กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เดินหน้าจัดโครงการ Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อเป็นปีที่ 2 เชิญชวนเยาวชนไทยทั่วประเทศส่งผลงานการผลิตคลิปวิดีโอสั้น 3-5 นาที ภายใต้หัวข้อ Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 พ.ย. 67 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 445,000 บาท
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การสร้างผู้นำเยาวชนที่มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะ ไปยังกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เพื่อร่วมสร้างสื่อที่ดีปลอดภัยและสร้างสรรค์ ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนที่เติบโตท่ามกลางสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ที่เทคโนโลยีสารสนเทศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้เราเชื่อว่าทักษะที่เด็กไทยควรมี คือ 1)ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (Media Information and Digital Literacy - MIDL) ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคม เพื่อให้พลเมืองมีทักษะในการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทักษะดังกล่าวถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรและทักษะศตวรรษที่ 21 ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
2) ทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) จัดเป็นทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จำเป็นต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถงานดิจิทัลในด้านอื่น ๆ
โดยเราเชื่อว่าทั้งสองทักษะนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน รับมือกับข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม และสามารถวิเคราะห์ ประเมินสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเติบโตเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้เสพสื่อ ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์
"เรามุ่งหวังที่จะสร้างผู้นำเยาวชนที่มีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เราเชื่อว่าการจัดโครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ที่จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์นี้ จะสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในครอบครัว และสามารถถ่ายทอดไปยังกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาด้วยกัน เพื่อร่วมกันสร้างสื่อที่ดี ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมการใช้สื่อเป็นช่องทางการศึกษาที่สำคัญ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสรรค์สังคม"
ทางด้านร้อยโท ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคนให้เป็นบุคลากรที่ดีและมีคุณภาพ รู้เท่าทันสื่อ เพื่อรับมือกับข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน ประกอบด้วย 6 สร้าง ได้แก่
1. สร้างสื่อ โดยเฉพาะสื่อสำหรับเด็กและเยาวชน มุ่งเน้นการผลิตสื่อที่สร้างผลกระทบเชิงบวกทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจการสร้างมูลค่าเพิ่ม
2. สร้างคน การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ
3. สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งเน้นการสร้างทักษะการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์
4. สร้างองค์ความรู้ มุ่งมั่นทำงานทางวิชาการศึกษาส่งเสริมองค์ความรู้
5. สร้างการมีส่วนร่วมและเครือข่าย
6. การสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กองทุนฯ เป็นเพียงผู้เริ่มต้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการผลักดันให้เกิดสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โครงการ Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ปี 2 เป็นโครงการที่มุ่งหวังให้เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักผลิตสื่ออย่างสร้างสรรค์ในอนาคตต่อไป ตามยุทธศาสตร์ของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
สำหรับผลสำเร็จและการตอบรับของเยาวชนและโรงเรียนที่ให้การตอบรับในการเข้าร่วมโครงการประกวดสื่อสร้างสรรค์ ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนไทยระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศให้การตอบรับจาก 133 โรงเรียน จำนวน 2,338 คน ที่ให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จนได้มาซึ่งผลงานคุณภาพของเด็กและเยาวชนไทย 30 ผลงาน ที่สะท้อนและสร้างความตระหนักเรื่องความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อโดยโครงการมีการจัดอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ และในปีนี้มีการให้ความรู้ในเชิงเทคนิคเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปผลิตผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจในการผลิตสื่อ เพื่อสร้างสรรค์สังคมต่อไป
ร้อยโท ธนกฤษฏ์ กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการ Digi Camp ปี 2 นี้ ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานการผลิตคลิปสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อ Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ปี 2 ความยาว 3-5 นาที ซึ่งเป็นวีดิโอที่สั้นกระชับแต่สามารถสื่อสารออกไปให้ตรงประเด็นมากที่สุด เพื่อชิงเงินรางวัลในปีนี้มีมูลค่ารวมถึง 445,000 บาท โดยโครงการฯ เริ่มเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ ปี 2 ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. - 8 พ.ย. 67
ในปีนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญพร้อมที่จะให้ความรู้ในเชิงเทคนิค ในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีความปลอดภัย นอกจากเนื้อหาแล้วเรายังพิจารณาถึงเรื่องเทคนิคการถ่ายทำ มุมกล้อง เทคนิคการจัดองค์ประกอบแสงสีต่างๆ ไปตามสัดส่วนด้วย จากนั้นจะมีการคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้ามาจากทั่วประเทศ จำนวน 30 ผลงานเข้าร่วมการอบรมเสริมศักยภาพผู้ผ่านการคัดเลือกระดับภูมิภาคเป็นเวลา 5 วัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เสมือนจริง สร้างแรงบันดาลใจ และเรียนรู้เทคนิคการจัดทำเนื้อหาในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สามารถนำความรู้และเทคนิคที่ได้รับไปใช้ในการผลิตสื่อ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นงานเพื่อประกวดรอบที่ 2 (ระดับประเทศ) ในเดือนมี.ค. 68 ต่อไป