จากนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่มีเป้าหมายในการสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน และสร้างเมืองให้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ ดนตรี และการแสดง จึงได้มีโครงการปรับปรุงอาคารบันเทิงสถาน สวนลุมพีนี ซึ่งอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมสำคัญ อาทิ การประกวดนางสาวไทย เวทีลีลาศ และกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้อาคารบันเทิงแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวา มีความมั่นคง แข็งแรง สวยงาม เพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในการรองรับกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ และสามารถใช้เป็นสถานที่จัดงานในกิจกรรมต่างๆ ของกรุงเทพมหานครในอนาคต
บี.กริม ในฐานะองค์กรที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน จากรากฐานปรัชญาการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมมีส่วนในการสนับสนุนนโยบายดังกล่าว จึงได้สนับสนุนการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบันเทิงแห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2566 เพื่ออนุรักษ์อาคารแห่งนี้ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา ทั้งการซ่อมบำรุงตัวอาคาร, การซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า และระบบประปา, การติดต้ังระบบเสียง ระบบแสง, การปรับภูมิทัศน์ใหม่รอบบริเวณอาคารบันเทิงสถาน
ปัจจุบันการดำเนินการปรับปรุงอาคารดังกล่าวเสร็จเรียบร้อย และพร้อมส่งมอบให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงกิจกรรมทางดนตรี ศิลปะการแสดง รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับรองรับการจัดกิจกรรมด้านอื่นสำหรับสาธารณชน และเพื่อสาธารณประโยชน์ตามเจตนารมย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างคุณประโยชน์ด้านต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการที่สวนลุมพินี ซึ่งครอบคลุมทั้งกลุ่มคนที่เข้ามาออกกำลังกาย รวมถึงกลุ่มนักเต้นรำที่ใช้พื้นที่สวนลุมพินีในการทำกิจกรรมต่างๆ
ในโอกาสนี้ บี.กริม ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมพิเศษภายใต้ชื่อ "ลุมพินี วอลซ์ เฟสติวัล" (Lumpini Waltz Festival) ณ บี.กริม พาวิลเลียน สวนลุมพินี (อาคารบันเทิง) ในวันอาทิตย์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 เปิดให้ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ได้มาเต้นรำ ในทำนองเพลงวอลทซ์ คลาสสิค ที่บรรเลงโดยวง Royal Bangkok Symphony Orchestra เพื่อเฉลิมฉลองการส่งมอบอาคารบันเทิง บี.กริม พาวิลเลียน อย่างเป็นทางการ และในโอกาสการเฉลิมฉลองวาระครอบรอบ 145 ปี เมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ วง Royal Bangkok Symphony Orchestra ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีประสบการณ์ในการจัดเทศกาลดนตรีในสวนร่วมกับบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด มายาวนานถึง 31 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมดนตรีคลาสสิก พร้อมยกระดับวงดนตรีคลาสสิกในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยงานดังกล่าวนำบทเพลงวอลซ์สำหรับการเต้นรำ Viennese Waltz มาบรรเลง อำนวยการเพลงโดย Charles Olivieri-Monroe ผู้อำนวยเพลงชาวแคนาเดียน หนึ่งในวาทยากรที่มีการเดินทางมากที่สุดและปัจจุบันเป็นแขกรับเชิญหลัก วาทยกรของ Thüringen Philharmonie ในเยอรมนี และยังจะเป็นครั้งแรกที่วงออเคสตราใช้การแสดงแบบอินเทอร์แอคทีฟเต็มรูปแบบ พร้อมด้วยนักดนตรีกว่า 60 คน ภายในงานจะใช้ระบบ แสง สี เสียง เพื่อให้ประชาชนมาร่วมเต้นรำในจังหวะวอลซ์ ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ซึ่งได้รับความสนใจจากแฟนเพลงดนตรีในสวน และประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ออกมาเต้นรำร่วมกันอย่างสนุกสนาน