“เล่าเรื่องเมืองอัศวิน เงาะ-รจนา” นับเป็นอีกหนึ่งการแสดงที่สามารถมองด้วยมิติอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้เกิดการตื่นรู้ทางปัญญาอันว่าด้วยการมองให้ลึกถึงความงามที่แท้จริง รวมไปถึงการพาคนดูนั่งไทม์แมทชีนย้อนเวลาไปสัมผัสกับจิตวิญญาณรากเหง้าและความงดงามในคืนวันอันเก่าก่อนของสังคมไทย พร้อมทั้งผสมสานเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างกลมกลืน สะท้อนถึงทักษะบูรณาการงานศิลป์ให้มีความร่วมสมัยได้อย่างโดดเด่นน่าสนใจ
เมื่อเอ่ยถึง “อัศวินภาพยนตร์” สำหรับคนดูหนังรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นหู แต่หลายสิบปีก่อนหน้านี้ ผลงานของอัศวินภาพยนตร์ถือเป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่เคยมอบความบันเทิงให้กับคนไทย และเป็นจุดกำเนิดของศิลปิน ดารานักแสดง ผู้กำกับหนัง ชื่อดังจำนวนไม่น้อย
ภายใต้บริษัท อัศวินภาพยนตร์ จำกัด ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 ในชื่อ “ไทยฟิล์ม” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “อัศวินภาพยนตร์” ในปี พ.ศ. 2491 ผลิตผลงานภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่าไว้หลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น “พันท้ายนรสิงห์” ที่ได้รับการยกย่องและคัดเลือกให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติในปี พ.ศ. 2558 โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
เช่นเดียวกับ “เรือนแพ” หนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยระบบฟิล์ม 35 มม. ซูเปอร์ซีเนสโคป และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 100 ภาพยนตร์ไทยที่คนไทยควรดู และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติในปี พ.ศ. 2555
นอกจากนั้นแล้ว ภาพยนตร์เรื่อง “ละครเร่” (ปี พ.ศ. 2512) ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ทรงคุณค่า สะท้อนพระปรีชาสามารถของ “เสด็จพระองค์ชายใหญ่” โดยหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล หรือ “ท่านชายปีใหม่” พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ได้ทรงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงที่มาของภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ว่า ...
“ละครเร่ ถูกสร้างขึ้นในยุคที่ความบันเทิงแบบตะวันตกเข้ามามีบทบาทเป็นที่ชื่นชอบในเมืองไทยอย่างแพร่หลาย ‘เสด็จพระองค์ชายใหญ่’ จึงมีความคิดที่จะใช้ภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ความบันเทิงแบบไทยที่ได้รับความนิยมลดลงนี้ให้กลับมาอยู่ในความคิดและความรู้สึกของคนไทยอีกครั้ง”
ทั้งนี้ “ท่านชายปีใหม่” ได้ทรงเข้ามาบูรณะอาคารของอัศวินภาพยนตร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เลขที่ 9 ซอยนาคราช ถนนบำรุงเมือง กรุงเทพมหานคร ที่เมื่อก่อนเคยเป็นทั้งสำนักงาน แล็ปเสียง ห้องตัดต่อ และโรงเรียนสอนการแสดงของบริษัทอัศวิน โดยการบูรณะนี้ทรงมีความมุ่งหมายให้สถานที่แห่งนี้ใช้ประโยชน์ในการเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เพื่อสืบทอดประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นจากอัศวินภาพยนตร์เอาไว้ และเพื่อสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมให้งอกงามต่อไปตามยุคสมัย
