เป็นประเด็นที่พูดถึงกันในวงกว้างของวงการแม่และเด็ก กับการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตให้เข้ากับยุคสมัยที่โลกหมุนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วันแม่ ปี 2566 นี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว “ตุ๊ก ชนกวนันท์ รักชีพ” คุณแม่ลูกสองที่ตอนนี้ลูกสาว “แพรว” กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเป็นวัยรุ่น คุณแม่อย่างตุ๊ก รับมืออย่างไรหลังถูกมองว่าผลักดันลูกมากเกินไป จากการให้เรียนเสริมมากมายหลายกิจกรรม
รวมถึงการส่งลูกเรียนในโรงเรียนทางเลือก จนถึงวันที่ลูกกำลังออกมาเผชิญโลกกว้าง ลูกได้ประโยชน์ และเสียอะไรไปบ้าง
“แพรว” เป็นนางแบบตามรอยแม่ “ตุ๊ก” แล้ว
“นางไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าแม่เคยเป็นนางแบบ มันเริ่มจากที่นางเห็นเพื่อนไปเรียน แล้วก็อยากเรียนบ้าง พอได้ไปลองแล้วเขาชอบเลย ก็ได้เรียนไปคอร์สนึง แล้วก็ไปออดิชั่น แล้วก็ได้งานเป็นค่าจ้างมา แต่ตรงนี้ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่นางความชอบหลักของแพรว ที่เขาชอบมากจริงๆ คือฮอกกี้ กับ ฟิกเกอร์สเก็ต
จากที่เรามองเขาในฐานะนางแบบก็โอเคนะ ถ้าไม่นับความสูงที่ยังไม่ผ่านมาตรฐาน ก็คือโอเค ไปได้ ไม่ได้ดูเขิน แต่ด้วยความเป็นนางแบบก็ยังต้องสูงกว่านี้ ควรเกิน 170 ซม. ถือว่าอยู่ในระหว่างเรียนรู้ ยังไม่ได้ประกอบอาชีพ พอโอกาสว่ามันจะมีเข้ามาไหม ตอนนี้น้องก็มีความสุขและสนุกที่ได้ทำมัน เดินแบบเสร็จเขาก็รู้สึกฟิน รู้สึกชอบ”
ส่งเสริมให้ลูกสาว “แพรว” เรียนในหลากหลายด้านที่สนใจ ซึ่ง “ตุ๊ก” ยอมรับว่าตอนนี้ตัดออกไปหลายอย่างเพราะสู้ค่าเรียนไม่ไหว
“แพรวเรียนฟิกเกอร์ไอซ์สเก็ต ไอซ์ฮ็อกกี้ ว่ายน้ำบัลเล่ต์ ร้องเพลงโอเปร่า เปียโน ไวโอลิน ฮาร์ป ศิลปะ ขี่ม้า ก็กำลังจะเบาๆ ลงแล้ว ตัดออกไปหลายตัว ด้วยค่าใช้จ่ายเป็นหลักเลย มันหนักจริงๆ เราก็ตัดจนเหลือตามกำลังของเรา ในส่วนของแม่ เราให้เขา ตามใจเขาในแบบที่เขาต้องการประมาณนึง และความไหวของเราประมาณนึง พอลองแล้ว ก้าวมาได้สักพักเหมือนได้รู้ทรง ยกตัวอย่างเช่น เรากินไวน์แพงๆ สักครั้นนีง แต่เราไม่ได้จะต้องกินไวน์แพงๆ ทุกวัน
แพรวก็ลองเรียนมา 3 ปีแล้ว พอทุกๆ อย่างมันขึ้นอินเตอร์มีเดียหมด บางอย่างมันก็ต้องการเพิ่มรายละเอียด สังเกตไหมว่าเด็กคนไหนทำอะไร เขาก็มักจะทำกันอย่างเดียวเพื่อให้ได้เป็นตัวจริงของสิ่งนั้นๆ แต่ขนาดลดลงแล้ว ของแพรวยังดูเยอะอยู่เลย พอเยอะๆ เขามันก็ดึงเวลากัน ทุกอย่างต้องอาศัยการฝึกซ้อม ไม่ใช่สักแต่เรียน”
สอนลูก ทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ แต่ขึ้นอยู่กับการมีเวลาฝึกซ้อม หลังลูกสาว “แพรว” ฝันอยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ
“เขามาบอกตุ๊กว่าแม่จ๋าหนูอยากเป็นนักกีฬาว่าน้ำ ตุ๊กก็บอกแพรวเธอเป็นไม่ได้ เพราะนักกีฬาว่ายน้ำก็ต้องซ้อม 5 วันเหมือนกัน แต่ยูไปทัวร์จุ่มได้อาทิตย์ละวัน มันไม่เพียงพอเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่ลูกเราถนัด ซึ่งเราเรียนรู้มาว่าทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรสวรรค์ แต่ขึ้นอยู่กับการมีเวลาฝึกซ้อม ทุกอย่างมันต้องมีเวลาฝึกซ้อม”
ที่เรียนทั้งหมดคือสิ่งที่ “แพรว” อยากทำ ลูกกระหายการเรียนรู้ ไม่ได้ยัดเยียดลูก
“ใช่ คำถามนี้ตุ๊กไม่ได้อยากตอบ แต่ตุ๊กเจอคนมาถามคำถามนี้เยอะว่าที่เรียนทั้งหมดน้องเลือกหมดเลยเหรอ คือถ้าน้องเขาไม่ชอบแล้วมันจะเริ่มตรงไหนได้ ไม่มีอยู่แล้ว เริ่มต้นเราเรียนโรงเรียนแนววอลดอร์ฟที่ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรม แพรวเพิ่งจะได้ลองเรียนหลังจากที่ออกมาแล้ว น้องก็จะช้าในทุกอย่าง กล้ามเนื้อเขาแข็งแรงไม่ทันกับคนอื่นๆ ที่เรียนมาตั้งแต่ 3 ขวบแต่แพรวเพิ่งมาเรียนตอน 11 ขวบ ทำให้เขาขาดโอกาส หรือแม้แต่การเข้าสู่ทีมชาติ
สองมันมีเรื่องค่าใช้จ่ายที่มันก็ไม่ใช่น้อยๆ ตัวแม่เองก็ไม่ได้จัดเต็มให้เขาหรอก แต่เราก็พยายามจะให้ทุกอย่างเท่าที่เราจะให้เขาได้ ด้วยธรรมชาติของแพรวเขาเป็นคนกระหายการเรียนรู้ แต่ในเมื่อเราไม่ไหว เราก็บอกลูกไปตรงๆ ช่วงนี้เราก็ให้เขาลองทุกอย่าง พอขึ้นมัธยมปลายอาจจะเข้าสู่โหมดวิชาการแล้ว ก็อาจจะหยุดทุกอย่างเลยก็เป็นได้”
กับมุมมองว่าเด็กในยุคนี้เรียนเยอะเกินไปไหม เมื่อเทียบกับสมัยก่อน เด็กๆ เลิกเรียนก็กลับบ้านมาทำงานบ้าน วิ่งเล่นกับเพื่อน “ตุ๊ก ชนกวนันท์” มองโลกในปัจจุบันกับโลกเมื่อก่อนมันคนละแบบกันเลย
“แต่คำว่าเรียนเยอะคืออะไร ลูกไม่ได้เรียนวิชาการ แต่เป็นการทำกิจกรรมเสริมที่เขาชอบ สมัยก่อนอยากจะเรียนก็ไม่มีให้เรียนไหม โลกมันคงจะแบบกับแต่ก่อนแล้ว ไม่รู้เหมือนกันนะ สิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้สมัยก่อนมันก็ไม่มีให้ทำ สำหรับตุ๊ก ลูกเดินมาบอกว่าเขาอยาก เราซัปพอร์ตได้ก็ซัปพอร์ต วันไหนไม่ไหวก็บอกเขา ตุ๊กมองแค่ช่วงเวลานั้นๆ เราไม่ได้หวังให้เขาเล่นเพื่อเป็นทีมชาติ แค่อยากรู้อะไรก็ไปเรียน ในเมื่อสิ่งที่ลูกอยากรู้เราเป็นแม่สอนเองไม่ได้ ก็ส่งให้เขาได้ลองไปเรียนรู้เอง”
ร้องไห้ เล่าครั้งหนึ่งเคยเจอคนสนิท พูดใส่ ไม่ต้องดันลูกหรอก เดี๋ยวโตไปก็ได้ดีเอง
