ด้วยความรักในเรื่องของดนตรีเป็นทุนตั้งแต่เด็ก จึงทำให้ผู้บริหารหนุ่มอย่าง “แทน จุลยุทธ โล่โชตินันท์” จึงมุ่งมั่นที่จะใช้ดนตรีเพื่อเป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือสังคม โดยรวบรวมนักดนตรีจิตอาสาเข้าร่วมวง บางกอกแชริตี้ ออเคสตร้า (Bangkok Charity Orchestra) ที่เขาก่อตั้งขึ้น ซึ่งถือเป็นวงออเคสตร้าวงแรกของเมืองไทยที่มีจุดประสงค์ในการทำงานเพื่อการกุศลร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเจ้าตัวยังรับหน้าที่เป็นวาทยกรหรือคอนดักเตอร์ประจำวงด้วยตนเองอีกด้วย
หลังจบโททางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จุลยุทธ ทำงานให้กับบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนชื่อดังของประเทศอังกฤษอยู่ถึง 4 ปี ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น จุลยุทธ ยังได้หมั่นฝึกซ้อมเล่นดนตรี ทั้ง ไวโอลิน และ เปียโน จนได้มีโอกาสร่วมเล่นคอนเสิร์ตกับวงของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นประจำ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นคอนดักเตอร์ (วาทยกร) ได้ในที่สุด
หลังจากนั้น จุลยุทธ ได้ตัดสินใจกลับมาทำงานในเมืองไทย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษาบริษัท แคปโค นอกจากจะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มร้อยแล้ว เขายังแบ่งเวลาว่างมาทำงานด้านดนตรีที่รักเป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย โดยทำหน้าที่เป็นคอนดักเตอร์ ก่อนที่จะได้ริเริ่มก่อตั้งวง บางกอก แชริตี้ ออเคสตร้า ขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำการแสดงเพื่อการกุศล จากวงออเคสตร้าเล็กๆ ตอนนี้ BCO มีสมาชิกมากกว่า 7-800 คน ที่มาจากหลายวงการ หมุนเวียนมาร่วมทำการแสดงกับเรา ก่อนที่ล่าสุด จุลยุทธ ยังจะได้ตัดสินใจจัดการประกวด ไทยแลนด์ ยัง มิวซิเชี่ยนส์ อวอร์ด 2024 (Thailand Young Musicians Award 2024) ขึ้น เพื่อหวังให้เป็นเวทีสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในดนตรีคลาสสิค ร่วมสมัย และดนตรีไทย
“ไทยแลนด์ ยัง มิวซิเชี่ยนส์ อวอร์ด 2024 เราจัดขึ้นเป็นปีแรก โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 10 ท่าน ทำการคัดเลือกผู้ที่ส่งผลงานเข้ามาประกวดจำนวนกว่า 400 คน จนเหลือ 25 คน ซึ่งเราอยากจะให้เยาวชนเหล่านี้ได้มีโอกาสแจ้งเกิด และได้มีเวทีในการแสดงออก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพัฒนาตัวเองต่อไปในอนาคต”
“สำหรับเยาวชนคนรุ่นที่จะเข้าศึกษาด้านนี้ ก็อยากจะให้ทุกคนได้ลองเปิดใจในทุกๆ ด้าน อย่าเพิ่งตั้งข้อจำกัดในการศึกษาดนตรีในทุกแนว ทุกประเภทก่อน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสที่จะทำให้เราได้รู้ว่าชอบอะไรจริง ถ้าเราไม่ลอง ก็จะไม่รู้ว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งในอนาคตผมก็ยังตั้งใจที่จะจัดการประกวดต่อไป เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ ที่อาจจะมีโอกาสได้เข้าร่วมวงออเคสตร้า หรือก้าวขึ้นไปในเวทีระดับนานาชาติต่อไปในอนาคตในปีนี้ถือว่า มาตรฐานค่อนข้างน่าพอใจ ซึ่งในปีหน้า เราก็คาดหวังว่า จะมีความหลากหลายในแนวดนตรีมากยิ่งขึ้น”
