นอกจาก “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” ที่ครองใจคนได้ทั้งโลก เป็นที่สุดของพลังซอฟต์พาวเวอร์ ในส่วนภาพยนตร์ก็เห็นจะมี “หลานม่า” จากค่าย GDH นี่แหละ ที่ตอนนี้กำลังสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“หลานม่า” ลงโรงในวันที่ 4 เม.ย. ปี 67 แต่ผ่านมา 5 เดือนแล้ว กระแสก็ยังแรงดีไม่มีแผ่ว ทำหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หลานม่า จะเป็นหนังที่ฟันรายได้ทั่วโลก ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านได้อย่างแน่นอน
แรงบันดาลใจจากชีวิตจริง
หากย้อนไปจุดกำเนิดหลานม่า หนังได้แรงบันดาลใจจาก “เป็ด ทศพล ทิพย์ทินกร” คนเขียนบทภาพยนตร์ของจีดีเอช โดยเจ้าตัวเป็นคนเดินไปบอก “เก้ง จิระ มะลิกุล” และ “วัน วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์” 2 โปรดิวเซอร์มากฝีมือ ว่าอยากเขียนบทที่เกี่ยวกับเรื่องราวตัวเอง ที่ต้องกลับไปดูแลอาม่าที่ป่วย และมีอายุต่างกันเกือบ 50 ปี และเพื่อบันทึกความผูกพันของครอบครัวใหญ่ที่นับวันจะหายไปจากสังคมไทย
ต่อมาค่ายจีดีเอช มีการพัฒนาบทหนังจนกลายเป็น “หลานม่า” ได้ผู้กำกับรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ได้นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นอย่าง บิวกิ้น พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล รวมทั้งได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง ดู๋ สัญญา คุณากร, เผือก พงศธร จงวิลาส, เจีย สฤญรัตน์ โทมัส, ตู ต้นตะวัน ตันติเวชกุล และที่ขาดไม่ได้คือ “นางเอกหน้าใหม่” วัย 78 ปี อย่าง “แต๋ว อุษา เสมคำ” ผู้ทำให้หนังเรื่องนี้เกิดความสมบูรณ์แบบ
เคมีที่ลงตัว ระหว่าง “บิวกิ้น” และ “ยายแต๋ว”
หลานม่า เล่าเรื่องของเอ็ม (แสดงโดย บิวกิ้น) ที่ออกจากงานประจำ ไม่มีงานทำเป็นชิ้นเป็นอัน หลังจากที่ได้รู้ว่า “มุ่ย” (แสดงโดย ตู ต้นตะวัน) ได้รับมรดกก้อนใหญ่เป็นบ้านราคาหลายสิบล้านจากอากง เอ็มจึงเกิดความคิดสุดเลวร้าย ตัดสินใจไปดูแลอาม่าเหม้งจู (แสดงโดยยายแต๋ว) เพราะหวังได้รับมรดกก่อนใหญ่คือบ้าน แต่การได้ไปคลุกคลีกับอาม่า ก็เปลี่ยนความคิดของเอ็มไปตลอดกาล เอ็มได้สัมผัสบั้นปลายชีวิตอาม่าที่มีแต่ความโดดเดี่ยว
บิวกิ้น กับ ยายแต๋ว เป็นเคมีที่ลงตัว บิวกิ้นมีผลงานการแสดงน้อยชิ้น แต่ทุกชิ้นก็น่าจดจำ โดยเขาเข้าสู่วงการโดยการเป็นนักแสดงในสังกัดนาดาว ผลงานเรื่องแรกคือซีรีส์ Please เสียงเรียกวิญญาณ ได้แสดงในภาพยนตร์เรื่อง น้อง.พี่.ที่รัก แต่มาแจ้งเกิดกับ บทหมอเต๋า ในซีรีส์ รักฉุดใจนายฉุกเฉิน ซึ่งซีนหมอเต๋าเสียชีวิต บิวกิ้นแสดงได้บีบหัวใจคนดู จากนั้นก็รับบท ปอร์เช่ ในซีรีส์ 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ก่อนมาดังเป็นพลุแตกอีกครั้งกับบท เต๋ ในซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ และ แปลรักฉันด้วยใจเธอ part 2 ส่งผลให้เกิดกระแสคู่จิ้น บิวกิ้น-พีพี ที่ดังไกลทั้งในและต่างประเทศ
ส่วนยายแต๋ว อุษา ในวัย 78 ปี ก่อนหน้าที่จะมาเล่นภาพยนตร์ เป็นแม่บ้านธรรมดาทั่วไป มีประสบการณ์ทางด้านการแสดงมาบ้าง จากการเล่น อาม่า คาเฟ่ หลังจากนั้น ยายแต๋วก็ได้รับงานโฆษณาที่ถ่ายกับ หมาก ปริญ สุภารัตน์ และมีคนชักชวนให้มาแคสติ้งหนังเรื่อง หลานม่า สุดท้ายยายแต๋วก็ได้รับบทบาท อาม่าเหม้งจู
บิวกิ้น ได้รับการซูฮกจากคนในกองถ่ายว่า “เล่นเกินบทไปมาก” ใส่รายละเอียดความเป็นหลานที่ห่วงใยอาม่าอย่างไม่ขัดเขิน หลายฉากดีไซน์การแสดงเองจนคนในกองถึงกับทึ่ง ในขณะที่ยายแต๋ว แทบไม่น่าเชื่อว่านี่คือหนังเต็มๆ เรื่องแรก เพราะสวมบทบาทอาม่าได้อย่างละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว
เรียกน้ำตาได้จากคนทั้งโลก
หลานม่า เป็นหนังครอบครัวที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะทำเงินได้มากมายถึงขนาดนี้ หนังเล่นกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่คนไทยคุ้นเคย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ตีแผ่ความจริงอันเจ็บปวดของครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนได้อย่างลงตัวและจริงใจ รวมทั้งได้บันทึกช่วงเวลามีค่าของสิ่งที่เรียกว่าครอบครัว เป็นภาพยนตร์ที่งดงามเข้าถึงหัวใจผู้ชม และเชื่อมโยงกับชีวิตของตัวเองบนจอภาพยนตร์ จนทำให้ผู้ชมต่างกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่
สร้างสถิติใหม่ต่อเนื่อง คาดฟันรายได้ทั่วโลก เกิน 2 พันล้าน!
