xs
xsm
sm
md
lg

บิล เกตส์ ชวนคุย เอไอจะทำอะไรให้เรา และจะทำอะไรกับเราบ้าง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ในขณะที่โลกกำลังกังวลกับขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นทุกวันของเอไอ (AI) ซึ่งขั้นที่เลวร้ายที่สุด แม้กระทั่ง “สตีเฟน ฮอว์กิง” (Stephen Hawking) ศาสตราจารย์นักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวอังกฤษยังส่งเสียงเตือนว่า “การพัฒนาอย่างถึงขีดสุดของ AI จะนำมาซึ่งจุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์”

นอกจากนั้น ภาพอนาคตของเอไอที่จะเข้ามารุกรานหรือแทนที่มนุษยชาติ ได้รับการนำเสนอผ่านสื่อ โดยเฉพาะภาพยนตร์ เรื่องแล้วเรื่องเล่า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะนำเสนอให้เห็นด้านมืดหรือภยันตรายที่จะเกิดจากเอไอ จนกลายเป็นภาพแรก ๆ ที่ผุดขึ้นมาในความคิดของคนจำนวนหนึ่งเมื่อเอ่ยถึงเอไอ

แต่เอไอน่ากลัวจริงหรือ? หรือว่า น่ากลัวมากมายขนาดนั้นจริงหรือ? ใครจะให้คำตอบได้

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงเอไอ หนึ่งในชื่อที่หลายคนนึกถึง ก็คงหนีไม่พ้น “บิล เกตส์” เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ที่ปัจจุบันมีทีม Open AI อยู่ในมือ ซึ่งหลายคนคงได้ลิ้มรสความเยี่ยมยุทธ์ของทีมนี้กันไปแล้ว ผ่านการใช้งาน Chat GPT ที่ฮือฮามาก ๆ ในช่วงหลายปีมานี้ และถ้าอยากรู้ว่า บิล เกตส์ คิดเห็นยังไงเกี่ยวกับเอไอ ไม่ควรพลาดสารคดีเรื่องนี้


“What's Next? The Future with Bill Gates” เป็นสารคดีที่สตรีมบนเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งพาเราไปสัมผัสทัศนะมุมมองของ “บิล เกตส์” ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของโลกและอยู่ในความสนใจของบิล เกตส์ มีด้วยกันทั้งหมด 5 ตอน ซึ่งตอนที่ 1 ว่าด้วยเรื่องที่โลกให้ความสนใจมากที่สุดเวลานี้คือ เอไอ โดยมีชื่อตอนว่า “เอไอจะทำอะไรให้เรา และจะทำอะไรกับเราบ้าง?” (What will AI do for us/to us?)

ความน่าสนใจของสารคดีตอนนี้ นอกเหนือจากเราจะได้รับรู้รับฟังมุมมองของบิล เกตส์ โดยตรงแล้ว ยังมีบทสัมภาษณ์จากบุคคลสำคัญอีกหลายคน ที่ให้มุมมองด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับเอไอ ทั้งทีมงานของ Open AI ไปจนถึงศิลปินที่ใช้เอไอในการสร้างสรรค์ และคอลัมนิสต์ที่ตามติดเรื่องเอไอแบบกัดไม่ปล่อย และที่เด็ดสุดคือบทสนทนาระหว่างบิล เกตส์ กับปรมาจารย์ผู้กำกับภาพยนตร์อย่าง “เจมส์ คาเมรอน” ที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างสรรค์ผลงานมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

ดังนั้นแล้ว แม้เรื่องเอไอจะถูกพูดออกจากปากของคนที่กำลังผลักดันนวัตกรรมเอไอ แต่สารคดีเรื่องนี้ก็มีการให้น้ำหนักทั้งสองด้านแบบบาลานซ์มากที่สุด ไม่เอนเอียงฝ่ายใด เหมือนอินฟอร์มข้อมูลและมุมมองแตกต่างหลากหลายเพื่อให้คนดูนำไปขบคิดพิจารณาต่อ โดยไม่จำเป็นว่าต้องคิดเห็นแบบเดียวกัน


