xs
xsm
sm
md
lg

‘อย่ากลับบ้าน’ อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนทำคอนเทนต์เมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



เชื่อแน่ว่า ต้องมีหลายคนที่มึนงงสงสัยว่าอะไรเป็นอะไร หลังจากได้ดูซีรีส์เรื่องนี้ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อนค่อนข้างสูง แต่ก็เพราะเหตุนี้ส่งผลให้ผลงานเรื่องนี้เป็นซีรีส์ไทยมิติใหม่ที่ “ล้ำ” มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งกล้าก้าวออกไปจากคอมฟอร์ทโซนเดิม ๆ และมีความทะเยอทะยานในการเล่าเรื่องถึงขั้นที่พูดได้ว่า “เล่นท่ายาก” อยู่พอสมควร

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เคยทะลุปรุโปร่งกับการดูหนังอย่าง Predestination หรือซีรีส์เรื่อง Dark มาก่อนหน้านี้แล้ว อาจจะรู้สึกว่า “อย่ากลับบ้าน” หรือ Don’t Come Home ปราณีกับคนดูพอสมควรแล้ว เพราะทั้งสองเรื่องที่กล่าวถึง นับเป็นสายแข็งของแท้ในการเล่นกับมิติด้านเวลาที่ทับซ้อนและย้อนทวน ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้า

แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การดู “อย่ากลับบ้าน” ก็นับเป็นความท้าทายประการหนึ่ง ซึ่งต้องอาศัยการปะติดปะต่อไล่เรียง แกะออกมาทีละจุดเพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร

จากจุดเริ่มต้นของซีรีส์หรือแม้แต่ตัวอย่างที่ถูกปล่อยออกมา ดูเหมือนว่า “อย่ากลับบ้าน” จะเซอร์วิสความสยองขวัญหรือ “ผีหลอก” เป็นหลัก แต่เอาเข้าจริง ผลงานชิ้นนี้กลับผสมผสาน “ชนิด” หรือ “ประเภท” (Genre) ไว้หลากหลายและทยอยปล่อยออกมาในแต่ละตอนได้อย่างมีชั้นเชิงและน่าติดตาม ไล่ตั้งแต่ความสยองขวัญหรือผีในตอนแรก ๆ ไปจนถึงแนวทางสืบสวนสอบสวน หรือแม้กระทั่งความเป็นหนังไซไฟทะลุมิติเวลา ตลอดจนดราม่า จิตวิทยา และความลึกลับระทึกขวัญ


จุดนี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ของคอนเทนต์ไทยที่ไม่ยึดติดกับ Genre ใด Genre หนึ่ง และผสมออกมาได้อย่างสอดประสานกลมกลืนกัน โดยเป็นความตั้งใจของผู้กำกับและเขียนบทอย่าง “วุฒิดนัย อินทรเกษตร” คนทำหนังโฆษณามือรางวัลที่ขยับมาทำซีรีส์เรื่องแรก และถือเป็นงานเปิดตัวที่ “ว้าว” อย่างยิ่ง

นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี มาในบทบาทของ “วารี” ที่ตัดสินใจพา “มิน” ลูกสาวคนเดียวของเธอกลับไปยัง “บ้านจารึกอนันต์” บ้านเก่าของครอบครัวที่เธอเคยอาศัยอยู่เมื่อ 30 ปีก่อน จากนั้นสองแม่ลูกก็ได้เผชิญเหตุการณ์ประหลาดที่หาคำอธิบายไม่ได้ในบ้านหลังนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งมินเกิดหายตัวไปอย่างลึกลับ จึงทำให้ “ฟ้า” (แพร-พิชชาภา พันธุมจินดา) ตำรวจหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ได้เข้ามาสืบสวนคดีการหายตัวไปของเด็กหญิง ทว่าในระหว่างที่ฟ้าพยายามรวบรวมเบาะแสเพื่อตามหามินนั้น หลักฐานต่าง ๆ ก็ชี้ให้เธอสงสัยว่า บ้านเก่าแก่หลังนี้เก็บซ่อนความลับแบบใดไว้กันแน่

ไม่มากไม่มาย คงต้องบอกตามตรงว่า นี่คือผลงานซีรีส์ที่ผ่านการคิดการออกแบบเรื่องราวมาอย่างเอาจริงเอาจัง ถึงแม้จุดเริ่มต้นมันจะมาจากเรื่องเล็ก ๆ ที่ว่าด้วยการหายตัวไปอย่างลึกลับของเด็กหญิงคนหนึ่ง ซึ่งคุณวุฒิดนัยเขียนไว้เพียงหนึ่งหน้ากระดาษในช่วงโควิด ก่อนจะสานต่อขยับขยายเรื่องราวนี้ให้กว้างและลึกมากขึ้นจากเรื่องราวหนึ่งหน้ากระดาษ กลายเป็นหนึ่งร้อยกว่าหน้าในเวลาต่อมาประมาณ 2-3 ปี


