xs
xsm
sm
md
lg

ที่หนึ่งในใจของใครหลายคน ‘หลานม่า’ : เศร้าๆ ซึ้งๆ และงดงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ปล่อยหนังเรื่องนี้ไว้นานพอดู กว่าจะคลิกชมบนเน็ตฟลิกซ์ เพราะส่วนหนึ่งรู้สึกว่า หนังน่าจะออกไปในโทนที่ชวนให้สลดหดหู่หรือจิตตก โดยเฉพาะการมีตัวละครสูงวัยซึ่งป่วยด้วยโรคร้าย และดูเหมือนว่าวินาทีสุดท้ายในชีวิตกำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า ทั้งโรคร้ายและความตาย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและทำให้ดิ่งได้ง่าย ๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อได้ดูจริง ๆ แล้ว กลับพบว่า แทนที่จะได้รับอารมณ์เศร้าสลดหรือหดหู่ กลับกลายเป็นความรู้สึกที่เรียกว่า “ซึ้ง” แน่นอนล่ะ เนื้อหาเรื่องราวอาจจะมีมุมน่าเศร้าแทรกซึมอยู่เต็มไปหมด แต่ก็เป็นความเศร้าที่จบลงด้วยความรู้สึกงดงามและความซาบซึ้งในที่สุด

นั่นจึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดหากใครหลายคนจะยกให้ “หลานม่า” เป็นที่หนึ่งในใจของหนังไทยที่เข้าฉายในปีนี้ ขณะที่ในระดับนานาชาติหลายประเทศที่นำหนังเรื่องนี้ไปฉาย ก็ได้รับความนิยมและเสียงชื่นชมจากคนดูอย่างเป็นเอกฉันท์ ตัวเลขรายได้ล่าสุดหลังจากรวมยอดจากทุกประเทศแล้ว สูงกว่า 2 พันล้าน ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ยากสำหรับหนังไทย โดยเรื่องสุดท้ายที่ทำรายได้แตะระดับพันล้าน ก็เห็นจะมีเพียง “พี่มากพระโขนง”


อีกทั้งกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง สำหรับ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ผู้กำกับที่ขยับขึ้นมาทำหนังใหญ่ครั้งแรก หลังจากคลุกคลีอยู่ในแวดวงซีรีส์มาตลอด ส่วนคนเขียนบทอย่าง “ทศพล ทิพย์ทินกร” ซึ่งนำประสบการณ์ส่วนหนึ่งในชีวิตจากการได้ไปดูแลอาม่ามาเป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องนี้ ก็เป็นมือฉมังด้านการเขียนบทอีกคนหนึ่ง และนี่คืองานระดับมาสเตอร์พีซของเขาอีกชิ้น

อย่างไรก็ดี คงต้องบอกว่า ความสำเร็จทั้งหมดเกิดมาจากทีมงานทุกคนที่ร่วมกันทำให้ “หลานม่า” ออกมาแบบไร้ที่ติ เหมือนเสื้อผ้าที่เย็บเรียบร้อยไร้รอยตะเข็บให้ขัดตา โปรดักชั่นที่ละมุนตา เข้ากับเนื้อหาละมุนใจ งานภาพที่สวยงามละเมียดละไม การแสดงที่ดูสมจริง หรือเหมือนจริงมากจนดูเป็นธรรมชาติ ทุกองค์ประกอบรวมกันทำให้เราร่วมเดินทางไปกับหนังและเสพรับเรื่องราวได้อย่างลื่นไหลไม่ติดขัด

เนื้อเรื่องโดยคร่าว ๆ เล่าถึง “เอ็ม” เด็กหนุ่มมหาวิทยาลัยที่ดรอปเรียนตอนปี 4 ด้วยหวังจะเอาดีทางด้านแคสต์เกม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดไม่รุ่งสักที จนกระทั่งเขาได้พบกับเส้นทางทำเงินจากลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งซึ่งดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้ายจนได้รับมรดกเป็นบ้านราคากว่าสิบล้าน เมื่อเส้นทางเศรษฐีรออยู่ตรงหน้า เอ็มจึงอาสาไปดูแล “อาม่า” ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็ง และน่าจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินปี โดยหวังว่าจะได้รับมรดกหลักล้านเช่นกัน


“หลานม่า” นิยามตัวเองว่าเป็นหนัง “แฟมิลี่ดราม่า” หรือพูดง่าย ๆ คือเรื่องราวดราม่าภายในครอบครัว ซึ่งแม้จะเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตความคิดความเชื่ออันเป็นแบบฉบับเฉพาะตน แต่ถึงกระนั้น ประเด็นที่หนังขับเน้นก็มีความเป็นสากลที่ไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหนก็สามารถเข้าถึงเข้าใจได้ หรือแม้กระทั่งว่า หลายครอบครัวในยุคปัจจุบันก็อาจกำลังเผชิญเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่ ขณะที่ความรักความห่วงใยของผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีต่อลูกหลาน ก็เป็นบรรยากาศด้านเนื้อหาที่อบอวลชวนให้รู้สึกลึกซึ้ง เพราะไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร แม่ก็พร้อมจะเข้าใจ หรือยิ่งลูกไม่เป็นโล้เป็นพาย ยิ่งห่วงใยมากขึ้นไปอีก

