xs
xsm
sm
md
lg

แม่หยัว : งานคราฟท์ละครไทย อีกหนึ่งมาสเตอร์พีซของ ‘ใหม่ ดาวิกา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



เป็นอีกหนึ่งละครหรือซีรีส์ของไทยที่ได้รับความสนใจมากในเวลานี้ พร้อม ๆ กับที่มีประเด็นให้พูดถึงและถกเถียงกันหลากแง่หลายมุม โดยเฉพาะในด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งความเหมาะสมของตัวนักแสดง เช่นว่า ใหม่ ดาวิกา ผอมเกินไปสำหรับบทนี้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ขอออกตัวตั้งแต่ต้นว่า บทความนี้จะกล่าวถึงซีรีส์ในฐานะละครเรื่องหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อความบันเทิงเท่านั้น มิได้มุ่งหมายที่จะมองในเชิงข้อเท็จจริง “อิงประวัติศาสตร์” ดังนั้น ในส่วนของฐานข้อมูลอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าเป็นเช่นไร จึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ทำหน้าที่อรรถาธิบายหรือให้ข้อมูลกันต่อไป

ทั้งนี้ หากย้อนไปดูบทสัมภาษณ์ของทีมงาน อย่างเช่น คนเขียนบท คือ คุณศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ก็จะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า “แม่หยัว” ไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าเป็นละครอิงประวัติศาสตร์ เนื่องจากผู้เขียนบทเพียงใช้เรื่องราวของท้าวศรีสุดาจันทร์มาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องราว ซึ่งอาจจะมีความจริงอยู่เพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นการแต่งเติมและตีความเพิ่มเพื่อสีสันความสนุกเร้าใจในการรับชม ซึ่ง ณ จุดนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เจตนาผู้สร้างเพื่อมอบความบันเทิงให้กับผู้ชมนั้น ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง


“แม่หยัว” หรือ The Empress of Ayodhaya มีจุดศูนย์กลางของเรื่องราวอยู่ที่ผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับศึกชิงอำนาจราชบัลลังก์ โดยเธอคือตัวแปรสำคัญที่จะชี้ชะตาว่า ศึกชิงบัลลังก์ครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

“ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” มาในบทบาทของ “จินดา” ธิดาของออกพระลพบุรีแห่งเมืองละโว้ เธอผู้มีสิริโฉมงดงามและสติปัญญาเป็นเลิศ อีกทั้งถือกำเนิดด้วยดวงชะตาที่เหนือกว่าคนทั้งปวง และเมื่อถึงคราวสำคัญของบ้านเมือง เธอจำต้องถวายตัวเป็นหนึ่งในสนมเอกสี่ทิศในพระไชยราชาธิราช กษัตริย์องค์แห่งอโยธยา ด้วยเป้าหมายในการชิงราชบัลลังก์

การนี้ นอกจากจะทำให้เธอต้องพลัดพรากจากชายคนรัก ยังต้องเผชิญหน้ากับพระสนมเอกต่างเมืองอีกสามพระองค์ นั่นก็คือ จิตรวดี, ละอองคำ และ ตันหยง ที่ต่างก็ต้องการขึ้นเป็น “พระอัครมเหสี” ท่ามกลางการช่วงชิงบัลลังก์และอำนาจครั้งนี้ นำมาซึ่งเรื่องราวอันซับซ้อนและพลิกผันมากมาย


ไม่ว่าจะอย่างไร คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “แม่หยัว” คือละครไทยที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์ความบันเทิงได้ดีอีกเรื่องหนึ่ง การแต่งเรื่องแต่งราว มีความน่าสนใจ น่าติดตาม ในแต่ละตอนที่เรื่องราวเดินไปข้างหน้า ท่ามกลางโปรดักชันงานสร้างที่ประณีตพิถีพิถันเข้าขั้นงานคราฟท์งานฝีมือที่เนียนตา

และที่ต้องชมเป็นอย่างมากก็คือการเขียนบทให้ตัวละครที่มีความละเอียดอ่อนในการสร้างคาแร็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นตัวหลักตัวรอง ล้วนเป็นตัวละครที่กล่าวได้ว่าเป็น Round Character คือมีมิติในตัวเอง ไม่ใช่ตัวละครแบบแบนราบมิติเดียว ซึ่งการทำได้แบบนี้ ส่งผลให้พฤติการณ์ของตัวละคร สามารถจะพลิกไปแบบไหนก็ได้อย่างไม่อาจคาดเดา โดยไม่ละทิ้งความสมเหตุสมผลหรือ “เบื้องหลัง” แห่งการกระทำนั้น ๆ ว่ามีจุดมุ่งหมายหรือแรงผลักดันแบบใด

