xs
xsm
sm
md
lg

การแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 15 ประจำปี 2567 และการแข่งขันกีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ รายการ 3rd Queen’s Cup Jump Rope Thailand Open 2024

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 15 ประจำปี 2567 จัดโดยโครงการกระโดดเชือก ทางเลือกเยาวชน พ้นโรคหัวใจ ภายใต้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ในฐานะเจ้าภาพร่วม ณ อาคารยิมเนเซียม (เสรีไตรรัตน์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2567 โดยมีตัวแทนนักกีฬาเยาวชน ผู้ฝึกสอน ผู้ตัดสิน และทีมสโมสร โรงเรียนต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คน ซึ่งในปีนี้ ทีมโรงเรียนศิริพงศ์วิทยา คว้าถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปครองในฐานะทีมที่มีคะแนนชนะเลิศสูงสุดในทุกรายการ

พร้อมกันนี้ยังมีการแข่งขันกีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ รายการ 3rd Queen’s Cup Jump Rope Thailand Open 2024 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 เป็นการแข่งขันกีฬาจัมพ์โร้ป (กระโดดเชือก) ที่มีนักกีฬาจากสโมสรต่างประเทศเข้าร่วม โดยในปีนี้มีด้วยกันทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย, ประเทศเกาหลีใต้, ประเทศจีน, ประเทศจีน (ฮ่องกง), ประเทศมาเลเซีย, ประเทศคาซัคสถาน, และประเทศญี่ปุ่น มีนักกีฬาต่างชาติกว่า 200 คนเข้าร่วมการแข่งขัน โดยถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีฯ ประเภทคะแนนรวมสูงสุดในทุกรายการตกเป็นของประเทศไทย

กีฬากระโดดเชือกสากล หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “จัมพ์โร้ป” (Jump Rope) ถือได้ว่าเป็นกีฬาน้องใหม่ล่าสุดของโลก และของประเทศไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จากมติที่ประชุมของสมาคมสหพันธ์กีฬานานาชาติ (Global Association of International Sports Federations) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “GAISF” ณ กรุงเทพมหานคร ได้รับรองให้การเล่นกระโดดเชือกสากล (หรือจัมพ์โร้ป) กลายเป็นประเภทกีฬาชนิดใหม่ และให้มีสหพันธ์กีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ (International Jump Rope Union) หรือ “IJRU” เป็นองค์กรหลักของกีฬาชนิดนี้ ซึ่งในปีถัดมา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็ได้รับรองให้ “สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย” (Thai Jump Rope Sport Association)หรือ “TJR” เป็นองค์กรผู้ทําหน้าทึ่ควบคุมและกํากับดูแลกีฬากระโดดเชือกสากลในประเทศไทย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และถูกต้องตามหลักความปลอดภัยในการเล่นกีฬาชนิดนี้

หากพูดถึงการเล่นกระโดดเชือกในประเทศไทยนั้น มีการเล่นมาตั้งแต่โบราณ เป็นอีกหนึ่งกีฬาที่สามารถเล่นได้ง่าย สะดวกสบาย ใช้อุปกรณ์เพียงแค่เชือกกระโดดหนึ่งเส้น และสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัยโดยไม่จํากัดอายุ หรือสถานที่ เป็นรูปแบบของสันทนาการเพื่อความสนุก ผ่อนคลาย และการออกกําลังกายอีกทางหนึ่ง และหากจะกล่าวถึงการกระโดดเชือกแล้ว อีกองค์กรหนึ่งที่มีความสําคัญอย่างยิ่ง เป็นผู้ริเริ่มสนับสนุนการกระโดดเชือกเพื่อสุขภาพมาเป็นระยะเวลานานหลายสิบปี คือ “มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยโครงการ “กระโดดเชือก ทางเลือกเยาวชน พ้นโรคหัวใจ”และได้รับพระมหากรุณาพระราชทานถ้วยรางวัลในการจัดแข่งขัน

ต่อมาภายหลังสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทยได้ทําความร่วมมือกับทางมูลนิธิฯ จัดการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทานขึ้นเป็นประจําทุกปีในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อต่อยอดให้เยาวชนไทยรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการออกกําลังกาย เสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูก และกล้ามเนื้อหัวใจ และยังสามารถฝึกฝนทักษะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อไปสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติตัวแทนประเทศไทยในอนาคตได้ สำหรับการแข่งขันฯ นี้ถือเป็นรายการแข่งขันทางกีฬาที่มีถ้วยพระราชทานมากที่สุดในประเทศไทย (41 ถ้วยฯ) และในอีกทางหนึ่งก็เป็นรายการ “ชิงแชมป์ประเทศไทย” เพียงรายการเดียวในวงการของกีฬากระโดดเชือกสากล เพื่อทําหน้าที่เฟ้นหาและคัดเลือกตัวแทนนักกีฬาจัมพ์โร้ปทีมชาติไทยเพื่อเข้าแข่งขันทั้งในระดับโลก ระดับทวีป รวมถึงระดับประเทศด้วย