ในระดับพื้นผิว เราอาจมองว่า นี่คือเรื่องราวปัญหาการแย่งชิงมรดกของอาม่า ซึ่งไม่รู้ว่าลูกหลานคนไหนจะได้รับส่วนแบ่งแบบไหนหรือไม่อย่างไร กระนั้นก็ตาม ในระดับที่ลึกลงไป เรามองเห็นความห่างเหินของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งต้องยอมรับว่า วิถีชีวิตสมัยใหม่กับความเป็นครอบครัวใหญ่แบบดั้งเดิม เริ่มเลือนรางจางไปทุกที แต่ละคนต่างมีวิถี ทำมาหากิน และครอบครัวของตัวเอง จนอาจไม่มีเวลาให้กันเท่าที่ควร จะเจอกันแต่ละครั้งก็เป็นโอกาสสำคัญ ๆ อย่างวันเช็งเม้งหรือตรุษจีน พ้นจากนั้นก็แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ภาพของอาม่าที่อยู่บ้านคนเดียว ไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย หรือนั่งแลทางว่าลูกหลานจะมาหาหรือไม่ จึงให้ความรู้สึกเหงาแบบเห็นได้ชัด หรือแม้กระทั่งตอนที่อาม่าไปหาพี่ชาย ก็ทำให้เราเห็น “รอยร้าว” ภายในครอบครัวอย่างชัดเจน

และที่มันชวนเหงาแบบปวดร้าวยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อถึงวันที่อาม่าป่วย การมาของแต่ละคนหรือการทำดีกับอาม่า ก็ดูเหมือนจะมีจุดประสงค์แฝงเร้นแบบปลูกพืชหวังผล ตัวอย่างง่าย ๆ ในตอนแรก ก็คือ “เอ็ม” ที่ร้อยวันพันปีแทบจะไม่เคยมีอาม่าอยู่ในความคิด แต่พอเห็นประโยชน์ขึ้นมา เขาก็พร้อมจะกลายเป็น “หลานเต็มเวลา” ไปทันที


แต่นี่แหละคือความแยบยลยอดเยี่ยมของหนังในการจัดวางตัวละครให้มีมิติและมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงไปในตัวเองในแต่ละช่วงเวลา อย่างเช่นในขณะที่เราแลเห็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกซึ่งเกิดกับอาม่า ผ่านร่างกายสังขารที่ร่วงโรยไปด้วยฤทธิ์ของโรคร้าย ตัวละคร “เอ็ม” ก็ค่อย ๆ เกิดการเปลี่ยนผ่านภายในใจของเขาไปทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งถึงจุดที่เปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์และก่อเกิดเป็นความสมดุลในความคิดจิตใจที่เข้าอกเข้าใจอะไร ๆ มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เราจะเห็นว่า ตัวละครแต่ละตัวล้วนแล้วมีหลายมุม เป็นลักษณะ Round Character เหมือนมนุษย์ทั่วไปที่บางทีก็น่ารักบางทีก็น่าชัง แต่ทุกคนก็ล้วนมีเหตุผลแห่งการกระทำของตัวเองซึ่งไม่ยากต่อการทำความเข้าใจ และที่สำคัญ “น้ำเสียง” ของหนังในการสื่อตัวละครแต่ละตัว ก็ไม่ได้จะชี้ขาดตัดสินหรือชี้นำว่าใครดี-ไม่ดี แต่ให้พื้นที่ทุกคนในการแสดงออกถึงตัวตนและความรู้สึกแท้จริงของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา

สุดท้ายแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “หลานม่า” เป็นหนังที่ยอดเยี่ยมเรื่องหนึ่ง จนในขณะที่ดูจบ ถึงกับต้องคิดว่า เวทีประกวดรางวัลที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานจากนี้ “หลานม่า” จะคว้ารางวัลต่าง ๆ ไปครองทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวเลยหรือไม่? เพราะองค์ประกอบทุกส่วนมันดีงามเหลือเกิน

จากเรื่องทรัพย์สมบัติเงิน ๆ ทอง ๆ ซึ่งเป็นของนอกกาย “หลานม่า” ค่อย ๆ พาเราลัดเลาะเข้าไปในปริมณฑล “ภายในใจ” ที่เชิญชวนให้เรามาทบทวนหวนคิดถึงคนที่เรารักและรักเรา ..ก่อนที่ “ข้าวสาร(จะ)กลายเป็นข้าวสุก” เรามีเวลาให้กันเพียงพอแล้วหรือยัง? และเราได้ดูแลกันและกันดีแล้วหรือยัง?













กำลังโหลดความคิดเห็น