xs
xsm
sm
md
lg

Talk to Me : หนังผีไม่ควรพลาด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



ถ้าจะให้คะแนนความสนุกของหนังเรื่องนี้เต็ม 10 ไม่หักก็คงไม่เกินเลยไปนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณชื่นชอบหรือเป็นแฟนหนังแนวสยองขวัญ รับรองได้ว่าไม่ผิดหวัง และเช่นเดียวกัน ถ้าคุณชอบหนังที่มีแง่มุมให้วิเคราะห์ตีความเชิงเนื้อหาสาระ Talk to Me ก็ตอบโจทย์ได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่ไม่ควรพลาดในการรับชม

Talk to Me เข้าฉายโรงเมื่อเดือนกันยายนปี 2566 และมีให้ชมบนสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์แล้วตอนนี้ หนังเรื่องนี้เป็นผลงานจากค่าย A24 ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพเป็นที่ไว้วางใจได้ โดยมี 2 พี่น้องฝาแฝดยูทูปเบอร์ชื่อดังอย่าง “แดนนี่-ไมเคิล ฟิลิปโป” เจ้าของช่อง RackaRacka มารับตำแหน่งผู้กำกับเป็นครั้งแรก และเป็นผลงานเปิดตัวระดับที่ต้องบอกว่า แจ้งเกิดได้ดีงาม และน่าจะมีผลงานตามมาอีกแน่นอนในอนาคต ขณะที่ Talk to Me ก็มีแววสูงมากที่จะได้ทำภาค 2 ต่อไป

เนื้อเรื่องหลัก ๆ ของ Talk to Me เล่าถึงเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งซึ่งมารวมตัวปาร์ตี้กันโดยมีกิจกรรมสำคัญลักษณะคล้าย ๆ กับการเล่น “ผีถ้วยแก้ว” ของไทยเรา โดยแต่ละคนจะสลับกันจับมือของศพที่ถูกเก็บเอาไว้ ก่อนจะอนุญาตให้วิญญาณเข้ามาสิงร่างของตนเอง แต่มีข้อแม้ที่ว่าต้องให้วิญญาณเข้าสิงได้แค่ 90 วินาทีเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้น วิญญาณหรือผีเหล่านั้นจะอยากอยู่นานมากกว่าที่อยากให้อยู่ แต่ก็อย่างที่พอเดาได้ว่า สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็พลาด และนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงบานปลายแบบไม่คาดคิดมาก่อน


ในมุมของความเป็นหนังสยองขวัญหรือหนังผี ต้องยอมรับว่า Talk to Me สามารถสร้างภาพความน่าสะพรึงที่เป็นภาพจำในใจคนดูได้ ภาพขณะที่ผีเข้าสิง ทำออกมาได้น่ากลัว สำหรับคนขวัญอ่อน ก็อาจจะหลอนติดตาได้ ถึงแม้จะไม่มีจังหวะ Jump Scare แต่ก็ขับเน้นความหลอนออกมาได้ผ่านท่าทางของตัวละคร บรรยากาศ โดยเฉพาะตอนผีเข้าสิง และที่สำคัญที่สุดคือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากสถานการณ์เข้าสู่ขั้น “เอาไม่อยู่” ซึ่งแตกต่างจากความสนุกคึกคะนองตอนเริ่มต้นอย่างสิ้นเชิง เรียกว่าความน่าสะพรึงค่อย ๆ สิงสู่ในใจไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นน่าหวาดกลัว และสำหรับตัวละครถ้าย้อนไปได้ ก็คงอาจจะไม่อยากเริ่มต้นเล่นเกมนี้ไปเลยก็เป็นได้

แน่นอนว่า ความคึกคะนองแบบวัยรุ่น คือหัวใจอีกหนึ่งห้องของหนังเรื่องนี้ ซึ่งผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการสื่อผ่านผลงานชิ้นนี้ว่าส่วนหนึ่งอยากจะถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนเจน Z (Generation Z) ที่ไลฟ์สไตล์ถูกร้อยรัดผูกมัดอยู่กับการใช้สมาร์ทโฟนและโซเชียล ซึ่งดูเหมือนว่า ทุกย่างก้าวของชีวิต ทุกการกระทำ ต้องได้รับการบันทึกและอัพขึ้นโซเชียล จนเข้าขั้นเสพติด ไม่ต่างจากการติดยาเสพติด

