xs
xsm
sm
md
lg

หนังจีนทรงพลัง! YOLO หญิงสาวผู้น่าสงสาร กับแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ถึงแม้ตอนที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา กระแสหนังจะไม่แรง หรือกระทั่งหลายคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีหนังเรื่องนี้เข้าฉายด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้หลายคน (รวมทั้งผู้เขียนบทความนี้) พลาดหนังดี ๆ ไปอีกเรื่อง

อย่างไรก็ดี เวลานี้ หนังเรื่องนี้มีให้รับชมแล้วทางเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งหากมีเวลาว่าง ก็เหมาะกับการคลิกชมเป็นอย่างยิ่ง และอาจจะเป็นหนังอีกเรื่องของปีนี้ที่คุณใส่ไว้ในลิสต์ที่ไลก์หรือเลิฟก็ได้

YOLO หรือในชื่อไทย “หมวยย้วย มวยไม่ยอมม้วย” เป็นหนังจีนที่ไม่ได้มาพร้อมกับโปรดักชั่นงานสร้างอลังการ แต่มาพร้อมกับ “พลังบางอย่าง” ที่สร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์จีน ด้วยการครองแชมป์ทำรายได้เปิดตัวอันดับหนึ่งสูงสุดตลอดกาลในประเทศจีน นอกจากนั้นยังมีอีกหลายประเทศสนใจนำเรื่องนี้ไปฉาย รวมทั้งเมืองไทยของเรา ซึ่งตัวเลขรายได้ทำรายได้ไปกว่า 463.26 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 16,000 ล้านบาท


นั่นก็ส่งผลให้ “เจี่ย หลิง” (Jia Ling) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำกับหญิงที่มีหนังทำเงินมากที่สุดในประเทศจีน แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ภาพยนตร์ของเธอ และ “เรื่องราว” ของเธอได้แผ่พลังออกไปอย่างไพศาล ทั้งในแง่ของการเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ตลอดจนกระตุ้นยอดขายให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกับการ “ชกมวย” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักของหนังเรื่องนี้

YOLO มีต้นทางมาจากหนังญี่ปุ่นปี 2014 เรื่อง 100 Yen of Love แต่เมื่อนำมารีเมคแล้วก็มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ จนสามารถผงาดยืนในแบบของตัวเองได้อย่างทรงพลัง สร้างทางของตัวเองจนได้รับการยกย่อง แม้กระทั่งผู้กำกับ “มาซาฮารุ ทาเกะ” จาก 100 Yen of Love ยังแสดงความชื่นชมอย่างสุดใจ

ในแง่ของเรื่องราว YOLO เล่าถึงตัวละครหญิงคนหนึ่ง นามว่า “ตู้ เล่ออิ๋ง” เธอคือสาวหมวยอวบอ้วนที่หลังจากเรียนจบและทำงานได้ไม่นาน เธอก็ออกจากงานและอยู่แต่บ้าน กิน ๆ นอน ๆ ให้พ่อแม่เลี้ยงดูมาหลายปี หลีกหนีสังคมและปิดกั้นตัวเองจากคนรอบข้าง ปล่อยเวลาให้ผ่านไปวัน ๆ โดยไม่ทำอะไรเป็นแก่นสาร โดยเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วสำหรับตัวเธอ


แต่ในที่สุด ชีวิตที่มีแต่กินกับนอนของเธอก็มาถึงจุดเปลี่ยน เป็นเหตุให้เธอตัดสินใจหิ้วกระเป๋าออกจากบ้านไปเผชิญโลกภายนอก นั่นเองที่ทำให้เธอได้พบกับ “เฮ่าคุน” ครูหนุ่มที่เป็นเทรนเนอร์สอนการชกมวย และนับจากวินาทีนั้น แต่ละวันอันไร้ชีวิตชีวาและจืดชืดของเล่ออิ๋งก็กลับตาลปัตร หกคะเมนตีลังกาเกินคาดคิด ชีวิตของเธอพลิกผันไปที่แม้แต่คนใกล้ตัวยังรู้ประหลาดใจ

ต้องยอมรับว่า ตัวละครอย่าง “เล่ออิ๋ง” นั้นสามารถเล่นกับความรู้สึกของเราคนดูได้หลากหลาย อย่างตอนแรกเราเองก็อาจจะเกิดคำถามว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นอย่างไรกันนะ ทำไมปล่อยตัวแบบนั้นเหมือนคนหมดอาลัยตายอยากในชีวิตแล้ว และปล่อยให้สมาชิกคนอื่นทำมาหาเลี้ยงอยู่แบบนั้น อย่างไรก็ดี เมื่อหนังเดินเรื่องไป เราก็จะเริ่มสัมผัสได้ถึงตัวตนข้างในของเธอและเริ่มเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับเธอไปทีละนิด ทั้งอยากเอาใจช่วย และสะท้อนสะเทือนใจไปกับเรื่องราวของเธอ

หรือหากจะมองอย่างตรงไปตรงมา ตัวละครแบบเล่ออิ๋งคือคนที่ต้องพบเจอกับความเลวร้ายจนชินชา และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอ “เฉื่อยชา” และแทบจะ “เฉยเมย” กับทุกคนทุกสิ่ง แม้กระทั่งกับชีวิตของตัวเอง หลาย ๆ ครั้ง สิ่งที่เธอพบเจอ ก็ชวนให้นึกถึงตัวละครอีกตัว นั่นก็คือ หญิงขายบริการในเรื่องสั้นชิ้นเอกเรื่อง Ball of Fat ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องสั้นชั้นเยี่ยมอีกเรื่องของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศสนามว่า “กีย์ เดอ โมปัสซัง”


