xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจดีมีหนึ่งถึงจะน้อย ก็ยังดีกว่าร้อยตำรวจเลว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



12th Fail เป็นหนังอินเดียที่ต้องบอกว่า มีความดราม่าสุดเข้มข้น อีกทั้งมีเนื้อหาเรื่องราวสะท้อนสังคมอินเดีย ที่ความจริงบางอย่าง แทบไม่ต่างอะไรกับความเลวร้ายในสังคมไทยเช่นกัน

ด้วยเรื่องราวที่ได้รับแรงบันดาลใจมากเรื่องจริง 12th Fail เล่าถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อว่า “มาโนช” เขาเกิดมาในครอบครัวยากจนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของเขตจัมบัลที่มีชื่อเสียงดังกระฉ่อนในเรื่องโจร แต่ถึงอย่างนั้น มาโนชก็ความฝันอันแรงกล้าว่า เขาจะต้องเป็นตำรวจอาวุโสให้จงได้ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น ด้วยเหตุนั้น เขาจึงตั้งใจเรียนและเพียรสอบอย่างไม่ลดละ

หนังเสนอให้เห็นภาพชีวิตของคนตัวเล็กในสังคมและมีความขัดสน แต่ไม่ยอมจำนนต่อชะตาชีวิต แม้ต้นทุนจะน้อย แต่ก็ความพยายามนั้นเปี่ยมล้น ในวันที่มาโนชเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปสอบที่ต่างบ้านต่างเมือง ครอบครัวของเขาสนับสนุนด้วยการขายสมบัติเท่าที่มี รวมทั้งวัวที่เลี้ยงไว้ เพื่อหาเงินให้เขาเป็นค่าเดินทางและค่าอยู่ค่ากิน ขณะที่ย่าของเขาก็นำเงินที่แอบเก็บไว้ทั้งชีวิตมอบให้เขา ด้วยความเชื่อมั่นว่า เขาจะกลับมาบ้านในเครื่องแบบตำรวจ

แต่แล้วก็เหมือนโชคชะตายังไม่รามือให้ เขาสูญเสียทุกอย่างระหว่างเดินทาง เพราะถูกขโมยกระเป๋าในขณะที่เขาเผลอหลับบนรถโดยสาร ขณะที่รัฐบาลก็ยกเลิกการสอบคัดเลือกตำรวจกระทันหัน ทำให้เขาต้องโซเซอยู่แถวนั้นนานหลายวัน นอนริมทางและต่อสู้กับความหิว ไม่อยากกลับบ้านให้คนที่บ้านเสียใจ และแล้วเขาก็ได้พบกับ “ปันดี” เด็กหนุ่มลูกคนรวยที่มาสอบตำรวจเหมือนกัน แต่เมื่อไม่มีการสอบ เขาจึงเดินทางต่อไปยังเดลี ที่มีการสอบตำรวจยศสูงกว่า และมาโนชได้ขอติดตามไปด้วย ซึ่งนำไปสู่การเดินทางครั้งสำคัญที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปตลอดกาล


ต้องยอมรับว่า เนื้อหาในส่วนความมุ่งมั่นด้านการสอบของมาโนช เปรียบเป็นนิยายชีวิตเรื่องหนึ่ง ก็เป็นนิยายที่ฟูใจชวนให้รู้สึกฮึกเหิมในพลังของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ยอมพ่าย แม้ว่าจะล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ยอมล้มเลิก และพร้อมจะ “รีสตาร์ต” ใหม่เสมอ เหมือนที่พ่อของเขาพูดว่า ไม่ยอมแพ้และไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ขณะที่แผ่นป้ายหน้าร้านของพี่เการีที่มาโนชไปฝังตัวอยู่ ก็เขียนไว้ว่า “ผู้ไม่เคยพยายาม ล้มเหลวเสมอ” ทั้งหมดสะท้อนถึงภาพชีวิตของมาโนชได้อย่างสมบูรณ์