นอกจากนี้ ทางสมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทยยังได้จัดให้มีการแข่งขันระดับนานาชาติเพิ่มเติม ในรายการ “Queen’s Cup Jump Rope Thailand Opens” ควบคู่กับการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทาน ซึ่งได้รับความนิยมสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีนักกีฬาจากหลากหลายประเทศมาเข้าร่วมในการแข่งขันในแต่ละปี

โครงการ “กระโดดเชือก ทางเลือกเยาวชน พ้นโรคหัวใจ” (Jump for Heart Project) ภายใต้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Heart Foundation of Thailand under the Royal Patronage)
คณะกรรมการบริหารมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติให้มูลนิธิฯ ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังให้แก่ เด็กและเยาวชน โดยตั้งเป็นโครงการ “กระโดดเชือก ทางเลือกเยาวชน พ้นโรคหัวใจ” เริ่มก่อตั้งโครงการในเดือนมกราคม ปี 2547 ได้แต่งตั้งให้ พลเอกนายแพทย์ ประวิชช์ ตันประเสริฐ เป็นประธานโครงการฯ คนแรก

ปัจจุบันผู้ที่ดำรงตำแหน่งประธานโครงการฯ คือ นางนพมาศ ไวยรัชพานิช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจกรรมการออกกำลังกายที่เล่นง่าย ไม่ใช้อุปกรณ์มาก ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย หากปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยพัฒนาสุขภาพและสมรรถภาพทางกาย โดยเฉพาะสมรรถภาพด้านระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ ด้วยเหตุนี้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้รณรงค์ส่งเสริมกิจกรรมกระโดดเชือกอย่างจริงจังและต่อเนื่องในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ

​ปัจจุบัน โครงการกระโดดเชือกฯ ได้จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น การจัดอบรมกระโดดเชือกขั้นพื้นฐานสำหรับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และผู้ตัดสิน, การแข่งขันกระโดดเชือกระดับภาค, กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสต่างๆ และการแข่งขันกระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทาน โดยปัจจุบันเป็นการแข่งขันกีฬากระโดดเชือกชิงถ้วยพระราชทานครั้งที่ 14 ประจำปี 2566

สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย (Thai Jump Rope Sport Association : TJR)
สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย อักษรย่อว่า “จรท.” เป็นสมาคมกีฬาทั่วไป ภายใต้สังกัดการกีฬาแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ปัจจุบันมี ดร.ณัชพล ตันเจริญ เป็นนายกสมาคม และดร.อังคณา หิรัญพฤกษ์ เป็นเลขาธิการสมาคม ปัจจุบันสมาคมฯ อยู่ในระหว่างการยื่นขอจดทะเบียนต่อการกีฬาแห่งประเทศไทย เพื่อขอใช้คำว่าสมาคมกีฬา “แห่งประเทศไทย”

นอกจากนี้ สมาคมกีฬาจัมพ์โร้ปไทย ยังเป็นสมาชิกประเภทถาวร (Full Member) ของสหพันธ์กีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ (International Jump Rope Union : IJRU) ซึ่งรับรองโดย Global Association of International Sports Federations หรือ GAISF และ Alliance of Independent Recognized Members of Sports หรือ AIMS และของเป็นสมาชิประเภทถาวร (Full Member) ของสมาพันธ์กีฬาจัมพ์โร้ปเอเชีย (Asian Jump Rope Union : AJRU)

​ซึ่งในปี 2566 นี้ที่ผ่านมานี้ ทางสหพันธ์กีฬาจัมพ์โร้ปนานาชาติ (IJRU) ได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาจัมพ์โร้ป “ชิงแชมป์โลก” ขึ้น ภายใต้ชื่อรายการว่า “IJRU 2023 World Jump Rope Championships” ณ เมืองโคโรลาโด้สปริงค์ มลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 16 ถึง 23 กรกฎาคม 2566 โดยทางสมาคมฯ ได้ส่งตัวแทนนักกีฬาจัมพ์โร้ปทีมชาติ ไทยเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วย ซึ่งตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทยที่ทําผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ได้แก่ นางสาวพีรชยา พลับพลา และนางสาวพีรญา พลับพลา ที่สามารถคว้าเหรียญทองชิงแชมป์โลกด้วยคะแนนสูงสุด จากการแข่งขันรายการ Wheel Pairs Freestyle (WHPF), ประเภท Female 12-15 Yrs, Junior World Championship (JWC)

ติดต่อประสานงาน
ดร.อังคณา หิรัญพฤกษ์ เลขาธิการสมาคม 
โทร : 084-066-0101
อีเมล : th.jumprope@gmail.com 
ไอดี : @jrthailand
เฟซบุ๊กของสมาคมฯ : www.facebook.com/jumpropeTH (Thai Jump Rope)











กำลังโหลดความคิดเห็น