ใครล่ะจะคิดว่า ปลาฉลามก็สามารถอยู่อาศัยในแม่น้ำแซนในกรุงปารีสได้ แต่หนังเรื่องนี้กล้าที่จะคิดแปลกแหวกแนว พร้อมเหตุผลรองรับที่จะเชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้ ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมา กลับทำให้ Under Paris กลายเป็นหนังฉลามบุกที่สนุกและบันเทิงอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “สัตว์” ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ปลาฉลาม” คือตัวละครยอดนิยมอีกตัวหนึ่งซึ่งถูกเรียกมาใช้งานในภาพยนตร์บ่อยที่สุดอีกตัวหนึ่ง ไม่แพ้ลิงยักษ์ หรือไดโนเสาร์ นั่นอาจเป็นเพราะว่าปลาฉลามมีคาแร็คเตอร์ความน่าสะพรึงที่สามารถหยิบมาเล่นกับอารมณ์คนดูได้ไม่รู้เบื่อ ที่เหลือก็อยู่ที่ฝีไม้ลายมือของแต่ละคนว่าจะสร้างพล็อตแต่งเรื่องยังไงให้คนดูรู้สึกตื่นเต้นติดตามได้
เพราะนับตั้งแต่ปี 1975 ที่สตีเว่น สปีลเบิร์ก พาฉลามบุกโรงหนังในเรื่อง Jaws จนประสบความสำเร็จด้านรายได้และทำให้มีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค จากนั้นก็ดูเหมือนว่า จะมีหนังฉลามบุกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น Deep Blue Sea ในปี 1999 และปัจจุบัน มีหนังฉลามให้เลือกชมหลากหลายรูปแบบแล้วแต่ใครจะคิดนำเสนอไปอย่างไร มีตั้งแต่หนังคนฟัดกับฉลามเพื่อความบันเทิงของคนดูอย่าง Meg หรือหนังฉลามที่จินตนาการล้ำเหลืออย่าง Sharknado ไปจนถึงหนังเอาชีวิตรอดจากฉลามสุดลุ้นระทึกอย่าง The Shallows
และไม่มากไม่มาย หากจะบอกว่า หนังฉลามบุกเรื่องใหม่อย่าง Under Paris ที่สตรีมมิ่งทางเน็ตฟลิกซ์ ก็เป็นหนังฉลามอีกเรื่องที่ตอบสนองความบันเทิงของคนดูได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะดูโม้แหลกแบบเว่อร์วังก็ตามที
อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าหนังเรื่องนี้ตั้งลำขึ้นมาอย่างมีเนื้อหาสาระใช้ได้เลยทีเดียว ด้วยการพูดถึงภาวะวิกฤติในทะเลและสิ่งมีชีวิตใต้ผืนน้ำ ด้วยการหยิบยกปัญหาขยะพลาสติกในทะเลขึ้นมาพูด ซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แม้แต่ในทะเลไทยของเราเองก็กำลังเผชิญวิกฤติการณ์นี้ไม่น้อย แน่นอนว่า ปัญหาขยะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในทะเลรวมถึงสัตว์น้ำ ซึ่งภาพที่เราเห็นตั้งแต่ต้นเรื่อง แม้แต่สัตว์ใหญ่อย่างฉลามก็ได้รับผลกระทบด้วย ภาพของฉลามตัวยักษ์ที่ถูกมัดตรึงด้วยขยะและกินขยะเข้าไปเต็มท้องจนขยับตัวไม่ได้ นับเป็นภาพที่ชวนวิตกและกระตุ้นให้เราเห็นเด่นชัดถึงปัญหาประการนี้
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ประเด็นที่หนังแนบมาเพื่อให้เราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็เป็นสิ่งที่ควรให้เครดิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่หนังพูดว่า ถ้าทะเลอยู่ได้ ฉลามอยู่ได้ เรา(มนุษย์)ก็อยู่ได้ แต่ทั้งนี้ ปัญหาขยะไม่ได้เกิดจากทะเลหรือสัตว์ทะเล แต่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์เราเอง