Pichet Klunchun Dance Company โดยพิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินรางวัลศิลปาธร ปี พ.ศ. 2549 เป็นศิลปินกลุ่มแรกที่ได้ประเดิมใช้พื้นที่แห่งนี้จัดการแสดง โดยนำเอาภาพยนตร์เรื่อง “ละเครเร่” มาเป็นแรงบันดาลใจ และใช้ชื่อการแสดงชุดนี้ว่า “เล่าเรื่องเมืองอัศวิน เงาะ-รจนา” ซึ่งตั้งสมมติสตอรี่ให้ล้อไปกับเรื่องราวในหนังต้นฉบับ จาก “คณะพ่อครูทับ” ในหนังเรื่อง “ละครเร่” เปลี่ยนมาเป็น “คณะพ่อครูพิเชษฐ” ในยุคปัจจุบัน
การแสดงชุดนี้ได้นำเอาการแสดงรำไทยในหนัง “ละครเร่” มาใช้ 2 เรื่อง คือเรื่อง “เงาะ-รจนา” และ “รำซัดชาตรี” แต่พัฒนาท่วงท่าขึ้นมาใหม่เป็นแบบเฉพาะตัวของพิเชษฐ กลั่นชื่น ซึ่งใช้เวลาถอดรหัสท่ารำแบบไทยดั้งเดิม 59 ท่า เป็นเวลากว่า 15 ปี จนพบหลักการที่สามารถนำมาสร้างสรรค์กระบวนท่าใหม่ที่ชื่อ no.60 เร่แสดงตามที่ต่าง ๆ ทั่วโลก
“เล่าเรื่องเมืองอัศวิน เงาะ-รจนา” จัดแสดงเมื่อวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา วันละหนึ่งรอบ คือ รอบ 19.00 น. มีผู้สนใจเข้าร่วมรับชมหนาตา และจากบรรยากาศโดยรวมก็บอกให้รู้ว่า ทุกคนมีความสุขที่ได้รับชมการแสดงชุดนี้ ทั้งจากรอยยิ้มและเสียงปรบมือซึ่งดังขึ้นหลังจบการแสดงในแต่ละองค์
ที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่เดินผ่านประตูเข้าไปในชั้นแรก จะมีทีมงานนักแสดงมาต้อนรับอย่างเป็นกันเองกับผู้ชม พร้อมให้ถ่ายภาพคู่นักแสดงตัวหลักที่เล่นเป็นเจ้าเงาะ (พระสังข์) และรจนา ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น่ารักและไม่ใคร่ได้เห็นนัก แต่หากจะว่าไป บรรยากาศแบบนี้ก็เหมือนการเตรียมผู้ชมให้มีอารมณ์ร่วม หรืออย่างลึกซึ้งที่สุดคือให้เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้
นอกจากนั้นแล้วเมื่อขึ้นไปยังชั้น 3 ของอาคาร จะมีการเปิดฉายหนังเรื่อง “ละครเร่” ซึ่งคล้ายเป็นการปูพื้นให้กับคนดูว่าการแสดงชุดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเป็นการฉายหนังในช่วงที่นักแสดงของเรื่องกำลังทำการแสดง “เจ้าเงาะ-รจนาเสี่ยงพวงมาลัย” พูดอย่างเข้าใจง่ายก็คือ ตอนรจนาเลือกคู่ อีกทั้งขณะที่หนังฉายตอนนี้ ก็มีนักแสดงของคณะพ่อครูพิเชษฐแสดงอยู่หน้าจอฉายหนัง เต้นรำทำทีทำท่าล้อไปกับเรื่องราวในหนังอย่างสอดคล้องกลมกลืน
ดังนั้นแล้ว หากจะลองวิเคราะห์ในเชิงเรื่องราว การแสดงตรงนี้เหมือนจะไปตอบโจทย์การแสดงในลำดับชั้นต่อไป นั่นก็คือ ตอน “จับนาง” เพราะหาก “รจนาเลือกคู่” คือการที่ “นางจับ” หมายถึง “นาง(รจนา)เลือกคู่” แล้วไซร้ การแสดงของคณะพ่อครูพิเชษฐตอน “จับนาง” ก็คงเป็นความหมายตรงกันข้าม คือ “นาย(เงาะ)เลือกคู่” ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุกที่สุดแท้แต่ใครจะตีความ
ตอนที่สนุกที่สุดอีกตอนหนึ่งของการแสดงนี้จึงเป็นตอน “จับนาง” ที่มีเจ้าหนุมาน 2 ตัว 2 นักแสดง ซึ่งตัวหนึ่งคือหนุมานที่รำตามขนบและทำได้ดีมาก โดยเฉพาะจังหวะการสับเท้าที่เป๊ะและสวยงาม ส่วนอีกตัวหนึ่งดูเหมือนจะเน้นเต้นรำแบบสมัยใหม่ ก็นับเป็นความล้ำของการผสมผสานรำไทยไปกับการแพทเทิร์นและรูปแบบการเต้นร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ
และที่สำคัญ ตอนนี้เหมือนจะทำหน้าที่สื่อสารถึง Key Message อันว่าด้วยเรื่องของการมองความงามได้อย่างทันยุคทันสมัย เพราะในขณะที่รักษาแก่นสารของเรื่องราวรจนาที่มองทะลุรูปลักษณ์อันอัปลักษณ์ของเจ้าเงาะจนทะลุเข้าไปถึงตัวตนและความงามอันแท้จริงในสถานภาพ “พระสังข์” สิ่งที่การแสดงตอน “จับนาง” เหมือนจะสื่อออกมาให้สอดรับกับความจริงของยุคสมัยได้อย่างเซอร์ไพรส์คือการขยายจักรวาลของการมองความงามและความรักที่ไม่ได้มีแค่เพียง “ชายหญิง” มองกันเท่านั้น เพราะโลกยุคปัจจุบัน มีความงามความรักที่หลากหลายกว่าชายหญิง หรือที่เรียกกันว่า LGBTQ+ (*ตรงนี้เป็นการตีความของผู้เขียนบทความ ซึ่งอาจจะตรงกับเจตนาของผู้สร้างหรือไม่อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่มิอาจรู้ได้)
