xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟ รวมพลังผู้นำและเยาวชน เนรมิตพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นสีฟ้า ในงาน “Turn Blue” ระลึกถึงวันเด็กสากล ย้ำจุดยืนในการสร้างสิทธิและอนาคตของเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนื่องในวันเด็กสากล วันที่ 20 พฤศจิกายน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้จัดงาน “Turn Blue” เนรมิตพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของประเทศไทย ให้ส่องแสงสีฟ้า โดยงานนี้มีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ตลอดจนเด็กและเยาวชน มาร่วมกันแสดงพลังและความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่เด็กทุกคน
ซึ่งการเปิดไฟสีฟ้านี้เป็นกิจกรรมของยูนิเซฟทั่วโลกเพื่อระลึกถึงวันเด็กสากล โดยสถานที่สำคัญระดับโลกหลายแห่งได้เคยเข้าร่วมประดับไฟสีฟ้ามาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เช่น หอไอเฟล (Tour Eiffel) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, อะโครโพลิส (Acropolis) ในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และ ตึกเอ็มไพร์สเตต (Empire State Building) ในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีเพื่อสร้างวันข้างหน้าที่มั่นคงและเปี่ยมไปด้วยโอกาสสำหรับเด็กทุกคนทั่วโลก

สำหรับกิจกรรมพิเศษในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ “A BETTER TOMORROW TODAY – วันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ของยูนิเซฟประเทศไทย ที่สะท้อนถึงความท้าทายที่เด็กและเยาวชนกำลังเผชิญทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้ร่วมลงมือสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน โดยมีกิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการเปิดตัว UNICEF Box of Life หรือ กล่องช่วยชีวิต เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กที่กำลังเผชิญกับวิกฤตทั่วโลก

โดยงานนี้ มีผู้สนับสนุนยูนิเซฟที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานมากมาย นำโดย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ทูตสันถวไมตรี องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, คุณคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, คุณ นวลพรรณ ล่ำซำ ทูตองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาร่วมแสดงจุดยืนในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเด็กในประเทศไทยและทั่วโลก รวมถึง Friend of UNICEF มาร่วมงาน เพื่อแสดงการสนับสนุนภารกิจของยูนิเซฟ ได้แก่ คุณหนูดี-วนิษา เรซ, คุณเป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร, พร้อมนักแสดงและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง คุณเวียร์-ศุกลวัฒน์, คุณแอนนา เสืองามเอี่ยม และคุณซอฟปอม รษิกา พานิวงศ์ อีกทั้งยังมีตัวแทนเด็กและเยาวชนที่มาร่วมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตที่เด็ก ๆ กำลังเผชิญอยู่
ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน ซึ่งดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มาเป็นระยะเวลา 28 ปี กล่าวว่า

“ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟได้ทำงานเคียงข้างประเทศไทยเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับเด็กทุกคน ซึ่งเราได้เห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนในด้านสิทธิและคุณภาพชีวิตของเด็ก และในวันนี้เรามารวมตัวกันที่วัดอรุณฯ เพื่อเปิดไฟสีฟ้าของยูนิเซฟเป็นครั้งแรก นี่เป็นสิ่งที่เตือนใจเราว่ายังมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสงสีฟ้านี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมุ่งมั่นของยูนิเซฟที่จะเดินหน้าทำงานต่อไปจนกว่าเด็กทุกคน ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จะได้เติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่“

งานนี้ยังมีเด็กและเยาวชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นและสะท้อนถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยนางสาว ผลินภัทร์ จงธนากร วัย 16 ปี ตัวแทนเด็กและเยาวชนจากยูนิเซฟ กล่าวว่า “ดิฉันเชื่อว่าหากเราร่วมกันสร้างโลกที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับเด็ก ๆ โลกที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ค้นพบตัวตนและสัมผัสกับความสุข สักวันหนึ่ง เราจะได้เห็นเยาวชนทุกคนเปี่ยมไปด้วยความฝันและความหวังในหัวใจ แม้เส้นทางสู่อนาคตที่สงบสุขอาจเต็มไปด้วยความซับซ้อนและอุปสรรค แต่เส้นทางนี้ย่อมเปี่ยมไปด้วยความหมายที่จะเติมเต็มชีวิต"