หลายช็อตหลายหลายซีนสะท้อนสิ่งนี้ออกมาอย่างชัดเจน อย่างเช่น ตอนที่ทำการ “จับมือผี” แล้ววิญญาณผีเข้าสิงร่าง แต่ละคนต่างมีอาการหลอนเหมือนคนเสพยา อีกทั้งงานด้านภาพที่ถ่ายออกมาในปาร์ตี้จับมือผี ที่แทนที่จะตกใจหรือหวาดกลัว แต่อาการของทุกคนกลับดูคล้ายคนเสพยาจนเมาคลั่ง แถมเป็นความคลั่งแบบคึกคะนอง และคลั่งเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนที่แต่ละคนต่างหยิบมือถือมาถ่ายและอัพลงโซเชียลกันอย่างสนุกสนาน ทั้งที่ตามจริงแล้ว สถานการณ์ตรงหน้า มันถือว่าไม่ปกติอย่างรุนแรง


ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสมาร์ทโฟนเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งอินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโซเชียลต่าง ๆ ที่มีให้เลือกหลากหลายสำหรับการสนทนา แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า การสนทนานั้นมีประสิทธิภาพจริง ๆ อุปกรณ์สื่อสารทำให้เราคุยกันได้สะดวกขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า เราเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเราคุยด้วยอย่างถ่องแท้ และบางทีอาจจะแค่คุย ๆ ไปเท่านั้น

การคุยกันแบบซึ่งหน้าเพื่อให้เข้าถึงและสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของกันและกันอย่างจริงจัง ดูจะเลือนหายไปทุกที เช่นเดียวกับเรื่องราวของ “มีอา” ในหนังเรื่องนี้ ที่แทบจะไม่ได้คุยอะไรกับพ่ออย่างจริงจริงเลย นับตั้งแต่สูญเสียแม่ไปซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรจริง ๆ แต่เท่าที่รู้คือแม่กินยาเกินขนาด ส่งผลกระทบทางใจของมีอาอย่างรุนแรงถึงขั้นซึมเศร้า และผลักให้เธอก้าวเข้าไปสู่การใช้ยาเสพติด แม้จะไม่นานนักก็ตาม

แต่ประเด็นสำคัญคือมันทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อเกิดความห่างเหินชนิดที่แทบจะ “ไม่ได้คุย” อะไรกันเป็นเรื่องเป็นราว โดยเฉพาะเรื่องสาเหตุที่แม่เสียชีวิตจริง ๆ


ขณะที่อีกฟากหนึ่งคือครอบครัวเพื่อนของ “มีอา” อย่าง “เจด” ซึ่งอยู่กับแม่และน้องชาย “ไรลีย์”...ครอบครัวของเจด ก็ไม่ต่างกันเท่าไรนักกับครอบครัวของมีอา คือเราจะสัมผัสได้ถึงระยะห่างหรือความห่างเหินระหว่างแม่ลูกได้อย่างดี โดยเฉพาะในกรณีของไรลีย์นั้น ดูเหมือนจะเป็นเพียงลูกคนเล็กที่ไม่อนุญาตให้มีความเป็นตัวเองจนลึก ๆ เขารู้สึกว่าตัวเองนั้นไร้คุณค่าไร้ตัวตน การสนทนาระหว่างเขากับแม่หรือแม้แต่พี่สาว ล้วนจบลงด้วยการที่เขาเป็นเพียงฝ่ายต้องฟังและยอมรับในสิ่งที่แม่และพี่สาวบอกเท่านั้น

ในหนัง มีประโยคที่ถือเป็นไฮไลต์ของเรื่องและอาจกล่าวได้ว่าเป็นธีมหลักของเรื่องเลยก็ว่าได้ คือคำที่พวกเด็ก ๆ วัยรุ่นใช้ในการประกอบพิธีจับมือผีและเชื้อเชิญวิญญาณผีเข้าสิงสู่ร่างตัวเอง นั่นก็คือคำว่า “Talk to me , I let you in” ซึ่งผู้กำกับของหนังเรื่องนี้เคยให้สัมภาษณ์ถึงความหมายที่ซ่อนแฝงไว้ในหนังว่า เป็นการพยายามสื่อภาพรวมของเรื่องทั้งหมดว่าการคุยกันแบบลึกซึ้งเข้าใจถึงความรู้สึกของกันและกัน เอาใจใส่และดูแลจิตใจกันและกัน คือ Message ที่ต้องการสื่อสารผ่านผลงานชิ้นนี้ ซึ่งจากหนังทั้งเรื่องก็ทำให้เราสัมผัสสิ่งนี้ได้อย่างหมดจด

ไม่ช้าเกินไปที่เราจะคุยกันแบบใส่ใจในความรู้สึกอันแท้จริงของกันและกัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันที่เขาหรือเธอรู้สึกว่าไม่มีใครพร้อมจะคุยด้วย และวันนั้นแหละ พวกเขาอาจจะไปคุยกับ “คนอื่น” หรือ “คุยกับผี” ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการรับสารที่บิดพลิ้วผิดเพี้ยนจนยากเกินจะเยียวยา





กำลังโหลดความคิดเห็น