xs
xsm
sm
md
lg

ประจำเดือนขาด แต่ “ไม่ท้อง” มีสาเหตุมาจากอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยไหม? ประจำเดือนขาดๆ หายๆ  แอบดีใจคิดว่าท้อง แต่หลังตรวจตั้งครรภ์กลับพบว่าไม่ท้อง  นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจมีภาวะ PCOS ซึ่งส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข่ไม่ตก ส่งผลให้ท้องยาก    

“ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์” กรรมการบริหาร บริษัท เบบี้แอนด์มัม (ประเทศไทย) จำกัด ครูวิทยาศาสตร์ผู้ก่อตั้งคอมมูนิตี้เพจยอดนิยม https://www.facebook.com/BabyAndMom.co.th/เพจให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีบุตรยาก พร้อมรวมรวมงานวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการเสริมภาวะเจริญพันธุ์ สรุปเป็นคอนเซ็ปต์สั้นๆ ให้เข้าใจง่ายเผยว่า จากศึกษาค้นคว้างานวิจัยเกี่ยวกับโภชนาการเสริมภาวะเจริญพันธุ์ พบว่าสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนขาดหาย เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น อาหารที่รับประทาน ความเครียด และการออกกำลังกายที่มากไปหรือน้อยไป หรือมีภาวะน้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไป มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เกี่ยวกับข้องภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิง เมื่อฮอร์โมนไม่สมดุลจึงส่งผลให้ไข่ไม่ตก และอาจส่งผลให้ไข่ไม่ตกเรื้อรังสะสมเป็นถุงน้ำในรังไข่เล็กๆ หลายใบ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า   PCOS หรือ Polycystic Ovary Syndrome ซึ่งอาจจะมีในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง จึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ


“ครูก้อย นัชชา ลอยชูศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รอบประจำเดือนที่ปกตินั้นจะมีระยะเวลา 28 วัน หากรอบประจำเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือยาวเกินไป 35 วัน หรือประจำเดือนขาดหายไป 1 - 2 เดือน ในช่วงวัยเจริญพันธุ์และได้ทำการทดสอบการตั้งครรภ์แล้ว หากไม่ได้ตั้งครรภ์ อาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของการทำงานของระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือปัญหาที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์อื่นๆ เช่น


1. ความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิง ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คหาสาเหตุอย่างละเอียดว่าเกิดจากสาเหตุใด อาจเกิดจากรังไข่เสื่อม วัยทองก่อนวัย หรือ มีโรคอย่างอื่น เช่น ไทรอยด์

2. มีภาวะถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) หรือเรียกว่า PCOS ซึ่งส่งผลให้ "ไข่ไม่ตกเรื้อรัง" ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศชายมากเกินไป มีอาการอ้วนลงพุง ขนดก หน้ามัน เป็นสิว ทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะนี้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หลายเดือนมาที หรือประจำเดือนขาดหายไปเลย ทำให้ไข่ไม่ตก จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Obesity & Weight Loss Therapy เมื่อปี 2015 ศึกษาพบว่า รูปแบบการรับประทานอาหาร โภชนาการที่ถูกต้องสามารถช่วยเยียวยาภาวะ PCOS ได้ โดยได้สรุปรูปแบบการกินที่จะช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนและลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายอักเสบ และเหนี่ยวนำฮอร์โมนเพศชายให้สูงขึ้น และยังช่วยควบคุมน้ำหนัก ซึ่งส่งผลดีต่อการเยียวยา PCOS ดังนี้


1. A low glycemic index (GI) diet: รูปแบบการทานอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ค่าดัชนีน้ำตาลในอาหาร  เพราะเมื่อรับน้ำตาลเข้าไปในร่างกายมากเกินไป ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนอินซูลินมากำจัดน้ำตาลส่วนเกิน หากน้ำตาลพุ่ง อินซูลินค้าง เหนี่ยวนำให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนเพศหญิงเพี้ยน จึงเป็นสาเหตุที่ประจำเดือนไม่มา ไข่ไม่ตก ดังนั้นควรเลี่ยงของหวานทุกชนิด คาร์บขัดขาว ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว และเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ได้แก่ ข้าวไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ธัญพืช เช่น งาดำ แฟล็กซีด ควินัว เมล็ดฟักทอง ถั่วต่างๆ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต


2. An anti-inflammatory diet: รูปแบบอาหารที่ต้านการอักเสบ การอักเสบเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อให้กลับมาเป็นปกติ การอักเสบจะเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการทำลายเซลล์ หรือ การบาดเจ็บในร่างกายซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ความเครียด ความเจ็บป่วย การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมไปถึงสภาวะทางจิตที่ไม่ปกติ จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Reproductive Science เมื่อปี 2011 ศึกษาพบว่าการอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคทางสูติศาสตร์ (Gyneological disease) ซึ่งการอักเสบ (Inflammation) ส่งผลต่อการตกไข่และการสร้างฮอร์โมนรวมไปถึงเกี่ยวข้องกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งการลดการอักเสบในร่างกายที่สำคัญที่สุดคือการปรับโภชนาการ การทานอาหารที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ได้แก่ ผักใบเขียว ผักผลไม้หลากสี สารต้านอนุมูลอิสระจากผลไม้รสเปรี้ยวตระกูลเบอร์รี่


3. น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มหรือลดมากเกินไปอาจเกิดอาการประจำเดือนไม่มา โดยผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากอย่างรวดเร็วนั้นมักรับประทานอาหารน้อย ทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมากนั้น จะทำให้ร่างกายผลิตเอสโตรเจนมากซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน และทำให้ประจำเดือนไม่มา


4. ออกกำลังกายมากเกินไป การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ร่างกายออกแรงหนักหน่วง จะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับรอบเดือน เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไปจากการหักโหมทำกิจกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่นักกีฬามักจะประสบปัญหานี้ จากงานวิจัยเรื่อง Body mass index, physical activity and fecundability in a North American preconception cohort study ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility เมื่อปี 2016 ศึกษาพบว่า การออกกำลังกายแต่พอดีส่งผลดีต่อสุขภาพผู้หญิงและส่งผลดีต่อภาวะเจริญพันธุ์ สำหรับผู้หญิงที่มีภาวะโรคอ้วนการออกกำลังกายหนักกว่าปกติเพื่อลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น


แต่สำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติ การออกกำลังกายที่หนักเกินไปจะส่งผลในเชิงลบต่อภาวะเจริญพันธุ์ มีงานวิจัยศึกษาพบว่าการออกกำลังกายที่หนักเกินไปส่งผลให้ "ไข่ไม่ตก" ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ท้องยาก อ้างอิงงานวิจัยเรื่อง Effect of Exercise on Ovulation: A Systematic Review ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sports Medicine เมื่อปี 2017เปิดเผยผลการศึกษาว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายหนัก  (Vigorous exercises) โดยใช้เวลามากกว่า 60 นาทีต่อวัน มีความเสี่ยงต่อ "ภาวะไข่ไม่ตก" เพิ่มขึ้น
 
5. ความเครียด ผู้ที่มีความเครียดอาจส่งผลต่อรอบเดือน เพราะฮอร์โมนความเครียดจะหลั่งออกมารบกวนฮอร์โมนเพศ ทำให้ประจำเดือนมามาก มาน้อย เกิดอาการปวดท้องรุนแรงเมื่อมีรอบเดือน หรือประจำเดือนไม่มาเลย โดยมีรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Sleep Medicine Report เมื่อปี 2016 ศึกษาพบว่าทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย สมองส่วนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เราหลับ หรือ ตื่น เช่น ฮอร์โมนเมลาโทนิน และ คอติซอล เป็นสมองส่วนที่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศด้วยเช่นกัน โดยในผู้หญิงนั้น การนอนไม่เพียงพอในระยะยาวส่งผลโดยตรงต่อ การสร้าง Luteinizing Hormone (LH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาในช่วงที่จะมีการตกไข่ หากฮอร์โมน LH ผิดปกติก็จะส่งผลต่อรอบเดือนที่ไม่ปกติ ส่งผลให้ไข่ไม่ตก หรือ ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากนั่นเอง


กล่าวโดยสรุป ปัญหาประจำเดือนเลื่อน ประจำเดือนไม่มา หรือประจำเดือนขาดหาย สาเหตุหลักๆ เกิดจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุลซึ่งมีที่มาจากปัจจัยหลายอย่างตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติควรปรับพฤติกรรม หรือหาวิตามินเสริมเพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่หักโหมจนเกินไป  ควบคุมน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ไม่อ้วนและไม่ผอมเกินไป ลดอาหารไขมันสูง น้ำตาล ของหวาน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หันมาทานอาหารที่ช่วยบำรุงเลือด กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน หรือเสริมด้วยวิตามินและอาหารเสริมสำหรับสตรีที่มีภาวะPCOS โดยเฉพาะเพื่อช่วยบรรเทาอาการ PCOS และสามารถศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก เพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ BabyAndMom.co.th เพจให้ความรู้เตรียมตั้งครรภ์ตามหลักวิทยาศาสตร์สำหรับผู้มีบุตรยาก



กำลังโหลดความคิดเห็น