ในมุมกว้าง ๆ สารคดีได้ฉายภาพให้เราเห็นว่า อันที่จริง ชีวิตของมนุษย์เราอยู่ร่วมกับเอไอตั้งแต่ 30 ปีก่อนแล้ว โดยเป็นเอไอที่อ่านรหัสไปรษณีย์ เช็คในธนาคารก็อ่านโดยเอไอ หรืออย่างในปัจจุบัน การใช้โซเชียลมีเดียก็มีเอไอทำงานอยู่เบื้องหลัง เปิดยูทูปขึ้นมาแล้วแอปแนะนำวิดีโอให้ นั่นก็คือเอไอ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ (X ในปัจจุบัน) อินสตาแกรม หรือ กูเกิ้ลแมป ทั้งหมดนั้นล้วนเอไอ วิธีจับภาพใบหน้าของกล้องมือถือเพื่อให้ภาพคมชัด นั่นก็คือเอไอ หรือแม้แต่เวลาเราพิมพ์ข้อความแล้วมีคำอัตโนมัติขึ้นมาหรือสะกดคำผิดให้เรา นั่นก็คือเอไอ

ด้วยเหตุนี้ ทีมงาน OPEN AI รายหนึ่งจึงกล่าวว่า เราอยู่กับเอไอมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว เพียงแต่เมื่อมีการใช้งานแพร่หลาย ก็อาจทำให้เรารู้สึกหลงลืมไปว่านั่นคือเอไอ ทว่าในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Chat GPT หลายคนเริ่มเป็นกังวลกับเรื่องเอไอ เพราะมันดูเป็นสิ่งแปลกใหม่ด้วยขีดความสามารถที่มหาศาล และดู “ฉลาดขึ้น” อย่างน่าตกใจ เพราะมันไม่ได้แค่รับคำสั่งอย่างแต่ก่อน แต่ยังลุกขึ้นมาตอบโต้สนทนากับเราได้ด้วยข้อมูลที่ “เป๊ะ” หรือ “แม่นยำ” ขึ้นทุกที แถมสนทนาตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

คำถามสำคัญก็คือ แล้ว “เอไอจะทำอะไรให้เรา และจะทำอะไรกับเราบ้าง?” เท่าที่ดูจากมุมมองของ “บิล เกตส์” เป็นมุมมองที่มีความหวัง เขาเป็นคนที่เชื่อว่า นวัตกรรมจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งมองไปในอนาคต เอไออาจจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับมนุษย์และสังคมได้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การดูแลสุขภาพ หรืออย่างการแพทย์ที่มีการยกตัวอย่างว่าถ้าเอไอสามารถคำนวณความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้จะดีขนาดไหน นั่นยังไม่นับรวมการสร้างสรรค์อะไรต่าง ๆ ที่เอไอสามารถทำได้ราวกับเนรมิต


“ลองนึกภาพดูว่า ในอนาคต มีเครื่องจักรอยู่มากพอ จนเวลาส่วนใหญ่ของเรา คือเวลาพักผ่อนหย่อนใจ เราไม่มีการยึดหลักการที่ว่า เราต้องทำงานและปลูกพืชไว้กิน เราต้องทำงานและสร้างเครื่องมือทั้งหลาย ...ไม่ต้องอยู่ในร้าน นั่งทำแซนด์วิชสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง” นั่นคือบางส่วนที่เป็นด้านสวยงามและความหวังในมุมมองของบิล เกตส์ หากเทคโนโลยีเอไอบรรลุถึงขีดสุด

อย่างไรก็ดี บิล เกตส์ ก็ไม่ได้ปฏิเสธในความกังวลของผู้คนที่ว่า เอไออาจจะมาแทนที่มนุษย์ ดังเช่นตอนที่เขานั่งคุยกับเจมส์ คาเมรอน ซึ่งคาเมรอน กล่าวถึงผลกระทบต่อการทำงาน ถ้าเอไอเขียนหนังสือได้ เขาคงต้องตกงานอย่างแน่นอน โดย บิล เกตส์ ก็เห็นด้วยว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “เป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ของผมต้องพังแน่นอน” นั่นก็เพราะไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร และหากมีเทคโนโลยีทำแทนหมดทุกอย่าง มนุษยชาติจะดำรงอยู่เพื่ออะไร