คือทั้งนาง Ball of Fat (ชื่อฉายาของตัวละคร และเป็นชื่อเรื่องสั้น) และตู้ เล่ออิ๋ง ทั้งสองคนนอกจากมีรูปลักษณ์อวบอ้วนแล้ว ยังมีความคล้ายกันที่สำคัญอีกอย่าง คือเป็นคนที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในสายตาคนอื่น ก็ต่อเมื่อคนอื่นมองเห็นหรืออยากจะได้ผลประโยชน์บางอย่างจากเธอเท่านั้น พ้นไปจากนั้น เธอก็เหมือนจะดูไร้ค่าไปอย่างสิ้นเชิงสำหรับคนอื่น พูดง่าย ๆ ก็คือ คนอื่นจะพูดดีด้วยหรือทำดีกับเธอ ก็เมื่อเขาต้องการจะได้อะไรจากเธอ หรืออยากให้เธอทำอะไรให้เท่านั้น

ไม่ว่าจะอย่างไร เรื่องของเล่ออิ๋งและสิ่งที่เธอได้พบ ก็เป็นมวลสารตั้งต้นที่ดีที่จะนำพาเรื่องราวไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ด้วยการให้ตัวละครลุกขึ้นมาพร้อมพลังใจอันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เพื่อจะชนะสักครั้ง หลังจากพ่ายแพ้ผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสนามชีวิต

ชื่อของหนัง YOLO (โยโล่) ย่อมาจากประโยคเต็ม คือ You Only Live Once ซึ่งมีความหมายว่า “คนเรามีชีวิตอยู่แค่ครั้งเดียว” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “เกิดมาแค่หนเดียว” คำนี้มีจุดกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 90 ที่ศิลปินแรปเปอร์นามว่า Dreak ใส่ไว้ในเนื้อเพลง The Motto จนกลายเป็นคำที่แพร่หลายโด่งดัง และถูกนำมาใช้จุดพลังแรงใจให้กับตัวเองสำหรับหลาย ๆ คน

แน่นอนล่ะ การใช้ชีวิตให้คุ้มค่ากับการมีชีวิตแค่ครั้งเดียวของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป อยู่ที่เราจะตั้งคุณค่าหรือให้นิยามความหมายของชีวิตว่าจะต้องเป็นแบบไหนอย่างไร แต่ถึงกระนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความหมายที่หนัง YOLO ส่งผ่านสู่คนดูนั้นได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่ง เพราะหลังจากได้ดู ปรากฏว่า คนจีนจำนวนมหาศาลลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกำลังกาย และไปเรียน-เข้าคอร์สชกมวยแบบเล่ออิ๋ง จนธุรกิจที่เกี่ยวกับกีฬามวยเฟื่องฟู คลาสชกมวยขายดี นวมก็ขายดี


แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรื่องราวของผู้กำกับหญิงอย่าง “เจี่ย หลิง” เธอเป็นนักแสดงตลกมาก่อนที่จะเริ่มทำหนัง โดยมีหนังเรื่อง Hi! Mom ออกฉายในปี 2021 และที่น่าทึ่งก็คือ นอกจากจะนั่งเก้าอี้ผู้กำกับเรื่อง YOLO แล้ว เธอยังแสดงนำด้วยตัวเอง ด้วยการรับบทเล่ออิ๋ง ซึ่งการจะรับบทนี้เธอต้องเพิ่มน้ำหนักตัวเองให้ถึง 100 กิโลกรัม และค่อย ๆ ลดลงมาจนเหลือ 50 กิโลกรัม เรียกว่า ในช่วงเวลาถ่ายทำหนัง 1 ปี กับ 2 เดือน เธอกำกับไป แสดงไป และลดน้ำนักไปด้วย โดยอยู่ภายใต้การดูแลของนักโภชนาการและเทรนเนอร์มวยอย่างถูกต้องตามหลักทุกอย่าง เรื่องของเจี่ย หลิง จึงเหมือนเป็นหนังที่ซ้อนหนังอีกทีหนึ่ง ต่างแต่ว่ามันอยู่ในโลกแห่งความจริงและสัมผัสได้จริง

ทั้งเรื่องราวของเล่ออิ๋ง และเรื่องราวจริง ๆ ของ เจี่ย หลิง กลายเป็นประกายไฟและแรงบันดาลใจให้คนที่มีร่างกายอวบอ้วนทุกคนเกิดพลังฮึกเหิมในการลดน้ำหนักและดูสุขภาพ และแน่นอนว่า การไปเรียนชกมวยหรือเข้าคอร์สชกมวย ก็เป็นทางเลือกที่หลายคนเลือกใช้ในการปฏิวัติสุขภาพตัวเอง ตามรอยเล่ออิ๋งและเจี่ย หลิง

พูดถึงหนังที่สร้างแรงบันดาลใจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นหนังอีกแนวที่มีการทำกันมาแล้วหลายร้อยหลายพันเรื่อง แต่กระนั้น พื้นที่ในใจของคนดูก็กว้างมากพอที่จะใส่หนังเรื่องใหม่ ๆ เข้าไปบรรจุไว้เสมอ ขอแค่มันดีต่อใจจริง ๆ และแน่นอน เรื่องของเล่ออิ๋งใน YOLO เชื่อว่าหลายคนก็พร้อมจะโอบกอดเข้าไปในหัวใจเช่นกัน

อันที่จริง มันเป็นหนังตลก ๆ เรื่องหนึ่ง เพียงแต่เป็นตลกเศร้า ๆ ที่เอาความเห็นอกเห็นใจไปจากเราคนดู ก่อนจะเปลี่ยนเป็นส่งมอบพลังที่ยิ่งใหญ่ให้กับเรา นั่นแหละคือความงดงามของหนังเรื่องนี้







กำลังโหลดความคิดเห็น