xs
xsm
sm
md
lg

“จ๋า อลิสา” เปิดใจไม่ง่าย มิสทิฟฟานี่ เดินทางมายาวไกล ครบรอบ 25 ปี ดีใจเวทีสาวแท้เปิดรับกลุ่มทรานส์มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จ๋า อลิสา” ดีใจมิสทิฟฟานี่ครบรอบ 25 ปี เป็นเส้นทางที่ยาวนาน ทุกๆ ปีที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะวัตถุประสงค์ขององค์กรไม่ได้แสวงหากำไร แต่หวังสร้างประโยชน์ให้สังคม และการยอมรับเรื่องเพศที่สามให้มากขึ้น เผยดีใจที่เห็นเวทีสาวแท้เปิดรับสาวทรานส์เข้าประกวดได้แล้ว

ปีนี้เป็นปีที่ 25 แล้ว สำหรับเวทีประกวดสาวประเภทสอง มิสทิฟฟานี่ ซึ่งหัวเรือใหญ่อย่าง “จ๋า อลิสา พันธุศักดิ์ คุนผลิน” ได้เปิดใจถึงการประกวดปีนี้ ในงาน Miss Tiffany รอบ ออดิชั่น คัดเลือกผู้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย ณ โซน Eden ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บอกว่าทุกๆ ปีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในการที่จะเฟ้นหาสาวที่ทั้งสวยและเก่งไปพร้อมๆ กัน ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในกระบอกเสียงให้กับกลุ่มทรานซ์ด้วย “ปีนี้มิสทิฟฟานี่ครบ 25 ปีนะคะ เราเดินทางมายาวไกลมาก การเดินทางครั้งนี้เราก็เห็นภาพลักษณ์เชิงบวกของการข้ามเพศในสังคมประเทศไทยและสังคมโลก และมีเรื่องของการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือ ซึ่งทิฟฟานี่บอกได้เลยว่าเป็นเวทีที่ไม่ได้หาผลกำไร ไม่ได้หารายได้ แต่เป็นเวทีที่เราอยากจะทำให้สังคม เป็น CSR (corporate social responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร ดำเนินกิจการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี โดยรับผิดชอบสังคมและสิ่งเเวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน)

เนื่องจากว่าเราเองเป็นทิฟฟานี่โชว์ ปีหน้าเราก็จะ 50 ปีแล้ว ตอนที่เราทำทิฟฟานี่ตั้งแต่เริ่มต้น เราเข้าใจในเรื่องของความไม่เท่าเทียม จนมันกระทบกับการทำงาน และกระทบกับบุคลากรของเรา เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าบุคลากรของเราเป็นคนที่มีความสามารถ และเราจะทำยังไงให้เขาอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข ความสุขที่เกิดขึ้นในใจมันจะทำให้เขาทำงานได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็เลยเห็นว่าการทำมิสทิฟฟานี่ขึ้นมา เราน่าจะเป็นเวทีเดียวในการที่ไม่ได้หากำไร แต่เพื่อที่จะให้สังคมหันกลับมามองความหลากหลายทางเพศเป็นบวก 

พอ 25 ปีมันก็ทำให้เรารู้สึกว่าเขาได้โอกาสมากขึ้น เขามีการยอมรับมากขึ้น มีการต่อสู้ ไม่ใช่ต่อสู้แค่เฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศที่ต่อสู้เรื่องของสิทธิกันเอง แต่คนอื่นๆ แม้กระทั่งห้างร้านต่างๆ ก็ช่วยร่วมขึ้นมาต่อสู้ และมองเห็นจุดในเรื่องของความเท่าเทียม สิทธิให้คนอื่น

และจริงๆ ความตั้งใจของเราคือเราจะเป็นใครก็ตาม เราควรจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์กับสังคม และออกนอกตัวเอง ไม่ใช่ว่าอะไรก็แค่เพื่อตัวเอง ดังนั้นกลุ่มข้ามเพศที่เราเริ่มขึ้นมาแต่ละปีๆ ในการที่จะเข้ามาอยู่ในมิสทิฟฟานี่ เราก็สอนเรื่องนี้ สอนให้คิดนอกเหนือจากตัวเองก่อน และโอกาสเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับตัวเองจะตามมา เพราะฉะนั้นหลายๆ อย่างที่จ๋าเห็นในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ที่เราหวังเพิ่มขึ้นก็คือเรื่องของการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มมากขึ้น และดีใจที่วันนี้มาถึงปีที่ 25 แล้วค่ะ”

บอกผู้ประกวดต้องมีความพร้อมหลายๆ ด้าน ไม่ใช่แค่สวยอย่างเดียวแล้ว
“บริบทในเรื่องของบิวตี้ สแตนดาร์ท มิสทิฟฟานี่ใช้ตัวนี้มาเป็นตัวที่ทำให้ทุกคนหันมามอง แต่วันนี้บิวตี้ สแตนดาร์ทมันเปลี่ยนไป ฉะนั้นคนที่สวยก็สามารถสวยกว่าเดิม คนที่ดีก็สามารถดีขึ้นได้มากกว่าเดิม คนที่เก่งก็สามารถเก่งได้กว่าเดิม ถ้าเรามีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเห็นว่าตัวเองมีมูลค่ามากกว่าที่ตัวเองคิดอยู่ด้วยซ้ำ และเพิ่มความสามารถเหล่านี้ ดังนั้นบริบทของปีนี้ก็จะเปลี่ยนไป ว่าสวยอย่างเดียวก็คงไม่ได้นะ

ความพิเศษของปีนี้ จริงๆ แล้วในเรื่องบุคลิกของงานก็เป็นฟิวเจอร์ อีส ยัวส์ เพราะฉะนั้นคนวัยนี้ เด็กรุ่นใหม่ที่มองเห็นความฝันตัวเองว่าจะไปถึงจุดไหน เราก็จะมีเครื่องบินเจ็ตที่จะส่งต่อให้เขาไปได้เร็วกว่าเดิม เพราะฉะนั้นความเป็นฟิวเจอร์ อีส ยัวส์ ถึงแม้ทุกคนสามารถนิยามได้ด้วยตัวเอง แต่ทีมของทิฟฟานี่ก็จะกรูมมิ่งทั้งหมด เพื่อให้เขาออกไปแล้วรับมือกับสิ่งที่จะเจอในอนาคตได้เลยค่ะ”

เผยคัดมืออาชีพจากหลายๆ วงการมาเป็นกรรมการคัดเลือกโดยเฉพาะ
“ยากกว่า และเราก็คิดว่าเราเอาคนเก่งๆ มาเลือกทั้งนั้นเลย ปีนี้ใช้มืออาชีพในการที่มาเลือกเพิ่มมากขึ้นที่จะไปอยู่ในแต่ละวงการ แม้กระทั่งมีโมเดลลิ่งก็มานั่งอยู่ที่นี่ด้วย เพื่อที่จะมานั่งอธิบายว่าวิธีการในการที่จะคัดเลือกเด็กเข้าโมเดลลิ่งคืออะไร เราอยากจะรู้วิธีคิดเขา จ๋าไม่ได้เป็นกรรมการหรอก แต่จ๋าอยากนั่งกับคนที่มีความเข้าใจเรื่องของการสร้างโอกาสให้กับเขา

เราเลือกคนที่มีมายด์เซ็ต มีความรู้แต่ละด้านเข้ามาเลือกค่ะ ช่วยกันเขย่าให้เขาบอกออกมาว่าจริงๆ การขับเคลื่อนของเขาคืออะไร และเขาจะไปถึงจุดหมายนั้นได้ยังไง กระบวนการของการที่จะเข้าไปถึงจุดที่เขาอยากจะเป็นทำยังไง เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้วันนี้แค่เปิดกะโหลกเองนะ เพราะหลังจากวันนี้จะมีเทรนนิ่งมาให้เต็มไปหมดเลย มาช่วยกันเปิดเปลือกของเขา และรู้ว่าคนนี้น่าจะเจียระไนได้”

