บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา หรือที่เรียกสั้นๆว่า โครงการ Shelldon Circularity เพื่อพัฒนาชุดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่การปกป้องและอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ทางทะเล พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ ที่สอดคล้องไปกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้กับชุมชนและสังคมในวงกว้าง ณ ห้องประชุมกำพลอดุลวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“เชลล์ดอน” เป็นแอนิเมชันฝีมือคนไทย ที่สร้างโดย ดร. ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ CEO & Founder บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในประเทศไทย และได้รับการจัดฉายทางช่อง NBC ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกว่า 180 ประเทศทั่วโลก พร้อมถูกแปลไปกว่า 35 ภาษา ด้วยตัวละครที่น่ารัก เนื้อเรื่องที่สนุกสนาน พร้อมสาระความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และยังคงอยู่ในใจผู้ชมมาตลอด 14 ปี พร้อมกับการได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นทูตสิ่งแวดล้อมที่ยังคงส่งต่อความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการและกิจกรรม CSR ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Shelldon School Tour หรือ Shelldon E-Learning เรื่องมลพิษทางทะเล (Marine Pollution) ที่พัฒนาร่วมกับคณาจารย์และนักวิชาการระดับประเทศและระดับโลก โดยเอาเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใน Shell Land มาพัฒนาเป็นชุดความรู้ เพื่อสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ (Environmental Awareness) และสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการดูแล ปกป้อง รักษาระบบนิเวศน์ทางทะเล ให้กับคนรุ่นใหม่และผู้สนใจทั่วไปเมื่อปีที่ผ่านมา
ล่าสุดเชลล์ฮัทฯ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาชุดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาโดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุดความรู้ที่จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการให้กับสังคม ซึ่งตัวเนื้อหาในชุดความรู้ต่างๆ นั้นจะถูกออกแบบมาให้ง่ายที่ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยผู้ที่สนใจสามารถที่จะใช้อ้างอิง หรือใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการต่อยอดการเรียนรู้ในระดับสูงได้ นอกจากนี้ภายใต้ความร่วมยังมีการพัฒนาโปรแกรมด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาต่างๆ ที่จะนำเอาชุดความรู้ไปขยายผลเพื่อให้เกิดการทดลองนำไปปฏิบัติจริง
ด้าน ดร. ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ CEO & Founder บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวเสริมว่า “เมื่อ 4-5 ปีก่อน ขยะทะเล (Marine Debris) กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกพูดถึงทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่ง Shelldon เองก็ได้มีแนวทาง 3 ประการที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ นั่นคือ 1.การสร้างจิตสำนักด้านการอนุรักษ์ 2.การนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ และ 3.การสร้างและพัฒนาเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
สำหรับ Shelldon เองนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการปกป้องและอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ทางทะเล ซึ่งใน Shelldon Animation Series ได้มีการสอดแทรกประเด็นปัญหามลพิษทางทะเล (Marine Pollution) และผลกระทบจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล สำหรับความร่วมมือกันในวันนี้ ทาง Shelldon ต้องขอขอบคุณพันธมิตรทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ได้มาร่วมกันพัฒนาชุดความรู้ที่จะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการให้กับสังคม และด้วยจุดแข็งทั้งทางด้านวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมของทั้ง 2 สถาบัน ทางบริษัทเชื่อว่าจะทำให้โครงการนี้และโปรแกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง”
พร้อมกันนี้ นายคณิน แก้วอินทร์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด กล่าวดพิ่มเติมว่า เราได้มีการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการ Shelldon Circularity เช่น หลักสูตรสำหรับโรงเรียน (Shelldon School Program) ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายในการนำชุดความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้สอน (Train the Trainers) ที่จะช่วยพัฒนาครูหรือนักวิชาที่สนใจ ให้สามารถนำเอาชุดความรู้ไปต่อยอดใช้ในสถานศึกษาของตนได้ รวมถึงได้มีการร่วมพัฒนาเครือข่ายศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) เพื่อเป็นพื้นที่เปิดให้กับนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย
อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของพิธีลงนามนั้น ได้นักแสดงหัวใจอนุรักษ์อย่าง โน้ต วัชรบูล ลี้สุวรรณ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะเชิญชวนให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกคนบนโลกกำลังเผชิญ ซึ่งโน้ตได้กล่าวว่า “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตในโลกนั้น ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ การจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยเฉพาะภาคประชนที่จะเป็นหนึ่งในกำลังหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนี้ผ่านการบริโภคอย่างรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง การแยกขยะและทิ้งขยะด้วยความรับผิดชอบ การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งถ้าทุกคนลุกขึ้นมาปรับพฤติกรรมการบริโภคของตัว และมีจิตอนุรักษ์ในการร่วมฟื้นฟูธรรมชาติ วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมก็จะเริ่มคลี่คลาย วงจรธรรมชาติที่เสียหายก็จะค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติ ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศก็จะลดลง เพราะสมดุลของโลกเริ่มจะกลับคืนมา จึงอยากให้ทุกคนตระหนักตรงนี้ และเริ่มต้นด้วยที่ตัวเรา”
สำหรับพิธีลงนามนั้น ได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, คุณภรณ์สินี เฉลิมรัฐวงศ์ กรรมการ บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด, รศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณวารุณี พุทธชาด จากมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ คุณเอกศิษฐ์ เฉลิมรัฐวงศ์ จากบริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ร่วมลงนามและเป็นพยานในพิธี รวมถึงกลุ่มศิลปิน Last Idol ที่มาร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน