xs
xsm
sm
md
lg

มนต์รักนักพากย์ : วันวานที่งดงามและแสนเศร้า/อภินันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา



มนต์รักนักพากย์ ผลงานเรื่องใหม่จากผู้กำกับ “อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร” ซึ่งเชื่อว่า คอหนังไทยจำนวนไม่น้อย ให้ความเชื่อมั่นในฝีไม้ลายมือ เพราะมีผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักและได้รับความรักจากคนดูมาแล้วหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “2499 อันธพาลครองเมือง” (2540) “นางนาก” (2542) รวมทั้ง “จัน ดารา” (2544) และ “โอเคเบตง” (2546) ที่ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า “อุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร” คือกำกับภาพยนตร์ฝีมือดีเบอร์ต้น ๆ คนหนึ่งของเมืองไทย

และในวันนี้ อุ๋ย-นนทรีย์ กลับมาอีกครั้งกับผลงานที่ออนแอร์บน Netflix อย่าง “มนต์รักนักพากย์” ด้วยเนื้อหาเรื่องราวที่พาเรานั่งไทม์แมชชีนเดินทางย้อนเวลาไปยังปี พ.ศ. 2513 ยุคที่ “หนังขายยา” ยังมีชีวิต ตอนนั้นโรงหนังยังไม่แพร่หลาย คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง ก็อาศัยดูหนังจากหน่วยความบันเทิงเคลื่อนที่ ซึ่งมีทั้งหนังเร่ หนังล้อมผ้า และหนังขายยา

เล่าให้ฟังอย่างรวบรัด ในยุคนั้น เมื่อมีการสร้างหนังขึ้นมาและฉายในโรงจนถูกถอดออกจากโปรแกรมแล้ว ก็จะมีการนำหนังเหล่านี้ไปฉายให้กับคนต่างจังหวัดที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้ดู ซึ่งมีทั้งรูปแบบของ “หนังเร่” หรือหนังกลางแปลง ที่เจ้าภาพงานต่าง ๆ จ้างไปฉายให้ชาวบ้านดูฟรี ขณะที่ “หนังล้อมผ้า” จะมีการกั้นล้อมบริเวณที่ฉายหนัง เช่น ใช้ผ้าขึงล้อม สังกะสีกั้น หรือ เสื่อกั้นล้อมไว้ คนดูต้องเสียเงินค่าเข้า หรือเอาสิ่งของมาแลกเป็นค่าตั๋วก็ได้


ส่วน “หนังขายยา” ที่มนต์รักนักพากย์หยิบมาเล่า เป็นการฉายหนังที่เปิดให้ดูฟรี เพียงแต่ระหว่างหนังฉาย จะมีการหยุดพักการฉายเป็นช่วง ๆ เพื่อขายสินค้า คนพากย์หนังก็จะประกาศโฆษณาเชิญชวนให้คนดูซื้อ คือถ้าอยากดูหนังต่อ คนดูก็ต้องช่วยซื้อของ มันเป็นการแลกเปลี่ยนแบบแฟร์ ๆ ทั้งสองฝ่าย ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่หน่วยหนังนำมาขาย ก็เป็นพวกยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวด, ยาอม, ยาหม่อง, ยาบำรุง ฯ จึงได้ชื่อว่าหนังขายยา หรือบางบริษัทเจ้าของรถหนังขายยา อาจจะมีสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าอื่น ๆ มาขาย ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต้นสังกัดอยากจะให้ขายอะไร แต่รวม ๆ แล้วก็เรียกว่า หนังขายยา

ทั้งนี้ หนังที่นำไปฉาย จะไม่มีเสียงในฟิล์ม หรือเสียงพูดของนักแสดง แต่ทีมงานของหนังขายยาต้องเป็นคนพากย์เอง บางคนก็พากย์คนเดียว 4-5 เสียง ทั้งเสียงผู้ชายและผู้หญิง ทั้งพระเอก ผู้ร้าย ตัวตลก ฯ ดังนั้น ตำแหน่งสำคัญของหนังขายยา จึงตกอยู่ที่คนพากย์เสียงสด ซึ่งต้องเข้าถึงอารมณ์ตัวละครและพากย์เสียงออกมาให้คนดูรู้สึกประทับใจและชื่นชอบได้มากที่สุด สมัยนั้นมีนักพากย์ที่ได้รับความนิยมมากอยู่หลายคน ไปฉายที่ไหน คนก็แห่ตามไปดู เช่น “โกญจนาท” ที่พากย์หนังอยู่สายอีสาน หรือ “มานิตย์ วรฉัตร” ก็เป็นนักพากย์ชื่อดัง และมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะเป็นที่มาหรือแรงบันดาลใจให้มีการตั้งชื่อตัวละครหลักของมนต์รักนักพากย์ด้วย ขณะที่ “เรืองแข” ตัวละครนักพากย์หญิงที่หนูนาแสดง ก็ชื่อคล้าย ๆ กับ “เพ็ญแข” นักพากย์หญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังทางสายอีสานในยุคนนั้นเช่นกัน