บอกไม่มีความกังวลเรื่องการจัดงาน เพราะเป้าหมายขององค์กรชัดเจนอยู่แล้ว
“จ๋าไม่ค่อยกังวลนะ เพราะสิ่งที่เราตั้งใจคือเราอยากพัฒนาคน เพราะฉะนั้นพอเราได้ทำตรงนี้ก็ถือว่ามีอีกรุ่นนึงที่ได้ช่วยกันพัฒนาแล้ว อีกอย่างก็คือเราเป็นเวทีที่มองความสวยเป็นเรื่องปกติแล้ว เพราะทุกคนสวยเหมือนกันหมด แต่เรามองว่าสวยแล้วเป็นยังไง มันก็จะมีเรื่องของบุคลิกในแต่ละปีที่ต่างกัน ความสนุกก็เลยต่างกัน แต่คำว่าสวยและเก่งมันก็ยากนะ เพราะในจังหวะของเขาในแต่ละช่วงอายุมันเปลี่ยนไป และมันก็จะต้องมีคนๆ นั้นแหละที่มันพอดีมากเลยนะ ทั้งสวย ทั้งเก่ง เพราะฉะนั้นจ๋าคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมองเป้าหมายขององค์กร

ก็คือเรื่องของการให้ทุกคนยอมรับ สร้างบุคลากรที่ดี และทุกคนมีความชื่นชม ถ้าเป้าหมายเหล่านี้และคนดูอยู่ตลอดเวลา และเขามีความคิดที่พัฒนาขึ้น ถ้าเราทำตรงนี้แล้วเราก็ถือว่าทำโปรดักชั่นให้ทุกคนได้ดู โจทย์ในแต่ละปีมันก็ต้องดูปีนั้นๆ เพราะบริบทสังคมที่มันเปลี่ยนเร็วมาก และคนนิยมเรื่องอะไร ปีนี้กลายเป็นแฟชั่นทุกอย่างต้องกลับเข้ามาอยู่ในเวทีนี้เยอะมาก และพี่อาร์ต (อารยา อินทรา) มาช่วยดูเป็นแฟชั่นไดเรกเตอร์ ก็จะมีรายละเอียดตรงนี้เยอะมาก ก็จะเป็นสิ่งที่ฝึกให้น้องๆ เข้าใจว่าการดูแลตัวเอง การรู้จักว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ทำยังไงให้ดูเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ยังเชยอยู๋ในโลกเก่า ใส่ชุดราตรีอยู่ในโลกเก่า”

ดีใจที่มีเวทีอื่นเปิดโอกาสให้สาวข้ามเพศได้เข้าประกวดได้
“จ๋าไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่ จ๋าคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี และจ๋ามองว่ามันก็เป็นอีกหนี่งเป้าหมายนึงของเราไม่ใช่เหรอ ถ้าสมมติกฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงให้เขาเป็นตามเพศสภาพของเขาได้ ซึ่งมันจะดีมากเลย และทุกคนก็เห็นประโยชน์ของการทำให้เกิดความเท่าเทียม มันคือวัตถุประสงค์ของเราเลย เราดีใจมาก ถ้าสมมติว่าทำได้ จะขอให้เขาช่วยเป็นแรงผลักดันในการที่เราสามารถที่จะเปลี่ยนเพศได้ด้วย

จ๋าไม่เคยแข่งกับใคร นี่พูดกันตรงๆ ที่ผ่านมาเราเป็นเวทีที่ยาวนานมาก 25 ปี เราก็ปรับปรุงของเราเองทุกๆ ปีที่เราใช้สติปัญญาเยอะมาก ใช้คนที่เกี่ยวข้องเยอะมาก เราคิดว่าสิ่งที่เราทำต้องดีกับคนดู ต้องมีประโยชน์ต่อสังคม เราก็คิดว่ามันโอเคนะ ถ้ามีคนอื่นที่อยู่ในเวทีต่างๆ มันทำให้เราได้ดูด้วย พัฒนาเราด้วย เลยไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นการแข่งขัน เรารู้สึกว่าเป็นการดีที่มีคนทำให้เราได้เห็นอะไรที่แตกต่าง ก็ถือเป็นอีกทางเลือกของสาวข้ามเพศที่มีช่องทางมากขึ้น และถ้าใครพร้อม มายด์เซ็ตพร้อม เราจะได้แสดงมายด์เซ็ตของความเป็นผู้หญิง เราต้องแสดง เรามีโอกาส เราต้องทำ สนับสนุนทุกเวทีค่ะ ถ้าเขาพร้อมมากมันก็เป็นเรื่องของเขานะ”