ประเด็นนี้ได้รับการขยี้โดย “เควิน รูส” (Kevin Roose) คอลัมนิสต์ด้านเทคโนโลยีของหนังสือพิมพ์ The New York Times ซึ่งเล่าว่า เมื่อกาลก่อน “อริสโตเติล” (นักปรัชญากรีกโบราณ) ได้เขียนถึงอันตรายจากพิณที่บรรเลงได้เอง เพราะถ้าพิณสามารถบรรเลงได้เองแล้ว อาจทำให้วันหนึ่ง นักบรรเลงพิณต้องหายไปจากวงการ และเมื่อไล่มาในยุคปัจจุบันซึ่งเกิดข้อพิพาทครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของขบวนการแรงงานในศตวรรษที่ 20 ก็คือการใช้เครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน


“ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังเห็นอยู่คือจุดเริ่มต้นของการนำเครื่องจักรมาแทนคนที่ทำงานออฟฟิศและงานที่ต้องการการสร้างสรรค์ รายงานชิ้นใหม่กล่าวว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 มีชาวอเมริกันตกงาน 4000 คน เพราะพวกเขาถูกแทนที่ด้วยเอไอ”

เควิน รูส ยังกล่าวต่อไปว่า คำถามที่ต้องการคำตอบอย่างซื่อสัตย์ ก็คือเรื่องผลกระทบของเอไอที่จะมีต่องาน เพราะมันมักจะมีคนที่เราลืมนึกถึงไปอยู่เสมอๆ ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

ขณะเดียวกัน สิ่งที่หลายคนเห็นพ้องต้องกัน การนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ อาจจะต้องมีการกำหนดขอบเขตหรือหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าควรจะอยู่ตรงไหนยังไง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป

แน่นอนว่า ผลกระทบอย่างหนึ่งซึ่งส่งเสียงกังวาน ภายหลังเพ่งเล็งถึงความชาญฉลาดและเก่งกาจมากยิ่งขึ้นทุกวันของเอไอ นั่นก็คือ แรงงานหรือคนทำงาน ซึ่งเควิน รูส ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ถ้ายุคเอไอมาถึงจริง ๆ คนทำงานจะรับมืออย่างไร เขากล่าวว่า


“บทบาทของเราคืออะไรในโลกใบใหม่นี้ เราจะปรับตัวเพื่ออยู่รอดอย่างไร แต่ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่าแรงงานต้องคิดให้ออกว่าอะไรคือความแตกต่าง ระหว่างเอไอที่ตั้งเป้าจะเข้ามาแทนที่พวกเขา หรืออย่างเบาะ ๆ ก็ลดตำแหน่งพวกเขา กับเอไอแบบไหนที่อาจช่วยพวกเขาได้และเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา”

ขณะที่ เรฟิก อนาโดล ศิลปินสื่อและผู้กำกับภาพยนตร์จากอิสตัลบูล ตุรกี ซึ่งเฝ้าฝันตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ว่าสักวันหนึ่ง เอไอจะกลายเป็นเพื่อนที่เขาสามารถวาดภาพและจินตนาการร่วมกันได้ เขาให้สัมภาษณ์กับสารคดีเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า..

“เราคาดการณ์ได้ว่า งานบางอย่างต้องหายไปแน่ ๆ แต่ก็คาดการณ์ได้เช่นกันว่าเราจะมีงานเพิ่มขึ้นมา มันทำให้เกิดความอึดอัดไม่สบายใจร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างโอกาสและความเป็นไปได้ เมื่อจินตนาการถึงอนาคต ... แน่นอนว่า เอไอเป็นเครื่องมือที่ต้องออกกฎมาควบคุม แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องเปิดกว้าง ซื่อตรง และทำให้โลกที่อยู่เบื้องหลังเอไอกระจ่างขึ้น”

สุดท้ายแล้วต้องบอกว่า สารคดี What's Next? The Future with Bill Gates ตอน What will AI do for us/to us? ฉายภาพให้เราเห็นมุมมองเกี่ยวกับเอไอในด้านต่าง ๆ พร้อมทั้งเชิญชวนให้เราครุ่นคิดและถกเถียงอย่างเป็นอิสระ ซึ่งจริง ๆ ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ไม่ได้เอ่ยถึงในที่นี้ สำหรับคนที่สนใจเรื่องเอไอ ต้องบอกว่านี่คือผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่ควรต้องดู





กำลังโหลดความคิดเห็น