xs
xsm
sm
md
lg

มองต่างมุม ดรามา “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” สะท้อนสังคมที่เหลื่อมล้ำ หรือภาษาที่ต่ำตม!!!???

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพลงหนึ่งเพลง , ละครหนึ่งเรื่อง หรือผลงานบันเทิงชิ้นหนึ่ง อาจจะโด่งดัง และมีกระแสขึ้นมาได้ด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเชิงบวก หรือเชิงลบ

แต่เชื่อเหอะว่า ทุกครั้งคราวที่มีบุคคลที่มีชื่อเสียง หยิบเนื้อหานั้นๆ มาวิพากษ์วิจารณ์ ก็ยิ่งเท่ากับเร่งให้งานชิ้นนั้นๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

อย่างเช่นเพลง “คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ” ที่กำลังเป็นกระแสสนั่นโลกโซเชียลในตอนนี้


เชื่อว่าหลายคนไม่เคยฟัง หรือไม่เคยคิดจะฟัง จนเมื่อ “ป๋อ – ณัฐวุฒิ สะกิดใจ” หยิบขึ้นมาพูดถึง เขียนถึง ในเชิงถามหาความเหมาะและควรที่เพลงนี้จะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน เพราะมีการใช้คำที่บ่งบอกชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งในฐานะของคนเป็นพ่อ รู้สึกไม่สบายใจหากว่าลูก หรือเด็กในสังคมเข้ามาฟัง และซึมซับคำพูดหยาบคายแบบนั้นไปใช้ต่อ


แม้ในบริบทของเนื้อความ จะไมได้ระบุชื่อเพลงโดยตรง แต่ก็พอจะอนุมานได้ว่าหมายถึงเพลงไหน !?

จากที่เคยมีคนฟังอยู่กลุ่มหนึ่ง ก็เลยกลายเป็นว่า ทุกคนก็เลยหาฟังกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนกลายเป็นไวรัลฮิตไปเลย
อย่างไรก็ตาม การเปิดประเด็นของ ป๋อ กลายเป็นที่มาของการมองต่างมุมของบุคคลในหลายๆ อาชีพ ที่หยิบยกขึ้นมาถกในมุมมอง และวุฒิภาวะของแต่ละคน

บ้างก็ว่าภาษา และคำพูดสองแง่สองง่ามแบบนี้ ก็ถูกใช้ในเพลงอิสานมาเนิ่นนานแล้ว เป็นหน้าที่ของพ่อ--แม่ ที่จะต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจเอง ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี


ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ก็มีความเห็นต่างจากหมอลำแท้ๆ ที่แย้งว่า หมอลำไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบ


บ้างก็ว่าให้มองที่เนื้อแท้ของเพลง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่บางฝั่งก็ว่าสะท้อนความต่ำตมมากกว่า

บ้างก็ว่าคำหยาบคาย จะต้องเป็นคำที่ดูหมิ่นดูแคลน หรือด้อยค่าคนอื่น ซึ่งในเพลงที่เป็นกระแสอยู่ ไม่มีคำเหล่านั้น

บ้างก็ว่าฉากพระเอกข่มขืนนางเอกในละครหยาบคายกว่านี้เยอะ

“คุณป๋อไม่ได้มาจากดาวดวงอื่นหรอกครับ คุณอยู่บนโลกใบเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่คุณอยู่ในโลกของการแสดงอีกแบบที่คิดว่าดีกว่าคนอื่น ทั้งที่คุณเกิดและดังในยุคที่พระเอกละครไทยข่มขืนนางเอก ที่หากพิจารณาแล้ว มันเลวร้ายกว่าหยาบโลนหลายพันเท่า ซึ่งคุณป๋อควรออกมาแสดงจุดยืนว่ารับไม่ได้”


เอาจริงๆ เรื่องนี้ไม่มีใครผิด ไม่มีใครถูก

เพลงที่ใช้คำที่บ่งบอกเรื่องเพศแบบโจ๋งครึ่ม ถ้ามองในแง่ความเป็นสุนทรียภาพของการใช้ภ่าษา ก็เห็นด้วยว่าไม่ถูกต้องนัก แต่ถ้ามองให้เป็นเรื่องของสีสันของความบันเทิง ก็ถือว่าเพลงนี้ประสบความสำเร็จ

คำที่ปรากฏในเพลงฟังหยาบโลนก็จริง !!


แต่ปฏิเสธได้มั้ยว่า ต่อให้ไม่มีเพลงนี้ คำเหล่านี้ก็ถูกหยิบมาใช้กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยเฉพาะบางกลุ่มบางพวก ใช้กันประหนึ่งเป็นคำสามัญที่พูดกันแบบชินปากเสียด้วยซ้ำ

ตราบใดที่ตัวเรา หรือลูกหลานเรา ไม่ได้เป็นมนุษย์เพียงคนเดียวในโลก ตราบนั้นเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงลูกหลานไม่ให้ได้ยินคำเหล่านี้ ที่พูดกันดาษดื่นในสังคม ทำได้ก็เพียงให้คำแนะนำสิ่งที ถูกต้อง และเหมาะควรตามวัยของเขาเท่านั้น

ละครที่นำเสนอฉากข่มขืน ก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูก แต่ถ้ามองในมุมของความบันเทิง ก็เป็นเรื่องที่คนอยากดูหรือเปล่า ?

และในอีกมุมหนึ่ง ฉากเหล่านั้น ก็อาจจะนำกลับมาสอนใจ หรือให้คำแนะนำได้อีกว่า ถ้าเจอสถานการณ์แบบในเรื่อง เราจะมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไร ?


ฃทุกอย่างมีสองมุม ไม่ต่างกับเหรียญที่มีสองด้าน

มีทั้งมุมที่ให้คุณ และให้โทษ

ก็ต้องอยู่ที่หน้าที่ของคนรับสื่อล่ะว่า จะเลือกเสพ เลือกฟัง เลือกดูแบบไหน ? และ / หรือสามารถนำสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของเพลง ของละคร หรือของความบันเทิงต่างๆ เหล่านั้นๆ มาปรับใข้กับตัวเอง หรือนำมาชี้แนะคนรอบตัวอย่างไร 

นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา สุดสัปดาห์ ฉบับุ 16-22 กันยายน 2566ง



กำลังโหลดความคิดเห็น