ไทยแลนด์ ยัง มิวซิเชี่ยนส์ อวอร์ด 2024 เป็นการประกวดขับร้อง และดนตรี ที่เปิดกว้างสำหรับดนตรีคลาสสิค ร่วมสมัย และดนตรีไทย เพื่อเฟ้นหาศิลปินและนักดนตรีเยาวชนระดับประเทศ โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของวงการดนตรีระดับประเทศ ถึง 10 ท่าน ประกอบด้วย 1. ผศ.ดร.นัทธี เชียงชะนา 2. ดร.พรพรรณ บันเทิงหรรษา 3. มิสเซรีน เดลาโบม (Ms. Serine de Labaume) 4. ผศ.ดร.ทัศนา นาควัชระ 5. อ.โน้ต-วีรฉัตร เปรมานนท์ 6. อ.มาททิโอ ดิ เกรกอริโอ (Mr. Matteo Di Gregorio) 7. ผศ.ดร.สมชัย ตระการรุ่ง 8. อ.ดาเรศ รักษาราษฎร์ 9. อ.ธรรศตะวัน ไขแสง 10. อ.เดบบี้ ทูลอค (Debbie Tulloch)
การประกวด ไทยแลนด์ ยัง มิวซิเชี่ยนส์ อวอร์ด 2024 (Thailand Young Musicians Award 2024) ได้จัดขึ้น ณ โรงละคร อักษรา เพื่อเปิดโอกาสให้ Top 25 Thailand Young Musicians Award ได้ขึ้นแสดงเดี่ยว เพื่อโชว์ความสามารถ พร้อมทั้งยังมีการมอบรางวัลให้กับ Top 10 Thailand Best Music Teachers อีกด้วย
สำหรับ Top 25 Thailand Young Musicians Award ประกอบด้วย เปียโน : 1. กมลภูมิ อนุตรเศรษฐ์ 2. ธตรัฐ วณิชย์กอบจินดา 3. พาทิศณัฐฆ์ กัมมารพัฒน์ 4. ภพณัช กุลมาตย์ 5. ภาพิชชา เวชมงคลกร 6. ภัสชา เลี้ยววัฒนา 7. ดริณดา จูฑะพล 8. ณิชมน ศิริพล 9. ณปภัช บุญธนนิตย์ 10. ณัฐชนก ชลคุป
ยูริ ณปภัช บุญธนนิตย์ เรียนอยู่เกรด 4 จาก รร.เด่นหล้า วัย 9 ขวบ มือเปียโนสาวน้อย เผยว่า “หนูเคยไปประกวดเปียโน ที่ประเทศสิงคโปร์ จนได้รางวัลชนะเลิศในรายการ เอสเอส สิงคโปร์ ก่อนได้ไปแสดงในงานกาล่าร์ดินเนอร์ด้วย หลังจากนั้น ก็ไปชนะเลิศที่ประเทศเวียดนาม หนูมองว่า เปียโน เป็นเครื่องดนตรีที่มีเสน่ห์ สามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้เป็นอย่างดี เพลงเร็วอาจจะเล่นยากกว่าเพลงช้า ก็ถ้าเราหมั่นขยันฝึกซ้อมบ่อยๆ ก็จะสามารถเล่นได้อย่างคล่องแคล่ว ในอนาคตหนูก็อยากจะเล่นเปียโนไปเรื่อยๆ อาจจะไม่ต้องเก่งระดับโลก แต่สามารถสร้างความสุขให้กับทุกคนได้ หนูก็ดีใจแล้วค่ะ”
ร้องเพลง : 11. ภัคธดา เอกภพโยธิน 12. พาทิศณัฐฆ์ กัมมารพัฒน์ กีตาร์คลาสสิค : 13. ชยันตี สรรพกิจไพศาล 14. ติณณ์ ไชยสถิตวานิช 15. เมฆา สุวีรานนท์ 16. รุจิภัค เอกภพโยธิน เครื่องสาย : 17. จิรัชญา ตั้งสันติกุล 18. ณพิชญา แซ่จิว กลอง : 19. ชยุตพงศ์ วาระโว 20. ศศะณัณญ์ สุหัตถาพร 21. สฤชน์ สุธรรมรักษ์ เครื่องเป่า : 22. จตุรพร สินสิทธิประเสริฐ ดนตรีไทย : 23. วิเศษปิยา เตชะเจริญวิกุล 24. ดร เดชะรินทร์ , ดล เดชะรินทร์