ดังนั้นแล้ว ถ้าจะบอกว่า หนังเรื่องนี้ ได้เก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์ของไทยในหลาย ๆ ส่วนมาไว้ด้วยกัน ก็คงไม่ผิดนัก และภาพแรกที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็คือ ประวัติศาสตร์วงการหนังไทยอันว่าด้วยนักพากย์หนัง เล่าเรื่องผ่าน “มานิตย์” (เวียร์ ศุกลวัฒน์) และทีมงานหนังขายยาอีก 2 ชีวิต คือ ลุงหมาน คนขับรถ (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) และ “ไอ้เก๋า” คนฉายหนังขึ้นจอ (เก้า จิรายุ ละอองมณี) โดยเหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้นคือกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือคนดูเริ่มนิยมการพากย์เสียงแบบใหม่ที่ใช้ “ชายจริงหญิงแท้” เป็นคนพากย์ และใช้คนพากย์ร่วมกันมากขึ้นอย่างน้อย 3-4 คน ถือเป็นการดิสรัปชั่นวงการหนังขายยาก็ว่าได้ ขณะที่หัวหน้ามานิตย์ต้องพากย์คนเดียวแบบเดิมตามกฎของบริษัทขายยาเจ้าของรถเร่ แต่สุดท้าย ด้วยความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลง หัวหน้ามานิตย์ก็จำต้องแอบรับนักพากย์หญิงมาร่วมงานด้วยโดยไม่แจ้งบริษัท และนั่นก็คือการมาถึงของ “เรืองแข” (หนูนา หนึ่งธิดา โสภณ) นักพากย์เสียงสวยที่เข้ามาช่วยเพิ่มสีสันให้กับหน่วยรถเร่หนังขายยาบริษัท โอสถเทพยดา ตราฤาษีถือไพ่ป๊อก

อุ๋ย นนทรีย์ ได้ปลุกสีสันวันวานให้กลับมาโลดแล่นอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งได้สำเร็จ เราจะได้เห็นเรื่องราวชีวิตการเดินทางและการทำงานของหน่วยหนังขายยา ที่ต้องบอกว่า ทั้งสนุก และทรหด หลายครั้งต้องบุกป่าฝ่าดงข้ามน้ำข้ามห้วยไปฉายในหมู่บ้านกลางหุบเขาและป่าลึก หรือแม้กระทั่งฉายหนังกลางสายฝน ขณะที่ในส่วนของลีลาการพากย์หนัง ก็ต้องบอกว่า ทั้งเวียร์และหนูนา สามารถถ่ายทอดสื่อสารออกมาได้อย่างน่าชื่นชม สมกับเป็นนักแสดงมืออาชีพ คุณสามารถที่รับบทลุงหมานก็เป็นผู้ใหญ่ใจดีที่เติมความรู้สึกดี ๆ ให้กับหนังได้เป็นอย่างดี ขณะที่ตัวละครของเก้า จิรายุ ก็ต้องบอกว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้เรื่องราวเกิดมีดราม่าและโมเมนต์ซึ้ง ๆ ตามมา




“หนังขายยา” เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญอีกหนึ่งหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย เป็นสีสันความบันเทิงผ่อนคลายสำหรับคนไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน ในขณะเดียวกัน ยุคของหนังขายยานั้น ถือว่าเป็นยุครุ่งเรืองเฟื่องฟูหรือยุคทองของหนังไทยอีกยุคหนึ่ง ซึ่งความงดงามของช่วงเวลานั้นอีกประการหนึ่ง คือการมีซูเปอร์สตาร์นักแสดงนามว่า มิตร ชัยบัญชา ซึ่ง “หนังขายยา” ไม่ว่าจะเดินทางไปฉายที่ไหน ก็ต้องมีหนังของมิตร ชัยบัญชา ติดไปด้วย อย่างหน่วยหนังขายยาของหัวหน้ามานิตย์ในมนต์รักนักพากย์ก็มีหนังของมิตรติดไปฉายทุกครั้ง และอาจจะกล่าวได้ว่า สำหรับหัวหน้ามานิตย์แล้ว มิตร ชัยบัญชา คือความผูกพันที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้

อุ๋ย นนทรีย์ บอกว่า เขาทำหนังเรื่องนี้ขึ้นมา เหมือนเป็นจดหมายรักถึงหนังไทย และไม่มากไม่มาย ถ้าจะบอกว่าเป็นจดหมายรักถึงมิตร ชัยบัญชา ด้วยก็ได้เช่นกัน เพราะบรรยากาศในหนังมนต์รักนักพากย์นั้น มีมิตร ชัยบัญชา ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของหนัง เหมือนเป็นนักแสดงคนหนึ่งของเรื่องเลยก็ว่าได้

