เหตุผลหลักที่ตัดสินใจเลือกดูหนังเรื่องนี้เป็นเพราะ ‘ใบปิด’ หรือ ‘โปสตอร์’ กับชื่อของหนังที่ชวนสนใจ Sound of Freedom เป็นการส่วนตัว หรืออธิบายอีกแบบก็คือเป็นรสนิยมส่วนตัวสำหรับชื่อหนังทำนองนี้ที่ชักจูงใจให้ผู้เขียนเลือกดูเสมอ
พอเริ่มดูจึงรู้ว่า Sound of Freedom สร้างจากเรื่องจริง เป็นเหตุการณ์สะทกขวัญอันแสนรันทดใจของเด็กทั้งเพศหญิง เพศชายในวัยไล่เลี่ยกัน
ว่ากันตามตรง Sound of Freedom ชักชวนให้น่าติดตามตั้งแต่ฉากเปิดตัวเด็กหญิงในห้องนอน ตามต่อด้วยฉากที่ถูกจับแต่งตัวให้ถ่ายแบบ รวมทั้งน้องชายวัยเจ็ดขวบที่ถูกพาไปล่าฝันร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เนื่องจากสองพี่น้องน่ารักน่าชังเป็นอย่างมาก ทว่าหลังจากนั้นหนังก็เริ่มเนิบเนือย เมื่อบวกรวมกับตัวละครเอกนาม ‘เจ้าหน้าที่ทิม บัลลาร์ด’ รับบทโดย จิม คาวิเชล ที่ ‘หน้าเดียว’ เกือบทั้งเรื่องจึงยิ่งอึดอัดเข้าไปใหญ่
กระนั้นเมื่อสูดหายใจลึกๆ กลับพอเริ่มเข้าใจว่าผู้กำกับอย่าง อเลฮานโดร โกเมซ ดูเหมือนจะจงใจให้เรื่องดำเนินไปอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่ยัดเยียด หรือไม่พยายามสร้างให้ ‘เรื่องจริง’ เป็น ‘หนัง’ สำหรับปรนเปรออารมณ์คนดู
ไม่เพียงเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างกัดกินจิตใต้สำนึกของความเป็นมนุษย์ หนังยังเปี่ยมท้นไปด้วยโทนสีอึมครึม หม่นมัว
อย่างไรก็ตามเมื่อทำความรู้สึกหรือพยายามสื่อสารกับความประสงค์ของ Sound of Freedom ได้ระดับหนึ่งแล้ว ผู้เขียนจึงดูหนังความยาวประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งอย่างตัวชา หรือชนิดลมหายใจแผ่วเบา
ขออนุญาตบอกกล่าวสักเล็กน้อย Sound of Freedom เป็นเรื่องราวการค้ามนุษย์ตัวน้อยๆ ของโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ในแต่ละปีมีเงินหมุนเวียนนับหมื่นนับแสนล้านบาท
ในวงการค้ามนุษย์ หรือ ‘คนรักเด็ก’ ใน Sound of Freedom นั้น มีการเอ่ยอ้างถึงกรุงเทพฯ ประเทศไทยด้วย
อันเนื่องมาจากเม็ดเงินมหาศาล บรรดาซาตานทั่วทุกมุมโลกจึงพร้อมกระโจนเข้าไปในวังวนโสมมนี้ ขณะที่ ‘ฮีโร่’ อย่างเจ้าหน้าที่ทิม บาลลาร์ด ซึ่งมีตัวตนจริงๆ กลับมีแค่หยิบมือเดียว ทว่าเขายังมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อช่วย ‘เหยื่อ’ ให้พ้นจากขุมนรก
ยอมรับครับว่า Sound of Freedom เป็นหนังธรรมดาๆ ที่ตราตรึงใจไปชั่วชีวิตของผู้เขียนเลยทีเดียว