะไปอยู่แห่งหนใด ก็มิอาจหลุดพ้นจากชะตาที่ถูกกำหนดไว้แล้วได้ และสิ่งนี้ก็ติดค้างอยู่ในใจของพวกเขาเหมือนเงาตามตัว โดยเฉพาะอูร์ซูลาที่น่าจะรู้ซึ้งถึงคำทำนายอันชวนปวดร้าวนี้ดีกว่าใครอื่น
คำกล่าวของอูร์ซูลาที่รำพึงกับตัวเองในตอนที่พันเอกเอาเรริยาโนตั้งค่ายอยู่เบื้องหน้ามาก็อนโดด้วยความมุ่งมาดที่จะบุกโจมตีอย่างไม่สนใจสิ่งใดทั้งสิ้น นั้นสร้างความเจ็บปวดขมขื่นใจยิ่งนักต่ออูร์ซูลา เพราะดูเหมือนว่า ถึงแม้เธอและสามีจะหลุดรอดจากคำสาปเกี่ยวกับการให้กำเนิดลูกที่มีหางเป็นหมู แต่.. “สุดท้ายแล้วเราก็ให้กำเนิดสัตว์ประหลาด” รูปแบบอื่น..
ทั้งนี้ หลังจากการเดินทางอันยาวนานและหลงวนอยู่กลางป่าซึ่งมีหนองน้ำใหญ่ ในที่สุด ผู้นำขบวนอย่าง “โฆเซ อาคาร์ดิโอ บวนเดีย” ก็ตัดสินใจปักหลักตั้งรกรากในพื้นที่ป่าแห่งนั้นพร้อมทั้งตั้งชื่อตามนิมิตที่ได้ยินในความฝันของตนเองว่า “มาก็อนโด” และค่อย ๆ ก่อร่างสร้างตัวจากบ้านป่าเมืองเถื่อนที่สดใสบริสุทธิ์ ก่อนเชื่อมต่อสู่ความศิวิไลซ์กับโลกภายนอก และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวต่าง ๆ มากมายตามมา
เช่นเดียวกับการอ่านนวนิยายความยาวกว่า 500-600 หน้าซึ่งเป็นการใช้เวลาที่เรียกว่าคุ้มเกินคุ้ม การรับชมซีรีส์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกันแต่อย่างใด “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เวอร์ชันซีรีส์ สามารถสื่อสารถ่ายทอดเรื่องราวเนื้อหาออกมาได้อย่างทรงพลังและสะเทือนความรู้สึก ไม่เพียงเฉพาะแง่มุมชีวิต แต่ยังมีเรื่องสังคม การเมือง ซึ่งเป็นดั่งภาพสะท้อนประวัติศาสตร์โคลอมเบียหรือทวีปอเมริกาใต้ที่นักประพันธ์ใช้ชั้นเชิงในการสื่อสารและเล่าเรื่องให้ผู้อ่านเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้อย่างน่าอัศจรรย์
ดังเราจะเห็นว่า ในขณะที่ครอบครัวบวนเดียมิอาจหลีกพ้นชะตาและคำสาป และต้องเจอกับเหตุการณ์เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า (เช่น สมาชิกในครอบครัวรักกันเองและแต่งกันเอง , ลูกชายและหลานไปมีสัมพันธ์กับหญิงหมอดู ฯ) ประเทศโคลอมเบียหรือทวีปอเมริกาใต้ก็วนเวียนอยู่กับปัญหาความขัดแย้งซ้ำซากราวกับไม่มีวันจบสิ้น ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สงคราม และการปฏิวัติ (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาเหล่านั้น) สิ่งเหล่านี้ดูคล้ายโรคระบาดที่ไม่ว่าวัคซีนชนิดใด ก็ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้
ถ้า “ความรักเหมือนเชื้อโรค” ซึ่งแพร่กระจายในครอบครัวตระกูลบวนเดียไม่รู้จบรู้สิ้น ... การที่ ที่โฆเซ อาร์คาดิโอ ผู้บุกเบิกก่อตั้งมาก็อนโด กล่าวว่า “การเมืองมันเหมือนโรคระบาด” ก็คงไม่ต่างกัน
ในท่ามกลางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากมายภายในเมืองมาก็อนโดแห่งนี้ ความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดายภายในจิตใจของแต่ละคนก็ทยอยเผยตัวออกมาเสมือนว่า แม้ทุกคนจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ว่าทางสายเลือดหรือสายรักก็ตามที ทว่าลึก ๆ แล้ว แต่ละคนต่างก็รู้สึกโดดเดี่ยวเช่นเดียวกับคำหนึ่งในชื่อเรื่อง (Solitude)
ไม่ว่าจะเป็นโฆเซ อาร์คาดิโอ บวนเดีย ที่หมกมุ่นกับการประดิษฐ์คิดค้นด้วยจินตนาการอันเพริดแพร้ว , โฆเซ อาร์คาดิโอ ลูกชายคนแรกที่หายไปจากบ้านอย่างเงียบเชียบ , เอาเรลิยาโน ผู้มีนิมิตมองเห็นอนาคตที่เมื่อชีวิตรักพังทลายก็ทุ่มเทหัวใจและจิตวิญญาณให้กับการปฏิวัติ , อมารันตา ลูกสาวคนเล็กที่ปวดร้าวเพราะเรื่องรักจนคั่งแค้น , เรเบคกา ลูกพี่ลูกน้องที่จู่ ๆ ก็ทิ้งรักจากหนุ่มสำอางไปซบอกหนุ่มล่ำเจนโลก , อาร์กาดิโอ ทายาทรุ่นหลานคนแรกที่จิตวิญญาณแตกสลายและทำในสิ่งช็อกหัวใจผู้เป็นย่า หรือแม้แต่ ปิลาร์ เตนีรา หญิงหมอดูที่ได้แต่เก็บโชคชะตาอันน่าอดสูไว้เพียงลำพัง นั่นยังไม่นับรวม “ปิเอโตร เครสพิ” ที่แม้จะเป็นคนนอก แต่ก็ไม่อาจหลีกพ้นความโดดเดี่ยวนี้ไปได้ ฯลฯ
และเหนืออื่นใดที่สำคัญที่สุดก็คือ อูร์ซูลา มารดาผู้เฝ้าเห็นความเป็นไปในครอบครัวบวนเดียอยู่ทุกย่างก้าว ณ ที่ซึ่งความเหงาและโดดเดี่ยวเกาะกุมหัวใจของเธอให้ปวดร้าวอย่างถึงที่สุด
“ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว เราทุกคนล้วนโดดเดี่ยวในโลกใบนี้”... ตัวละครบางตัวพูดไว้แบบนี้
ความโดดเดี่ยวหนึ่งร้อยปีที่ชวนปวดร้าว ยังไม่จบเพียงเท่านี้ และจะทวีความเข้มข้นขมขื่นยิ่งขึ้นไปในพาร์ทที่ 2 ดุจเดียวกับตอนจบของนวนิยายที่น่าสะทกสะท้อนสะเทือนใจ...