ถ้าค่าเฉลี่ยอายุของคนส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 75-80 ปี ก็เท่ากับว่าผู้ชายที่นั่งตรงหน้าตอนนี้ เดินทางผ่านเรื่องราว ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า พานพบกับความเป็นไป และความเปลี่ยนแปลงมาแล้วเกินกว่าครึ่งชีวิต
“นัยณัฏฐ์ ชนินทร์เดช” ชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “ภัทรณัฏฐ์ รดิศจิรเกียรติ” หรือที่ในยุคหนึ่ง คนจะรู้จักกันดีในฐานะ “นัท วงเฟม” ศิลปินในยุคปลาย 80 ของค่ายเพลง อาร์เอส โปรโมชั่น (ชื่อในขณะนั้น)
เรื่องเล่าเรื่องแรกของผู้ชายคนนี้ เริ่มต้นจากตรงนั้น
“วง เฟม ออกอัลบั้มแรก ตอนปี 2532 ชื่ออัลบั้ม “คนไม่เคย” โปรดิวเซอร์คือ “พี่อิทธิ พลางกูร” ครับ ก่อนหน้านี้คือเล่นดนตรีกับเพื่อนอยู่ในผับ แล้วบังเอิญมีเพื่อนของเพื่อนทำงานอยู่ อาร์เอส มาชวนไปถ่ายเอ็มวีเพลง “ใจเดียว” ของวง “เรนโบว์” พอวงรู้ ก็ยุว่าให้ไปเลย
ยุคก่อนหน้านี้ ภาพแรกของ อาร์เอส ก็คือวงดนตรีแนวป๊อบหวานๆ อย่าง คีรีบูน , ฟรุ้ตตี้ ,ซิกเซ้นส์ พอยุคก่อนจะมีวง เฟม ก็คือ พี่อิทธิ อัลบั้ม “ให้มันแล้วไป” คือเริ่มมีศิลปินร็อกแล้ว แล้วเราชอบร็อก พอได้ไปถ่ายเอ็มวี เพื่อนในวงก็ยุให้ไปคุยกับ อาร์เอส ว่ามีวง เสนอวงอะไรแบบนี้ คุยผ่าน “พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ก็เลยส่ง “พี่เสือ-ธนพล” มาดูที่ผับ แล้วก็ได้ไปเทสต์เสียง แล้วก็ผ่าน เลยได้ออกอัลบั้ม”
ความสำเร็จของอัลบั้มชุดแรก “คนไม่เคย” ในมุมมองของค่าย อยู่ในระดับที่เรียกว่า “สอบผ่าน” มียอดขายอยู่ที่ราวๆ สองแสนม้วน ก่อนจะส่งไม้ต่อมาที่อัลบั้มชุดที่ 2 “ไอ้ตัวยุ่ง” ในอีก 2 ปีถัดมา ซึ่งแม้จะมียอดขายเพิ่มขึ้น คืออยู่ที่ราวๆ สามแสนม้วน แต่ในฐานะมือคีย์บอร์ด และนักร้องนำของวง กลับชื่นชอบผลงานเพลงในชุดแรก โดยเฉพาะเพลง “ไม่รักกันจริง” ซึ่งเป็นที่จดจำของแฟนเพลงมากกว่า
“ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควรครับ มีงานจ้างเข้ามา อาจจะไม่เยอะเท่าไหร่ แต่รวมๆ รายได้จากยอดขายอัลบั้ม กับงานจ้าง ถือว่าพออยู่ได้
ตอนนั้นฝั่งของค่าย แกรมมี่ ที่แนวเพลงป๊อบร็อกเหมือนๆ กัน ก็มี นูโว , ไมโคร ส่วนคนที่ดังของ อาร์เอส ก็คือ “พี่กี้ร์- อริสมันต์” , พี่อิทธิ แล้วก็มี ทัช มี โอ๋ ไอศูรย์ พี่อ๊อด คีรีบูน ที่มาออกเดี่ยว รุ่นหลัง เฟม ก็จะมี “พี่เอก-สรพงศ์ ชาตรี” ที่เป็นศิลปินคนแรกของยุค 90 ของ เฟม จะเป็นปลายๆ ยุค 80 หลังจากนั้นก็จะมี พิสุทธิ์ มี ไฮ-ร็อก”
แต่หลังจากผ่านความสำเร็จของอัลบั้มชุดที่ 2 เรื่องเล่าลำดับถัดมา กลับกลายเป็นเรื่องเศร้า เมื่อเจ้าตัวตัดสินใจลาออกจากวง ทั้งๆ ที่อยู่ในช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวชื่อเสียง และรายได้อย่างต่อเนื่องไปได้นานกว่านั้น
และนั่นจึงเป็นที่มาของคำถามปลายเปิด ที่ว่า
... เกิดอะไรขึ้นกับวงเฟม !!!???...