“เหมือนเป็นมายด์เซ็ตของคนสมัยนี้แล้วกับคำว่าเรียนเยอะไปไหม เราไม่ได้จะเรียนไปทำอะไร เพราะลูกไปเรียนแล้วลูกมีความสุข เอาจริงๆ ตุ๊กเองเหนื่อยกับคำถามนี้มากนะ ครั้งนึงมีเพื่อนที่สนิทกันมาพูดกับเราว่า ไม่ต้องดันหรอก เดี๋ยวโตไปก็ได้ดีเอง เราก็รีบหันหลังให้แล้วน้ำตาไหลอย่างห้ามตัวเองไม่ได้ ดันหรือไม่ดันไม่รู้นะ แต่ในความรู้สึกเราคือ โห…หาเงินจะไม่ทันอยู่แล้วมาใช้คำว่าดัน (ร้องไห้) หูยยยย มันคือแบบ เสียใจมาก มันดูไม่ออกเลยเหรอว่านี่เด็กโดนบังคับหรือเด็กอยากเรียนเอง ทุกวันนี้คนที่พูดเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเราร้องไห้นะ เรารู้ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ เขาไม่ได้มองเราเลวร้าย แต่เขาไม่เข้าใจ”
ย้อยเล่าตัวเอง เป็นเด็กมุ่งมั่นกับการเรียน ไม่สนใจทำกิจกรรมอะไรเลย
“เราเป็นเด็กเรียนเกรด 4.00 แบบเรียนอย่างเดียว ไม่ทำกิจกรรมใดๆ เหมือนก่อนเรามีความคิดที่เข้าใจผิด เราเข้าใจว่าเด็กเก่งกีฬา คือคนไม่เก่ง เราอยากเก่ง เราเรียนอย่างเดียว ไม่เอากิจกรรมเลย แต่จริงๆ แล้วควรจะใช้สมองทั้งสองด้านร่วมกัน ตุ๊กมองว่าสิ่งที่เรามอบให้ลูกในตอนนี้สักวันนึงมันก็จะผ่านไปเป็นงานอดิเรกของเขา ทุกอย่างที่เราเข้าวงการทุกวันนี้ เราเห็นทุกอย่างแข่งขันไปหมด ผู้ปกครองขิงกันสุดๆ มันไม่ใช่ธุรกิจพันล้านที่ต้องมาฆ่ากันขนาดนี้ นั่งมองแล้วก็เศร้า หรือว่าเราประหลาด ทำไมต้องตีกันขนาดนี้ วันนึงมันก็จะผ่านไป วันนี้ลูกมองเราอยู่ว่าเราทำอะไร แล้ววันนึงลูกก็จะเป็นคนแบบเรานี่แหละ”
“แพรว” วันนี้เข้าสู่วัยรุ่น รักสวยรักงาม ไม่ห้าม มองเป็นศิลปะ
“เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นความชอบของนางมาตั้งแต่เด็กๆ แพรว 2 ขวบทาเล็บให้อาม่า แบบเรียบมากๆ เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่เขาชอบจริงๆ เพราะเรื่องอื่นลูกเราก็ไม่เรียบร้อย แล้วชอบการแต่งหน้ามาตั้งแต่ 2-3 ขวบ แบบไม่ใช่เด็กเล่น แข่งไอซ์สเก็ตจะจ้างช่างแต่งหน้ามาแต่งให้ เขาก็ขอร้องว่าเขาจะแต่งหน้าเอง เขาชอบที่จะทำเอง ทุกวันนี้ที่โรงเรียนเขาไม่ได้ห้ามแต่งหน้า แต่งตัว แพรวก็หน้าแน่นไปโรงเรียนทุกเช้าเลยจ้า ทุกวันนี้ตุ๊กแต่งหน้าไปงานแพรวก็จะมาช่วยแต่งหน้าให้
แล้วเรื่องนี้ตุ๊กจะไม่ยุ่ง ไม่ห้าม ในทัศนคติของตุ๊กเรารู้สึกว่าลูกไม่ได้มีอะไรเกินเลย ถึงเกินเลยก็ไม่ยุ่งอยู่ดี แม่ไม่มีความรู้สึกอะไรที่จะไปก้าวก่ายตรงนี้ มองว่าเขาทำงานศิลปะมากกว่า”
พ่อแม่หลายคนเป็นห่วงเรื่องของสังคมเด็กยุคนี้ ส่วนตัว “ตุ๊ก ชนกวนันท์” บอกสิ่งสำคัญที่สุดคือทัศนคติของพ่อแม่ ที่จะบ่มเพาะให้ลูกอยู่ในสังคมรูปแบบไหนก็ได้