​ในวันเด็กสากลนี้ ยูนิเซฟได้เผยรายงานระดับโลกที่สำคัญเรื่อง "รายงานสภาวะเด็กโลก 2567: อนาคตของวัยเด็กในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง" โดยรายงานนี้มุ่งวิเคราะห์ 3 แนวโน้มหลักที่ส่งผลต่อชีวิตของเด็กทั่วโลก ได้แก่ วิกฤตสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ซึ่งชี้ว่าอนาคตของวัยเด็กกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังในประเทศไทย เด็กเกือบทุกคนมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นภายในปี 2593 หากไม่มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการลงทุนในเด็กปฐมวัย โดยเด็กจำนวนมากกำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาล่าช้า ในขณะที่เด็กชั้นประถมศึกษาประมาณครึ่งหนึ่งขาดทักษะการอ่านและคำนวณ อีกทั้งยังมีเยาวชนกว่า 1.4 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน หรือการฝึกอบรม (NEET) โดยหลายคนมองว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้เตรียมความพร้อมพวกเขาสำหรับอนาคต ปัญหาเหล่านี้สะท้อนความท้าทายด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งประเทศไทยควรต้องปฏิบัติตามพันธกรณี เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างการสนับสนุนเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างแข็งแรงและพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

คุณคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า "ความท้าทายที่เด็กในปัจจุบันต้องเผชิญเป็นปัญหาระดับโลกที่ไร้พรมแดนและส่งผลกระทบต่อทุกสังคม แม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม เด็ก ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในชีวิต การประดับไฟสีฟ้าที่วัดอรุณฯ จึงเป็นเครื่องเตือนใจให้คนทั่วประเทศตระหนักว่านี่คือความรับผิดชอบร่วมกัน ยูนิเซฟจะยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานเคียงข้างประเทศไทย โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างอนาคตที่ปลอดภัยและเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคนอย่างแท้จริง"

ด้าน มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในฐานะทูตยูนิเซฟประเทศไทย ว่า “การลงทุนในเด็กคือการลงทุนที่สำคัญที่สุดที่ประเทศสามารถทำได้ ไม่เพียงเพื่อประโยชน์ต่อเด็กแต่ละคน แต่ยังเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับอนาคตของสังคมโดยรวมอีกด้วย ในบทบาททูตยูนิเซฟ ประเทศไทย แป้งมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนสิทธิเด็ก พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือและระดมทุน เพื่อช่วยให้ยูนิเซฟสามารถสร้างอนาคตให้แก่เด็ก ๆต่อไปได้ เพราะเด็กทุกคนควรได้รับการศึกษา การดูแล และการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับพวกเขา เราสามารถร่วมกันสร้างประเทศไทยและโลกที่เด็กทุกคนมีสุขภาพดี มีชีวิตที่ดี และมีความสุข"

หมายเหตุบรรณาธิการเกี่ยวกับรายงานสภาวะเด็กโลก ประจำปี 2567 โดยยูนิเซฟ:

• วิกฤตสภาพภูมิอากาศ กำลังทวีความรุนแรงอย่างรวดเร็ว โดยปี 2566 ถูกบันทึกว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ หากไม่มีการแก้ไข เด็กทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงยิ่งขึ้นภายในปี 2590 โดยมีโอกาสเจอคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้น 8 เท่า เหตุการณ์น้ำท่วมเพิ่มขึ้น 3 เท่า และไฟป่าเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับปี 2543

• การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร กำลังสร้างความท้าทายใหม่ ๆ ในหลายประเทศ อย่างภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราและเอเชียใต้ คาดว่าจะมีประชากรเด็กเพิ่มขึ้นมากที่สุดภายในปี 2593 ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและยุโรปตะวันตกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีผลต่อการจัดสรรทรัพยากรในการดูแลและสนับสนุนเด็ก

• ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในปี 2567 พบว่าประเทศรายได้สูงมีประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากกว่าร้อยละ 95 ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำ มีการเข้าถึงที่ต่ำกว่าร้อยละ 26 ส่งผลให้เยาวชนจำนวนมากขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต
รายงานฉบับนี้เรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในปี 2532 และประเทศไทยให้สัตยาบันในปี 2535 โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุนอย่างเข้มแข็งด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่น และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อปกป้องสิทธิและอนาคตของเด็กทุกคนอย่างแท้จริง

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ A BETTER TOMORROW TODAY – วันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า สามารถเข้าชมรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.unicef.or.th/better-tomorrow













กำลังโหลดความคิดเห็น