เปิดประวัติผู้กำกับระดับตำนาน “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เจ้าของตำรับ ระเบิดภูเขา เผากระท่อม บนเส้นทางแห่งความสำเร็จ จนได้ชื่อเป็นเจ้าพ่อหนังแอ็กชั่น และผู้กำกับการแสดงที่อายุมากที่สุดในโลก ก่อนจากไปอย่างสงบในวัย 93 ปี เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. ของวันนี้ (13 ก.ย. 67) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หลังเข้ารับการรักษาด้วยอาการน้ำท่วมปอด
“ฉลอง ภักดีวิจิตร” มีชื่อจริงว่า “บุญฉลอง ภักดีวิจิตร” เกิดวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2474 เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของ รองอำมาตย์โทพุฒ ภักดีวิจิตร ซึ่งรับราชการในกองแบบแผน กรมรถไฟหลวง กับมารดาชื่อลิ้นจี่ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม และสำเร็จการศึกษาในระดับเตรียมอุดมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนอำนวยศิลป์
ด้านชีวิตส่วนตัวได้สมรสกับ “สุมน ภักดีวิจิตร” เมื่อปี 2509 และมีบุตรด้วยกัน 3 คนได้แก่ เฉิด, กัญจน์ และ บุญจิรา ภักดีวิจิตร แต่หลังจากที่นางสุมนเสียชีวิต ก็ได้สมรสใหม่กับ “พิมพ์สุภัค อินทรี” วัย 38 ปี โดยเข้าพิธีแต่งงานที่จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปี 2557
จุดเริ่มต้นในเส้นทางภาพยนตร์ ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้เริ่มเห็นการทำงานด้านภาพยนตร์ของครอบครัวตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และเข้าสู่วงการภาพยนตร์ด้วยการเป็นตากล้องมาก่อน โดยทำหน้าที่เป็นตากล้องถ่ายทำภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 ม.ม. จนถึง 35 ม.ม. ให้กับผู้สร้างภาพยนตร์หลายราย โดยภาพยนตร์เรื่องแรกคือเรื่อง แสนแสบ ในปี พ.ศ. 2493 และยังได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง 2 ตัว สาขารางวัลผู้ถ่ายภาพยอดเยี่ยม ประจำปี 2507 จากเรื่อง ผู้พิชิตมัจจุราช และในปี 2510 จากเรื่อง ละอองดาว
ฉลอง ภักดีวิจิตร เป็นตากล้องอยู่หลายปี มีผลงานภาพยนตร์มากมายหลายเรื่อง อาทิ สิงห์เดี่ยว (2505) 7 ประจัญบาน (2506) เขี้ยวพิษ (2506) เก้ามหากาฬ (2507) จ้าวพยัคฆ์ (2507) อินทรีมหากาฬ (2508) มงกุฎเพชร (2508) เทพบุตรนักเลง (2508) น้ำเพชร (2508) นกขมิ้น (2508) หยกแก้ว (2508) เสือเหลือง (2509) ลมหนาว (2509) นกแก้ว (2509) สายเปล (2510) จ้าวอินทรี (2511) แท็กซี่ (2511) แมวไทย (2511) สมิงเจ้าท่า (2512) รักยม (2512) ขัง 8 (2517) ไอ้เพชร (2519) เสาร์5 (2519) จำเลยรัก (2521) เสือเผ่น (2524) รักพลิกล็อก (2529) แด่เพื่อนพ้องและตัวกูเอง (2532) สงครามเพลงแผน2 (2533) เป็นต้น
หลังจากนั้นได้เป็นผู้อำนวยการสร้างและถ่ายภาพให้ ภาพยนตร์ 16 ม.ม. เรื่อง น้ำเพชร นำแสดงโดย “มิตร ชัยบัญชา” และ “เพชรา เชาวราษฎร์” สร้างขึ้นในนามบางกอกการภาพยนตร์ มี ส.อาสนจินดา สร้างบทภาพยนตร์และกำกับการแสดง ออกฉายเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2508
และภาพยนตร์ที่ ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้แสดงฝีมือกำกับการแสดงเป็นเรื่องแรก ก็คือภาพยนตร์ 16 ม.ม. เรื่อง จ้าวอินทรี โดยใช้นามว่า ดรรชนี ในการกำกับการแสดง ออกฉายในปี 2511 จากนั้นได้เริ่มมีชื่อเสียงจากภาพยนตร์เรื่อง ฝนใต้ ที่สร้างและกำกับการแสดงออกฉายในปี 2513 เป็นภาพยนตร์ และยังต่อด้วยภาพยนตร์เรื่อง ฝนเหนือ