“จริงๆ เป็นเรื่องที่ไม่ได้บอกใครมากเท่าไหร่ ตัวผมนี่แหละที่รู้สึกไม่มีความสุข ทำแล้วมันไม่มีความสุข ไม่ใช่หมดแพชชั่นนะครับ แต่เป็นเรื่องภายในวงมากกว่า คือก่อนหน้านี้ เราเคยเล่นดนตรีด้วยความสุข แล้วไปๆ มาๆ พอมันมีชื่อเสียง ความสุข ความรักมันหายไป ก็เลยขอลาออกมาดีกว่า จริงๆ ก็รู้สึกว่ามันเป็นความคิดของเด็กด้วย อาจจะไม่อดทนพอ แต่ก็อีกแหละ ต่อให้เราอดทน ก็ไม่รู้จะอดทนได้หรือเปล่านะ เพราะความรู้สึกมันไม่ค่อยดีไปแล้ว
ตอนนั้น “เฮียฮ้อ” (คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) ก็ไม่ค่อยแฮ้ปปี้กับการที่เราลาออกจากวงวง ก็เลยให้ยุบวง คือเบรกเลย พอมานั่งย้อนคิดอีกทีว่าความผิดเราหรือเปล่าวะ หลังจากนั้นก็ไม่มีการกลับไปทำอะไรซักอย่างที่ อาร์เอส อีกเลย”
จากชีวิตของคนเบื้องหน้า หักเหมาสู่การเป็นคนเบื้องหลัง เรื่องเล่าเรื่องใหม่เริ่มต้นด้วยบทบาทของพนักงานประจำในตำแหน่งครีเอทีฟของ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์
“หลังจากวง เฟม ก็กลับไปเรียนหนังสือ พอจบจากนิเทศศาสตร์ที่ธุรกิจบัณฑิตย์ ก็มาทำรายการ “เที่ยงวันกันเอง” พิธีกรก็คือ “พี่แซม ยุรนันท์”
ทำทีวีอยู่พักนึง ก็กลับไปทำผับ ทำสถานบันเทิงที่ชลบุรี เป็นหุ้นส่วน เป็นผู้จัดการฝ่ายบันเทิง ร้องเพลงเองด้วย จากนั้นมาก็อยู่กับงานกลางคืนยาวเลย”
จนกระทั่งในช่วงปี 2548 ชีวิตก็พลิกกลับมาในแวดวงบันเทิงอีกครั้ง เมื่อมีโอกาสได้ทำงานกับ True Academy Fantasia ในฐานะผู้จัดการวงแบ็คอัพ เวลาที่ศิลปินของ AF มีงานจ้าง และยังได้ให้คำแนะนำศิลปินรุ่นน้องในบางโอกาสเพราะเคยผ่านประสบการณ์ตรงนี้มาก่อน
“จริงๆ ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าเราเคยมีอัลบั้ม ไม่เคยบอกใคร เพราะเราคิดเสมอว่าเราไม่ใช่คนเก่ง เพียงแต่เราอาจจะมีจังหวะชีวิตที่ดี มีโอกาสได้ทำงาน อย่างของ AF ก็ถือเป็นจังหวะชีวิตที่ดี จากที่ตั้งใจจะทำแป๊บเดียว ปรากฏว่างานเยอะ ดังเปรี้ยง งานจ้างเยอะ ก็ทำตรงนั้นอยู่ 10 ปี แล้วก็หยุดไป”
ในระหว่างที่ทำงานกับ AF นั่นเอง เขาก็เริ่มทำอีกอาชีพหนึ่งควบคู่กันไป นั่นก็คือการเปิดร้าน “ไอติมหม้อไฟยศเส” สาขา The Scene Town in Town ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการไปอุดหนุนร้านเพื่อน ที่เป็นเจ้าของร้านต้นตำรับที่ยศเส ซึ่งโด่งดังในหมู่วัยรุ่นยุคนั้น กระทั่งกลายมาเป็นเจ้าของสาขาที่ก็ขายดิบขายดี จนต้องขยายต่อไปเปิดอีกสาขาหนึ่งที่บางแสน ใน
ปีเดียวกับที่เขาตัดสินใจสละโสด กับคู่ชีวิต อดีตพนักงานแบงค์ ที่ลาออกมาเพื่อลุยธุรกิจกับสามีเต็มตัว
