xs
xsm
sm
md
lg

“โตโน่” ลบคำหมิ่น! ว่ายข้ามโขงเป็นภาระ สู่การส่งมอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง” ช่วยทั้งคนไทยคนลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอาความสำเร็จมาลบคำหมิ่น! “โตโน่ ภาคิน” ส่งมอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง” จากโครงการ “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ตอกดรามาว่ายทำไมเป็นภาระ ด้วยยอดบริจาค 90 ล้าน ที่ช่วยรักษาผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 12,000 ราย

สำเร็จไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับโครงการ “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ของนักร้อง นักแสดงหนุ่ม “โตโน่ ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” กับกิจกรรมว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง เพื่อระดมทุนช่วยเหลืออุปกรณ์การแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน ซึ่งงานนี้ยอดบริจาคหลั่งไหลมามากมาย จากทั้งพี่น้องชาวไทยและชาวลาว จนสร้างประวัติศาสตร์มียอดบริจาคสูงกว่า 90 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดงานส่งมอบ “ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง (Cath Lab)” ที่โรงพยาบาลนครพนม พร้อมเปิดช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจและหลอดเลือดเรียบร้อยแล้ว ส่วนทางด้านของฝั่งลาว เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับ ก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยไปแล้วมากกว่า 12,000 ราย

โดย นายนฤพนธ์ ยุทธเกษมสันต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม เผยว่า “ปัจจุบันมีการเปิดประเทศจะมีผู้เดินทางมาเยือนจังหวัดนครพนมเพิ่มขึ้น จากทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคการท่องเที่ยวและภาคการแพทย์และสุขภาพ ในด้านสาธารณสุข คาดว่าการเปิดประเทศจะมีประชากรต่างชาติ เดินทางเข้ามารักษาจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ยังเป็นปัญหาหลักในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นการก่อตั้งศูนย์หัวใจสองฝั่งโขงโรงพยาบาลนครพนม จะช่วยผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute coronary syndrome) ในจังหวัดนครพนม และพื้นที่ข้างเคียงได้อย่างรวดเร็วตามมาตรฐานการรักษา เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและทุพลภาพ”

ด้าน โตโน่ เองก็ได้เปิดใจถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “พวกเราทั้งพี่น้องชาวไทยและพี่น้องชาวสปป.ลาว ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนม และโรงพยาบาลแขวงคำม่วน โดยมูลค่าสิ่งของที่เราจัดซื้อไปทั้งหมดคิดเป็น 92,500,000 บาท วันนี้ถือเป็นวันที่ดีมากๆ อีกวันที่เรามาร่วมกันเป็นสักขีพยานในการปิดโครงการ เพื่อส่งสอบ ศูนย์หัวใจสองฝั่งโขง (Cath Lab) ที่ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการจัดตั้งศูนย์หัวใจแห่งนี้ เริ่มตั้งแต่การทำห้องสวนหัวใจใหม่ที่มีระบบความปลอดภัยจากอันตรายจากรังสีต่างๆ รวมถึงการทำระบบไฟฟ้าสำรองที่สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง แม้ระบบไฟฟ้าจะดับทั้งเมืองนครพนม

นอกจากนี้ยังมีการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับใช้ในห้องตรวจรักษาแบบครบครัน ได้แก่ เครื่องสวนหัวใจระนาบเดี่ยว ,เครื่องอัลตร้าซาวด์หัวใจ ,เครื่องอัลตร้าซาวด์ชนิดดูเส้นเลือดหัวใจ,เครื่องตรวจวัดการแข็งตัวของเลือด ,เครื่องปั้มหัวใจไฟฟ้า, เครื่องตรวจคลื่นหัวใจ พร้อมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้เพื่อให้วิเคราะห์การตรวจรักษาได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันเราทราบว่าทั้งสองโรงพยาบาลได้ใช้เครื่องมือแพทย์ที่ได้รับบริจาคจากโครงการหนึ่งคนว่ายหลายคนให้ อย่างคุ้มค่าเช่นโรงพยาบาลนครพนมมีการใช้งานเครื่องต่างๆ ทุกวัน ขณะที่โรงพยาบาลแขวงคำม่วนได้ใช้ตรวจรักษาคนลาวไปแล้วกว่า 12,000 คน

ผมรู้สึกดีใจที่พวกเราได้มีส่วนร่วมทำให้พี่น้องชาวไทยและชาว สปป.ลาว ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงพยาบาลแห่งนี้ได้เข้าถึงการตรวจรักษาที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกท่านได้มีสุขภาพที่ดีและทีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสุดท้ายนี้ผมขอบคุณพระคุณทุกๆ ท่าน ที่มีส่วนในการทำให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงตามเจตนาที่ได้ตั้งใจไว้”

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนทั้งสองฝั่งโขง แต่หากมองย้อนกลับไป กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ “ONE MAN AND THE RIVER หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ได้สำเร็จลุล่วง และช่วยเซฟชีวิตผู้คนไว้มากมาย ก็จะเห็นว่าหนุ่ม “โตโน่ ภาคิน” โดนถล่ม โดนแซะมาตลอด ในระหว่างการทำโครงการนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มองว่า การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง เป็นสิ่งที่อันตรายและไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเป็นอะไรขึ้นมา ก็จะเป็นภาระให้คนอื่น แถมอาจจะทำให้เปลืองงบประมาณ ควรเปิดรับบริจาคด้วยวิธีอื่น เช่น การเล่นคอนเสิร์ตที่เจ้าตัวถนัดจะดีกว่า