และถ้าจะว่ากันถึงความงามที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก็คงเห็นได้เด่นชัดจากเสื้อผ้าหน้าผมของนักแสดง ที่แต่งกันแบบสากลจริง ๆ คิดว่าเรื่องเครื่องแต่งกายนี้คงจะอ้างอิงมาจากฉากท้าย ๆ ในหนังเรื่องละครเร่ ที่แม้ว่าพระเอกมาณพ อัศวเทพ จะใส่ชุดสูทสากล แต่ก็ยังรำไทยคู่กับนางมโนราห์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้องค์ประกอบเปลือกนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เนื้อในก็ยังคงรักษาไว้ซึ่งรากเหง้าและจิตวิญญาณดั้งเดิม และเพิ่มเสริมเติมแต่งสไตล์การเต้นรำร่วมสมัยเข้ากับรำไทยยุคเก่าได้อย่างกลมกลืน
เหนืออื่นใดที่นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุคสมัย คือการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประกอบการแสดง เป็นการถ่ายภาพนักแสดงที่กำลังแสดงอยู่แล้วนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์และใช้โปแกรมในการ Generate ภาพ ฉายขึ้นที่ฉากหลังอย่างเรียลไทม์ จึงนับเป็นมิติใหม่ในการรับชมการแสดงละครซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกของวงการแสดงละครเวทีของไทย
ความโดดเด่นอีกอย่างที่เราจะได้เห็นตั้งแต่เริ่มต้นการแสดง คือการเล่นกับแสงและเงาซึ่งผ่านการเซ็ตมาอย่างดีเยี่ยม โดยที่แสงจะส่องไปยังนักแสดงที่กำลังเล่นเต้นรำอยู่และเกิดเป็นเงาอยู่บนฉากหลัง เป็นความงดงามอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ หรือแม้กระทั่งกระตุ้นความคิดอ่านในเรื่องของการมองความงามหรือความอัปลักษณ์ของผู้คนที่มีอยู่หลายชั้น ดุจดั่งเงาที่ซ่อนอยู่
ในส่วนเพลงประกอบก็มีการรักษากลิ่นอายความวินเทจย้อนยุค โดยมีเพลงไทยลูกกรุงให้ฟังอยู่หลายเพลงควบคู่ไปกับชมการเต้นรำของนักแสดง หนึ่งในนั้นก็คือเพลงละครชีวิต ซึ่งแต่งคำร้องโดย “ดอกดิน กัญญามาลย์” ศิษย์ก้นกุฏิอีกหนึ่งคนของสำนักอัศวินภาพยนตร์ ก่อนจะเติบโตมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนานเจ้าของวลี “ล้านแล้วจ้า” โดยดอกดินก็ได้แสดงร่วมในหนังเรื่อง “ละครเร่” ด้วยเช่นกัน
บทเพลง “ละครชีวิต” สะท้อนให้เห็นในเชิงอุปมาว่าโลกนี้เปรียบเสมือนละครโรงใหญ่ มีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายโลดเล่นอยู่ภายในโรงละครแห่งนี้ แต่ละคนต่างก็แสดงบทบาทไปตามหน้าที่ของตัวเอง และมีชีวิตเป็นของตัวเอง ซึ่งเนื้อหาของเพลงก็สื่อสารไปพร้อมกับการเต้นรำของนักแสดงที่เล่นกับสเปซของเวที แต่ละคนมีพื้นที่ในการดำรงอยู่ของตัวเองและเต้นรำไปตามบทบาทที่ได้รับ
สุดท้ายแล้วก็คงต้องบอกว่า การได้รับชมการแสดงชุดนี้นับเป็นความรื่นรมย์หรรษาในช่วงเวลาความยาวที่พอเหมาะพอดี คือหนึ่งชั่วโมงโดยประมาณ ได้รำลึกนึกย้อนถึงความหลัง และพลังแห่งการสร้างสรรค์ ที่ประยุกต์และบูรณาการศิลปวัฒนธรรมแบบเก่าเข้ากับความเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างไม่ขัดเขิน
ที่น่าดีใจก็คือ หลังจากการแสดงชุดนี้ออกสู่สายตาผู้ชม ก็ปรากฏว่า กระแสตอบรับเป็นไปในทางบวก และ “อัศวิน” ก็มีความคิดที่จะเพิ่มรอบการแสดง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้สนใจแต่ยังไม่มีโอกาสไปชมการแสดงในรอบที่ผ่านมา ถึงตรงนี้ก็คงไม่มีวาจาใดจะกล่าวมากไปกว่า “ขอแสดงความยินดีด้วยความจริงใจกับทีมงานที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา”
*Special Thanks : บุญญรัชฎ์ สาลี ครูสายวิชา Active Citizen Studio โรงเรียนรุ่งอรุณ