พอร้านที่บางแสนปิดตัวลง หลังจากที่สาขา The Scene Town in Town ปิดตัวไปก่อนหน้านั้นแล้ว เขาก็บ่ายหน้ากลับมาตั้งหลักที่กรุงเทพอีกครั้ง ด้วยการเปิดขายอาหารดิลิเวอรี่ มีเมนู “ขนมจีนน้ำยาปู” ซึ่งได้สูตรลับเฉพาะมาจากครอบครัวของฝั่งภรรยาเป็นตัวตั้ง
“อยู่ดีๆ ก็ผันตัวเองเป็นคนทำอาหารเฉยเลย คือพอได้สูตรมา ก็ลองทำดู ก็ออกมาอร่อยด้วย ก็เลยทำขายแบบดิลิเวอรี่ ตอนนั้นยังไม่อยากทำหน้าร้าน”
จังหวะชีวิตของคนเรา บางครั้งก็ไม่รู้ว่าใครคือผู้กำหนด แต่ที่แน่ๆ การเป็นพ่อค้าขายอาหารดิลิเวอรี่ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโอกาสในวิกฤต เพราะเปิดตัวในยุคโควิด ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตติดบ้าน และร้านอาหารต่างๆ ก็ปิดบริการชั่วคราว
และจุดที่พีคสุดๆของเมนู “ขนมจีนน้ำยาปู” ก็คือเมื่อเจ้าตัวมีโอกาสได้ไปร่วมรายการ “Who is my chef โต๊ะนี้มีจอง” ของช่องเวิร์คพอยท์
“ก็ส่งไปสมัครเองครับ แล้วทางรายการก็เรียกไปสัมภาษณ์ ให้ลองทำอาหารให้ชิม แล้วก็ได้รับเลือกให้เป็นโต๊ะอร่อยในเทปนั้น รายการยังออนแอร์ไม่จบเลย โทรศัพท์รัวเข้ามาจนต้องปิดเสียง ช่วงขายดีสุดคือทำวันละเป็นร้อยชุด แทบจะไม่ได้นอน เพราะในโรงงานนรกนี้ ทำกันแค่สองคน (หัวเราะ) แต่เราทำเป็นดิลิเวอรี่แบบพรีออเดอร์ ก็จะรู้จำนวนก่อน ก็จะทำจำนวนที่มันเป๊ะๆ แบบแทบจะไม่เหลือเลย ของก็จะสดใหม่ บางคนค่าส่งเป็นร้อย บางคนสามร้อย ก็สั่งกัน”
จากเมนูแรก ก็ขยายสู่เมนูที่สอง “เมี่ยงก๋วยเตี๋ยวเมืองชล”
“ตอนนั้นก็จะมีเมนูปูหลายอย่าง แต่ปูราคาค่อนข้างสูง แล้วคนอาจจะเริ่มเบื่อแล้ว ก็เลยมองมาที่อาหารพื้นบ้านของเมืองชล ซึ่งผลตอบรับก็ดีมากครับ ผมทำคลิปลง reel ในเฟซบุ๊ก คนดูเกือบล้าน
เมี่ยงก๋วยเตี๋ยวก็จะเครื่องเคียงเยอะ ชุดนึงไข่เจียว 2 ฟอง 20 ชุด ต้องเจียวไข่กี่ฟอง แค่นี้ก็แย่แล้ว แล้วยังต้องลวกถั่วงอก ลวกกุยช่าย ไหนจะหมูต้ม ต้มเสร็จต้องมาหั่นเต๋า แล้วก็น้ำจิ้มที่ภูมิใจมาก เพราะซ้อมจนได้สูตรเฉพาะตัว ลูกค้าก็จะชมว่าน้ำจิ้มอร่อย ทุกอย่างพิถีพิถันหมดเลย
จริงๆ ผมเกิดมาในครอบครัวที่ทำร้านอาหารจีนอยู่แล้ว แต่ไม่เคยไปยุ่ง หารู้ไม่ว่ามันซึมซับไปเอง เคยคิดเลยว่าจะไม่ยุ่งกับงานในครัว เพราะต้องเจอกับความมัน ความร้อน สรุปมาทำเฉยเลย ก็เลยทำมาเรื่อยๆ ประมาณ 3 ปีกว่า ขับรถส่งเอง โดยเฉพาะช่วงโควิด ขับรถส่งวันละสิบกว่าบ้าน”
แต่พอโควิดซา และสถานการณ์กลับมาสู่ภาวะเกือบจะปกติ ธุรกิจดิลิเวอรี่เริ่มไม่ตอบโจทย์ เขาจึงตัดสินใจกลับมาเปิด ร้านไอติมหม้อไฟยศเส อีกครั้ง นั่นก็คือสาขาปัจจุบัน ซึ่งอยู่บริเวณลานจอดรถของอาคารทศพล ใกล้ๆ กับสี่แยกห้วยขวางนี่เอง
“พอดิลิเวอรี่คนสั่งน้อยลง ก็เลยคิดว่าเปิดร้านดีกว่า เคยได้ยินมั้ยที่เค้าบอกว่าถ้าเกลียดใครให้ยุให้เค้าทำร้านอาหาร คือร้านอาหารมันยุ่ง มันวุ่นวาย แล้วเราเป็นคนซีเรียสด้วย เรื่องความสะอวด เรื่องวัตถุดิบ ต้องจ่ายตลาดเอง ต้องลงมือเอง รู้สึกว่าไม่ไหว ก็ตัดสินใจว่าขายไอติมดีกว่า เพราะไอติมเคยขายอยู่แล้ว และไอติมก็ไม่ต้องทำเอง ก็ไปรับมาที่ยศเสเหมือนเดิม”
แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา ก็คือมีเมนูเค้กของภรรยา ที่เพิ่งเริ่มซื้ออุปกรณ์มาหัดทำ หลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แต่ก็สามารถทำออกมาได้อร่อยระดับที่สามารถนำมาวางขายได้เลย รวมถึงยังมีเมนูกาแฟ ที่เจ้าตัวรับหน้าที่เป็นบาริสต้าเองอีกด้วย
“ผลตอบรับถือว่าดีครับสำหรับสาขานี้ เรามีลูกค้าประจำแล้วก็มีลูกค้าใหม่เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ยังพร้อมที่จะต้อนรับลูกค้าเพิ่มอีกครับ แล้วก็คงต้องเสริมด้านการตลาด ให้มันทันยุคเพิ่มมากขึ้น ยุคนี้ก็เป็นยุคของการรีวิวที่สำคัญมาก ก็อาจจะต้องเพิ่มการโปรโมทใน TikTok บ้าง ส่วนตัวชอบเป็นคนถ่ายทำคลิปตัดต่อเองอยู่แล้ว อย่างร้านแรกที่ทาวน์อินทาวน์ ลูกค้าทุกคนช่วยโปรโมทให้เราหมดเลย มาปุ๊บ ก็ต้องถ่ายรูปๆ เช็คอินๆ จนเป็นกระแสที่โตมาก เพราะมันดังมาจากที่ยศเสอยู่แล้ว”
และแม้นว่าธุรกิจ ร้านไอติมหม้อไฟยศเส สาขารัชดาห้วยขวาง นี้ กำลังเติบโต แต่อีกหนึ่งแพชชั่นที่ยังคงอยู่ และไม่เคยหายไปไหน ก็คือการทำเพลง
ในวัยที่เพิ่งเต็ม 55 ปีไปเมื่อเดือนก่อน เขาจึงยังคงมีไฟที่จะลุกขึ้นมาเขียนเพลงเองอีกครั้ง
“ช่วงโควิด ก็มีแต่งเพลงเก็บๆ ไว้ ทำจนเสร็จแล้ว ก็เขียนเนื้อร้องเอง ทำนองเอง ร้องเอง ขาดถ่ายเอ็มวี อย่างเดียว แต่ว่ายังไม่ออก เพราะรู้สึกว่ายังไม่มีจังหวะดีๆ ที่จะออก น่าจะออกมาประมาณปี 67 เดี๋ยวนี้ก็ไม่ต้องมีค่ายแล้ว ถ้าเพลงเราดี คนชอบ เค้าก็ไปหาฟังกันเองแหละ
พูดง่ายๆ คือดนตรีมันอยู่ในสายเลือดนะ ก็จะทำต่อไป อยากเป็นตัวแทนคนอายุเยอะที่ยังมีแพชชั่น มีไฟในการทำงาน บางคนบอกว่า 50 กว่าใกล้เกษียณแล้ว แต่เราคิดว่าคงไม่เกษียณ ถ้ายังมีแรงก็ยังทำต่อไป”
แต่เขาก็ยืนยันว่าแพชชั่นนี้ เป็นรูปแบบการทำงานเฉพาะตัว ที่ไม่มีวง เฟม รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
“คือเมื่อปี 62 เรามีการจัดคอนเสิร์ต 30 ปีวง เฟม ก็ผ่านไปเรียบร้อยดีนะ คนมาดูก็ประมาณ 200 คน จัดกันเอง ไม่เกี่ยวกับ อาร์เอส แต่เราก็เข้าไปขออนุญาตเรื่องเพลง พอจัดเสร็จก็คิดว่าจะทำงานกันต่อไป แล้วมันก็เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก มีเรื่องไม่สบายใจเกิดขึ้นอีก ก็เลยขอหยุด คราวนี้หยุดจริงๆ แล้ว เหมือนคนอกหักซ้ำสอง มันเศร้านะ เหมือนเราทุ่มแรงกายแรงใจไปแล้ว แต่ผลออกไม่ค่อยดี ก็เลยขอหยุดดีกว่า ไม่มีการไปต่ออีกแล้ว”
เรื่องเล่าของผู้ชายคนนี้ จบลงด้วยคำตอบนี้ และคนถาม ก็หมดเรื่องราวจะถามต่อเช่นกัน !!!!