“อย่ากลับบ้าน” มาพร้อมกับอารมณ์ความรู้สึกน่าติดตาม บวกกับชวนให้สงสัยใคร่รู้ ซึ่งซีรีส์ก็ไม่ยอมเฉลยแบบง่ายดาย แต่ค่อย ๆ ป้อนข้อมูลให้กับคนดูไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและไม่รีบร้อน ซึ่งตรงนี้ หากมือไม่ถึงหรือดึงคนดูไว้ไม่ได้ ก็อาจจะทำให้กดเปลี่ยนไปดูเรื่องอื่น แต่ด้วยบรรยากาศของเรื่อง บทบาทการแสดง และองค์ประกอบอะไรต่าง ๆ มันทำให้เราตรึงอยู่กับซีรีส์ไปจนจบ

ไม่แปลกใจ หากใครต่อใครจะมองว่า นี่คือซีรีส์ที่มีความลุ่มลึกในเชิงเนื้อหา โดยอาศัยเครื่องมือในการสื่อสารได้อย่างทรงพลัง ไม่ว่าจะเป็น “ชื่อ” ของสถานที่ เช่น “บ้านจารึกอนันต์” (ซึ่งหมายถึงการติดตรึงไว้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด) การเล่นกับชื่อตัวละคร ทั้ง “วารี” , “ลุงนที” , “ฟ้า” และ “มิน” ที่มีส่วนสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น วารี กับ ลุงนที ให้ความหมายถึงสายน้ำซึ่งน่าจะรู้ความลับอะไรของกันและกันที่อยู่ในบ้านหลังนี้ ขณะที่วารีกับฟ้า ก็เป็นสิ่งที่อยู่ขนานกันคนละด้าน ส่วนมินสื่อความหมายถึงปลาที่อยู่คู่กับวารีและนที

นอกจากนี้ ยังมี “พนิดา” ที่หมายถึงผู้หญิง “ดนัย” หมายถึงผู้ชาย ซึ่งชื่อเหล่านี้มีความหมายที่คนดูจะไปเก็บเกี่ยวตีความได้ โดยเฉพาะหากพูดถึงเรื่องของ “ปิตาธิปไตย” หรือสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ที่ไม่มากก็น้อย มันส่งผลกระทบในเชิงกดทับและบีบคั้นตัวละครหญิงในเรื่องอย่างปฏิเสธไม่ได้ จนอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัวละครหญิงป่วยไข้ทางใจ


ขณะเดียวกัน การเล่นกับปี พ.ศ. เช่น บ้านจารึกอนันต์ 2475 หรือเวลาเกิดเหตุการณ์สำคัญในเรื่องซึ่งมีตั้งแต่ 2535 และ 2557 ซึ่งสำหรับผู้ใฝ่ใจในทางการเมืองแล้ว ก็จะสามารถเชื่อมโยง พ.ศ.เหล่านี้เข้าด้วยกันได้ไม่ยาก เนื่องจากมันมีเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมืองในโลกความจริงของประเทศไทยเกิดขึ้น และเหมือนจะสะท้อนถึง “การวนลูป” ที่ไม่จบสิ้น เป็นวังวนที่ย้อนกลับไปกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดุจเดียวกับเรื่องราวของตัวละครในเรื่องที่ต้องพบเจอเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

กล่าวโดยสรุปแล้ว “อย่ากลับบ้าน” เป็นซีรีส์ที่ทำให้เห็นถึงหความมุ่งมั่นตั้งใจของคนทำคอนเทนต์เมืองไทยที่สามารถเชิดหน้าชูตาได้ในระดับสากล งานชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนโดยเน็ตพลิกซ์ ซึ่งก็สะท้อนอยู่กลาย ๆ ว่า หากได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนที่ดีพอ คนทำคอนเทนต์ของบ้านเราก็พร้อมจะสร้างสรรค์และผลิตผลงานที่มีคุณภาพทัดเทียมกับระดับโลกได้

ฟังมาว่า คุณวุฒิดนัย เคยนำโปรเจคต์นี้ที่ยาวกว่า 100 หน้ากระดาษไปเสนอกับค่ายหนังหลายแห่งเพื่อทำเป็นหนังใหญ่ แต่ไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็นับเป็นเรื่องปกติทั่วไปเนื่องจากสตูดิโอแต่ละแห่งก็มีเหตุผลเป็นของตัวเองที่จะเลือกหรือไม่เลือก

อย่างไรก็ตาม ก็นับว่าเป็นโชคดีของคนดูและวงการคอนเทนต์หนังซีรีส์ไทยที่คุณวุฒิดนัยไม่ล้มเลิก และนำโปรเจคต์นี้ไปเสนอกับทางเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งผลลัพธ์ก็อย่างที่ทุกคนได้เห็นคือมันคุ้มค่าน่าปรบมือให้สำหรับความตั้งใจอันนี้











กำลังโหลดความคิดเห็น