เป็นดรามาต่อเนื่องมาหลายปีระหว่างคนเจนเก่า-เจนใหม่ สำหรับงานกีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ จนเมื่อปี 2564 ทางสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงยกเลิกกิจกรรมขบวน อัญเชิญพระเกี้ยว ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ–ธรรมศาสตร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นกิจกรรมที่ล้าสมัย เป็นการสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน
มาถึงปีนี้ (2567) การจัดงานฟุตบอลระหว่างจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ CU-TU Unity Football Match 2024 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ สนามศุภชลาศัย ก็ยังคงมีประเด็นดรามาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ทางผู้จัดได้ปรับเปลี่ยนสิ่งที่เคยทำกันมาจนเป็นธรรมเนียม ประเพณี หลายอย่างให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน ได้แก่ 1.เปลี่ยนชื่องานจากงานฟุตบอลประเพณี เป็น ฟุตบอลสานสัมพันธ์ 2.การจัดงานเน้นจัดแบบพอเพียง เน้นความจริงของยุคสมัยภายใต้คอนเซ็ปต์ Unity to Sustainability (ความสามัคคีสู่ความยั่งยืน) ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในปีนี้ เหล่านิสิตได้ตั้งใจคัดสรรสัญลักษณ์ ตัวแทนแห่งองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่างๆ มารายล้อมในขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ในรูปแบบนำกลับมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้สอดคล้องกับแนวคิดของงาน จึงใช้รถ EV ขับอัญเชิญพระเกี้ยว ประดับตกแต่งรถ แทนการอัญเชิญขึ้นเสลี่ยง มีผู้แทนอัญเชิญ มีคนขบวนยกเสลี่ยง
3. ไม่ใช้คนแปรอักษร ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมากเกือบ 40 องศา จึงไม่มีการเกณฑ์เด็กบังคับขึ้นไปเชียร์ ไม่บังคับขึ้นไปแปรอักษร แต่ใช้ LED แปรแทน 4. นักฟุตบอลทั้งสนามเป็นนิสิตนักศึกษาปัจจุบันจาก จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์
หลังจากที่ภาพงานถูกเผยแพร่ออกไปก็เกิดกระแสดรามาตีกลับมากมายในสังคม โดยหลายคนมองว่า การนำรถ EV มาอัญเชิญพระเกี้ยวแทนการแบกเสลี่ยง และประดับตกแต่งขบวนรถตามคอนเซ็ปต์งาน ภาพที่ออกสู่สายตาประชาชน ทำให้รู้สึกว่าถูกกระทำให้ด้อยค่า ลดเกียรติและศักดิ์ศรีพระเกี้ยว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญแทนพระมหากษัตริย์ที่ชาวจุฬาฯ เทิดทูนและภาคภูมิใจในสถาบันพระราชทานแห่งนี้มาทุกยุคสมัย
นอกจากนี้หลายคนยังนำภาพอัญเชิญพระเกี้ยวในสมัยก่อนๆ มาเผยแพร่ ที่ผ่านมาก็มีปีที่ไม่ได้อัญเชิญพระเกี้ยวขึ้นเสลี่ยง แต่เป็นการอัญเชิญขึ้นรถลากบ้าง ขึ้นบนหลังช้างบ้าง ซึ่งก็ทำได้สวยงาม สมศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของชาวจุฬาฯ
ในส่วนของ พระเกี้ยว สัญลักษณ์อันทรงเกียรตินี้ ก็มีหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าพระเกี้ยว และ การอัญเชิญพระเกี้ยว ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความไม่เท่ากัน แต่เป็นสัญลักษณ์ของความเสมอภาคที่บ่งชี้ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน แม้จะเกิดมาในฐานะใดก็ตาม โดยปกติพระเกี้ยวถือว่าเป็นเครื่องราชชั้นสูง ผู้ที่จะใช้ได้มีแค่ลูกของพระมหากษัตริย์แต่เมื่อพระองค์พระราชทานให้บุคคลทั่วไปได้นำมาใช้ จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะใดก็จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน จึงเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาฯ เทิดทูนและภาคภูมิใจ
ตลอดการจัดงาน ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ มีดารา-คนดังแจ้งเกิดจากงานนี้ ทำให้ ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นที่จับตาตลอดทุกครั้งจนกลายเป็นสีสัน ไม่ว่าจะเป็นดรัมเมเยอร์ คทากร เชียร์ลีดเดอร์ ผู้นำเชียร์ ตัวแทนถือพานพุ่ม ตัวแทนถือถ้วยรางวัล รวมถึงตำแหน่งที่ถูกยกให้เป็นที่สุดคือ ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว เองก็มีคนบันเทิงหลายคนเคยได้ทำหน้าที่นี้ อย่าง แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ , แต้ว ณฐพร เตมีรักษ์ , ฟาง ธนันต์ธรญ์ นีระสิงห์
3 ปี ดรามายกเลิกอัญเชิญพระเกี้ยวขึ้นเสลี่ยง งานฟุตบอลประเพณี จุฬา-ธรรมศาสตร์ ยังไม่จบ แต่ก็ต้องยอมรับว่า กาลเวลาเปลี่ยน ผู้จัดเปลี่ยน งานฟุตบอลจุฬา-ธรรมศาสตร์ กลายเป็น งานสายสัมพันธ์ จุฬา-ธรรมศาสตร์ ไม่ใช่งานประเพณี บางส่วนดีใจ มองเห็นว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนแปลงขนบต่างๆ ที่เป็นไปได้ยาก แต่มันได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในตอนนี้ กับบางส่วนมองว่าจากประเพณีที่ดีงาม กลายเป็นฟุ้ง อุดมการณ์ มากกว่า มันก็คงเป็นเรื่องบริหารความรู้สึกคนรุ่นใหม่กับความรู้สึกคนรุ่นเก่า ที่สังคมอาจจะยังหาตรงกลางไม่เจอ
