“หนุ่ม อรรถพร” เผยถึงยุคที่บริษัทต้องวิ่งหางานกันเองเหมือนหมาล่าเนื้อแล้ว จากที่ก่อนที่มีงานป้อนมาตลอด เชื่อคนยุคก่อนอาจจะมีตกใจ แต่ก็ต้องทำใจและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ให้ได้ ที่สำคัญคือห้ามเชย ต้องตามคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ๆ ให้ทัน ตอนนี้พอเห็นแพลตฟอร์มที่มีมากขึ้น ทำให้แพสชั่นในการทำงานก็เพิ่มขึ้นด้วย เป็นโอกาสให้ได้ลองทำงานใหม่ๆ ได้อีก
คำว่าวิกฤตวงการละคร คงเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ เพราะทั้งนักแสดงและผู้จัดหลายคนที่โดนผลกระทบ และออกมาเปิดใจถึงเรื่องนี้กันก็เยอะ ล่าสุดผู้จัดมากความสามารถอย่าง “หนุ่ม อรรถพร ธีมากร” ก็เผยถึงเรื่องนี้ในงาน CRA FOOD FIT for FINE FEST 15th Anniversary CHULABHORN Hospital รวมพลังฟู้ดฟิตฟอร์ไฟน์ ชวนกินให้เป็น-ชวนออกให้ฟิต-ยิ่งฟิตยิ่งได้บุญณ ลานชั้น 2 ฝั่งทิศเหนือ อาคารรัฐประศาสนศาสตร์ (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เผยบริษัท อันดา 99 ของตนที่เคยมีงานป้อนตลอด แต่ตอนนี้กลับเหมือนหมาล่าเนื้อ ที่ต้องวิ่งหางานกันเอง
“ตอนนี้เพิ่งทำเรื่อง kidnap เป็นซีรีส์วายจบไป และกำลังจะเปิดของอีกช่องเร็วๆ นี้ครับ ถ้าเรื่องวิกฤตละครเนี่ย ผมทำซีรีส์มาประมาณ 10 ปีแล้ว ปกติบริษัทผมเวลารับงานจะหยุดยาวที่สุดเลยไม่เกิน 2 เดือน เต็มที่คือ 3 เดือน รวมทำโปรดักชั่นฟิตติ้งด้วยนะ หรือบางจังหวะยังไม่ปิดเรื่องนี้ ผมก็ต้องเปิดเรื่องใหม่แล้ว แต่ทุกวันนี้พอปิดเรื่องนึงเราเหมือนหมาล่าเนื้อเลย เราต้องออกไปทุ่งหญ้าสะวันน่า ออกไปล่าหางาน ไปเสนองานคือเมื่อก่อนผมจะมี 2 พาร์ต ก็คือทางช่องเสนอมา แล้วผมก็ผลิตเลย อีกอย่างคือมีเรื่องที่อยากทำ แล้วก็ไปเสนอขายเลยว่าที่ไหนอยากทำกับเราบ้าง แต่ตอนนี้คือการที่เราเอาโปรเจกต์ไปวิ่งขายมากกว่า เพราะทางช่องเองการที่เขาจะผลิตเรื่องใหม่ๆ ตอนนี้มันลงทุนสูง ด้วยความที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีสปอนเซอร์ซื้อหรือยัง ไม่มีใครอยากเสี่ยง 30-40 ล้าน ผมเข้าใจผู้ลงทุนนะการที่เขาจะสร้างไอดอลหรือไอคอนขึ้นมาแล้วขายได้แน่ๆ อย่างเขามี 2 คนนี้ ซื้อไหม ถ้าซื้อก็ค่อยทำโปรเจกต์ เดี๋ยวนี้มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นการสร้างโปรเจกต์ใหม่เดี๋ยวนี้ต้องกลับไปคิดกันว่าในการจะสร้างแต่ละแพลตฟอร์มเขามีอะไรอยู่ แล้วเราจะเข้าไปแพลตฟอร์มนั้น เขามีอะไร และเราจะใช้ทรัพยากรของเขาอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด”
บอกเป็นการผลัดเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นที่คนยุคก่อนต้องปรับตัวให้ได้