ด้าน น้องก้อนเมฆ เมฆา สุวีรานนท์ จาก รร.ดรุณพัฒน์ ชั้น ป.3 วัย 9 ขวบ นักดนตรีกีตาร์คลาสสิค กล่าวว่า “เริ่มต้นที่เข้ามาเล่นกีตาร์คลาสิค จริงๆ แล้วคุณแม่อยากจะให้พี่สาวมาเรียนมากกว่า แต่พี่สาวไม่สนใจ คุณแม่จะผลักดันให้ผมไปลองเล่นแล้วก็เกิดความรู้สึกชอบ ผมหัดเล่นมาประมาณปีกว่าๆ ก็ประสบความสำเร็จในการเดินทางไปแข่งขันที่ ฮ่องกง มาแล้ว ผมใช้เวลาในการซึกซ้อมวันละ 1-2 ชม. เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย สำหรับเพื่อนๆ ที่สนใจอยากเข้ามาเรียนกีตาร์คลาสสิค อย่างแรกเลยต้องมีความชื่นชอบก่อน และมั่นฝึกว้อมให้มากๆ ก็จะเก่งได้ไม่ยาก”
ขณะที่ ดร เดชะรินทร์ , ดล เดชะรินทร์ มือระนาดฝาแฝด วัย 12 ปี กล่าวว่า “จริงๆ แล้ว พวกเราเริ่มต้นเรียนเปียโนกันมาก่อน ตั้งแต่ที่โรงเรียนเก่า แต่พอมาที่นี่มีการสอนดนตรีไทย คุณแม่เลยแนะนำว่า น่าจะลองหันมาเรียนดนตรีไทยดูบ้าง จากระนาด จึงมาเป็น ฆ้อง และเครื่องจับจังหวะอีกหลายชนิด เหตุที่ชื่นชอบระนาดเอก เพราะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้อย่างสนุกสนาน ถ้าให้เลือกเครื่องดนตรีอย่างอื่น ก็คงอยากจะลองเล่นแซกโซโฟนดูครับ สำหรับเพื่อนที่สนใจอยากเล่นดนตรีเก่งๆ ก็ต้องขยันหมั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ ถ้ารู้สึกเบื่อหรือท้อ ก็ลองไปหาอย่างอื่นทำ เพื่อพักเหนื่อย ก่อนกลับมาฝึกซ้อมใหม่ ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้เหมือนกับพวกเรา”
ทางด้าน เจเจ ชยุตพงศ์ วาระโว มือกลองรุ่นเยาว์ วัย 14 ปี นร. ชั้น ม.2 จาก รร.สาธิต มศว.ประสานมิตร เล่าว่า “ผมหัดเล่นกลองมาตั้งแต่ต้น ตอนเด็กๆ ผมเคยไปเดินเที่ยวห้าง แล้วมันมีกลองไฟฟ้าตั้งอยู่ ก็เลยลองเข้าไปตี แล้วปรากฏว่าสามารถเล่นได้เลย จึงไปเรียน แต่มาเอาจริงๆ ตอนอายุ 7 ขวบ ก่อนเล่นมาจนถึงปัจจุบัน ความยากของกลองมันอยู่ที่การแยกประสาทส่วนต่างๆ คนที่อยากเข้ามาฝึกเล่นกลองชุด คงจะต้องมีพรสวรรค์ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือพรแสวง ต้องขยันฝึกซ้อมและมีความอดทน เพราะสมัยนี้มีแนวทางให้ตามฝึกซ้อมได้ไม่ยาก ทั้งตาม รร.ดนตรี หรือในออนไลน์ต่าง ก็จะสามารถฝึกจนชำนาญได้ในที่สุด”
Top 10 Thailand Best Music Teachers ประกอบด้วย 1. เสกข์ ทองสุวรรณ 2. ไอริณ ปรีชาญวินิจ 3. กามเทพ ธีรเลิศรัตน์ 4. ศศิชา พิริยะธนากร 5. อรวรา ไชยสมคุณ 6. สุระพันธ์ คงบำรุง 7. อุมาพร ทองนุช 8. สุคนธรส ไทยยืนวงษ์ 9. กมลชนก ไหลงาม 10. เปียโน อะคาเดมี่ ออฟ แบงคอก(Piano Academy of Bangkok)
ไทยแลนด์ ยัง มิวซิเชี่ยนส์ อวอร์ด 2024 (Thailand Young Musicians Award 2024) อาจจะยังเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจในดนตรีคลาสสิค ร่วมสมัย และดนตรีไทย ที่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่ และสามารถสร้างความสุขให้กับทุกคนได้อีกด้วย