แม้ชีวิตจะไม่เอื้ออำนวย เพราะต้องทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย (ดูเหมือนจะทำงานหนักกว่าด้วยซ้ำ) แต่มาโนชก็ไม่เคยย่อท้อ ทำงานหาเงินทั้งสำหรับตัวเองและคนที่บ้าน และขยันอ่านหนังสือฝึกปรือการทำข้อสอบอย่างเต็มที่ ภาพชีวิตของมาโนช คือภาพแทนของคนหนุ่มสาวจากชนบทแร้นแค้นจำนวนมหาศาลในอินเดียที่มุ่งหน้ามาพิชิตฝันด้วยการสอบ ซึ่งในแต่ละปีจะมีหนุ่มสาวเข้ามาสอบกว่า 2 แสนคน แต่จะมีไม่กี่สิบคนเท่านั้นที่สมหวัง มันจึงเป็นการแข่งขันที่สูงมาก แบบที่ว่า มี “อนาคต” เป็นเดิมพัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาโนช อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นบุคลิกโดดเด่นประจำตัวเขา ก็คือ ความซื่อสัตย์ และไม่นิยมการคดโกงทุจริตเอารัดเอาเปรียบ เราจะเห็นตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วว่า เจ้าหนุ่มคนนี้ไม่ยอมลงให้ง่าย ๆ สำหรับเรื่องเหล่านี้ แม้จะต้องคัดง้างกับเจ้าหน้าที่ทางการ เขาก็พร้อมจะลุย และฉากสำคัญตอนท้ายเรื่องในการสอบสัมภาษณ์ที่ใครบางคนกระซิบบอกเขาว่า ถ้าโกหกได้ก็โกหกไป เพื่อที่จะมีโอกาสสอบผ่านมากขึ้น แต่สุดท้าย เขาก็ยืนยันที่จะเป็นตัวของตัวเอง ด้วยการพูดความจริง


สำหรับมาโนชนั้น ตำรวจที่ซื่อสัตย์สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าบางจังหวะที่อ่อนล้ากับความล้มเหลวในการสอบ จะทำให้เขารู้สึกไม่อยากไปต่อ แต่บางคำพูดของเพื่อนอย่างปันดี ที่บอกว่า “ตำรวจที่ซื่อสัตย์เพียงคนเดียว เปลี่ยนแปลงอะไรได้ตั้งมากมาย” ก็ทำให้เขาฮึดสู้ขึ้นมาได้

การทุจริตฉ้อฉล ติดสินบาทคาดสินบน ในวงข้าราชการตำรวจ เป็นสิ่งที่มาโนชได้เห็นมาตั้งแต่เด็กและเขาไม่อยากจะเป็นอย่างนั้น เพราะต่อให้มีเหรียญตราติดยศเต็มบ่า แต่ถ้าไม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็ไร้เกียรติไร้ศักดิ์ศรี และไร้คุณค่าอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นแล้วจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคน ๆ หนึ่งซึ่งไม่ยอมพ่ายต่อเงื่อนไขชีวิตและอุปสรรคที่ผ่านเข้ามา อีกหนึ่งประเด็นที่หนังจัดวางไว้อย่างทรงพลัง ก็คือการพูดถึงคุณค่าและเกียรติศักดิ์ศรีของการเป็นตำรวจ ซึ่งถือได้ว่า เป็นองคาพยพที่สำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งซึ่งจะทำให้สังคมดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้

ตำรวจดี จะถือกฎหมายโดยนึกถึงความถูกต้อง ตำรวจเลวดีดลูกคิดรางแก้ว คำนวณว่าตัวเองจะได้ผลประโยชน์อะไรแบบไหนหรือเท่าไหร่อย่างไร คนรวยบางคนส่งลูกหลานตัวเองเข้าเรียนตำรวจเพื่อจะมียศสูง ๆ และเรียกรับผลประโยชน์ได้มากขึ้น นี่คือสัจธรรมที่ดูจะเป็นเหมือนกันในหลายประเทศ ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียเช่นกันแบบที่หนังนำเสนอ

มีซีนเล็ก ๆ ซีนหนึ่งในฉากการสอบสัมภาษณ์ของมาโนช ซึ่งถือเป็นด่านสุดท้ายก่อนเข้าสู่กรมตำรวจ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในจำนวน 4-5 คนที่สัมภาษณ์มาโนช กล่าวว่า อย่างน้อย ๆ ถ้าเราได้คน ๆ คนนี้เข้ามา ก็น่าจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรตำรวจได้

ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าจะหัวเราะหรือร่ำไห้ดี เพราะตำรวจดี ๆ ที่ซื่อสัตย์ มีไว้เพียงเป็นไม้ประดับ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์เท่านั้นหรือ? แล้วที่เหลือล่ะ?













กำลังโหลดความคิดเห็น