มิตร ชัยบัญชา หรือชื่อจริง พันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ ชัยบัญชา (นามสกุลเดิม พุ่มเหม) มีชื่อเล่นว่า เชษฐ์ แต่เมื่อเข้าสู่วงการนักแสดง เนื่องจากพันจ่าอากาศโทพิเชษฐ์ เป็นคนรักเพื่อนและให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก เรียกว่าเพื่อนคือส่วนหนึ่งของชีวิต จึงได้รับการตั้งชื่อให้ใหม่ว่า มิตร ซึ่งหมายถึง เพื่อน


มิตร ชัยบัญชา เข้าวงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 และมีผลงานเรื่องแรกคือ “ชาติเสือ” ก่อนจะโด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทยจากผลงานเรื่องที่สองด้วยการรับบทเป็นอินทรีแดงในหนังเรื่อง “จ้าวนักเลง” ที่ทำเงินได้มากกว่าหนึ่งล้านบาทซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับปี พ.ศ.2502 หลังจากนั้น ชื่อของมิตร ชัยบัญชา ก็กลายเป็นจุดเด่นจุดขายบนใบปิดหนังไทย ตั้งแต่ปี 2500 – 2513 มิตรแสดงหนังกว่า 300 เรื่อง หลากหลายบทบาท ทั้งบทบู๊ บทรักกุ๊กกิ๊ก รักรันทด ตลก ไปจนถึงชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา เขาคือพระเอกตลอดกาลซึ่งเป็นที่รักของคนไทยทั่วประเทศ และเป็นดั่งมิตรรักของนักพากย์หนัง เพราะนักพากย์หนังยุคนั้นยังไงก็ต้องได้พากย์หนังของมิตรบ้าง อย่างหัวหน้ามานิตย์ พากย์หนังของมิตรแทบทุกเรื่องจนรู้สึกผูกพันและรักมาก ขณะที่มิตร ชัยบัญชา ก็ให้ความเคารพรักนักพากย์ทุกท่านที่พากย์เสียงของเขา ในหนังมนต์รักนักพากย์มีบทที่มิตร ชัยบัญชา พูดกับหัวหน้ามานิตย์ว่า “ผมดูดีได้ เพราะเสียงของคุณนะครับ ขอบคุณมากครับ ขอบคุณจริง ๆ” นี่คืออีกหนึ่งเอกลักษณ์ความน่ารักและความอ่อนน้อมถ่อมตนของมิตรที่ทำให้เขาเป็นที่รักและชื่นชอบของทุกคน

แน่นอนว่า การที่หนังปูความรู้สึกผูกพันนี้ไว้แต่ต้นเรื่อง เมื่อถึงจุดที่เป็นโศกนาฏกรรมความสูญเสีย พลังความเศร้าจึงเปล่งประกายอย่างถึงที่สุด

มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการโหนเฮลิคอปเตอร์ บริเวณอ่าวดงตาล พัทยาใต้ ระหว่างถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2513 ซึ่งมนต์รักนักพากย์ ก็ออกอากาศทาง Netflix ในวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งใกล้เคียงกับวันที่มิตรเสียชีวิต นับเป็นการแสดงความรำลึกนึกถึงมิตร ชัยบัญชา อีกครั้งผ่านภาพยนตร์ และที่สำคัญ หนังเล่าออกมาได้สะเทือนใจแบบที่ผู้ชมรู้สึกสัมผัสได้ถึงความสูญเสียที่แสนเศร้าครั้งยิ่งใหญ่ เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจสลายครั้งหนึ่งของวงการภาพยนตร์และคนดูหนังไทยทั่วประเทศ


สุดท้ายแล้ว ต้องบอกว่า มนต์รักนักพากย์ เปรียบเสมือนบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของเมืองไทย ที่เล่าผ่านองค์ประกอบด้านสุนทรียะออกมาได้กลมกล่อม ทั้งบทหนัง โปรดักชั่นงานสร้างที่พิถีพิถัน มีความสวยงาม การแสดง การเลือกเพลงประกอบที่ไพเราะ สอดคล้องกลมกลืนกับเรื่องราวย้อนยุค องค์ประกอบทุกส่วนล้วนปลุกความทรงจำในอดีตให้หวนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง สำหรับคนอายุเยอะ อาจจะชอบที่หนังยังแอบใส่ความฝันครั้งวันวานของหลาย ๆ คนเข้ามา ผ่านเรื่องราวของ “เรืองแข” ซึ่งฝันอยากจะทำงานเป็น “เลขานุการ” หลายคนยุคนั้นก็อยากจะทำงานนี้ แต่ทักษะเบื้องต้นก็คือต้องพิมพ์ดีดได้

นี่คือหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวในวันวาน เป็นตำนานและความทรงจำ ซึ่งมีทั้งความงดงามและความเศร้า ที่เล่าออกมาได้ประทับจิตประทับใจมากครับ





กำลังโหลดความคิดเห็น