หรือถ้าจะว่ากันตามจริง ทั้ง จินดา, จิตรวดี, ละอองคำ และ ตันหยง ตัวละครสนมเอกสี่ทิศ ล้วนมีพื้นที่ในการเปล่งแสงแสดงบทบาทของตัวเองอย่างไม่มีใครกินใครลง เพราะต้องไม่ลืมว่า เกมส์การชิงบัลลังก์ครั้งนี้ ล้วนขึ้นอยู่กับการ “ตั้งครรภ์” และให้กำเนิด “พระราชโอรส” ที่จะเป็นองค์รัชทายาทซึ่งสามารถครองบัลลังก์ต่อไป และซีรีส์ก็ไม่หลงประเด็นในเรื่องนี้ โดยให้ตัวละครเหล่านี้ได้แสดงตัวตนและธาตุแท้ของตนเองออกมา ซึ่งก็มีทั้งตรงไปตรงมา และซ่อนเหลี่ยมแฝงคม บางคนอาจเห็นว่าดี แต่ก็มีวาระแฝงเร้น


และสำหรับตัวเด่นอย่าง “จินดา” ก็ต้องชื่นชมว่า คนเขียนบททำให้ตัวละครตัวนี้สัมผัสใจคนดูได้ดีมาก มองในมุมของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีคนรักอยู่แล้วแต่ต้องเสียสละความสาวของตัวเองให้ชายอื่นเชยชม คือความขมขื่นขัดแย้งที่เธอต้องเอาชนะอยู่ภายใน และบางจังหวะ เราเห็นเธอยังคงมีจิตใจอ่อนโยนด้วยความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนสะเทือนในทุกข์ตรมของผู้อื่น แม้แต่คนที่เธอต้องจัดการ เช่นตอนที่เธอถวายตัวแล้วพระไชยราชาธิราชเปิดปากเล่าความจริงเกี่ยวกับชีวิตบนบัลลังก์ที่ทำให้พระองค์กินไม่ได้นอนไม่หลับ

จึงกล่าวได้ว่า จินดา เป็นตัวละครที่มีเลเยอร์ในตัวเองสูงมาก ขณะที่ “ใหม่ ดาวิกา” ก็แสดงได้สมบทบาท ทั้งการใช้วาจา สายตา ท่าทางการแสดง และพูดตามตรง การสวมบทบาทที่มีความขัดแย้งในตัวเองสูงอย่างนี้ จะต้องมีทักษะด้านการแสดงที่ดี ซึ่ง “ใหม่ ดาวิกา” สอบผ่านในจุดนี้อย่างไม่มีข้อสงสัย และถ้าจะว่าไป นี่คืออีกหนึ่งการแสดงที่ยอดเยี่ยมดีงามของ “ใหม่ ดาวิกา” ก็ไม่น่าจะเกินเลยแม้แต่น้อย

ส่วนนักแสดงคนอื่น ๆ ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็น ตุ้ย ธีรภัทร์ สัจจะกุล ที่รับบทพระไชยราชาธิราช ที่มีทั้งความแข็งแกร่งภายนอก แต่ภายในใจกลับสั่นไหวอยู่เนือง ๆ , ธนภัทร กาวิละ กับบท “วามน” หนุ่มคนรักของจินดา ซึ่งต้องเสียสละเพื่อภารกิจบ้านเมือง นอกจากนี้ ยังมี เป้ย-ปานวาด เหมมณี เล่นเป็น “จิตรวดี” ที่อยู่เคียงข้างปรนิบัติพระไชยราชาตั้งแต่ครั้งยังเป็นพระมหาอุปราช , สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ รับบท “ละอองคำ” สนมเอกทิศเหนือ และ นพจิรา ฤกษ์ขจรนามกุล รับบท “ตันหยง” สนมเอกทิศใต้ ที่ต่างก็แสดงได้ดี ในบทบาทที่ต้องชิงไหวชิงพริบและใช้เหลี่ยมเล่ห์ทุกวิถีทางเพื่อตำแหน่งอัครมเหสี หรือแม้กระทั่งหลังแต่งตั้งแล้วก็จะยังคงขับเคี่ยวกันต่อไป

ว่ากันตามจริง หากมองข้ามเรื่องการชิงตำแหน่งอัครมเหสี รวมถึงการชิงบัลลังก์ซึ่งเป็นปกติของสังคมสมัยนั้นออกไป “แม่หยัว” คือซีรีส์ที่พูดถึงมนุษย์ได้ลุ่มลึกคมคายมากที่สุดเรื่องหนึ่ง และฉายให้เห็นแรงขับเคลื่อนที่ผลักดันให้มนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความกลัว ความโกรธแค้นขุ่นเคือง และแรงปรารถนาอันดำมืด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่มนุษย์เสมอมา













กำลังโหลดความคิดเห็น