หนังเดินเรื่องแบบรวดเร็ว ด้วยการกล่าวถึงกรุงปารีสที่กำลังจะมีเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือการจัดการแข่งขันไตรกีฬาระดับนานาชาติ โดยมีแม่น้ำแซนเป็นหนึ่งสนามการแข่งขัน แต่ความปลอดภัยของนักกีฬากำลังถูกคุกคาม เมื่อกลุ่มวัยรุ่นนักอนุรักษ์ได้พบว่า มีปลาฉลามตัวเบิ้มกำลังมุ่งมายังแม่น้ำแซน ขณะที่นายกเทศมนตรีซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดงาน กลับไม่พร้อมจะเปิดหูรับฟังเรื่องนี้ ด้วยเหตุผลว่า ได้มีการลงทุนจัดงานนี้ไปเยอะ จนไม่สามารถหยุดได้ อีกทั้งยังเชื่อมั่นอย่างสุดติ่งในระบบการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ พร้อม ๆ กับออกคำสั่งให้ปิดข่าวนี้เป็นความลับ เมื่อเสียงเตือนไร้ความหมาย สุดท้ายผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่คนดูทุกคนคงคาดเดาได้
จะว่าไป Under Paris ไม่ได้เป็นหนังที่มาพร้อมกับชั้นเชิงอะไร แต่หนังรู้ว่าจะเสิร์ฟอะไรให้คนดูรู้สึกบันเทิงตลอดความยาวกว่า 2 ชั่วโมง “เซเวียร์ เจนส์” ผู้กำกับหนังเรื่องนี้และเป็น 1 ใน 3 ผู้ร่วมเขียนบท นับว่าเบามือมาก หากย้อนกลับไปดูหนังระทึกขวัญที่สร้างชื่อให้กับเขาอย่าง Frontier(s) เมื่อปี 2007 แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำหนังง่าย ๆ ให้ดูสนุก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ Under Paris ถือว่าทำสำเร็จในจุดนี้ การติดอันดับหนึ่งในท็อปเท็นของเน็ตฟลิกซ์ในหลาย ๆ ประเทศ ก็น่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีว่ารสชาตินี้ถูกปากคนดู
Under Paris มาพร้อมกับการเล่าเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่เน้นที่ความหายนะและชวนลุ้นตื่นเต้นเป็นหลัก แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ว่า หมัดเด็ดของ Under Paris คือความกล้าที่จะคิดแบบไม่ยึดติดในกรอบของเหตุผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ปลาฉลามปรากฏตัวในแม่น้ำแซน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก็ต้องบอกว่าไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้ แต่ถ้อยคำอมตะของปรมาจารย์ด้านวิวัฒนาการอย่างชาลส์ ดาวินส์ ที่หนังหยิบยกมาไว้ต้นเรื่อง ที่ว่า “สายพันธุ์ที่อยู่รอดนั้น หาใช่ผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุดไม่ หากแต่เป็นผู้ที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” เมื่อคำพูดนี้ถูกอ้างอิงขึ้นมา การที่ปลาฉลามอยู่ในแม่น้ำแซนได้ ก็ดูจะไร้ข้อกังขาไปหลายส่วน
ไม่ว่าจะอย่างไร องค์ประกอบหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะขาดไม่ได้ในหนังแนว ๆ นี้และเล่นกับอารมณ์คนดูได้เป็นอย่างดีก็คือตัวละครที่น่าหมั่นไส้และสมควรตายไปอย่างโง่ ๆ เชื่อแน่ว่า คนที่ได้ดูและเห็นตัวละครสาววัยรุ่นที่สุดโต่งในการอนุรักษ์แบบไม่ลืมหูลืมตาจนหลงลืมที่จะเกรงกลัวความดุร้ายของฉลาม รวมทั้งตัวละครหญิงนายกเทศมนตรีที่มองประโยชน์บางด้านสำคัญกว่าชีวิตคน ก็คงรู้สึกอนุโมทนาสาธุหรือสะใจที่พวกคนเหล่านี้ได้รับผลแบบนั้น
สุดท้ายแล้วต้องบอกว่า Under Paris จัดอยู่ในหมวดหมู่หนังบันเทิงเบาสมองที่ไม่เรียกร้องภาระในการคิดอะไรมากจากคนดู เพียงแต่ก็อย่างที่บอกว่า หนังแบบนี้เหมือนทำง่าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ง่าย เพราะถ้าทำไม่ถึง หนังก็จะเบาหวิวไปเลย หรือพูดง่าย ๆ คือไม่สนุก แต่สำหรับ Under Paris นี่คือหนังที่ “ทำถึง” ระดับหนึ่งในทางของมัน เอาเป็นว่า ถ้าคุณรู้สึกรำคาญหรือหมั่นไส้ตัวละคร หรือแม้กระทั่งสะใจกับสิ่งที่ตัวละครได้รับ ก็ถือว่าคุณได้ติดกับดักที่หนังวางไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว