xs
xsm
sm
md
lg

งานดีมีคุณค่า "แพท" ร่วมมหกรรม "โอกาส Open House : สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จบลงอย่างสวยงาม กับมหกรรม "โอกาส Open House : สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่" หวังเติมเต็มคุณค่าชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด สู่เส้นทางที่ทุกคนมีสิทธิเลือกผ่านคำว่า "โอกาส"

เมื่อวันที่ 8 - 10 กันยายน 2566 ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ ถนนพระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงาน "โอกาส Open House : สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่" เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนภายใต้ความดูแลของกรมพินิจฯ ได้แสดงศักยภาพ และความสามารถตามความถนัดความสนใจ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนถึงกระบวนการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความสำคัญถึง "โอกาส" ทั้งด้านการศึกษา และด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชน ที่เตรียมพร้อมในการเป็นพลเมืองที่ดีเมื่อกลับคืนสู่สังคม และไม่หวนมากระทำผิดซ้ำ

โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 กันยายน 2566 พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และ ศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกล่าวเปิดงาน

ซึ่ง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานในครั้งนี้ความตอนหนึ่งว่า "กรมพินิจฯ ได้กำหนดนโยบายให้กับทุกหน่วยว่าสามารถจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบท ตัวตน และความสามารถของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมตามแนวทางของการจัดการศึกษาทางเลือกได้ โดยดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบอื่นๆ เปลี่ยนสถานควบคุมเป็น Community of Learning และใช้โอกาสของวันเวลาภายในเป็นพื้นที่ฝึกกระบวนการเพื่อเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีตัดสินใจแบบใหม่ รวมถึงเปลี่ยนบทบาทของบุคลากรที่เป็นครู ให้กลายเป็น "โค้ชชีวิต" ที่มีความเชื่อมั่นและให้โอกาสเด็กและเยาวชนได้ปล่อยพลังและความสามารถในตนเองออกมา รวมถึงคอยเติม เสริม แก้ไข ในสิ่งที่เด็กและเยาวชนต้องการ "ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน บรรยาการเปลี่ยน"

ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จำนวน 1,958 คน ได้กลับสู่การศึกษาอีกครั้งด้วยการศึกษาทางเลือกในรูปแบบศูนย์การเรียน ที่ร่วมกับกสศ. และสามารถเรียนจบการศึกษาแล้ว 685 คน ขณะที่ตัวเลขการกระทำผิดซ้ำในปีแรกของเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 22.33 ในปี 2563 ร้อยละ 19.66 ในปี 2564 และร้อยละ 15.78 ในปี 2565

ดังนั้นงานในวันนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนถึง "โอกาส" ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเด็กและเยาวชน ขอบคุณทุกเครือข่ายที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของกรมพินิจฯ รวมถึงได้ใช้ความเชี่ยวชาญต่างๆ ในการหล่อหลอม และพัฒนา พร้อมทั้งเชื่อว่าเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้มีความสามารถ เหมาะกับโอกาสที่จะได้เติบโตอย่างมีคุณค่า คุณภาพ และมีทักษะติดตัว

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวถึงการจัดงานดังกล่าว ความตอนหนึ่งว่า "จากข้อมูลกรมพินิจฯ ชี้ว่า เกินกว่าครึ่งของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อแม่แยกกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องสร้างโอกาสให้เขาแทนที่จะตัดสินพวกเขา เด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าจะกำลังเผชิญกับปัญหาใดก็ตาม ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งใครไว้ข้างหลัง กสศ. จึงริเริ่ม โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมร่วมกับกรมพินิจฯ มูลนิธิปัญญากัลป์ มูลนิธิซีวายเอฟ และเครือข่ายศูนย์การเรียนอีก 6 แห่ง เพื่อเป็นโอกาสใหม่ทางการศึกษาเพื่อเปลี่ยนชีวิต คืนคนคุณภาพสู่สังคม เรามุ่งให้การศึกษาเป็นทั้งเกราะป้องกัน และเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม

เด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธจากชั้นเรียนในระบบโรงเรียน ส่วนใหญ่ออกกลางคัน ในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และจำนวนมากไม่สามารถกลับมาเรียนต่อได้ทั้งในระบบโรงเรียนและกศน. หรือ สกร.ตามกฎหมายใหม่ เป็นกลุ่มที่มีทักษะพิเศษในการเรียนแบบปฏิบัติการ กสศ. จึงสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาทางเลือก รูปแบบของศูนย์การเรียนรู้ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน รวมถึงสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  

ศูนย์การเรียนรู้ เป็นการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อแปลงเป็นหน่วยกิต และเข้าศึกษาต่อเนื่องตามระดับชั้นที่เรียนค้างไว้ สามารถออกแบบหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอนตามความสนใจและความถนัดของผู้เรียนรายคน เรียนรู้แบบโครงงานฐานอาชีพ และเรียนจากประสบการณ์ตรง (Experiential Learning) ร่วมกับสถานประกอบการ ได้ฝึกทักษะวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด รวมถึงพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะชีวิตให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม 

