xs
xsm
sm
md
lg

Rajinian Concert : คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี  สุนันทาลัยจะไม่จางหายไปกับกาลเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Rajinian Concert : คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี  โดย 4 ดีว่าชาวราชินี ก้อย ศรัณย่า แอม เสาวลักษณ์ เอ๋ พัณนิดา และ กวาง กมลชนก รายได้สมทบทุนบำรุงรักษาอาคารสุนันทาลัยสถาปัตยกรรมยุคนีโอคาสสิกอายุ 144 ปี อนุสรณ์สถานแสดงความอาลัยรักที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี 

Rajinian Concert เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 120 ปีโรงเรียนราชินี โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำรายได้ส่วนหนึ่งถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และจัดหารายได้ในการบำรุงรักษาอาคารสุนันทาลัย อนุสรณ์สถานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อแสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม เมื่อปี 2423 ต่อมาได้พระราชทานให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนสุนันทาลัยและโรงเรียนราชินีในเวลาต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน

สำหรับชาวราชินี สุนันทาลัย เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ที่อบอวลไปด้วยมิตรภาพ ความสุข ความสนุกและความทรงจำ ทุกคนล้วนหัดเรียนขับร้อง เล่นดนตรี และรำละคร บนอาคารหลังนี้  
• ก้อย ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ พี่ใหญ่ของ 4 ดีว่า เป็นนักร้องเสียงหวานประจำวงมโหรีของโรงเรียนราชินี
• แอม เสาวลักษณ์ ลีละบุตร และ เอ๋ พัณนิดา เศวตาสัย เป็นเพื่อนร่วมรุ่นและร่วมสร้างตำนานวงโฟล์คซองโรงเรียนราชินีอันลือลั่นมาด้วยกัน  
• กวาง กมลชนก เขมะโยธิน เก่งทั้งร้องและรำ รั้งตำแหน่งนางเอกละครผู้มีกิริยามารยาทอ่อนช้อยเสมอมา
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ 4 ดีว่าจะมาแสดงคนเสิร์ตบนเวทีเดียวกัน หากความรัก ความผูกนำ สร้างสิ่งอัศจรรย์ได้เสมอ

#สุนันทาลัยจะไม่จางหายไปกับกาลเวลา มาร่วมกันบำรุงรักษา ‘สุนันทาลัย’ บ้านหลังใหญ่ที่หลอมรวมจิตวิญญาณชาวราชินีให้ยั่งยืนไปกับ Rajinian Concert : คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปี โรงเรียนราชินี  โดย 4 รุ่นพี่รุ่นน้องชาวราชินี ก้อย ศรัณย่า แอม เสาวลักษณ์ เอ๋ พัณนิดา และ กวาง กมลชนก ที่จะพาเราย้อนวันวานไปกับ 20 บทเพลงในยุคทองปี 70 – 90  (Retro Style) ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในรูปแบบ Sing a Song Story โดยมี เปิ้ล หัทยา วงษ์กระจ่าง ศิษย์เก่าราชินีมาร่วมเล่าเรื่องเชื่อมอารมณ์ พร้อมด้วยแขกรับเชิญ ตู่ ภพธร สุนทรญาณกิจ และ ภูมิ แก้วฟ้าเจริญ อำนวยเพลงโดย วิชัย ปุญญะยันต์ 

จัดแสดง 2 รอบ ในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 14.00 – 16.00 น. และ 19.00 – 21.00 น. ณ หอประชุมอาคารสว่างวัฒนา โรงเรียนราชินี บัตรราคา : 5,000 / 4,000 / 3,000 / 2,000 บาท
จองบัตรได้ที่ 02-225-7676 และ ID Line @rajini_school

ขอเชิญชวนมาร่วมกันสร้างตำนานความรักษ์ ‘สุนันทาลัย’ ไปพร้อมกันกับพี่น้องชาวราชินีใน Rajinian Concert คอนเสิร์ตการกุศล 120 ปีโรงเรียนราชินี รายได้สมทบทุนบำรุงรักษาอาคารสุนันทาลัยสถาปัตยกรรมยุค
นีโอคาสสิกอายุ 144 ปี อนุสรณ์สถานแสดงความอาลัยรักที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี
#สุนันทาลัยจะไม่จางหายไปกับกาลเวลา
....................