จากนั้นได้ทำภาพยนตร์ไปสู่ตลาดนอก โดยเริ่มจากเรื่อง 2 สิงห์ 2 แผ่นดิน (The Brothers) ที่ออกฉายในปี 2515 ซึ่งฉลองร่วมมือกับ ฉั่นทงหมั่น อดีตหัวหน้าฝ่ายโฆษณาของชอร์แห่งฮ่องกง ดารานำฝ่ายไทยมี สมบัติ เมทะนี แสดงร่วมกับนางเอกใหม่ลูกครึ่งไทย เยอรมันที่เพิ่งแสดงเป็นเรื่องแรก อโนมา ผลารักษ์ ส่วนดาราฮ่องกงก็มีเกาหย่วน พระเอกเงินล้านของชอร์และ หยีห้วย อดีตนางงามไซโก้ มาร่วมแสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายทั่วเอเชีย โดยฝ่ายฮ่องกงจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะชำนาญกว่า นอกจากนี้จะส่งไปฉายที่นิวยอร์ก, ซานฟรานซิสโก, ชิคาโก และลอสแอนเจลิส
แต่ภาพยนตร์ที่ถือว่าสู่ตลาดต่างประเทศได้ประสบความสำเร็จคือเรื่อง ทอง (GOLD หรือ S.T.A.B.) นำแสดงโดย เกร็ก มอร์ริส (Greg Morris) พระเอกผิวสีของอเมริกา และยังมีนางเอกชาวเวียดนามคือ เถิ่ม ถุย หั่ง ส่วนดาราไทยคือ สมบัติ เมทะนี, กรุง ศรีวิไล, อโนมา ผลารักษ์, ดามพ์ ดัสกร, ดลนภา โสภี, กฤษณะ อำนวยพร เป็นต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้งบกว่า 10 ล้านบาท สามารถทำรายได้ทั้งในประเทศ ฉลองขายให้ฮ่องกงและไต้หวัน และโดยเฉพาะที่อเมริกา ขายให้หนึ่งล้านเหรียญ หรือ 20 ล้านบาท
นอกจากนี้ในการประกาศ รางวัลตุ๊กตาทองประจำปี 2517 โดยสมาคมหอการค้าไทย “ทอง” ก็ได้รับ รางวัล 3 ตุ๊กตาทอง คือ รางวัลยอดเยี่ยมลำดับภาพและตัดต่อ รางวัลยอดเยี่ยมถ่ายภาพ และรางวัลยอดเยี่ยมบันทึกเสียง
ส่วนภาพยนตร์เรื่อง ตัดเหลี่ยมเพชร (H-Bomb) ในปี พ.ศ. 2518 ได้นำดาราฮอลลีวูดคู่พระนางจากเรื่อง นักฆ่าเพลินสวาท (The Summertime Killer) นั่นคือ โอลิเวีย ฮัสซีย์ ที่โด่งดังจากจากภาพยนตร์เรื่อง โรมิโอกับจูเลียต และคริสโตเฟอร์ มิทซัม (บุตรชายของ โรเบิร์ต มิทซัม) มาแสดงคู่กับ กรุง ศรีวิไล และภาวนา ชนะจิต ร่วมแสดงโดย ไพโรจน์ ใจสิงห์, มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช, กฤษณะ อำนวยพร, เกชา เปลี่ยนวิถี
ทางด้านงานละคร ฉลองเป็นผู้บุกเบิก ละครแนวแอ็กชั่นของทางช่อง 7 สี คือ “ระย้า” นำแสดงโดยพีท ทองเจือ กับฉัตรมงคล บำเพ็ญ และยังมีผลงานกำกับละคร อย่าง ดาวคนละดวง, รักซึมลึก, อังกอร์, ทอง 5, ล่าสุดขอบฟ้า, ฝนใต้, มาทาดอร์, อังกอร์ 2, เหล็กไหล, ฝนเหนือ, ชุมแพ, ทอง 9, ผ่าโลกบันเทิง, เสาร์ 5, นักฆ่าขนตางอน, อุบัติรักเกาะสวรรค์, เสาร์ 5 ตอน ทับทิมสยาม, พ่อตาปืนโต, ดุจตะวันดั่งภูผา, เลือดเจ้าพระยา, แข่งรักนักซิ่ง, หวานใจนายจิตระเบิด, ทอง 10, ทิวลิปทอง, พ่อตาปืนโต ตอน หลานข้าใครอย่าแตะ
ต่อมาในปี 2551 ฉลองได้รับรางวัลเกียรติยศ ปูชนียบุคคลแห่งวงการบันเทิง จากสตาร์เอนเตอร์เทนเมนต์อวอร์ดส 2007 ปี 2554 ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ จากงานประกาศผลรางวัลสตั๊นท์แมนยอดเยี่ยมครั้งที่ 1 ปี 2555 ได้รับรางวัลรางวัลมณีเมขลาเกียรติยศ บุคคลดีเด่นผู้ทรงคุณค่าในวงการโทรทัศน์ จากงานรางวัลเมขลา ครั้งที่ 24 ประจำปี 2554
ก่อนในปี 2556 จะได้รับยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี พ.ศ. 2556 และ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ฉลอง จะได้ถูกบันทึกลงใน บันทึกสถิติโลกกินเนสส์ ว่าเป็นผู้กำกับการแสดงที่มีอายุมากที่สุดในโลก (Oldest TV Director) (อายุวันที่จดสถิติ 1 กันยายน 2565 คือ 90 ปี 297 วัน)