ดีใจที่เป็นเวทีแรกของสาวสองที่ทุกคนต้องนึกถึง
“จ๋ามีความรู้สึกว่าเรามาช่วยกันปรับทัศนคติมายด์เซ็ตของคนทั้งสังคม ว่าเราไม่ได้มีการเหมารวมแบบที่คนเคยคิด การเป็นทรานส์มันมีความแตกต่างเหมือนผู้หญิง ผู้ชายทั่วไป และทรานส์แต่ละคนก็มีบุคลิกที่แตกต่างกัน ในเรื่องของอัตลักษณ์แต่ละคน และความเป็นเฉพาะบุคคลของแต่ละคน จะบอกว่ามันก็เหมือนเป็นเวทีหนึ่งที่สร้างให้เห็นความหลากหลายมากกว่า

ถามว่ารู้สึกยังไงกับคำว่าสาวทรานส์สวยกว่าผู้หญิงจริง จ๋าดีใจที่ทุกคนให้ประโยคคำนี้ แต่จ๋าจะบอกว่าจริงๆ แล้วเพราะสาวทรานส์ใส่ใจตัวเองมากกว่าผู้หญิง เขารู้ว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่น จุดด้อยในร่างกาย หน้าตาเขา เขาก็ปรับเปลี่ยนตรงนั้นได้ ดังนั้นผู้หญิงคนไหนสามารถปิดและเปิดสามารถโชว์จุดเด่นได้ เขาก็สวยเหมือนกันแหละ เราต้องเริ่มเลย จะอยู่ในเวทีไหนก็ตาม จะเป็นนางงามเราก็ต้องรู้สิว่าจุดเด่นเราคืออะไร จุดด้อยเราคืออะไร

ก็อยากจะฝากวันไฟนอลนะคะ หลังจากวันนี้ก็จะมีอีกหลายกิจกรรมมาก วันที่ 7 ม.ค.นี้ก็จะมีชาเลนจ์ของเด็กทั้ง 30 คน และไปเดินแฟชั่นโชว์วันที่ 29 ม.ค.ที่ MRT ศูนย์วัฒนธรรม และวันที่ 2 ก.พ. ก็เป็นรอบพรีลิมมินารี และรอบไฟนอลคือวันที่ 4 ก.พ. แต่ละหว่างทุกอาทิตย์สามารถเข้าไปดูไลฟ์ได้ เนื่องจากเรามีชาเลนจ์ทุกอาทิตย์ สิ่งที่สำคัญของปีนี้ก็คืออยากให้เด็กแต่ละคนสามารถได้โชว์ศักยภาพในทุกอาทิตย์ และเราไม่ควรจะดูนางงามวันสุดท้าย และบอกว่าคนนี้มงฯ ได้ยังไง เราควรจะดูนางงามทุกอาทิตย์ว่าทำไมเขาถึงมงฯ เราไม่ควรจะไปตัดสินวันสุดท้ายหน้างาน เพราะฉะนั้นจ๋าก็เลยอยากจะบอกว่าปีนี้ที่จะสนุกก็เนื่องจากมีชาเลนจ์ทุกวันอาทิตย์นะคะ สามารถดูตามโพสต์ของมิสทิฟฟานี่ยูนิเวิร์ส เฟซบุ๊กได้เลยว่าวันไหนจะไลฟ์เวลาไหนค่ะ”











กำลังโหลดความคิดเห็น