หลานม่า กวาดรายได้ในเมืองไทย 337 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นหนังไทยอันดับ 1 ที่สร้างรายได้มากที่สุดใน Box Office ประเทศไทย เป็นภาพยนตร์ไทยที่มียอดจองตั๋วล่วงหน้าสูงที่สุดของปี พ.ศ. 2567 เป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลของค่ายจีดีเอช แซงหน้าภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2
ถึงตอนนี้ได้สร้างสถิติใหม่ต่อเนื่อง หลังเข้าฉายหลายๆ ประเทศ กลายเป็นหนังไทยที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอินโดนีเซีย แซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่าง “ร่างทรง” เป็นหนังไทยที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในมาเลเซียภายใน 10 วันนับจากวันเข้าฉาย โค่น “ฉลาดเกมส์โกง” และยังครองตำแหน่งหนังทำเงินสูงสุดในมาเลเซียติดต่อกันถึง 2 สัปดาห์
เปิดตัวรายได้สูงสุดตลอดกาลเมื่อเข้าฉายในประเทศสิงคโปร์ โค่น พี่มาก..พระโขนง ในปี 56 ขึ้นแท่นหนังที่เปิดตัวสูงสุดเมื่อเข้าฉายในเวียดนาม แซงหน้าเจ้าของสถิติเดิมอย่าง บุพเพสันนิวาส 2, เข้าฉาย 17 วันที่จีนแผ่นดินใหญ่ ขึ้นแท่นหนังทำเงินอันดับ 2 ประจำสัปดาห์ รวมรายได้ทะลุ 500 ล้านบาท!
ปัจจุบัน หลานม่า เข้าฉายไปแล้วหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์,สิงคโปร์,มาเลเซีย, บรูไน, ลาว, พม่า, เวียดนาม, ฮ่องกง, มาเก๊า, กัมพูชา, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย. ติมอร์-เลสเต, นิวซีแลนด์, ปาปัวนิวกินี, จีน, สหรัฐอเมริกา, แคนาดา และกำลังจะเข้าฉายที่เกาหลีใต้ในวันที่ 9 ต.ค. , เนเธอร์แลนด์ 10 ต.ค. , เบลเยี่ยม 13 พ.ย. และอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งมีการรวมรายได้หลานม่าอย่างไม่เป็นทางการ ฟันไปแล้ว 1,700 ล้านบาท โดยมั่นใจว่าหลานม่าต้องฟันรายได้ทะลุ 2 พันล้านบาทจากทั่วทั้งโลก
หลานม่า กับการเข้าโรงฉายที่ “อเมริกา”
หลานม่า ในชื่ออังกฤษว่า “How to Make Millions Before Grandma Dies” กลายเป็นหนังไทยเรื่องล่าสุดในรอบหลายปีที่มีโอกาสได้ลงโรงฉายในทวีปอเมริกาเหนือ ทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา แม้ว่าจะเป็นการออกฉายแบบวงจำกัด แต่ก็มีรายงานว่ารอบฉายหนังที่โรงหนังในบางรัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย, นิวยอร์ก, อิลลินอยส์ หรือ วอชิงตัน มีปริมาณจำนวนผู้ชมต่อโรงค่อนข้างหนาตา แม้ด้วยเรื่องราวในหนังที่อาจไม่ทัชใจคนอเมริกาเท่ากับคนฝั่งทวีปเอเชีย แต่ก็มีความคาดหวังกันว่า การที่หลานม่าบุกตลาดอเมริกา จะสามารถสร้างอิมแพ็ค จนกลายเป็นแรงกระเพื่อมให้กับวงการภาพยนตร์และเมืองไทยได้ไม่น้อย
ความสำเร็จในการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย
หลานม่าได้กลายเป็นพลังซอฟต์พาวเวอร์ ความสำเร็จที่ดันให้คนทั่วทั้งโลกได้โฟกัสกับวัฒนธรรมหลายๆ ด้านของประเทศไทย ที่ไม่ได้มีดีแค่อาหาร หรือเพลงลูกทุ่ง ในวันที่กระแสเกาหลีเริ่มซาลง วันนี้ชาวต่างชาติเริ่มหันมาเหลียวมองไทย แสงได้ฉายส่องมาที่ประเทศไทย ด้วยวัฒนธรรมไทยที่มีรากเหง้า และมีตัวตน
แม้หลานม่าจะไม่ได้ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องและถ่ายทำให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกรแบบหนังมาร์เวล แต่เชื่อว่าสิ่งที่คนไทยถนัดที่สุดคือการเล่าเรื่องราวเล็กๆ แต่ลึกซึ้ง ทัชใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสร้างอิมแพ็คและเปิดเวทีให้ประเทศไทยไปสู่ตลาดสากลได้อย่างสง่างาม