“ลูกเราก็เป็นส่วนของสังคมในตอนนี้ ตุ๊กก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าคนอื่นที่เขาเป็นห่วง แสดงว่าเขามองว่าของเราดี เขาเลยเป็นห่วง แต่ทุกคนเป็นห่วงกันหมดเลย แล้วตกลงใครเป็นห่วงใคร เลยคิดว่ามุมมอง ทัศนคติของเรามันสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราอยู่ในสังคมแบบไหนก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธว่าเราไม่เป็นห่วงเลยนะ มันก็มีเป็นห่วง
ได้คุยกับหมอ ก็รู้ว่าตอนนี้มันมีโรคซึมเศร้าเยอะจริงๆ หรือดรามา หรือเมื่อก่อนก็มีแต่ไม่ถูกพูดถึง ทำไมเอะอะบอกว่าเด็กซึมเศร้าตั้งแต่อายุน้อยๆ หมอบอกสังคมทุกวันนี้อยู่ยากจริงๆ โลกในโซเชียลมันดูดีมาก แต่มันไม่ได้ 100% บางทีเราเจอเพื่อน เขาปวดหัวไมเกรนมาก ทำไมเราไม่รู้เลยเพราะเห็นจากไอจีก็ดูดี หรือบางทีแม่ๆ ทุกคนลงใบเกรดลูก แต่เราเป็นคนที่ไม่ได้ลงอะไรแบบนี้ แต่ทุกคนลงหมดไง โลกมันเลยอยู่ยาก ลูกเราก็ได้เห็นแล้วรู้สึกทำไมพวกเขาเรียนดีกันจัง แล้วทำไมเราเรียนไม่ได้ ก็เข้าใจนะ บางทีเราเองเห็นยังรู้สึกเลยว่าทำไมทำได้กัน เก่งจังเลย ทำไมเราทำไม่ได้”
ส่วนตัวไม่ได้บ่มเพาะลูกให้ต้องเป็นที่ 1 แต่ปลูกฝังให้เคารพและให้เกียรติผู้อื่น
“แพรวไม่หวั่นไหวเลย ไม่เลยจริงๆ เราไม่ได้เลี้ยงเขามาแบบปลูกฝังว่าต้องได้ที่ 1 เขาสนุกกับสิ่งที่เขาทำ เขาอยู่กับปัจจุบันมากกว่า อยู่กับสิ่งที่เขาทำอยู่ ว่าปีนี้เขาจะทำอะไรบ้าง นี่เป็นข้อดีของเขาที่เขาได้จากโรงเรียนวอลดอร์ฟ จะต่างจากยุคเรา ที่เราจะไม่ทำอะไรเลย นอกจากจะเอนฯ ให้ติดให้ได้เป็นหมอ ไม่สนอะไรเลย มัธยมปลายของเราคือไม่สนอะไรเลย นอกจากจะเป็นหมอให้ได้ วิธีที่ตุ๊กใช้คือแทนที่จะบอกกินสิลูก มันเสียดายของ หามากว่าจะได้มันยาก คือกินสิลูก กินแล้วมีแรงจะได้ไปช่วยคนอื่น มันคือทัศนคติที่เราให้กับลูก เราไม่ได้ให้ว่าเขาจะต้องเป็นหนึ่ง เป็นเลิศ
แต่สิ่งที่เราซีเรียสเลยคือ เรื่องของการเคารพครู จะต้องตั้งใจเรียน ให้เกียรติครู ให้เกียรติคน เคารพ นึกถึงคนอื่น ทุกวันนี้เราก็ยังนั่งเสียใจนะ เวลาต่อว่าลูก เราต่อว่าแรงไป เขาทำผิดอะไรนิดหน่อย ก็เพราะเธอไม่นึกถึงคนอื่นไง ในชีวิตเธอมีแต่ตัวเอง ไม่มีความเอื้ออาทร เรารู้สึกว่าอะไรพวกนี้สมัยนี้มันน้อยแล้ว เราก็เติมๆ ต่อว่าเขาไปเถอะ”
รับสังคมโซเชียลมีผลให้ลูกที่ตั้งใจปลูกฝังเลี้ยงมาเปลี่ยนไปอยู่เหมือนกัน
“ตอนแรกกังวลนะ เขาเปลี่ยนไปจากก่อนที่ยังไม่ได้เล่นโซเชียลไหม ก็เยอะ ทะเลาะกันไหมก็เยอะ ในเรื่องของเวลา บางเรื่องเขาก็ยังไม่รู้เลย เด็กรุ่นเขาตอนนี้คืออินการเมืองไปแล้ว แต่เขายังไม่รู้เลย มันก็ไม่ดีนะ กลายเป็นเขาไม่มีความรู้รอบตัว แต่มันเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้สนใจ เขาสนใจคลิปสเก็ต คลิปแต่งหน้า ในขณะที่เพื่อนๆเขาอินการเมือง บางทีเขาก็จะมาถามว่าอันนี้มันหมายความว่ายังไง ส้ม แดง เหลือง ฟ้า ก็คือเป็นเรื่องจริตของเด็หจริงๆ”