อย่างนักร้อง นักฟาด อย่าง “ยุ้ย ญาติเยอะ” ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างออกรส โดยไปคอมเมนต์ในเพจที่นำเสนอข่าว “โตโน่” บอกว่าเสี่ยงคนเดียว ตายคนเดียว ดีไหม? รู้ยัง มีสะพานให้ข้ามแล้วนะ “จริงๆ แล้ว เขามีสะพานให้ข้ามนะคะ หรือมันดูง่ายไป งั้นใช้เรือแล้วพายไปเอง แต่ขอคนดีย์พายไปคนเดียวนะคะ ดูพยายามขึ้นมานิดนึงทันที เปิดรับบริจาคได้ล่ะแหละ (ไม่มีใครต้องเสี่ยงให้ลำบาก คนอื่นปลอดภัย ถ้าตายก็ตายคนเดียวดีไหมคะ)”

ด้านรุ่นน้องคนสนิทจากเวที เดอะสตาร์ อย่าง “หมอริท เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช” ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยก่อนว่ายได้เผยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เหมือนอยู่ในสภาวะ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เห็นแล้วไม่สบายใจ คือความเห็นคนรอบข้างเรา และความรู้สึกเรามันบอกอีกอย่าง แต่ความเชื่อความมุ่งมั่นที่จะทำของคนที่เรารักมันเป็นอีกอย่าง และเราก็รู้จักเขาดีว่า ไม่ว่าใครจะพูดยังไงก็ไม่สนใจ เพราะเขาเชื่อในสิ่งที่เขาทำ แต่เราก็รักและห่วงเขา”

และหลังจบภารกิจก็โพสต์ยินดี พร้อมเผยในทำนองว่า… ต่อให้ “โตโน่” ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินเป็นพันล้านก็ไม่ช่วยให้แพทย์เหนื่อยน้อยลงแต่อย่างใด อันเนื่องมาจากระบบสาธารณสุขและบ้านเรายังขาดแคลนบุคลากรแพทย์

“ยินดีด้วยกับการ #ว่ายน้ำข้ามโขง ของพี่ #โตโน่ภาคิน ในวันนี้นะครับ ที่ปลอดภัย และได้รับเงินบริจาคจำนวนมาก อย่างแรกต้องขอขอบคุณในน้ำใจและความเสียสละของพี่ที่มีต่อบุคลากรทางการแพทย์ คนที่พร้อมจะเสียสละเพื่อคนอื่นแบบพี่ ไม่ได้หาได้ง่ายเลย นับถือใจจริงๆ ในบทสัมภาษณ์มีหลายครั้งที่พี่พูดว่า ที่พี่มาว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะหมอและพยาบาลเขาเหนื่อยกว่า เสี่ยงกว่า เลยอยากขออนุญาตฝากมุมมองไว้สักนิดครับ เผื่อพี่อาจจะลืมมองเหตุผลพวกนี้นะครับ (ไหนๆคนก็สนใจโครงการพี่เยอะแล้ว)

1. ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1000 ล้าน หมอ พยาบาล เขาก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่า คนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม ซึ่งทุกวันนี้หมอไทยยังต้องทำงานเกินเวลาตามระเบียบกำหนด ทำให้เกิดภาวะสมองไหล หมอๆ ก็ออกนอกระบบโรงพยาบาลรัฐกันหมด หมอก็น้อยลง งานก็ยังหนัก ผลิตหมอเท่าไหร่ก็ไม่พอ ก็วนลูปแบบนี้ไปเรื่อยๆ ครับ ถึงบอกว่าเงินบริจาคเยอะแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้หมอหายเหนื่อยครับ

2. พี่บอกว่าหมอพยาบาลเสี่ยง คำถามคือ แล้วใครปล่อยให้หมอพยาบาลทำงานภายใต้ความเสี่ยง? ถ้ารู้ว่าเขาทำงานแบบเสี่ยงอยู่ ทำไมผู้มีอำนาจโดยตรงถึงมองไม่เห็นและไม่สามารถจัดการปัญหานั้นโดยเร่งด่วนได้ หรืองบประมาณไม่เพียงพอ แล้วถ้างบไม่พอจริงๆ ทำไมไม่รายงานขึ้นไป ทำไมต้องรอเงินบริจาค ส่วนตัวมองว่า การบริจาคไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ที่มา หลักการ จุดประสงค์ของโครงการและการนำเงินไปใช้ต้องชัดเจน รวมถึงควรสนับสนุนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไปในตัวด้วยครับ ถ้าพี่สื่อสารจุดนี้ได้ด้วย คิดว่าคนไม่เห็นด้วยน่าจะน้อยลงนะครับ และทำให้โครงการของพี่ดูมีเหตุสมควรมากขึ้น”





















กำลังโหลดความคิดเห็น