10 เรื่องน่ารู้ ‘สุนันทาลัย’
1. อนุสรณ์สถานแห่งรัก อาคารสุนันทาลัย เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์สถานแสดงความอาลัยรักถึงพระมเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยอุบัติเหตุเรือล่ม สร้างขึ้นปี 2423 ปัจจุบันมีอายุ 144 ปี

2. ทานสถาน เป็นครั้งแรกในสยามที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง “โรงเรียน” แทนการสร้างวัดเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระราชกุศล เนื่องจากในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทรงมีพระราชปรารภว่า “สตรีนั้นไร้ที่ศึกษาอบรม จะมีอยู่แต่เพียงในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสตรีชาวบ้านมิอาจเข้าไปศึกษาอบรมได้ ถ้ามีสถานที่ศึกษาอบรมสำหรับสตรีชาวบ้าน ฐานะของกุลสตรีไทยคงดีขึ้น”

3. จากโรงสกูลสุนันทาลัยถึงโรงเรียนราชินี โรงสกูลสุนันทาลัย หรือ โรงเรียนสุนันทาลัย เป็นโรงเรียนสตรีเปิดการเรียนการสอนในปีพ.ศ.2435-2445 ต่อมาใช้เป็นที่ตั้งของกระทรวงธรรมการ ที่พักของนักเรียนนายเรือชั่วคราวในช่วงที่มีการซ่อมแซมพระราชวังเดิม เป็นที่เก็บรักษาพัสดุของกระทรวงธรรมการ และโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษ (สอนภาษาอังกฤษ)ตามลำดับ หลังจากโรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษย้ายออกไปในปีพ.ศ.2449 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานที่สุนันทาลัย และทรงย้ายโรงเรียนราชินีมาอยู่ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน

4. หน้าบันประดับปูนปั้นตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 มีอักษรจารึกว่า “ROYAL SEMINNARY สุนันทาลัยที่แม่น้ำ สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ให้สร้างขึ้นในปีมะโรง โทศก ๑๒๔๒”

5. ออกแบบโดย นายโยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลี่ยนที่สร้างผลงานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกไว้มากมาย ได้แก่ วังวินด์เซอร์ วังบูรพาภิรมย์ พระตำหนักกลางและพระตำหนักพรรณราย ในวังท่าพระ ศุลกสถาน สถานทูตโปรตุเกส และวัดนิเวศธรรมประวัติ เป็นต้น

6. อาคารเรียนแบบตะวันตกหลังแรกในรัชกาลที่ 5 มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก แรกสร้างประกอบไปด้วยอาคาร 2 หลัง เรียกว่าอาคารสุนันทาลัยฝั่งเหนือ และอาคารสุนันทาลัยฝั่งใต้ หรือ ตึกนาฬิกา ต่อมาตึกนาฬิกาถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นอาคาร “สว่างวัฒนา” ใช้เป็นหอประชุมและห้องสมุด คงเหลืออาคารสุนันทาลัยฝั่งเหนือเป็นอาคารเก่าหลังเดียวของโรงเรียนราชินี

7. ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีคุณภาพดีจากต่างประเทศ เหนือกรอบประตูรูปวงโค้งของอาคารประดับด้วยกระจกสี หรือ สเตนกลาส นำเข้าจากยุโรป ดังเช่นที่พบในพลับพลาสถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

8. ตึกละคร เป็นชื่อที่นักเรียนราชินีเรียกขานควบคู่ไปกับชื่ออาคารสุนันทาลัย เนื่องจากใช้เป็นสถานที่เรียนดนตรีไทย นาฏศิลป์สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติของโรงเรียน รวมไปถึงเครื่องสังเค็ต (สิ่งของ มีตู้โต๊ะ สำหรับทำบุญเป็นทานวัตถุถวายเทศน์ หรือพระบังสุกุลที่หน้าศพ เพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย)และโบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ของโรงเรียนราชินี

9. ต้นแบบของการยกอาคารก่ออิฐแห่งแรกของประเทศไทย ในการบูรณะอาคารสุนันทาลัยในวาระครบรอบ 100 ปีโรงเรียนราชีนี (พ.ศ.2547-2550) มีการยกอาคารให้สูงขึ้นจากระดับเดิม 1.25 เมตร โดยตัวอาคารไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด นับเป็นความสำเร็จของวงการวิศวกรไทยที่สามารถนำหลักการการทำงานครั้งนี้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงอาคารและโบราณสถานแห่งอื่นๆต่อไป

10. ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระราชูปถัมภ์ในปี 2525

ที่มา : สุนันทาลัย...ที่แม่น้ำ จัดพิมพ์โดยโรงเรียนราชินี ,โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (พ.ศ.2411-2468) โดย วรัฏรยา หุ่นเจริญ























กำลังโหลดความคิดเห็น