“ผมว่าน่าจะเป็นภาวะของคนทำงานบางส่วน คือมันจะมีคนที่ทำงานโปรดักชั่นแบบนี้มาประมาณ 20-30 ปีแล้ว มันเหมือนเราทำงานอยู่ตีกนี้มานาน ทุกวันเราต้องเดินเข้าตีกนี้ ทำกิจกรรมทุกอย่างของเราปกติ แต่พอมาวันนึงตึกมันเริ่มแกว่ง เราก็จะเริ่มใจไม่ดีว่ามันจะเป็นยังไงต่อไปวะกับเจนเนเรชั่นใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะในตอนที่เราเคยพีกมาก่อน แต่มันคือ 20 ปีที่แล้ว และตอนนี้มันมีคนรุ่นใหม่มาแล้ว มันเป็นวัฎจักรของงานศิลปะอยู่แล้ว
ซึ่งตอนนี้มันเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ มันก็จะมีเสียงร้องจากคนอีกเจนเนอเรชั่นนึงว่าฉันกำลังจะตกงาน เพราะงานในวงการบันเทิงมันซบเซายังไงก็แล้วแต่ แต่อีกเจนนึงเขากลับมีงานเป็นปกติ ผมว่าอันนี้มันเกี่ยวกับมายด์เซ็ตแล้ว ฉะนั้นเราก็ต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตของเราเองเพื่อไปเข้ากับบริษัทใหม่ซึ่งก็คือตึกเดิมที่เราเคยอยู่นี่แหละ แต่เขาทำใหม่ ประกอบใหม่ มีแนวคิดใหม่ๆ”
ถ้าถึงวันที่ขาดทุนมากๆ ก็พร้อมจะถอย และค่อยกลับไปสู้ใหม่
“ผมก็เคยถามตัวเองทุกวันว่าจะรอดไหม (หัวเราะ) เอาจริงๆ ก็ถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันจะยืนยาวไปได้มากน้อยแค่ไหน เราก็ต้องยอมรับว่ามันก็มีทีมงานใหม่ๆ วิธีคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ถ้าโชคดีวิธีคิดของเรา ไอเดียของเรามันไปถูกจริตกับผู้ลงทุนที่เขาซื้อโปรเจกต์เรา เราก็ยังคงรอดอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราปิดตัวเอง เมื่อนั้นแหละเราต้องหาอาชีพที่ 2 3 4 แล้ว
ทุกวันนี้ด้วยความที่เราเห็นวัฎจักรของไอดอล ไอคอลพวกนี้มานาน มันจะมีวันที่ขึ้นถึงจุดสูงสุด และวันนึงมันก็จะลง ก่อนจะถึงวันนั้นคุณต้องสร้างอะไรไว้ก่อนที่มันจะไม่เหลือโอกาสให้สร้างอะไรได้อีก สมมติวันนึงคุณเคยมีงานโคตรเยอะเลย แต่อย่างน้อย 10 ปีผ่านไป คุณต้องเตรียมหาอะไรบางอย่างเพื่อจะทำในอนาคตอีกแบบนึง เพราะว่ามันก็จะมีคนเข้ามาแทนที่คุณ มันเป็นการเตรียมตัวมากกว่า”
บอกแพลตฟอร์มเดิมๆ ในช่องทางเดิมก็คงยังไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คนถึงเลือกไปดูในแพลตฟอร์มใหม่ๆ มากกว่า
“เรื่องของแพลตฟอร์มมีผลกับผู้ผลิตในระบบโทรทัศน์เมืองไทยมากอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเรื่องสาธุใน Netflix นะ เรื่องราวแบบนี้เอามาฉายในช่องปกติได้ไหม ก็ไม่ได้ ฉะนั้นความคิดของคนรุ่นใหม่แปลกแยกน่าสนใจที่ล้ำๆ มันจะไปอยู่ในแพลตฟอร์มพวกนี้หมด แต่ในช่องโทรทัศน์ปกติ เราจะถูกบังคับให้ดูแต่แนวคิดเดิมๆ ระบบเดิมๆ ฉะนั้นการเอาละครเก่าหรือละคร 30 ปีที่แล้วมารีรันใหม่ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร
