xs
xsm
sm
md
lg

สธ. จัดงานประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เข้าสู่ทศวรรษที่ 2 การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พร้อมมอบรางวัลผลงานดีเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข โดยกองบริหารการสาธารณสุข ร่วมกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ครั้งที่ 9 และเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ พร้อมจัดนิทรรศการและประกวดผลงานวิชาการและนวัตกรรมดีเด่น 19 สาขา วันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี “นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้แนวคิด “The 2nd Decade of enhancing healthcare Services for health security : ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการ สู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ”

โดยมีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคีเครือข่ายนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัยฯ สมาคมวิชาชีพต่าง ๆ และบุคลากรสาธารณสุขเข้าร่วมประชุม จำนวน 1,500 คน มีการนำเสนอผลงานการพัฒนาระบบบริการสุขภาพทุกสาขา และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงาน เพื่อเป็นต้นแบบและนำไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ รวมทั้งมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการและนวัตกรรมดีเด่น จำนวน 40 รางวัล

“นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วางนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) จำนวน 19 สาขา มุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการสอดรับกับความต้องการของประชาชน ให้เข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็ว และลดความเหลื่อมล้ำ มีบริการที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเครือข่ายในแต่ละเขตสุขภาพ จากการพัฒนาในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอบรับ สถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีการจัดบริการที่มีคุณภาพ เช่น มีศูนย์หัวใจ

ที่สามารถผ่าตัดหัวใจได้ 31 แห่ง สวนหัวใจ 45 แห่ง ศูนย์มะเร็งที่ให้บริการรังสีรักษา 22 แห่ง ครบทุกเขตสุขภาพ บริหารจัดการด้วยโครงการ Cancer Anywhere ทำให้ระยะเวลารอคอยลดลงจาก 3 - 6 เดือน เหลือภายใน 6 สัปดาห์ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองให้การรักษาผู้ป่วยด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง 16 แห่ง อัตราตายลดลงเหลือร้อยละ 8.13 การดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะวิกฤต มีเตียง NICU 1,119 เตียง สูงกว่ามาตรฐานที่ WHO กำหนด

เพิ่มเตียงผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บริการ ODS&MIS 190 แห่ง 86 กลุ่มโรค พัฒนาระบบ Virtual ER การให้คำปรึกษาผ่านระบบ Telemedicine เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดอัตราป่วย อัตราตาย ลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอย

ใน 1 ปีที่ผ่านมา One Province One Hospital เกิดการบริหารจัดการกำลังคน การลงทุนที่เหมาะสม พัฒนาบริการแบบไร้รอยต่อ เกิดผลงานส่งมอบให้กับประชาชน มีหน่วยไตเทียมเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 เตียง

เพิ่มเตียงผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดมากกว่า 1,300 เตียง สวนหัวใจภายใน 120 นาทีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ บริการ thrombectomy ทุกเขตสุขภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยการจัดตั้งโรงพยาบาลทันตกรรม และพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย โรงพยาบาลของประชาชนชน เป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อ “สุขภาพคนไทย สุขภาพประเทศ” โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มุ่งเน้น เทคโนโลยีทางการแพทย์และดิจิตอลเพื่อยกระดับบริการสุขภาพครอบคลุมทุกพื้นที่





กำลังโหลดความคิดเห็น