พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) เป็นประธานในพิธีกล่าวให้โอวาทแก่นักเรียนผู้แทนจากโครงการ ASMOPSS THAILAND ก่อนเดินทางไปแข่งขันความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับนานาชาติในโครงการ Asian Science And Mathematics Olympiad for Primary And Secondary Schools (ASMOPSS) ครั้งที่ 14 ที่ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 28 คน ซึ่งผ่านการสอบคัดเลือกด้วยมาตรฐานระดับนานาชาติ 2 รอบ จากนักเรียนทั่วประเทศ โดยมีนายอรรถพล ตรึงตรอง ผู้ทรงคุณวุฒิ นายธนากร แผลงเดช นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ และผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาเอซายน์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการแอสมอพส์ นางมัญชุมาศ บุญชู โกคิง ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนนอกระบบกรุงเทพมหานคร นางสาวพรพัชร แผลงเดช ประธานโครงการ ASMOPSSTHAILAND พร้อมด้วยครู และผู้ปกครอง เข้าร่วมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 -10.00 น. ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
โครงการ ASMOPSS THAILAND เริ่มต้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2564 โดยความร่วมมือจากโรงเรียนกวดวิชาเอซายน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ บริษัท ไมราห์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ให้จัดการแข่งขันเพื่อคัดเลือกนักเรียนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันระดับนานาชาติ ในโครงการ Asian Science and Mathematics Olympiad for Primary and Secondary Schools หรือ ASMOPSS (แอสมอพส์) ซึ่งเป็นโครงการแข่งขันวิชาการเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ระดับนานาชาติ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยเน้นทักษะการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ใช้ความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นฐาน ตลอดทั้งทักษะต่างๆ เช่น ทักษะด้านภาษาอังกฤษ เป็นต้น ในปี พ.ศ. 2567 นี้โครงการASMOPSS ได้จัดการแข่งขันต่อเนื่องเป็นปีที่ 14ด้วยความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศ ได้แก่ ด้วยความร่วมมือระหว่าง 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียเวียดนาม ทาจิกิสถาน กัมพูชา ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ) กล่าวภายในงานว่า “ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ และแอสมอพส์ ประเทศไทย (ASMOPSS Thailand) ได้ประสานมาว่าจะมีการเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศอินโดนีเซีย โอกาสนี้ ขอให้ลูก ๆ นักเรียน ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน จนได้รับชัยชนะกลับมา นำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศไทย คิดว่าทุกคนเก่งอยู่แล้ว มีความตั้งใจ และมีความมุ่งมั่น เหนือสิ่งอื่นใดคือประสบการณ์ที่เราจะได้กลับมา เป็นโอกาสในการรู้จักวัฒนธรรม รู้จักผู้คนและเพื่อน ๆ ต่างชาติที่เข้ามาแข่งขัน จึงเป็นสิ่งดีที่เราจะได้สานต่อความสัมพันธ์ร่วมกันในอนาคต ขอให้ลูก ๆ นักเรียนทุกคน เดินทางปลอดภัย และมีความสุขกับการแข่งขัน”
นายธนากร แผลงเดช (นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาเอซายน์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการแอสมอพส์) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีที่ผ่านมาเราได้จัดการแข่งขันคัดเลือกนักเรียนผู้แทนเพื่อไปแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างเข้มข้น ในปีนี้ก็เช่นกัน เราจัดแข่งขันตั้งแต่เดือนสิงหาคม เพื่อเฟ้นหานักเรียนผู้แทนที่มีความสามารถเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ไปแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยในแต่ละปีได้รับความสนใจจากนักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ จากการแข่งขันประเภททีม และรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง ในประเภทบุคคลครบทุกรางวัล ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยทั้งในด้านการแข่งขันทางวิชาการ และการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ในปีนี้ทางโครงการได้ให้นักเรียนผู้แทนประเทศสวมใส่เสื้อลายไทยประยุกต์ ที่สวมใส่ได้จริงและทันสมัยเป็นชุดเข้าแข่งขัน พร้อมเดินแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทย และชุดประจำท้องถิ่น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ในทุกมิติ ให้เด็กไทยกล้าแสดงออกในทางที่ถูกต้อง เป็นการสะท้อนความรู้ทางวิชาการผสานกับการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในโครงการแข่งขันทางวิชาการอื่นๆที่จัดในประเทศไทย และเป็นจุดยืน Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเรามั่นใจว่าการศึกษา และวัฒนธรรมของไทย คือ Soft Power ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”
ในปี 2567 ทางโครงการได้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนผู้แทนอย่างเป็นทางการ โดยจัดแข่งขันภายในประเทศ 2 รอบ มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 50,189 คน จาก 1,490 โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ คัดเลือกนักเรียนผู้แทนประเทศไทยจำนวน 28 คน แบ่งออกเป็นผู้แทนการแข่งขันวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา ปีที่ 4-6 จำนวน 8 คน คณิตศาสตร์ประดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 6 คน วิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 -3 จำนวน 8 คน และคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 -3 จำนวน 6 คน และนักเรียนผู้แทนประเทศลำดับสำรองวิชาละ 6 คน/ช่วงชั้น
โดยการแข่งขันวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ระดับนานาชาติ (Asian Science and Mathematics Olympiad for Primary and Secondary Schools) หรือ ASMOPSS ครั้งที่ 14 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ระหว่างวันที่ 11 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 ณ เกาะชวาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน สามารถติดตามข่าวสารจากโครงการ ASMOPSS THAILAND ได้ที่ Facebook : ASMOPSS THAILAND หรือ https://asmopssthailand.com