xs
xsm
sm
md
lg

‘อนาฅต’ ที่วนเวียนอยู่กับอดีตและปัจจุบัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



นับตั้งแต่โปรเจคต์ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผย เชื่อแน่ว่า หลายคนคงรู้สึกอยากดูและเฝ้ารอรับชม จนกระทั่งวันนี้ “อนาฅต” ได้เดินทางมาถึงแล้วบนสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์

หนึ่งในหลายเหตุผลที่ดึงดูดความสนใจ นอกจากเรื่องของไอเดียที่เล่นกับความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีอย่าง Ai หรือโลกอนาคต (ตามชื่อเรื่อง) ซึ่งสภาพอาคารบ้านเมืองดูแปลกหูแปลกตาจากปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด แต่อีกสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่าหนังจะนำเสนออกมาแบบไหนอย่างไร คือเรื่องของเนื้อหา

โดยเฉพาะการนำเอาประเด็นศาสนา (พุทธ) มาตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าโลกอนาคตมี Ai ทำหน้าที่สอนธรรมะแทนพระสงฆ์ซึ่งเสื่อมถอยความศรัทธาจากศาสนิกลงไปทุกวัน สำหรับคนที่เคยดูซีรีส์เรื่อง “สาธุ” ที่สตรีมมิ่งช่วงเดือนเมษายนมาแล้ว ก็อาจจะเกิดอารมณ์ต่อเนื่องกับเรื่อง “อนาฅต” ได้ไม่ยาก เนื่องจากซีรีส์มีการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์วงการสงฆ์เช่นเดียวกัน เพียงแต่ “อนาฅต” มีองค์ประกอบแตกต่างออกไป โดยเฉพาะไอเดียที่นำเอาความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่อง

อย่างไรก็ดี “อนาฅต” ไม่ได้มีเพียงแค่เนื้อหานี้ประการเดียว เพราะตัวเรื่องมีด้วยกันทั้งหมด 4 ตอน โดยแต่ละตอนจบในตัว และวิพากษ์ตีแผ่สังคมในแง่มุมต่าง ๆ กันไป ไล่ตั้งแต่ นิราศแกะดำ (Black Sheep), เทคโนโยนี (Paradistopia), ศาสดาต้า (Buddha Data) และ เด็กหญิงปลาหมึก (Octopus Girl)


ในระดับที่มองเห็นด้วยสายตา ต้องยอมรับว่า ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นสมกับเป็นหนังไซไฟอนาคต ซึ่งมาพร้อมกับการออกแบบงานสร้างอย่างภาพซีจีที่วาดภาพเมืองไทยในอนาคตออกมาได้เนียนตาและหวือหวาน่าตื่นตาพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของอาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้ง Art Direction ซึ่งให้ความรู้สึกผสมผสานทั้งย้อนยุคและโลกอนาคตแบบ “เรโทรฟิวเจอร์” (Retrofuture) ในขณะเดียวกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็อาจจะเหมือนกับ “สังคม” ในหนังที่มีหลากเรื่องหลายความคิดผสมปนเปอยู่ด้วยกัน และบ่อยครั้งก็ปะทะเผชิญหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นแล้ว ตั้งแต่ตอนที่หนึ่ง เราจะเห็นสังคม ๆ นี้ หรือประเทศนี้เกิดการปะทะกันทางความคิดความเชื่ออยู่ตลอดเวลา


อย่างตอนที่หนึ่ง ซึ่งความเชื่อในกรรมและความตาย ถูกท้าทายด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า คนตายไปแล้วก็ถือว่าได้ชดใช้กรรมหมดแล้ว คนอยู่ก็ควรจะปล่อยให้เขาไปเกิดในภพภูมิใหม่ ขณะที่อีกฝ่ายใช้วิชั่นและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในการมองว่า จะเป็นการดีไหม ถ้าสามารถทำให้คนที่ตายดำรงอยู่ต่อไปได้ (ด้วยการโคลนนิ่งสมอง) เพราะนอกจากจะทำให้คนที่เรารักฟื้นคืนมา (แม้ในร่างโคลนนิ่งก็ตาม) ยังจะสามารถช่วยคนได้อีกมาก และในขณะที่สองแนวคิดนี้ตบตีกัน เรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ ก็ถูกท้าทายไปพร้อม ๆ กัน

ถ้าจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ติด ๆ ขัด ๆ ค้างคาใจในซีรีส์ตอนนี้ก็คงเป็นเรื่องของความง่ายดายเกินไป นั่นคือตอนที่ “นนท์” (บอย ปกรณ์) เข้าไปนำร่างไร้วิญญาณของภรรยาออกมา จนน่าสงสัยว่า สถานที่ซึ่งมีระบบล้ำ ๆ อย่างนั้น (แน่นอนย่อมหมายถึงระบบรักษาความปลอดภัยด้วย) ทำไมปล่อยให้คนนอก ที่แม้จะเป็นสามีก็ตาม ไปทำอะไรอย่างนั้นได้ง่าย ๆ อันนี้เป็นข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถ้าทำให้น่าเชื่อถือได้กว่านี้ก็คงจะเป็นการดี และยอมรับว่า พอถึงจังหวะนี้ก็เกือบจะปิด เพราะมันดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล แต่การไปต่อจนจบ ก็ทำให้ได้พบกับทวิสต์ที่เซอร์ไพรส์พอสมควร