เราก็ต้องคิดงานให้มันถูกจริตและร่วมสมัยกับคนในยุคนี้ ความเร็วของเขาในความเข้าใจ สมาธิของเขาในการสนใจอะไรก็แล้วแต่ เราต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้หมด และประเด็นคือเชยไม่ได้ เมื่อวานเรื่องนึง วันนี้เป็นอีกเรื่องนึงแล้ว แม้กระทั่งข่าวช่วงนี้ก็เป็นมหากาพย์ ไม่มีใครดูละครแล้ว ดูข่าวมันส์กว่า ฉะนั้นคนที่ทำงานแบบนี้ต้องคิดให้ได้ คิดให้ทัน ว่าจะดึงไอเดียเหล่านี้มายังไงให้คนสนใจ”
เผยถ้าถึงวันที่ขาดทุนมากๆ ก็พร้อมจะหยุด
“งานผมมันก็มาเรื่อยๆ ปีที่แล้วผมมี 2 เรื่อง ก็ยังโอเค ซึ่งถ้าจะเลี้ยงทั้งบริษัทให้อยู่ได้ก็ต้องมีสัก 2 เรื่องนี่แหละเป็นอย่างน้อยนะ ถ้า 3 เรื่องถือว่าเริ่มมีกำไรเหลือนิดหน่อย แต่ถ้าสมมติมันขาดทุนสะสมนานๆ ก็คงต้องหยุด ก็บริหารหนี้ให้เรียบร้อย แล้วค่อยว่ากันใหม่ จริงๆ มันก็มีหลายเรื่องที่ผมทำและมีปัญหาแบบนั้นจริงๆ ด้วยระบบการจัดการบางอย่างที่มันกระทบกับบริษัทเรา โดยที่เราก็ไม่ได้อยากให้มันขาดทุนหรอก แต่ไม่เป็นไร ยังไงก็ต้องทำ มันเป็นงานที่เขามอบหมายให้ ยังไงก็ต้องทำให้ดีที่สุด
การทำงานทุกวันนี้เราต้องหาสปอนเซอร์ให้เรียบร้อย ถึงจะเอางานไปเสนอ เราจำเป็นจะต้องหาลูกค้าในมือให้ได้ก่อนแล้วค่อยผลิต เพราะไม่งั้นก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาซัพพอร์ต ละครเรื่องนึง 15-20 ตอน เงินก็ประมาณ 30-40 ล้าน ซึ่งตัวผลิตภัณฑ์หรือสปอนเซอร์ที่เราหาได้ ก็ต้องดูอีกเวลาที่ไปขายงานให้แพลตฟอร์มต่างๆ คือจะเป็นในกรณีที่ถ้าเราจำเป็นต้องไปขอสปอนเซอร์ และเราต้องไปรวมกับพาร์ตเนอร์ที่ไปรวมกับสถานี อันนี้ต้องคุยกันให้ชัดว่าใครถืออะไร แบ่งกันอย่างไร ไม่งั้นไม่ได้ ตีกัน”
บอกแพสชั่นในการทำงานยังมี และมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
“แพสชั่นในการผลิตงานของผมไม่เคยเปลี่ยนนะ และทุกวันนี้มันทำให้ผมมีแพสชั่นมากขึ้นด้วย พอมีแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มันทำให้รู้สึกว่าเราจะได้ทำอะไรอย่างที่เราอยากทำมากขึ้น มันมีเรื่องนึงที่ผมคิดว่าช่องไหนก็คงไม่ให้ผมทำ ก็คือเรื่อง midnight museum ที่ผมทำกับ GMM25 ที่มีต่อกับกันเล่น โปรเจกต์นั้นเป็นโปรเจกต์ที่ผมไปขายมาหลายที่เหมือนกันนะ แต่พี่ถา (สถาพร พานิชรักษาพงศ์) Gmm25 เห็นและรับ ก็เลยได้ทำ มันก็ประสบความสำเร็จในแบบของมัน
ถามว่าพอมีหน่วยงานรัฐเข้ามากดว่าบทแนวนี้ห้ามนำเสนอ มันทำให้เราทำงานยากไหม คือถ้าเรื่องหน่วยงานรัฐที่เข้ามากำกับดูแลเซ็นเซอร์หรืออะไรก็แล้วแต่ ด้วยความที่เราชินกับการแก้ปัญหา มันเลยยังไม่เห็นปัญหามาก แต่ถ้ามีบางมุมที่เปิดให้เล่าได้มากขึ้น หรือมากกว่านี้อีกสักหน่อย ผมว่าคนไทยจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างมากขึ้นจากภายนอก คนดูก็จะได้เห็นงานที่หลากหลายมากขึ้น”