นอกจากนี้กำลังพัฒนาให้เกิด "ชุมชนโอบอุ้มคุ้มครองเด็ก" ทำงานร่วมกันระหว่าง นักสังคมสงเคราะห์ ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ไม่กระทำผิดซ้ำอีก

ซึ่งการจะทำให้การศึกษาทะลุฝ่ากำแพงหนาทึบและปิดสนิทเข้าไปได้ เป็นโจทย์ที่ยากด้วยข้อจำกัดนานัปการ ดังนั้นต้องมีความร่วมมือ มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและทรงพลัง เพื่อให้การศึกษาเข้าไปทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงเด็กๆ ให้กลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และไม่ใช่แค่การศึกษา แต่ต้องมีกระบวนการที่ครอบคลุมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ทักษะวิชาการ เพื่อรู้เท่าทันความซับซ้อนในสังคม มีการดูแลติดตามต่อเนื่องหลังกลับออกไปใช้ชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ ทุกคน จะพบที่ทางของตนในสังคม ไม่เวียนซ้ำกลับไปที่จุดเดิมอีก"

สำหรับงาน "โอกาส Open House: สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2566 มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย

วันที่ 8-9 กันยายน 2566 ชั้น 1 (Indoor zone) โซนร้านไอศกรีม "โอกาสรวมมิตร" ร้านไอศกรีมที่จะเติมโอกาสให้ชีวิต รวมมิตรการศึกษาให้กับคุณ โดยสามารถออกแบบทางเลือกทางการศึกษา ผ่านรสชาติของไอศกรีม และ Topping

วันที่ 9 กันยายน 2566 ชั้น 1 (Outdoor zone) โซนกิจกรรม "การแข่งขันทักษะดนตรี "DJOP Music Contest 2023 : ลานเปล่งแสงแสดงดนตรี" การแข่งขันทักษะดนตรีรอบชิงชนะเลิศของเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจฯ ทั้งนี้มีมินิคอนเสิร์ตจาก "เก่ง ธชย ประทุมวรรณ" รองชนะเลิศจากการประกวดรายการ เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ เสียงจริง ตัวจริง ปีที่ 1 และ "บิว จรูญวิทย์ พัวพัน วัฒนะ" รองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดรายการ เดอะวอยซ์ไทยแลนด์ เสียงจริง ตัวจริง ปีที่ 3

ชั้น 1 (Indoor zone) โซนกิจกรรมที่ 2 สาธิตการทำอาหารกับเมนูสุดพิเศษจาก "เชฟนิค" ณัฏฐพล ภวไพบูลย์ และเชฟเยาวชน อดีตเยาวชนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพที่ตนเองรัก และสาธิตการชงกาแฟ "สูตรเพิ่มโอกาส" โดยบาริสต้าเยาวชน จากร้านเบลลินี่ เบค แอนด์ บรู (Bellinee's Bake & Brew)

ชั้น 2 (Hall 1) กิจกรรมห้องเปิดโอกาส Talk Event "Wayfinder : เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน" กับแขกคนพิเศษทั้ง 5 ประกอบด้วย วรยศ บุญทองนุ่ม (แพท พาวเวอร์แพท), อัครินทร์ ปูรี (หรั่ง พระนคร), จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมฯ เขต 5, ร.ต.จิรัฎฐ์ ชยบัณฑิต นายทหารปฏิบัติการจิตวิทยา กองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยา กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา และ มะลิวัลย์ บุญฤทธิ์ พนักงานบริการภาคพื้น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และกิจกรรม Movie Event : "เรียนผ่านหนัง" ชวนดูหนังตั้งวงคุยกับ กสศ. และ doc club

วันที่ 10 กันยายน 2566 ชั้น 1 (Indoor zone) กิจกรรม Right To Play Thailand Rise & Shine ปล่อยของประลองอาชีพ โดยพบกันสินค้าและบริการ จากเยาวชนและเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และเยาวชนจากชุมชนภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย

ชั้น 2 Hall 2 กิจกรรมการแข่งขันทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน ประจำปี 2566 (Juvenile Skills Competition 2023) ประกอบด้วยการแข่งขันทักษะใน 3 กิจกรรมคือ กิจกรรมการขายของออนไลน์, กิจกรรมแผนธุรกิจร้านเครื่องดื่ม และกิจกรรมการออกแบบเกม RPG Maker

และเซอร์ไพรส์ ด้วยกิจกรรม "สร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลังชีวิตให้กับตนเอง" โดยได้รับเกียรติจาก "เอก เอกชัย วรรณแก้ว" ศิลปินไร้แขน นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ และ "โกบอยครัช" ธนวัฒน์ ชาวสมุทร นักธุรกิจและ YouTuber ชื่อดัง มาร่วมพูดสร้างแรงบันดาลใจแก่เด็กและเยาวชน ต่อจากนั้นปิดท้ายงานด้วยการแสดงดนตรีของน้องๆ "ทีมพินิจชล" ซึ่งเป็นทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันจากเวที DJOP Music Contest 2023 โดยงานดังกล่าวมีทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกันอย่างคับคั่ง

















































กำลังโหลดความคิดเห็น