ขณะที่ตอน 2 ซึ่งตั้งชื่อไทยได้ดีว่า เทคโนโยนี ก็เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยม กับแนวคิดสมัยใหม่ อันว่าด้วยเรื่องเพศและทางเลือกในการเสพสุขทางกามารมณ์ ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลของตนเอง แม้ว่ากันตามจริง ประเด็นแบบนี้ก็ได้รับการนำเสนอมาแล้วในหนังและซีรีส์หลายเรื่อง (ล่าสุดก็คือ ดอกเตอร์ไคลแม็กซ์ ... ซึ่งโปสเตอร์หมอณัฐก็มาปรากฏในซีรีส์อนาฅตซะอีกด้วย)

แต่ถึงแม้จะไม่ใหม่ในเชิงความคิด ก็ถือว่าเป็นการตอกย้ำอีกครั้งเพื่อการถกเถียงต่อไป ขณะที่วี วิโอเล็ต ซึ่งเล่นนำในเรื่องนี้ก็นับว่าทุ่มเททั้งตัวทั้งใจให้กับการแสดงแบบเต็มที่ เช่นเดียวกับงานคอสตูมดีไซน์ที่ไฉไลฉูดฉาดด้วยสีสันละลานตา และที่น่าสนใจคือการปิดจบเรื่องราวที่ชวนให้คิดถึงการจบแบบ Tragic Ending คือถึงแม้ไม่มีใครตายให้โศกเศร้า แต่มันจะเศร้า ๆ กึ่งเสียดเย้ยทำนองว่า ในสังคมแบบนี้เราคงทำได้แค่นี้แหละ แม้ไม่ตายทางร่างกาย แต่ก็ป่นปี้แตกสลายในทางอุดมการณ์หรือความมุ่งมั่นตั้งใจ


ส่วนตอนที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ที่หลายคนให้ความสนใจ ก็ทำงานได้ดีทั้งในเชิงเนื้อหาสาระและปมของตัวละคร เอม ภูมิภัทร เล่นบทฝ่ายฆราวาสผู้คิดค้นแอปพลิเคชั่น Altra ที่มาพร้อมกับฟังชั่นซึ่งอาจจะพูดได้ว่าทำหน้าที่แทนพระสงฆ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ อีกทั้งมีสิ่งล่อใจให้คนทำบุญด้วยระบบ “แต้มบุญ” ซึ่งพ่วงมากับความเชื่อที่ว่า คนทำดี (ทำบุญ) ต้องได้ดีในชาตินี้ ไม่ต้องดีเลย์หรือรอไปได้ผลบุญในชาติหน้าที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงไหม ขณะที่อีกฝ่ายคือพระเอนก (เรย์ แมคโดนัลด์) อดีตวิศวกรที่เข้ามาบวชได้ 6-7 ปี และท่านได้มองเห็นแนวโน้มที่น่ากังวลของแอปฯ Altra ที่จะเกิดกับผู้คนในระยะยาว จึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง ก่อนที่ลัทธิบ้าบุญจะมอมเมาประชาชนไปมากกว่านี้ และก่อนที่ศาสนาจะถูกกลืนกินด้วยแนวคิดทุนนิยม

ส่วนที่น่าสนใจก็คือ ทั้ง นีโอ (เอม ภูมิภัทร) กับ เจสสิก้า (วี วิโอเล็ต) ดูเหมือนจะมีจุดร่วมกัน คือปมจากอดีตที่เลวร้าย ผลักดันให้เขาและเธออยากลุกขึ้นมาปฏิวัติอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายที่เขย่าขนบเก่าให้สั่นไหว


สุดท้ายตอนที่ 4 “เด็กหญิงปลาหมึก” (Octopus Girl) ซึ่งกล่าวถึงโลกอนาคตเมืองไทยอีก 30 ปีข้างหน้า ที่เกิดเหตุการณ์ฝนตกไม่หยุดต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก จึงมีการคิดค้น “วัคซีนมนุษย์น้ำ” ขึ้นมา แต่คนที่ฉีดวัคซีนนี้แล้วจะเกิดผลข้างเคียงตามมาคือมีหนวดงอกออกมาคล้ายหนวดปลาหมึก ซีรีส์ตอนนี้มีความตั้งใจในการเล่นกับประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งเซ็ตติ้งหลักของเรื่องราวเกิดขึ้นในชุมชนสลัมที่ชื่อว่า นีโอคลองเตย ขณะเดียวกันก็พูดเรื่อง Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นที่มาของวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย และในซีรีส์คือฝนตกไม่หยุด

ว่ากันอย่างถึงที่สุด เนื้อหาของซีรีส์เรื่อง “อนาฅต” ในภาพรวมทั้งหมด ตอบโจทย์ในการเป็นผลงานสะท้อนสังคมและวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่าง ๆ ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ ดังนั้น แม้ว่าสถานการณ์ในหนังจะเป็นเรื่องอนาคต แต่ทุกสถานการณ์ที่ว่า ก็เป็นอนาคตที่วน ๆ เวียน ๆ อยู่กับอดีตและปัจจุบันขณะนี้ (ราวกับว่าประเทศแห่งนี้จะถูกจองจำไว้ด้วยอะไรแบบนี้อย่างไม่มีวันหลุดพ้น) เนื้อหาจริง ๆ จึงไม่มีอะไรใหม่ เป็นแต่เพียงการนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการหยิบยืมความเป็นหนังไซไฟอนาคตมาใช้สอยเป็นเครื่องมือ

สรุปก็คือ อนาฅต เป็นซีรีส์ที่มีดีในหลายส่วน แม้จะไม่ถึงขั้นทำให้รู้สึกว้าวอะไรขนาดนั้น แต่ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ดีของแวดวงคอนเทนต์เมืองไทยที่ในช่วงหลังมานี้ มีการนำเสนอในแนวทางใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น และมั่นใจว่า จะสามารถพัฒนาไปได้อีกมากมายอย่างแน่นอน













กำลังโหลดความคิดเห็น