ทำเอาสาวกวง "คาราบาว” ถึงกับตั้งรับไม่ทัน
เมื่อ “ยืนยง โอภากุล” หรือ “แอ๊ด คาราบาว” หัวเรือใหญ่ของวงดนตรีที่เป็นเสมือน “เสาเอก” แห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต ประกาศว่าวง “คาราบาว” กำลังจะปิดฉากความยืนยงของตัวเอง
หลังจากที่สร้างชื่อเสียง และฝากผลงานอันเลื่องลือในวงการมายาวนาน กว่า 4 ทศวรรษ
โดยจะทิ้งทวนคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งสุดท้ายใน วันที่ 11 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ก่อนจะอำลาอย่างเป็นทางการในเดือนเมษายนปีหน้า
นั่นหมายถึงว่า ความยิ่งใหญ่ของ
คาราบาว กำลังจะกลายเป็นตำนานบทสำคัญ ที่จะถูกจดบันทึกไว้ในแฟ้มประวัติศาสตร์ของวงการเพลง
คาราบาว เริ่มมีผลงานในวงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 ด้วยอัลบั้มชุด “ลุงขี้เมา”
ก่อนที่จะมาถึงจุดเปลี่ยน ที่ทำให้วงโด่งดังขึ้นมาแบบข้ามคืนในผลงานเพลงชุดที่ 3 “วณิพก”
จนมาถึงผลงานอัลบั้มที่ 4
คาราบาว ก็กลายเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น เมื่อเพลง “ท.ทหารอดทน” และ “ทินเนอร์” 2 เพลงเอกในชุด “ท. ทหารอดทน” ถูก “คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์” หรือ กบว. สั่งห้ามนำไปเผยแพร่ออกอากาศตามสื่อต่าง ๆ
ตลอดระยะเวลา 40 ปี คาราบาว สามารถสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง รวมแล้วถึง 29 อัลบั้ม
แต่ถ้าจะนับถึงยุคทองของวง ก็เห็นจะเป็นในช่วงปี 2527 – 2531 ที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญให้กับวงการเพลงเพื่อชีวิต กับอัลบั้ม “เมด อิน ไทยแลนด์” ที่กอบโกยชื่อเสียง และกวาดยอดขายอย่างถล่มทลาย ถึง 5 ล้านตลับ ทั้งยังสามารถจัดคอนเสิร์ตใหญ่ของตัวเองเป็นครั้งแรก เมื่อ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 โดยมียอดผู้เข้าชมคอนเสิร์ตในครั้งนี้มากถึง 6 หมื่นคน
ต่อเนื่องมาด้วย “อเมริโกย”, “ประชาธิปไตย” , ”เวลคัม ทู ไทยแลนด์” และ “ทับหลัง" ที่จับประเด็นเรื่องของ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” มาพูดถึง พร้อมกับวรรคทองที่ติดปากคนฟังมาจนถึงทุกวันนี้
... เอาไมเคิล แจ็กสัน คืนไป เอาพระนารายณ์คืนมา .....
แม้ผลงานในระยะหลัง อาจจะไม่ได้โด่งดังเปรี้ยงปร้างถ้าเทียบกับในยุคทอง แต่ชื่อชั้นในฐานะที่เป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับหัวแถว ก็ยังคงไม่มีใครโค่นบัลลังก์ได้
อัลบั้มลำดับที่ 29 ซึ่งน่าจะเป็นอัลบั้มสุดท้ายในชื่อวง คาราบาว ก็คือ “40 ปี คาราบาว” วางแผงไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
4 ทศวรรษ บนเส้นทางสายเพื่อชีวิตอันยาวนาน คาราบาว สามารถคว้ารางวัล “สีสันอะวอร์ดส์” ได้ถึง 3 รางวัลในปีเดียว คือปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นการประกาศรางวัลครั้งที่ 11
โดยได้รับรางวัล “เพลงในการบันทึกเสียงยอดเยี่ยม” จากเพลง “ไอ้หนู”
รวมถึงรางวัล “โปรดิวเซอร์ยอดเยี่ยม” และ “อัลบั้มยอดเยี่ยม” จากอัลบั้ม ”อเมริกันอันธพาล”
ทั้งยังเคยมีผลงานการแสดงภาพยนตร์แบบครบวงร่วมกันเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว ในภาพยนตร์เรื่อง “เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ” ในปี 2528
อย่างไรก็ตาม แม้จะปิดฉากความยืนยงในฐานะวงดนตรีเพื่อชีวิต
แต่ในฟากของธุรกิจภายใต้แบรนด์ “คาราบาวแดง” ก็ยังคงดำเนินต่อไป
โดย “บริษัท คาราบาวตะวันแดง จำกัด” ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
มี แอ๊ด คาราบาว เป็นหนึ่งในหุ้นส่วน ก่อนจะเปลี่ยนชื่อ หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็น “บริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)”
มีสินค้าในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง , น้ำดื่ม , กาแฟปรุงสำเร็จ , เครื่องดื่มผสมเกลือแร่ ฯลฯ
สามารถสร้างรายได้ และผลกำไร รวมถึงอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากว่าสามารถควบคุมต้นทุนได้ดี อีกทั้งยังมีศูนย์กระจายสินค้าและรถขนสินค้าเป็นของตัวเอง
ต้นปีที่ผ่านมา เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ เมื่อมีการประกาศทุ่มทุนสูงถึง 4,000 ล้านบาท เพื่อบุกตลาดเบียร์ ซึ่งรู้กันดีว่าในตลาดนี้ มีเจ้าตลาดอย่าง “สิงห์” ของ “บุญรอดบริวเวอรี่” และ “ช้าง” ของ “ไทยเบฟเวอเรจ” คุมอยู่แล้ว
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะมีแบรนด์ใหม่เข้ามาชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
แต่การที่ คาราบาว กรุ๊ป มีความมั่นใจที่จะกระโจนลงมาแข่งในสนามนี้ ก็เนื่องมาจากความมั่นใจในศักยภาพ และรากฐานของบริษัทในเครือ ที่ครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ
ตั้งแต่บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นขวดแก้ว ,ขวดพลาสติก จนถึง กระป๋องอลูมิเนียม ไปจนถึงธุรกิจ ที่ดำเนินในเรื่องของการตลาด และการจัดจำหน่าย รวมถึงยังมีเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเป็นของตัวเองอีกด้วย
ผู้จัดการ 360 องศาสุดสัปดาห์ ฉบับ 14-20 ตุลาคม 2566