สภาองค์กรของผู้บริโภค ปักหมุดลงใต้ เพิ่มทักษะสร้างคลิปสั้นด้วยมือถือ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค สภาองค์กรผู้บริโภค (Thailand Consumers Council) ได้จัดโครงการ ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (ปักหมุดสร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค) ในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ได้แก่ สมุทรสงคราม สงขลาเชียงใหม่ ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทักษะการสื่อสารเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับองค์กรสมาชิกในภูมิภาคต่างๆ พร้อมกับประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคในเชิงรุก ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น สะท้อนให้เห็นการสื่อสารบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นการสร้างแนวร่วมในการขยายความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านเครือข่ายสมาชิกและองค์กรของผู้บริโภค โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 จัดขึ้นในเขตพื้นที่ภาคใต้เมื่อวันที่ 17 – 18 ตุลาคมพ.ศ.2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ
โดย “สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล” รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นับว่าเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรอย่างมาก ด้วยสังคมไทยถูกแวดล้อมด้วยข้อมูลข่าสารจากหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะช่องทาง ออนไลน์ที่กลายมาเป็นช่องทางที่มีอิทธิพลกับผู้บริโภคอย่างมาก การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพถือเป็นกลไกหนึ่งในการปลูกฝังวัฒนธรรมใหม่ และยังมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวรู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ ในฐานะองค์กรสมาชิกที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค จึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการผลิตสื่อเผยแพร่สื่อ เพื่อเตือนภัยให้กับผู้บริโภคในพื้นที่ได้และขยายได้เป็นวงกว้าง”
ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเสวนาเรื่อง “สภาผู้บริโภค...ตัวแทนของผู้บริโภค เพื่อนผู้บริโภค” นำโดย คุณสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค คุณสิรินนา เพชรรัตน์ กรรมการนโยบาย และอาจารย์ชโลม เกตุจินดา หัวหน้าหน่วยงานเขตพื้นที่ภาคใต้ พร้อมกับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์พัฒนาทักษะ
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตสื่อ รวมไปถึงการWorkshop ภายใต้หัวข้อ “เคล็ด (ไม่ลับ) สร้างสื่อ #เซฟผู้บริโภค” โดย ดร.อิศริยา สายสนั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารข้อมูลที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ โดยมีการสื่อสารที่หลากหลาย ทั้งในรูปแบบของการสร้างและการเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการได้แบ่งกลุ่ม Workshop ต่อยอดแนวคิดและสร้างสรรค์คลิปกับอินฟลูเอนเซอร์ คุณฟิล์ม เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ ที่มีผู้ติดตามทางสื่อออนไลน์ส่วนตัวกว่า 1.2 ล้าน มาให้ความรู้ด้านการทำคอนเทนต์ ตั้งแต่ในขั้นตอนการวางแผน ตลอดจนถึงการเผยแพร่ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผลิตคลิปสั้นเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ด้วยตนเอง
โดย ฟิล์ม เฌอร์ลิษา เสรีวิบูรณ์กิจ ได้เปิดเผยว่า “โดยส่วนตัวเป็นครั้งแรกที่ได้มาร่วมงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ดีใจ ยินดีมากที่ได้มาร่วมงานกับสภาองค์กรผู้บริโภค ซึ่งในวันนี้ตัวเองก็ได้อยู่ในกลุ่ม Work shop ที่ได้หัวข้ออินเทรนด์มากๆ ในขณะนี้เลยก็คือ หลอกลงทุน ทุกคนในทีมเก่งมากๆ ทั้งการถ่ายทำแชร์ไอเดีย และหวังว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมครั้งนี้กลับไป ซึ่งเทคนิคที่มาสอนในครั้งนี้ก็คือ ไปทีละสเต็ป ทำเป็นตัวอย่างให้ดู หากติดปัญหาตรงไหนเราก็จะแก้ไปด้วยกัน ด้วยความตั้งใจของคนในทีมเลยทำให้การ Work shopง่ายขึ้น อีกทั้งฟิล์มก็อยากให้ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ช่วยสื่อสาร ประสานงานกับผู้บริโภคเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับผู้บริโภคค่ะ”
ทั้งนี้ ฝ่ายสื่อสารสาธารณะและประชาสัมพันธ์สภาผู้บริโภค ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ออกแบบ ผลิต และเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนภัยให้ผู้บริโภคตื่นตัว รู้เท่าทัน และรู้จักปกป้องสิทธิ ได้จัดประกวดคลิปวิดีโอภายใต้โครงการ “ปักหมุดทั่วไทย สื่อสารสร้างผลผลิตเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระดับภูมิภาค โดยเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาภัยออนไลน์ อาทิ ถังแก๊สหมดอายุ หลอกลงทุน และระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งทีมที่ชนะเลิศระดับภูมิภาคได้แก่ ทีมกลุ่มแก๊สเด้ง หัวข้อถังแก๊ซปลอดภัย
ซึ่ง อารียา มามะ เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน หน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานีตัวแทนทีม แก๊สเด้ง ได้ให้ความเห็นว่า“ดีใจมากที่ตัวเองได้มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และก็ภูมิใจที่ทีมได้รับรางวัลชนะเลิศ การมาในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้จากการทำคลิปสั้นไปพัฒนาต่อไปในการทำงาน จริงๆ แล้วเรามีข้อมูลคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในพื้นที่เยอะมากๆ แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปเสนอในรูปแบบไหนที่ ตั้งใจแล้วว่ากลับจากการเข้าร่วมครั้งนี้จะเอาเทคนิคต่างๆ เช่น การตัดคลิปอย่างไรให้น่าสนใจ การเลือกใช้ฟ้อนต์ ใช้สี การจัดไฟ การหาแครักเตอร์ ไปสอนให้กับหน่วยงานประจำจังหวัดปัตตานีด้วย โดยการที่เราแบ่งกลุ่มทำคลิปประชาสัมพันธ์มีข้อดีคือ เราจะได้เห็นการนำเสนอที่หลากหลายรูปแบบค่ะ สุดท้ายก็อยากให้สภาผู้บริโภคจัดกิจกรรมแบบนี้อีกเรื่อยๆ และอยากให้มีการติดตามผล เพื่อที่จะได้พัฒนาศักยภาพคนในองค์กร”
และ อนัญญา แสะหลี หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสตูลสภาองค์กรของผู้บริโภคตัวแทนทีมดิอังเคิล ได้ให้ความเห็นว่า “การมาเข้าร่วมโครงการนี้นอกจากความสนุกแล้วพวกเราทุกคนยังได้ความรู้ เนื้อหาสาระที่สมาชิกสภาผู้บริโภคทุกคนได้รับและเอาไปปรับใช้ ซึ่งเนื้อหาที่เรียนก็เป็นงานใหม่ของพวกเราทุกคน และจากการที่เคยเล่นแต่เฟซบุ๊กก็จะหันมาเริ่มเล่น TikTok เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำคอนเทนต์ที่มีสาระเพื่อผู้บริโภคต่อไป”
โดยทีมผู้ชนะระดับภูมิภาคได้รับประกาศนียบัตรและเงินสนับสนุน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการผลิตคลิปวีดีโอในการแข่งขันระดับประเทศ กับองค์กรสมาชิกในภูมิภาคอื่นๆ เพื่อชิงเงินรางวัลและโล่เกียรติยศต่อไป
